เรื่อง/ภาพ : รุ่งโรจน์ เพชระบุรณิน
ภาคประชาชนเปิดเวที รำลึก ๘๓ ปี ประชาธิปไตย แนะรัฐธรรมนูญจะก้าวหน้าต้องฟังข้อเสนอประชาชน ย้ำ คสช. และ สปช. หยุดการสืบทอดอำนาจในทุกกรณี เสนอ ๑๐ ประเด็นต้องมีบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘) เวลา ๐๙.๓๐-๑๒.๐๐ น. สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) เปิดสภาครั้งที่ ๓ “สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ปฏิรูปไม่เสียของต้องฟังเสียงประชาชน” ที่ห้องประชุมชั้น ๒ อาคารรักตะกนิษฐ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ในวาระครบรอบ ๘๓ ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และช่วงโค้งสุดท้ายในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ สชป.ย้ำ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องยืนหยัดในหลักการ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ และต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าเดิม ระบุ คสช. และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะต้องตระหนักว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หยุดการสืบทอดอำนาจในทุกกรณี
นายเดช พุ่มคชา ที่ปรึกษา กป.อพช. กล่าวถึงเส้นทางประชาธิปไตยบนคราบไคลจนปัจจุบัน ปฏิรูปไม่เสียของต้องฟังเสียงประชาชนว่า เมื่อ ๘๓ ปีก่อน คณะราษฎรทำการปฏิวัติ และได้วางเสาหลัก ๖ ประการ ๑) รักษาความเป็นเอกราชของชาติ ๒) รักษาความปลอดภัยของชาติและประชาชน ๓) บำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ ๔) มีสิทธิเสมอภาค ๕) เสรีภาพมีความเป็นอิสระ ๖) ให้การศึกษาราษฎรอย่างเต็มที่ แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา เรามีการรัฐประหารไปแล้ว ๑๓ ครั้ง เรามีรัฐธรรมนูญ ๑๙ ฉบับ และกำลังร่างฉบับที่ ๒๐
ซึ่งเหตุการณ์หลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา หรือการยึดอำนาจของทหาร ก็ไม่อาจมีศีลธรรมความดีงามมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง มีแต่ภาคประชาชนเท่านั้น ที่ต้องเข้มแข็งต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะประชาธิปไตยย่อมไม่มีเพียงรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง แต่ต้องสร้างให้เป็นแบบแผนในวิถีชีวิตของประชาชน การออกแบบกติกาต้องก่อให้เกิดความยุติธรรมเท่าเทียมอย่างเพียงพอ เพราะประชาธิปไตยไม่มีขายในท้องตลาด สามัญชนต้องสร้างเอง ทุกคนล้วนมีส่วนทำ เราคือสภาประชาชน เราต้องใส่ใจรัฏฐาธิปัตย์เพราะเป็นอำนาจของเราประชาชน
นางอังคนา นีละไพจิตร กล่าวในหัวข้อ “ภาคประชาชนกับการปฏิรูปประเทศไทย” ในวาระครบรอบ ๘๓ ปี การวางรากฐานประชาธิปไตย ต้องเสมอภาค เท่าเทียม วันนี้อำนาจที่แท้จริงยังไม่เป็นของประชาชน ประเทศไทยจะไม่กลับมาเหมือนเดิมหลังความขัดแย้ง ในการร่าง รธน.มีหลายสิ่งดีขึ้น แต่หลักสำคัญคือต้องคงไว้ซึ้งคุณค่าศักดิ์ศรีของประชาชน การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และความคิดเห็นทางการเมือง บางเรื่องยังมีความหวัง หลายเรื่องยังน่ากังวล เช่น สิทธิพลเมือง คนทุกข์คนยาก เป็นคนที่เท่าเทียม เราต้องเคารพคุณค่าศักดิ์ศรีของกันและกัน มองเห็นความแตกต่าง ไม่แบ่งแยกทั้งความต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา และความเชื่อทางการเมือง
ในการปฏิรูป ควรมีการพูดถึงการปฏิรูปตำรวจ ทหาร หรือหน่วยงานความมั่นคง เพื่อให้ตำรวจมีความเป็นมืออาชีพ เป็นองค์กรที่พึ่งของประชาชน ที่ผ่านมาเคยมีการยกร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบตำรวจ แต่กฏหมายฉบับนี้ก็ตกไปในชั้นกฤษฎีกา เมื่อปี ๒๕๕๐ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการพูดถึงอีก ที่จะมีก็พูดถึงการปฏิรูปเรื่องภายในของตำรวจ แต่ไม่มีเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กร
ส่วนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค แม้มีการระบุไว้ใน รธน. ๒๕๔๐ ผ่านมา ๑๘ ปีแต่ก็ยังไม่การตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค หรือทำอย่างไรเราจะได้รับประโยชน์จากรัฐสวัสดิการ เพราะเราทำงาน เราจ่ายภาษี เมื่อเราเจ็บป่วย เราต้องได้รับการดูแลจากรัฐ จะเห็นได้ว่าในการทำงานปฏิรูปไม่ใช่ง่ายดาย คนเล็กคนน้อยต้องรวมกันส่งเสียง เพราะผู้ปกครองไม่สามารถอยู่ได้โดยลำพัง โดยไม่ฟังเสียงประชาชน และเชื่อว่าในท้ายที่สุดอำนาจจะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า จากการเปิดเวทีตามภูมิภาคต่างๆ หลายเวที เสียงสะท้อนหลายส่วนยังมีความพอใจในการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่ไม่เปิดกว้าง แต่บางส่วนก็มีความพอใจ มีความหวังว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะดีกว่าเดิม จากเวทีของ สปช.มีการประมวลข้อเสนอต่างๆ ในร่างรธน.กว่า ๓๐ มาตรา ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชน ถ้าดูจากที่รัฐบาล และ สปช.เสนอแก้ไขร่าง รธน. ตนรู้สึกมีความหนักใจในสิ่งที่ภาคประชาชนเสนอ เพราะมีบางมาตราที่ใช้ได้ถ้าสามารถรักษาเนื้อหาให้คงอยู่จะช่วยปรับปรุงสิทธิพลเมืองได้ดีขึ้น อย่างใน ม.๖๒ หรือ ม.๖๕ หรือ เรื่องสมัชชาพลเมือง แต่กลับปรากฏว่ามีการเสนอแก้ไขให้ตัดออกโดย ครม. และ สปช. กมธ.ยกร่างฯ จะต้านทานความกดดันไปได้หรือไม่ สปช. มีศักยภาพที่จะสนับสนุน มาตราที่ดีแล้วให้คงไว้หรือไม่ขึ้นอยู่กับพลังอิสระต้องขับเคลื่อน
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษา พีมูฟ กล่าวว่า ในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มีเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ หากมีการผ่านร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่เป็นการริดรอนสิทธิการชุมนุมของประชาชนโดยสิ้นเชิง เพราะต้องมีการขออนุญาติจากเจ้าพนักงงาน ซึ่งการชุมนุมเรื่องร้องในการไม่ได้รับความเป็นธรรมของชาวบ้านต้องขออนุญาติ และหาก รธน.มีการระบุไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะขัดกับ รธน.หรือไม่
และเรื่องการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ที่ผ่านมาหลายเครือข่ายก็มีการไปยื่นไม่เห็นด้วย ที่ผ่านมามีความพยายามที่อยากจะยุบรวม แต่ขณะนี้รัฐบาลเสนอให้เอากลับคืนมา ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม และได้กำหนดอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมไว้ ให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ มีสำนักงานที่เป็นอิสระ ถ้าเป็นดังนี้ก็มีความหวังที่จะไม่ถูกควบรวม และประสิทธิภาพในการทำงานอาจเพิ่มขึ้น แต่กมธ.ยกร่างฯ จะยอมปรับปรุงตามข้อเสนอของรัฐบาลและสชป.หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เนื้อหาร่าง รธน.กันต่อไป
นายจินดา บุญจันทร์ ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวถึงเรื่องพลเมืองเข้มแข็งว่า ต้องมีการกระจายอำนาจ เสนอ 2 รูปแบบ 1) การเพิ่มอำนาจท้องถิ่น จังหวัดจัดการตนเอง 2) ต้องมีสมัชชาพลเมือง หรือสภาพลเมือง หลักคิดเชื่อมั่นว่าถ้าอำนาจอยู่ที่ตรงงกลางสังคมไทยแก้ปัญหาไม่จบ เพราะมีการแย่งอำนาจที่ตรงกลาง ทางหนึ่งถ้าอำนาจอยู่ข้างล่างความขัดแย้งจะลดลง อำนาจต้องเป็นของปวงชน ให้สิทธิรากหญ้าในการตัดสินใจมากขึ้น เชื่อว่าเมื่ออำนาจข้างล่างมากขึ้นอำนาจข้างบนจะลดลงมาเอง
ชาวบ้านให้การสนับสนุนเรื่องการกระจายอำนาจในเกือบทุกเวทีในการรับฟัง แต่อีกฟากหนึ่งมีการบอกว่าประเทศเรายังไม่มีความพร้อม ผ่านมา ๘๓ ปีแล้วบอกว่ายังไม่มีความพร้อม และยิ่งมีการเสนอตัดสมัชชาพลเมืองออก แต่นี่คือเสียงเรียกร้องของประชาชน เมื่อรับฟังแล้วแต่กลับไม่รับปฏิบัติ ที่ผ่านมาเราได้ถอดรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงที่มาจากบทเรียนการทำงานของชาวบ้าน ชาวบ้านจะเสนองานพัฒนาในท้องที่ท้องถิ่นของเขา แต่หลักคิดนี้กลับถูกยับยั้ง ประชาธิไตยฐานราก เหมือนการสอนงัวในไถ ให้เกิดการเรียนรู้จากการทำซ้ำ ถึงแม้จะไม่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เรายืนยันที่จะทำต่อไป
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสมาพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า อยากส่งเสียงถึงรัฐบาล จากอดีตถึงปัจจุบันทหารไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทหารไม่ชอบการมีส่วนร่วม แต่ชอบสั่งการ คุณตั้งให้เขายกร่าง รธน. แต่ ครม.กลับเสนอความคิดเห็นตัดโน่นนี่ในรัฐธรรมนูญ เท่ากับการสั่งการหรือไม่ และกับข้อเสนอที่ฟังจากประชาชนมา กมธ.ยกร่าง รธน.จะฟังใคร มีการตัดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แล้วจะเป็นประชาธิปไตยตรงไหน อย่างการตัดร่าง รธน. ม.๖๐ องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค ที่มีการบัญญัติตั้งแต่ รธน. ๒๕๔๐ และ รธน.๒๕๕๐ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และถ้าฉบับนี้ไม่มีการกำหนดไว้ มันจะเกิดขึ้นได้หรือ หัวใจสำคัญที่รัฐแสดงออกจะมีการตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเรื่องน้ำมันที่มีการอ้างอิงราคาตลาดโลก เมื่อน้ำมันขึ้นก็ขึ้นราคาขาย แต่พอน้ำมันลดกลับไม่ลดราคาขายลงให้อิงกลับราคาตลาดโลก เรื่องอย่างนี้กระทบผู้บริโภค ทหารใจกล้าๆ หน่อยอย่ากลัวองค์กรประชาชนและองค์กรอิสระที่ควรมี
ในช่วงท้าย นางชุลีพร ด้วงฉิม และนายมะลิ ทองคำปลิว ผู้แทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป อ่านแถลงคำประกาศสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ฉบับที่ ๕ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องดีกว่าเดิม ซึ่งมีเนื้อหาใจความดังนี้
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ได้ติดตามและพัฒนาข้อเสนอรัฐธรรมนูญประชาชน บนหลักการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องดีกว่าเดิม
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดกรอบการร่างรัฐธรรมนูญที่จะ “สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่”
สภาประชาชนเพื่อการปฎิรูปมีข้อกังวลต่อข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐบาล และสมาชิกสภาปฏิรูปบางกลุ่ม ที่เสนอให้ตัดส่วนที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนการพัฒนา สมัชชาพลเมือง องค์กรอิสระด้านการคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยเหตุผลว่า เกรงจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือจะดำเนินการจัดทำกฎหมายอยู่แล้ว หรือการให้เพิ่มข้อความท้ายมาตราว่า ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เพราะหากไม่มีกฎหมายบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ไม่มีสภาพบังคับ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ รวมทั้งหากไม่กำหนดองค์การอิสระไว้ในรัฐธรรมนูญก็จะเป็นเหตุอ้างว่า ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย หรือเกรงว่า สมัชชาพลเมืองจะสร้างความขัดแย้ง ไปตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นต้น
รัฐบาลเสนอให้ตัดเนื้อหาว่าด้วยการปฏิรูปออกทั้งหมด เพื่อให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปไปกำหนดเนื้อหาการปฏิรูปเอง สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปเห็นว่า ควรคงเนื้อหาของการปฏิรูปไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ปรับข้อความให้กระชับ และตัดคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นเพื่อการปฏิรูปรายประเด็นออก นอกจากนี้การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปต้องไม่เป็นการสืบทอดอำนาจ และต้องยึดโยงกับประชาชน โดยให้ประชาชนเป็นผู้มีบทบาทอย่างมีความหมายในการปฏิรูปประเทศ
รัฐบาลและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้องตระหนักว่า การมีส่วนร่วมของประชาชน การมีธรรมาภิบาล การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อคนในรุ่นปัจจุบัน และอนาคต จะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม ความปรองดอง และการที่ประเทศนี้เป็นของคนทุกคน
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปสนับสนุนข้อเสนอของรัฐบาลที่ไม่ควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน และยืนยันให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แยกวิธีการและคณะกรรมการสรรหากรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญออกจากกัน ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละองค์กร
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน และการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไป ต้องมีบทบัญญัติว่าด้วย
๑.การจัดระบบสวัสดิการและบำนาญเพื่อคนทุกคน
๒.สิทธิบุคคลที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และกำหนดการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
๓.สิทธิชุมชน ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม
๔.การกระจายอำนาจตามหลักการปกครองตนเอง อิสระ และการให้มีจังหวัดจัดการตนเอง
๕.สมัชชาพลเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมและลดความเหลื่อมล้ำ
๖.สิทธิของผู้ใช้แรงงาน ที่จะได้รับค้าจ้างที่เป็นธรรม ความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย
๗.ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและการมีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
๘.สิทธิของผู้บริโภคและองค์การอิสระด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
๙.สมาชิกวุฒิสภาต้องมีที่มายึดโยงกับประชาชน โดยการเลือกตั้งจากจังหวัด การเลือกตั้งจากสายอาชีพ และอาจมีสมาชิกจากการสรรหาเป็นส่วนน้อย
๑๐. สิทธิความเสมอภาคทางเพศ การมีสัดส่วนของหญิงชายที่เท่าเทียม
สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปชื่นชมรัฐบาลที่รับข้อเสนอให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และควรจัดการประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควบคู่กับการนำประเด็นที่มีความเห็นต่างอย่างสำคัญไปทำประชามติ เช่น ที่มา สว. หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป เป็นต้น
วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นวันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยก้าวสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในวาระครบรอบ ๘๓ ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปหวังว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะยืนหยัดในหลักการ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าเดิม เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศนี้เพื่อคนทุกคน
คสช. และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะตระหนักว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หยุดการสืบทอดอำนาจในทุกกรณี