ประมวลงาน “แพทย์แผนไทยคลายทุกข์” ตะลุยน้ำท่วมช่วยผู้ป่วยทั่วอยุธยา

ประมวลงาน “แพทย์แผนไทยคลายทุกข์” ตะลุยน้ำท่วมช่วยผู้ป่วยทั่วอยุธยา

น้ำท่วมทุกปี คนอยุธยาไม่ชาชิน 

ไหน ๆ คนอยุธยาก็ต้องอยู่กับน้ำทุกปีแล้ว นอกจากเปลี่ยนรถมาใช้เรือ เปลี่ยนจากนอนบนพื้นบ้านมานอนบนเรือ ชาวบ้านปรับตัวมาหมดทุกวิธี แต่ปีนี้ 2565 สถานการณ์น้ำยากจะเดาทาง และคนรับกรรมจะเป็นใคร ? ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่รับน้ำ ถึงแม้จะมีความาพยายามในการจัดการ แต่ถ้าให้ชาวบ้านที่เท้าแช่น้ำมากว่า 3 เดือนให้คะแนน คงจะให้ทีมจัดการน้ำทีมนี้ ‘สอบตก’

/////

‘น้ำท่วมน่ะ เจอมาตั้งแต่เกิดแล้ว แต่ท่วมถึงพื้นบ้านขนาดนี้มันก็เกินไป’
นี่คือเสียงหนึ่ง จากคน อ.เสนา ที่อยู่กับน้ำมาทั้งชีวิต 

/////

ตั้งแต่ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 ทำให้อะไร ๆ ก็ไม่เหมือนเดิม แม้แต่หัวอกหัวใจคนพื้นที่รับน้ำที่ก่อนหน้านี้พายเรือช่วงฤดูน้ำหลากกันเป็นปกติ แต่ถึงตอนนี้ “ทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” ทำให้ในความรู้สึกพวกเขามันเกินเยียวยา แม้จะมีทั้งถุงยังชีพ ข้าวกล่อง น้ำดื่มที่แจกกัน อาจไม่เพียงพอต่อความสูญเสียทั้งเงิน เวลา แรงกายและแรงใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อในแต่ละวัน 

‘ปรับตัวต่อ ไม่รอแล้วนะ’ จึงเป็นสิ่งที่ กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุข จ.พระนครศรีอยุธยา เร่งลงมือทำ เพราะคนก็ป่วย น้ำก็ท่วม กว่าจะพายเรือออกมาโรงพยาบาลได้แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว แต่จะนั่งรอก็ไม่ช่วยอะไร งั้นไปหาผู้ป่วยถึงที่กันโลด 

/////

ดูแลทุกระดับ (น้ำ) ประทับใจกับหน่วยแพทย์แผนไทยคลายทุกข์

000

ไล่เรียงสถานการณ์ ตั้งแต่ช่วงน้ำเริ่มขึ้น – พายุโนรูมา – เขื่อนปล่อยน้ำเพิ่ม –
น้ำขึ้นหนักที่สุด – น้ำนิ่งแล้ว – น้ำแห้งแล้ว

000

ตลอดเวลากว่า 2 เดือนที่ความเคลื่อนไหวจากชื่อบัญชี C-site ‘อยู่ อย่าง สันติ’ ของคุณสันติ โฉมยงค์ นักข่าวพลเมืองและเภสัชกรชำนาญการ สื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราเห็นสถานการณ์น้ำท่วมอยุธยาโดยภาพรวมอย่างเห็นได้ชัดว่า น้ำท่วมครั้งนี้ หนักสุดก็ไม่พ้น ‘บางบาล-เสนา-ผักไห่-บางไทร’ 

กว่า 10 เรื่องราว ที่ถูกปักหมุดรายงานถึงการออกหน่วยเชิงรุกให้บริการผู้ป่วยที่ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้เห็นการทำงานของหน่วย “แพทย์แผนไทย คลายทุกข์ให้ประชาชน” โดย กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุข จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทั่วจังหวัด ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในด่านหน้า, โรงพยาบาลผักไห่, โรงพยาบาลบางไทร, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอนครหลวง

รวมทั้งทีม คปสอ.ภาชีแพทย์และโรงพยาบาลภาชี ที่ปีนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแต่ก็ยังขออาสาร่วมดูแลประชาชน ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ร่วมกับทีมแพทย์แผนไทยด้วย

/////

หมุดแรกที่มีการเคลื่อนไหวของหน่วยแพทย์แผนไทย

สนับสนุนประชาชนใช้ยาสมุนไพรดูแลสุขภาพช่วงน้ำท่วม’ ปักหมุด โดย อยู่ อย่าง สันติ

หากสำรวจจากหมุด เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 เราจะพบว่าชุมชนบางหลวงโดดที่ อ.บางบาล ถูกน้ำท่วมมากว่า 2 อาทิตย์ แสดงว่าที่อยุธยาน้ำเริ่มท่วมมาต้ังแต่กลางเดือนสิงหาคม และกลุ่มงานแพทย์แผนไทยฯ ก็เริ่มมีการลงพื้นที่แจกจ่ายยาแผนไทยให้กับชาวบ้านที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้  

/////

พายุโนรูที่เข้ามาเมื่อปลายเดือนกันยายน ยิ่งทำให้ชาวบ้านกุมขมับ เพราะรู้แล้วว่าน้ำจะมามากกว่าเดิม

เราเริ่มตั้งแต่ช่วงพายุ รู้ว่าพายุจะมา ก็มีการวางแผนแล้ว ว่าเราจะไปออกหน่วยช่วยเหลือประชาชน เพราะคิดว่าหลายคนไม่น่าจะเตรียมตัวกัน

สันติ โฉมยงค์

สันติ ให้ข้อมูลว่า ในปีนี้กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกฯ มียาแผนไทยค่อนข้างเยอะ อีกทั้งมีความพยายามจะผลักดันให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยแพทย์แผนไทย ควบคู่กับการรักษาของแพทย์ปัจจุบัน 

ทำให้การออกหน่วยในครั้งนี้ของทีมแพทย์แผนไทยฯ นอกจากจะดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้กับชาวบ้านด้วย 

ส่วนผลตอบรับจากชาวบ้านนั้นค่อนข้างดีมาก ยิ่งช่วงน้ำท่วมที่การเข้าถึงสถานพยาบาลที่ยากลำบาก การออกตรวจเชิงรุกของกลุ่มแพทย์แผนไทยฯ จึงเหมือนความหวังของชาวบ้านในช่วงเวลานั้น

น้ำลด ภาวะเครียดยังไม่ลด

นอกจากความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วม ผู้สูงอายุที่อยู่กับน้ำท่วมเป็นเวลานานจะมีภาวะเครียด และนอนไม่หลับ หน่วยงานแผนไทยฯ ก็มีการดูแลทั้งการตรวจสุขภาพจิต เช็คสุขภาพใจ หากมีคนไหนนอนไม่หลับก็มีน้ำมันกัญชาที่หน่วยแพทย์ดูแลให้คำแนะนำ และมีการตรวจประเมินอย่างใกล้ชิดก่อนใช้งาน

ช่วงพฤศจิกาเป็นช่วงพีค ช่วงนี้ก็คือน้ำนิ่ง ๆ แต่มันจะมีทั้งน้ำเน่า มันจะเป็นช่วงที่คนจะเป็นโรค เพราะว่าเขาจะมีปัญหาเรื่องขับถ่ายลงน้ำด้วย

สันติ โฉมยงค์

สันติ กล่าวด้วยว่า แผนการออกหน่วยของหน่วยแพทย์แผนไทยคลายทุกข์ยังคงลุยต่อแม้สถานการณ์น้ำจะเริ่มลด เพราะแน่นอนว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ลุ่มต่ำยังคงรอให้เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งมีแนวโน้มจะลากยาวไปถึงปีใหม่ 

/////

จากความเสียหายตั้งแต่ปี 2564 ที่ชาวบ้านอยุธยาบอกว่าท่วมเยอะแล้ว แต่กลายเป็นปี 2565 น้ำท่วมมาเร็วและรุนแรงกว่าเดิม แผนการจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องทบทวนบทเรียนในปีนี้ให้ดี 

ส่วนการวางแผนสำหรับปีหน้าคงจะต้องทำให้ความเดือดร้อนของประชาชนน้อยที่สุด เพราะจากการที่มีข่าวชาวบ้านบางบาลออกมาประท้วงปิดถนนร้องให้กรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำ (เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565) คงจะเป็นเรื่องแสดงให้เห็นแล้วว่า… 


น้ำท่วมทุกปี คนอยุธยาไม่ชาชิน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ