คณะสังคมและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำ ‘โครงการสำรวจความพึงพอใจและพัฒนาการให้บริการ ประจำปีงบประมาณ 2565 ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)’ การสำรวจความพึงพอใจของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ประจำปี 2565 เป็นการวิจัยแบบผสมผสานแบบลำดับ (Sequential mixed method) มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจระดับความพึงพอใจ การให้บริการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ด้านกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการของสถาบันฯ และด้านผลที่ได้รับจากการสนับสนุนของสถาบัน) และพัฒนาข้อเสนอแนะ ในการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับกระบวนการวิจัยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตามลำดับ คือ ขั้นตอนแรก เป็นงานวิจัยเชิง ปริมาณ ทำการสำรวจระดับความพึงพอใจการให้บริการจากตัวแทนโครงการที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบัน (ผู้รับบริการ) จำนวน 660 คน และคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ของสถาบันจำนวน 100 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และใช้การสุ่มตัวอย่าง แบบชั้นภูมิจำแนกตามโครงการและภูมิภาค และขั้นตอนที่ 2 เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ทำการสัมภาษณ์เชิงลึก จากคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ เพื่อทำความเข้าใจปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ผลการประเมินในบางประเด็นมีระดับความพึงพอใจต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ และค้นหาข้อเสนอแนะในการพัฒนาคุณภาพการบริการต่อไป
ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง
การกระจายตัวของตัวอย่างผู้รับบริการ และคณะอนุกรรมการในปี 2565 มีความสอดคล้องกับผลการสำรวจในปี 2562-2564 โดยพบว่า ผู้รับบริการ และคณะอนุกรรมการ ส่วนใหญ่อายุ 51 ปีขึ้นไป จบการศึกษา ระดับปริญญาตรี และร่วมงานกับ พอช. มากกว่า 7 ปีขึ้นไป โดยที่คณะอนุกรรมการมีอายุมากกว่า ระดับการศึกษาสูงกว่า และทำงานกับ พอช. มายาวนานกว่าโดยเปรียบเทียบกับผู้รับบริการ
เมื่อพิจารณาในมิติเพศ และกลุ่มอาชีพ พบว่า มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างผู้รับบริการ และคณะอนุกรรมการ กล่าวคือ สัดส่วนเพศชายในกลุ่มคณะอนุกรรมการสูงกว่าสัดส่วนเพศชายในกลุ่มผู้รับบริการ(ประมาณร้อยละ 68 เปรียบเทียบกับประมาณร้อยละ 50) สำหรับกลุ่มอาชีพ ผู้รับบริการมีสัดส่วนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรสูงที่สุด รองลงมือ คือ กลุ่มข้าราชการ/ พนักงานรัฐวิสาหกิจ/หน่วยงานรัฐ และกลุ่มผู้เกษียณอายุจากการทำงาน/ไม่ได้ทำงานประจำ ตามลำดับ ในขณะที่คณะอนุกรรมการมีสัดส่วนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรน้อยกว่ากลุ่มผู้รับบริการ แต่มีสัดส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว และประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น NGOs มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ผลการสำรวจความพึงพอใจ
ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.43 คะแนน) และคณะอนุกรรมการมีความพึงพอใจต่ำกว่าเล็กน้อย โดยอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.06 คะแนน) เห็นได้ว่า คณะอนุกรรมการมีแนวโน้มให้คะแนนความพึงพอใจในภาพรวมต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบกับผู้รับบริการเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของความพึงพอใจโดยรวม พบว่า สำหรับผู้รับบริการ มีความพึงพอใจในระดับดีมากทั้ง 3 ด้าน โดยด้านเจ้าหน้าที่/ ผู้ส่งเสริมงานพัฒนาของ พอช. มีคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจสูงที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.61 คะแนน) รองลงมา คือ ด้านผลที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. (ประสิทธิผล) และด้านกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการ (ประสิทธิภาพ) (ค่าเฉลี่ย 4.36 คะแนน และ 4.32 คะแนนตามลำดับ) ส่วนคณะอนุกรรมการ มีความพึงพอใจในระดับดีทั้ง 3 ด้าน และคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจในแต่ละด้านไม่แตกต่างกันมากนัก (ค่าเฉลี่ย 4.04 – 4.08) เห็นได้ว่า คณะอนุกรรมการ ไม่เพียงจะมีแนวโน้มให้คะแนนความพึงพอใจในภาพรวมต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบกับผู้รับบริการ แต่ยังมีแนวโน้มให้คะแนนความพึงพอใจในแต่ละด้านต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงผลการสำรวจในปี 2562-2565
เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจในภาพรวมของผู้รับบริการ และคณะอนุกรรมการ ปี 2562-2565 พบว่า 1) คณะอนุกรรมการ มีแนวโน้มประเมินความพึงพอใจในระดับต่ำกว่าผู้รับบริการมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน และ 2)แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจในภาพรวม และรายด้าน ทั้ง 3 ด้านของผู้รับบริการ และคณะอนุกรรมการ มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือความพึงพอใจในภาพรวมของผู้รับบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับความพึงพอใจรายด้านทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเจ้าหน้าที่/ ผู้ส่งเสริมงานพัฒนาของ พอช. ที่คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ความพึงพอใจในภาพของคณะอนุกรรมการ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับความพึงพอใจรายด้านทั้ง 3 ด้าน
ด้านผลที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. (ประสิทธิผล)
ผลการประเมินความพึงพอใจด้านผลที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนของกลุ่มผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการในประเด็นย่อย 14 ประเด็น มีการให้คะแนนความพึงพอใจในระดับมาก–มากที่สุด โดยผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการ ให้คะแนนความพึงพอใจในระดับมากที่สุดในประเด็นย่อยที่เกี่ยวข้องกับเจตนารมณ์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคมของ พอช. ได้แก่ 1) การสนับสนุนจาก พอช. ทำให้องค์กรชุมชน/ขบวนชุมชนได้รับการยอมรับเกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น และ 2) การสนับสนุนจาก พอช. เปิดโอกาสให้องค์กรชุมชน/ขบวนชุมชนได้มีส่วนร่วมในการ พัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองและแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ในขณะเดียวกัน ยังมีบางประเด็นย่อยที่ยังต้องนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นตามความเห็นของคณะอนุกรรมการ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างศักยภาพของแกนนำ/องค์กรชุมชน/ขบวนองค์กรชุมชน และได้รับคะแนนความพึงพอใจน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบกับประเด็นย่อยอื่น ๆ ได้แก่ 1) องค์กรชุมชน/ขบวนองค์กรชุมชนทุกระดับ (ตำบล จังหวัด ภาค) มีศักยภาพและความสามารถในการบริหารจัดการงานพัฒนาท้องถิ่นตนเองเพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.65 คะแนน) 2) องค์กรชุมชน/ขบวนองค์กรชุมชนสามารถจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน (ค่าเฉลี่ย 3.82 คะแนน) 3) การสนับสนุนจาก พอช. ทำให้องค์กรชุมชน/ขบวนองค์กรชุมชนสามารถประสานทรัพยากร งบประมาณ และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้มากขึ้น (ค่าเฉลี่ย 3.82คะแนน) 4) สภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถเป็นกลไก/เวทีกลางในการเชื่อมโยงองค์กรชุมชน/ขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ (ค่าเฉลี่ย 3.88 คะแนน) 5) การที่ พอช. สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท นับตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน ช่วยบรรเทาปัญหา/ความเดือดร้อนให้กับชุมชนในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 (ค่าเฉลี่ย 3.99 คะแนน) และ 6) ระบบฐานข้อมูลของ พอช. เช่น ข้อมูลองค์กรชุมชน/สภาองค์กรชุมชน/กองทุนสวัสดิการชุมชน และข้อมูลโครงการเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในพื้นที่ (ค่าเฉลี่ย 3.99 คะแนน)
ด้านกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการของ พอช. (ประสิทธิภาพ)
ผู้รับบริการ ประเมินความพึงพอใจด้านกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการของ พอช. (ประสิทธิภาพ)ในประเด็นย่อย 10 ประเด็น มีการให้คะแนนความพึงพอใจในระดับมากที่สุดใน 9 ประเด็นย่อย ยกเว้นความเหมาะสมของเอกสารประกอบการเสนอโครงการ (ไม่มากหรือน้อยเกินไป) ในทุกขั้นตอนและกระบวนการให้บริการ (ค่าเฉลี่ย 4.12 คะแนน)
คณะอนุกรรมการ ประเมินความพึงพอใจด้านกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการของ พอช.(ประสิทธิภาพ) ในประเด็นย่อย 14 ประเด็น มีการให้คะแนนความพึงพอใจในระดับมากที่สุดใน 2 ประเด็นย่อย คือ 1) มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมให้เหมาะสมและสอดคล้อง ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 เช่น ประชุมออนไลน์ สามารถขับเคลื่อนการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ค่าเฉลี่ย 4.57คะแนน) และ 2) มีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจ วัตถุประสงค์และบทบาทหน้าที่อนุกรรมการ/คณะทำงาน (ค่าเฉลี่ย 4.32 คะแนน)
ในขณะเดียวกันยังมีบางประเด็นย่อยที่ยังต้องนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการขั้นตอนการให้บริการของ พอช. มากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้รับคะแนนความพึงพอใจน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบกับประเด็นย่อยอื่น ๆ ได้แก่ 1) การพัฒนา/ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศงานพัฒนาให้มีความทันสมัยและพร้อมใช้งาน (ค่าเฉลี่ย 3.75 คะแนน) 2) ความเหมาะสมของระบบและกลไกการติดตามและประเมินผลงานพัฒนา/โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. (ค่าเฉลี่ย 3.77 คะแนน) 3) ความคล่องตัวรวดเร็ว และยืดหยุ่นในขั้นตอนและกระบวนการให้บริการ ภายหลังจากการกระจายอำนาจไปที่ภาค/กลุ่มจังหวัด/จังหวัด/ตำบล (ค่าเฉลี่ย 3.83 คะแนน) 4) การพัฒนาและเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการขบวนองค์กรชุมชน/กองเลขาจังหวัดและกองเลขางานประเด็นต่างๆ และจัดทำเครื่องมือสนับสนุน เช่น พัฒนาทักษะการใช้โปรแกรม คู่มือการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ (ค่าเฉลี่ย 3.86 คะแนน) 5) มีการประสานและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ/ท้องถิ่น/ท้องที่/สถาบันการศึกษา/ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน(ค่าเฉลี่ย 3.92 คะแนน)
ด้านเจ้าหน้าที่/ผู้ส่งเสริมงานพัฒนา
ผลการประเมินความพึงพอใจด้านผลที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ประสิทธิผล) ของกลุ่มผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการ ในประเด็นย่อย 6 ประเด็น มีการให้คะแนนความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุด โดยผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการ ให้คะแนนความพึงพอใจในระดับมากที่สุดใน 2 ประเด็นย่อย คือ 1) คุณธรรม-จริยธรรมในการให้บริการ เช่น ยึดมั่นในระเบียบวินัย ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ ไม่ขอสิ่งตอบแทน และ 2) บุคลิกภาพเหมาะสมกับการเป็นผู้ให้บริการ โดยมีอัธยาศัยไมตรีในการให้บริการ มีพฤติกรรมการให้บริการที่ให้เกียรติกับผู้รับบริการ และมีความเชื่อมั่นในการพัฒนาให้องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในขณะเดียวกันยังมีบางประเด็นย่อยที่ยังต้องนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงและพัฒนาด้านเจ้าหน้าที่/ผู้ส่งเสริมงานพัฒนาตามความเห็นของคณะอนุกรรมการ และได้รับคะแนนความพึงพอใจน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบกับประเด็นย่อยอื่น ๆ ได้แก่ 1) ความสามารถในการคลี่คลายปัญหาข้อติดขัดทำให้งานสามารถบรรลุผล 2) การสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงาน/ภาคีพัฒนาในพื้นที่ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน 3) ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการให้ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารเกี่ยวกับงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ พอช. สนับสนุน และ 4) ลักษณะการทำงานเป็นทีมระหว่างเจ้าหน้าที่และร่วมกับแกนนำ/ขบวนชุมชนในพื้นที
การให้บริการในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019
ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดในทุกประเด็นย่อยการประเมิน ส่วนคณะอนุกรรมการมีระดับความพึงพอใจต่ำกว่าเล็กน้อย โดยอยู่ในระดับมาก – มากที่สุด โดยประเด็นที่คณะอนุกรรมให้คะแนนความพึงพอใจต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ คือ 1) การที่ พอช. ดำเนินการพักชำระหนี้โครงการบ้านมั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ช่วยบรรเทาปัญหา/ความเดือดร้อนให้กับชุมชนในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 (ค่าเฉลี่ย 3.99 คะแนน) 2) โครงการและงบประมาณที่ พอช. สนับสนุนสามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ และเชื่อมโยงทรัพยากรหรือหน่วยงานภายนอกได้ (ค่าเฉลี่ย 4.04 คะแนน) และ 3)ความสามารถออกแบบการทำงาน นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้ (ค่าเฉลี่ย 4.05 คะแนน)
ความแตกต่างของความพึงพอใจระหว่างกลุ่มย่อยประชากรผลการประเมิน พบว่า คะแนนความพึงพอใจในภาพรวม และคะแนนความพึงพอใจรายด้านทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านผลที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ประสิทธิผล) ด้านกระบวนการขั้นตอนการให้บริการ (ประสิทธิภาพ) และด้านเจ้าหน้าที่/ ผู้ส่งเสริมงานพัฒนา มีความผันแปรไม่มากนัก โดยไม่มีความแตกต่างของคะแนนความพึงพอใจระหว่างโครงการที่รับผิดชอบที่แตกต่างกัน และไม่มีความแตกต่างของคะแนนความพึงพอใจระหว่างผู้รับบริการหรือคณะอนุกรรมการที่มีคุณลักษณะที่ต่างกัน โดยมีความแตกต่างอยู่บ้างระหว่างกลุ่มผู้รับบริการและกลุ่มคณะอนุกรรมการ อาจเป็นผลมาจากความคาดหวังที่แตกต่างกัน และความแตกต่างระหว่างพื้นที่ดำเนินการ โดยผู้รับบริการในพื้นที่ดำเนินงานภาคเหนือ มีความพึงพอใจในระดับที่ต่ำกว่าโดยเปรียบทียบกับพื้นที่ดำเนินงานภาคอื่นๆ โดยเฉพาะด้านกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการ(ค่าเฉลี่ย 4.01 คะแนน)
จุดเด่นในการให้การสนับสนุนงานพัฒนา
ผลการสำรวจจุดเด่นของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในการให้การสนับสนุนงานพัฒนา โดยใช้คำถามปลายเปิด พบว่า กลุ่มผู้รับบริการ และคณะอนุกรรมการ มีคามเห็นสอดคล้องกันว่าจุดเด่นของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) คือ “เป็นหน่วยงานที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยมุ่งเน้นการศึกษาปัญหาเชิงพื้นที่และรับฟังปัญหาจากคนในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา” สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ขององค์กร
ความรู้สึกผูกพันเชื่อมโยงกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ระดับความรู้สึกผูกพันเชื่อมโยงกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างผู้รับบริการและคณะอนุกรรมการ โดยคณะอนุกรรมการ มีระดับความรู้สึกผูกพันเชื่อมโยงสูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับผู้รับบริการ กล่าวคือ คณะอนุกรรมการ ส่วนใหญ่ “รู้สึกผูกพันกับ พอช. ในฐานหุ้นส่วนพัฒนา” รองลงมา คือ “รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ พอช.” (ร้อยละ 62 เปรียบเทียบกับร้อยละ 16) ส่วนผู้รับบริการ “รู้จักในฐานะพี่เลี้ยง หรือที่ปรึกษางานพัฒนา” มีสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมา คือ “รู้สึกผูกพันกับ พอช. ในฐานหุ้นส่วนพัฒนา” (ร้อยละ 41 เปรียบเทียบกับร้อยละ 22)อย่างไรก็ดียังคงมีความท้าทายในการพัฒนาบริการกับกลุ่มผู้รับบริการ ประมาณร้อยละ 23 มีความผูกพันเชื่อมโยงกับ พอช. ในระดับต่ำ คือ “เหมือนคนรู้จัก อยู่ห่าง ๆ ไม่ค่อยได้ติดต่อกัน” (ร้อยละ 16) และ “รู้จักในฐานะแหล่งทุน” (ร้อยละ 12) โดยคุณลักษณะของผู้รับบริการที่มีความผูกพันเชื่อมโยงกับ พอช. ในระดับต่ำคือ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เข้าร่วมเฉพาะโครงการบ้านพอเพียง (ไม่ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน) มีพื้นที่ดำเนินการอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระดับการศึกษามัธยปลายขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับ พอช. 5 ปีขึ้นไป
บทบาทของ พอช. กับเป้าหมายการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง
ผลการศึกษาเชิงคุณภาพในประเด็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พบว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีบทบาทในการสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1)การสนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการที่ชุมชนนำเสนอ 2) การสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่การจัดทำข้อมูล การวางแผน และการดำเนินการเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและสามารถพึ่งพาตนเองได้ และ 3) การเปิดพื้นที่ในการทดลองปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตามประเด็นที่ชุมชนต้องการด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกแง่มุมหนึ่งว่า เนื่องจากข้อจำกัดจากโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณ และการบริหารจัดการ ส่งผลให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.มีบทบาทหน้าที่เพียงกำกับและจัดกลุ่มความเข้มแข็งของชุมชน แต่ยังไม่สามารถสนับสนุนให้เข้าถึงกลุ่มเปราะบางในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งและการติดตามประเมินผลความสำเร็จของโครงการ การรักษากำลังคนทำงานกับพื้นที่ควรเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ควรใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบฐานข้อมูลชุนชนเข้ามาช่วยลดภาระงานด้านตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ เพิ่มทักษะการทำงานร่วมกับชุมชนตามวิถีขององค์กร ดังนั้น แม้ว่าผลการประเมินพึงพอใจในภาพรวมของสถาบันจะมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา สำหรับข้อเสนอแนะจากการสำรวจความพึงพอใจในปีงบประมาณ 2565 นี้ มุ่งให้ พอช. ปรับแนวคิด ยุทธศาสตร์การดำเนินงานและความท้าทายใหม่ๆ ในสังคมในหลากหลายด้านและหลากหลายมิติ และพัฒนาระบบโครงสร้างตำแหน่งเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ให้มีความก้าวหน้า