สค.เดินหน้าหนุนพลังชุมชนล้อมรั้ว ครอบครัวไม่ทิ้งกัน

สค.เดินหน้าหนุนพลังชุมชนล้อมรั้ว ครอบครัวไม่ทิ้งกัน

 สค.พม.ร่วมกับสถาบันรามจิตติ แถลง“ผลการใช้พลังข้อมูลสร้างความเข้มแข็งครอบครัวในพื้นที่นำร่อง

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2559 เวลา 14.15 น. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ และ ดร.จุฬากรณ์  มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ร่วมกันแถลงข่าว“ท้องถิ่นกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งครอบครัวด้วยพลังข้อมูลและกลไกการจัดการเชิงพื้นที่” ณ ห้องประชุม Venus โรงแรม Miracle Grand Convention เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ในปัจจุบันทิศทางการดำเนินงานของ สค. มุ่งเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายในการทำงานทุกระดับ ตลอดจนการพัฒนาระบบให้เกิดความเชื่อมโยง และการดึงพลังภาคีทุกภาคส่วนมาร่วมทำงาน เช่น ในครั้งนี้สถาบันรามจิตติได้เข้ามามีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาในการทำงานด้านครอบครัวโดยมุ่งใช้ข้อมูล ความรู้ นำไปสู่การออกแบบกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับโจทย์ ความต้องการและบริบทของแต่ละพื้นที่ พร้อม ๆ กับการสร้างและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ทาง สค. ก็จะได้สนับสนุนโครงการดังกล่าวให้เกิดความต่อเนื่องเป็นรูปธรรม โดยหวังว่าผลการดำเนินงานจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีไปสู่ครอบครัวและชุมชน และหวังว่าพลังของการทำงานบูรณาการทั้งด้านข้อมูลความรู้ เครือข่ายและการดึงทรัพยากรต่าง ๆ ในชุมชนมาช่วย

ในการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถขับเคลื่อน และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทางและสามารถต่อยอดขยายพื้นที่ และขยายผลในระยะยาวต่อไปได้

ทางด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กล่าวชื่นชม สค. ที่ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น เพราะครอบครัวคือตัวแปรต้นที่ทำให้สถานการณ์เรื่องเด็กเยาวชนยังคงเป็นปัญหาสังคมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการทำงานด้านข้อมูลเด็กและเยาวชนมานานจะเห็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ครอบครัวอย่างชัดเจน ข้อมูลที่ชี้ว่าพื้นที่ไหนที่มีสภาวการณ์ครอบครัวน่าเป็นห่วง เช่น มีอัตราการหย่าร้างสูง สมาชิกครอบครัวไม่มีการใช้เวลาร่วมกัน ครอบครัวที่มักทิ้งให้เด็กอยู่เองลำพังหลังเลิกเรียน ฯลฯ เมื่อนำมาวิเคราะห์ดัชนีความสัมพันธ์ของข้อมูลพบว่าล้วนส่งผลต่อปัญหาเด็กทั้งในมิติเรื่องเพศ เรื่องความรุนแรง และเรื่องความเครียด พร้อมทั้งได้กล่าวว่าสิ่งที่ สค. กำลังทำอยู่นี้ ถือเป็นแนวทางเดียวกับกระแสโลกที่เน้นการพัฒนากลไกการจัดการเชิงพื้นที่ เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กได้ทำงาน โดยรวมภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาช่วยกันทำ และมีข้อมูลเชิงพื้นที่เป็นตัวนำเรื่องและประเมินสถานการณ์ นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนะต่อ สค. และกระทรวง พม. ในการพัฒนานโยบายของหน่วยงานให้มีการทำงานโดยไม่แยกส่วนว่า งานนี้ กลุ่มเป้าหมายนี้เป็นหน้าที่ของกรมใด หน่วยใด แต่ควรให้เป็นงานที่สามารถบูรณาการทั้งการทำงานและงบประมาณโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ดีขึ้น

ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินโครงการพัฒนากลไกการเชื่อมต่อข้อมูลและการทำงาน
เชิงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ได้เน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวยากลำบากใน 4 ลักษณะ ได้แก่ ครอบครัวฐานะยากจน ครอบครัวที่มีผู้พิการและเจ็บป่วยเรื้อรัง ครอบครัวลักษณะเฉพาะ เช่น ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่ผู้สูงอายุดูแลเด็กตามลำพัง ครอบครัวผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง รวมถึงครอบครัวที่พบเหตุการณ์กระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยพบว่า 1 ใน 3 ของครอบครัว เป็นครอบครัวที่พ่อแม่ทิ้งเด็กไว้ให้อยู่กับคนแก่หรือญาติ และยังพบปัญหาครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวที่มีเด็กเยาวชน ที่อยู่ในบริบทเสี่ยงอาจเผชิญกับปัญหา เช่น ความรุนแรง เพศ พฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงส่งสัญญาณการทำงานแก้ปัญหาหรือการเยียวยา แต่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานเชิงรุกที่ต้องตอบโจทย์และทันต่อสถานการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงต้องมีการบูรณาการข้อมูลและการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญเร่งด่วนในพื้นที่ร่วมกัน นอกจากนี้ ข้อค้นพบจากการดำเนินโครงการชี้ว่า กลไกการทำงานพื้นที่เป็นการทำงานบนฐาน “การเรียนรู้และร่วมพลัง” กันของประชาคมในหลายภาคส่วนในพื้นที่ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับตำบล จนถึงระดับจังหวัด ทั้งนี้ในกระบวนการทำงานจึงมีการประสานสนธิกำลังทั้งระหว่าง “คนและเครือข่าย” ที่จะมาเป็นแกนสำคัญของการขับเคลื่อน การเชื่อมร้อยระหว่าง “ข้อมูล-ความรู้และเครื่องมือทำงาน” ที่จะช่วยให้พื้นที่มีทางเลือกหลากหลายในการทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว และรวมถึงการทำงานประสานและเชื่อมโยงระหว่าง “งานและงบ (เงิน)หรือทรัพยากร” ที่ถูกจัดสรรปันแบ่งอย่างสมดุล อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดของกระบวนการทำงาน เราเห็น “กลไกติดตามต่อยอด” ในปลายทาง ซึ่งคือส่วนสำคัญมากที่จะติดตามและประเมินการเปลี่ยนแปลงผลการทำงานว่าตอบโจทย์สร้างผลลัพธ์ที่ดีกับกลุ่มเป้าหมายอย่างไร ทั้งยังช่วยยกระดับการทำงานในระยะยาว ทั้งหมดชี้บทเรียนสำคัญของโครงการนี้ว่า ข้อมูลมีพลังอย่างเดียวไม่พอต้องมีกลไกที่มีพลังด้วย แต่พลังของกลไกไม่ใช่มาจากสค.หรือศพค.หรือพม.ฝ่ายเดียว แต่ต้องประสานทั้งพลังความรู้ พลังผู้นำ(นโยบาย) รวมถึงพลังภาคีคนและเครือข่ายที่มาทุกฝ่ายในท้องถิ่นที่เป็นหน่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ครอบครัวคือฐานพลังที่สำคัญของการสร้างอนาคตที่ดี”   ดร.จุฬากรณ์ กล่าวในตอนท้าย  

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเสวนา “บทเรียนการขับเคลื่อนกลไกท้องถิ่นในการเชื่อมต่อข้อมูลสู่การพัฒนาความเข้มแข็งของครอบครัวเชิงพื้นที่” การแถลงข่าว “ท้องถิ่นกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งครอบครัวด้วยพลังข้อมูลและกลไกการจัดการเชิงพื้นที่” ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยตัวแทนจาก ศพค. นำร่องที่เข้าร่วมโครงการจาก5 จังหวัด (นครสวรรค์ ระยอง ราชบุรี ศรีสะเกษ พังงา) และตัวแทนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่ขับเคลื่อนงานร่วมกับ ศพค. หน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครอบครัว สื่อมวลชน บุคลากรจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำร่องทั้ง 5 จังหวัด คณะทำงานโครงการ และบุคลากรของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รวม 100 คน

****************************

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ