ประมงพื้นบ้านระยองจับมือนักวิชาการ จัดอบรมคำนวณค่าชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม

ประมงพื้นบ้านระยองจับมือนักวิชาการ จัดอบรมคำนวณค่าชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม

เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง ร่วมกับนักวิชาการ  จัด Workshop “การคิคคำนวณค่าชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม” กรณีเยียวยา “ถมทะเลเฟส 3” เพื่อจัดทำเอกสารร้องค่าเยียวยาตามหลักวิชาการ ต่อ กอน.

บรรยากาศการอบรม “การคิคคำนวณค่าชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม”

เครือข่ายประมงพื้นบ้านกว่า 10 กลุ่ม ร่วมกับนักวิชาการ จัด Workshop อบรม “การคิคคำนวณค่าชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม” ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วระยองเมื่อต้นปี 2565 และกรณีผลกระทบจากการถมทะเล ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการอบรม 2 วัน รวมกว่า 800 คน เมื่อวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2565 ณ โรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ อำเภอเมืองระยอง จ.ระยอง 

การจัด Workshop ครั้งนี้จัดขึ้นได้ เหตุเพราะเครือข่ายประมง จ.ระยอง ที่โดนผลกระทบจากการถมทะเลมาบตาพุดเฟสที่ 3 เคยมาศึกษาเรียนรู้การคิดคำนวณค่าชดเชยเยียวยากับชาวประมงที่บางละมุง-แหลมฉบัง จ.ชลบุรี  ซึ่งเจอผลกระทบจากโครงการถมทะเลก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และได้รับค่าชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม จากนั้นเครือข่ายประมง จ.ระยอง จึงรวมกลุ่มจัดทำเอกสารตามที่ได้เรียนรู้มาจากชาวประมง จ.ชลบุรี แล้วยื่นขอเยียวยาจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะเยียวยา 

เครือข่ายประมง จ.ระยอง จึงปรึกษาหารือกับ ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการ EEC Watch ที่ปรึกษาสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่อาสาจัดทำเอกสารต่อสู้เรียกร้องค่าเยียวยาที่เป็นธรรมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการถมทะเล บางละมุง-แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ว่าเครือข่ายประมงระยองต้องการจัด Workshop อบรม การคิคคำนวณค่าชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมอีกครั้ง เป็นรอบที่ 2 เพื่อเรียนรู้การคิดค่าเยียวยาถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อดำเนินการรวบรวมเอกสารที่ กนอ. ต้องการอย่างครบถ้วนเพื่อยืนยันสิทธิที่ควรรับค่าชดเชยจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ 

ดร.สมนึกให้ข้อมูลว่า กรณีโครงการถมทะเลท่าเรือแหลมฉบัง ชาวบ้านประมงที่เดือดร้อนสามารถเรียกร้องค่าเยียวยาที่เป็นธรรมจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยในจำนวนเงิน 2,100 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นรายปี ทั้งหมด 6 ปี แต่กลับกัน ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงบริเวณถมทะเลท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ยังไม่เคยได้รับเยียวยาที่เป็นธรรม ถึงแม้เยียวยา ก็เกิดไม่ทั่วถึง และจำนวนเงินชดเชยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ไม่สอดคล้องกับผลกระทบ ดร.สมนึก มองว่านี่คือการจ่ายค่าเยียวยาไม่เป็นธรรม 

จึงรวมกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการ จาก Land Watch Thai และสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี เพื่อเตรียมหลักสูตรถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการคิคคำนวณค่าชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมให้ชาวประมง จ.ระยอง ได้เรียนรู้วิธีการคำนวณค่าชดเชย ทั้งนี้ภายในงานอบรมยังมีกลุ่มที่เจอปัญหาน้ำมันรั่วเมื่อต้นปี 2565 มาเข้าร่วมด้วย 

ดร.สมนึก เล่าต่อว่า นอกจากงานจะจัดขึ้นเพื่ออบรมการคำนวณค่าชดเชยเยียวยา ปีนี้ยังครบรอบ 5 ปี ที่ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ. EEC ในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หนึ่งในนั่นคือ โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดใน จ.ระยอง ที่ชาวประมงส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนจากที่พื้นที่ทำประมงสูญหาย ดังนั้น การอบรมนี้จึงมีกระบวนการประเมินผลกระทบจากการใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวต่อชาวประมงด้วยว่าสถานการณ์ผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง 

“ผมมองว่า ในมาตราต่าง ๆ ของพ.ร.บ. EEC ไม่มีการพูดเรื่องเยียวยาจากเหตุการณ์ถมทะเลหรือน้ำมั่วรั่วเลย มี พ.ร.บ. EEC  ก็เหมือนไม่มี ซ้ำใช้แล้วมีแต่รังแกชาวประมงมากกว่า เพราะทำให้หมดที่ทำกิน ผมจะสอบถามความเดือดร้อนของชาวประมงระยองโดยใช้แบบฟอร์มของกระทรวงยุติธรรมเพื่อทำเรื่องผลกระทบทางกฎหมาย ” ดร.สมนึก กล่าว 

ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการ EEC Watch ที่ปรึกษาสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.ชลบุรี

ดร.สมนึก ระบุว่า กระบวนการอบรมจะนำวิธีคิดการคำนวณค่าเยียวยาที่ชาวบ้านประมงพื้นที่ชลบุรีได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มาใช้กับการคิดคำนวณค่าเยียวยาของชาวบ้านในพื้นที่ระยอง บริเวณถมทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง 

“กรณีท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ได้เริ่มจากการเก็บข้อมูลจำนวนวันที่ต้องหยุดออกเรือประมง, ต้นทุนที่ต้องออกเรือ และราคาสัตว์น้ำ ของชาวบ้านมาคำนวณตั้งแต่ปี 2560 โดยสำรวจผลผลิตของเรือ 1 ลำ ออกเรือกี่เดือน กี่วัน แต่ละลำหาสัตว์น้ำต่างกัน บ้างหาอวนปู หาอวนปลา บางคนต้องหา 2 อวน ซึ่งทำให้ตัวเลขเยียวยาจะไม่เท่ากัน เมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยจ่าย ก็ต้องนำยอดขายลบต้นทุน แล้วเป็นกำไรสุทธิ 

จากนั้น ปรับมาใช้กับพื้นที่ถมทะเลมาบตาพุด โดยใช้แบบสำรวจ 2 ฉบับ คือ 1) แบบสำรวจผลผลิตหมู่บ้านประมงทะเล  2) แบบสำรวจราคาเฉลี่ยสัตว์น้ำเค็ม ณ ท่าขึ้นปลา ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มตามมาตรฐานของกรมประมง เพื่อให้ชาวบ้านประมงที่ได้รับผลกระทบกรอกข้อมูลในช่วงดือนที่ปกติออกเรือทำการประมงแต่ต้องหยุดชะงักเพราะโครงการพัฒนาจากรัฐ, ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้, ราคาสัตว์น้ำ และคำนวณออกมาเป็นตัวเงิน ที่ต้องได้รับเป็นเดือน จากเดือนจึงคำนวณมาเป็นปี ตามลำดับ

นอกจากการคำนวณชดเชยเยียวยาต่อบุคคลแล้ว การคิดคำนวณมียังรวมระยะเวลาของการฟื้นฟูทางทะเลเข้ามาด้วย ดร.สมนึก ให้ข้อมูลว่า ผลกระทบจากถมทะเลท่าเรือแหลมฉบังมีการคิดการเยียวยาด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเช่นกัน โดยบวกระยะเวลาการฟื้นฟูทางทะเลเข้าไปอีก 2 ปีหลังที่มีการถมทะเลเสร็จ

ดร.สมนึก ระบุเพิ่มเติมว่า ผลการอบรมครั้งนี้ ทางเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง ต้องการคิดเยียวยาตามแบบพื้นที่บางละมุง-แหลมฉบัง จ.ชลบุรี คือ 6 ปี ประกอบด้วยระยะเวลาถมทะเล 4 ปี บวกกับระยะฟื้นฟูระบบนิเวศอีก 2 ปี ซึ่งกรณีถมทะเลมาบตาพุด ระยะที่ 3 ต้องใช้พื้นที่สร้างโครงการประมาณ 1,000 ไร่  หากคำนวณค่าเยียวยาแล้ว จำนวนเงินที่ต้องจ่ายชาวบ้านอยู่ที่หลักพันล้านบาท ดังนั้น ชาวบ้านประมงระยองตั้งใจยื่นหนังสือเยียวยาเป็นธรรมร้องต่อ กนอ. อีกครั้ง หากไม่ประสบผลสำเร็จจะเดินหน้าร้อง ครม. ให้มีมติกันงบส่วนนี้ออกมาเยียวยาประชาชน  

ทั้งนี้ เครือข่ายประมง จ.ระยอง จะนำองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จากการอบรม และทยอยกันกรอกตัวเลขที่รัฐควรจ่ายเยียวยาตามความเป็นจริง แล้วสุดท้ายคือขั้นตอนรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นร้องเยียวยาไปยัง กนอ. หาก กนอ. ไม่รับหนังสือครั้งนี้ ชุมชนอาจเตรียมเดินทางมาที่ กทม. เพื่อกดดันนายกฯและคณัรัฐมนตรีให้ความช่วยเหลือต่อไป 

000

หมุด C-Site Workshop “การคิคคำนวณค่าชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม” ในงาน ประชาคมประมงผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่ว จ.ระยอง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ