สกลนคร เมืองแห่งความร่มเย็น

สกลนคร เมืองแห่งความร่มเย็น

“สกลนคร” จังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนบน ตั้งอยู่ในแอ่งสกลนคร ซึ่งมีลักษณะภูมินิเวศและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ  กล่าวคือ มีเทือกเขาภูพานลักษณะแบบภูเขาสูงสลับกับที่ราบลูกคลื่น มีป่าโคกที่ราบลุ่มลอนคลื่น มีพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงคราม หนองหานหลวง และลำห้วยสาขาต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดวิถีการหาอยู่หากินของผู้คน รวมไปถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นถิ่น อาทิ ลาวหรือไทอีสาน ผู้ไทหรือภูไท ญ้อ โส้ โย้ย และกะเลิง ยังก่อให้เกิดความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม ซึ่งสามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้อง และผสมผสานความเป็นท้องถิ่น จนได้ชื่อว่าเป็น “เมืองสามธรรม” ได้แก่ ธรรมมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม

จากข้อมูลสถิติพื้นที่ป่าไม้ ของกรมป่าไม้ ปี 2564 ระบุว่า สกลนครมีพื้นที่ป่า 1,047,216.23 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมดของจังหวัด 5,987,354.38 ไร่ คิดสัดส่วนเป็นร้อยละ 17.49 ของพื้นที่จังหวัด (ภาคอีสาน และประเทศไทย มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 14.98 และ 31.59 ตามลำดับ) เป็นอันดับ 5 ของภาค คือรองจาก 1. ชัยภูมิ มีพื้นที่ป่า  2,489,052.51 ไร่ 2. เลย มีพื้นที่ป่า 2,111,740.04 ไร่ 3. นครราชสีมา มีพื้นที่ป่า 1,997,035.87 ไร่ และ 4. อุบลราชธานี มีพื้นที่ป่า 1,744,364.99 ไร่

โดยกรมป่าไม้ ได้ให้นิยาม สภาพพื้นที่ป่า หมายถึง พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณที่สามารถจําแนกได้ว่าเป็นไม้ยืนต้น ปกคลุมเป็นผืนต่อเนื่องขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ (0.5 เฮกตาร์) และหมายรวมถึงทุ่งหญ้าและลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่ปรากฏล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จําแนกได้ว่าเป็นพื้นที่ป่า โดยไม่รวมถึงสวนยูคาลิปตัส หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่ประเมินได้ว่าผลผลิตหลักของการดําเนินการไม้ใช่เนื้อไม้ ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์ม

อย่างไรก็ดี จังหวัดสกลนคร กลับพบว่า พื้นที่ป่ามีอัตราการลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญและต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งมีพื้นที่ 1,057,666.76 ไร่ และปี 2563 มีพื้นที่ 1,051,973.24 ไร่ โดยโครงการวิจัย “การพัฒนาข้อเสนอแผนการพัฒนาสกลนครเมืองน่าอยู่ โดยการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาสังคมและสุขภาพ” ชี้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการบุกเบิกพื้นที่ป่ากรรมสิทธิ์ของเกษตรกรรายย่อยอย่างมาก เนื่องจากรัฐได้อนุมัติให้ย้ายโรงงานน้ำตาลทรายมาก่อสร้างที่อำเภอกุสุมาลย์ ขณะเดียวกันฝ่ายโรงงานก็ได้เข้ามาส่งเสริมให้ประชาชนปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวะมวล พร้อมมีการทำสัญญาให้เงินทุนสนับสนุน จากความต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยมากถึง 1-4 แสนไร่ ได้ส่งผลให้เกิดการบุกเบิกพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นป่าหัวไร่ปลายนาของชาวบ้าน โดยมีการตัดไม้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ในการขายไม้สับและเตรียมเป็นแปลงปลูกอ้อย จนนำมาซึ่งพื้นที่ป่าอันเป็นแหล่งอาหารและพื้นที่ที่มีความหลากหลายของพืชสมุนไพรลดลงอย่างรวดเร็ว

ป่าครอบครัว ต้นแบบการรักษาพื้นที่ป่าโดยชุมชน

อีกด้านหนึ่ง ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสกลนคร ถูกกำหนดให้เป็นเมือง “ธรรมเวชนคร” อันมีเป้าหมายให้เป็นจังหวัดต้นแบบ “เศรษฐกิจธรรมชาติ” หรือ “ดินแดนแห่งพฤกษเวช” ให้สอดคล้องกับการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) จึงเกิดการรวมตัวกันของบุคลากรทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสกลนคร เพื่อดำเนินกิจกรรมป่าเศรษฐกิจครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ของประชาชน ป่าไม้ประเภทนี้ คือป่าไม้ที่ประชาชนมีเอกสารสิทธ์ตามกฎหมายอย่างถูกต้อง

โดยการสำรวจศึกษาป่าเศรษฐกิจครอบครัว ในพื้นที่นำร่อง 7 อำเภอ ได้แก่ กุสุมาลย์, พรรณานิคม, วานรนิวาส, เมืองสกลนคร, พังโคน, นิคมนำอูน และโคกศรีสุพรรณ รวมจำนวน 87 ราย รวมพื้นที่กว่า 2,603 ไร่ ได้มีการศึกษาสำรวจและพัฒนารูปแบบการจัดการป่าเศรษฐกิจครอบครัว เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชน และเพื่อผลักดันจูงใจให้มีการรักษาป่าครอบครัวไว้ให้ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้เกิดการขยายผลการดำเนินงานไปสู่พื้นที่อำเภออื่นในเวลาต่อมา

นายแพทย์สมบูรณ์ จิระวัฒนาสมกุล ประธานกรรมการ บจก.ประชารัฐรักสามัคคีสกลนคร (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า กลุ่มทำงานป่าเศรษฐกิจครอบครัวจังหวัดสกลนคร เราได้เสนอไว้ในยุทธศาสตร์จังหวัดสกลนคร 20 ปี โดยกำหนดเป้าหมายให้จังหวัดสกลนครเป็น “สกล นครร่มเย็น” มีธรรมซาติร่มรื่น ผู้คนเป็นสุข ให้มีสัดส่วนพื้นที่ป่าเป็นร้อยละ 50 คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 3,000,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าของรัฐ และพื้นที่ป่าครอบครัวประมาณเท่าๆ กัน

“เราเริ่มต้นขับเคลื่อนป่าเศรษฐกิจครอบครัว เป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ในพื้นที่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโฉนด นส.3 หรือกระทั่ง สปก. ก็แล้วแต่ ซึ่งจะไม่ใช่ป่าของภาครัฐ ตัวเลขที่เราศึกษาตอนนั้นโดยการประมาณการคร่าวๆ ไม่ต่ำกว่า 4 แสนไร่ เราคิดว่าตรงนี้ถ้าเราสนับสนุนดีๆ ในการรักษาไว้ จะเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว พื้นที่ป่าของสกลนครไว้ได้” นายแพทย์สมบูรณ์ อธิบาย

หนึ่งในพื้นที่เข้าร่วมโครงการป่าเศรษฐกิจครอบครัว คือ ที่บ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เป็นชุมชนชาวกะเลิงที่อาศัยพึ่งพิงทรัพยากรจากป่า โดยเป็นที่โจษจันกันตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 30 ว่า ชุมชนแห่งนี้ได้มีการต่อสู้กับปัญหาการรุกเข้ามาของพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว และเกษตรพันธสัญา จำพวกมันสำปะหลัง อ้อย ปอ และข้าวโพด ทำให้ชาวบ้านต้องเป็นหนี้สินและสูญเสียพื้นที่ป่าไปเป็นจำนวนมาก เมื่อได้ตระหนักและวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปจนถึงลูกหลานในอนาคต พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ปราชญ์ชาวบ้านคนสำคัญ พร้อมด้วยสมาชิก จึงเริ่มจากการรวมตัวกันจำนวน 13 คน ทำเป็นกลุ่มพันธุ์ไม้พื้นบ้านเพื่อมุ่งสร้างสังคมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในชุมชนรอบเทือกเขาภูพาน จนกลายเป็น “เครือข่ายอินแปง” ที่สามารถฟื้นฟูพื้นที่ป่าชุมชนได้มากถึง 132 ป่า รวมเนื้อที่ 150,000 ไร่ กระทั่งปัจจุบัน ขยายออกไปครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และอุดรธานี

ธวัชชัย กุณวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายอินแปง เปิดเผยว่า แนวความคิดของผู้นำเครือข่ายอินแปง มองถึงเรื่องการพึ่งตนเองเป็นหลัก ความคิดตรงนี้ก็เป็นความคิดที่มีอิทธิพลส่งผลต่อพี่น้องที่อาศัยอยู่รอบๆ อำเภอกุดบาก พูดถึงเรื่องการทำมาหากิน พูดถึงเรื่องการพึ่งตนเอง พูดถึงเรื่องการยกป่าภูพานมาไว้สวน การมีความหลากหลายคือ ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน  

“คนที่มีป่าครอบครัว คือดินจะอุดมสมบูรณ์ขึ้นไปเรื่อยๆ ต่างกับคนที่ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย”  ผู้ประสานงานเครือข่ายอินแปง กล่าวย้ำ

ป่าคือชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน พาสกลสู่เมืองแห่งความร่มเย็น

“สำหรับผมป่าคือชีวิตเลยครับ” สุมัทร์  ศรีมี  สมาชิกป่าเศรษฐกิจครอบครัว อำเภอสว่างแดนดิน กล่าวจบแล้วหยุด ก่อนจะกล่าวต่อ

“ที่ดินตรงนี้ เรียกได้ว่าเป็นที่ดินมรดก เหลืออยู่กว่า 100 ไร่ เริ่มเข้าเครือข่ายอินแปงแล้วผมก็กลับมาทำ เพราะว่าตนเองเป็นเกษตรกรรม ซึ่งจะต้องมีป่า มีนา และถ้าทำกันจริงๆ มีแบบผมนี้ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ถ้ามันมีอยู่แล้ว ขอให้ระวังไฟป่าให้ได้ และก็ปลูกไม้ต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นไม้อื่นๆ หรือไม้พื้นเพเดิมก็ได้ ปลูกเสริม”

“คือเรามีป่าเอาไว้กินไว้ใช้ในครัวเรือนของเรา แต่ถ้าเราทำไปแล้ว ทำคนเดียวก็จะลำบากหน่อย ก็เลยจับกลุ่มกันขึ้นมาเป็นกลุ่มป่าครอบครัว เพราะว่าถ้าเราหลายคนรักษา รวมกันเป็นกลุ่ม การดูแลก็จะง่าย เพราะพื้นที่มันติดกัน พี่น้องในชุมชนพอเห็นเรารวมกันเป็นกลุ่มดูแลได้ ที่ไม่เป็นกลุ่มก็ดูแลของตนเอง ก็ทำให้เกิดประโยชน์ มีรายได้ มีกินมีใช้ ได้เก็บได้ขาย” เพชรพรรณ  จันทเกตุ  สมาชิกป่าเศรษฐกิจครอบครัว อำเภอพรรณานิคม อธิบายถึงการจัดการป่าโดยการรวมกลุ่มช่วยกันดูแลรักษา

คำปุ่น  กุดวงศ์แก้ว  สมาชิกป่าเศรษฐกิจครอบครัว อำเภอกุดบาก ได้บอกเล่าถึงการใช้ประโยชน์จากป่าว่า “วิถีของชาติพันธุ์กะเลิงตั้งแต่เกิดจนตายเราจะใช้ป่า เกิดขึ้นมาเราก็ใช้หยูกยา ใช้ใบเป้า ใช้ไม้ไผ่ ใช้ไม้ฟืน ในการดูแล วิถีการคลอดบุตร แล้วการหาอยู่หากินก็จะใช้ป่า อย่างฟืนเราก็ใช้จากป่า ผัก หญ้า ข่า ขิง จากป่า สมุนไพรจากป่า”

“ผมก็ได้ใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกตั้งแต่ยังเล็ก พอมันโตเต็มที่เราก็ได้ใช้ประโยชน์ เอามาทำบ้าน เอามาทำฟืน ในเรื่องพลังงานเราก็ไม่ได้ใช้แก๊ส ในส่วนเมล็ดพันธุ์เราก็หามาเพาะเองด้วย รับซื้อจากชาวบ้านด้วย แล้วเอามาโพสต์ขาย สามารถสร้างรายได้ เพราะเดี๋ยวนี้โลกมันพัฒนาแล้วเน๊าะ เฟสบุ๊คก็จะมีของผม เฟสบุ๊คต่าโล่พันธุ์ไม้ ส่วนของภรรยาผมก็จะเป็นสาวน้อยละบอ” ญาณศิลป์  กุดวงศ์แก้ว สมาชิกป่าเศรษฐกิจครอบครัว อำเภอกุดบาก บุตรชายของพ่อเล็ก ซึ่งเขาถูกปลูกฝังให้รู้จักคุณค่าของต้นไม้และป่ามาตั้งแต่เด็ก

“ผักหวาน คือรายได้หลักๆ เลยครับ เป็นเงินอย่างต่ำปีละ 1 หมื่นบาท อย่างไม่เก็บนะครับ คือตามออเดอร์ ไม่ได้เก็บไปหาเร่ขาย นอกจากนี้ก็มีเห็ด ไข่มดแดง และแมลงต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าป่าครอบครัวสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี” อิทธิชัย  สีสถาน  สมาชิกป่าเศรษฐกิจครอบครัว อำเภอสว่างแดนดิน กล่าวเสริมถึงการสร้างรายได้จากป่า

สิริมา  สุดไชยา  สมาชิกป่าเศรษฐกิจครอบครัว อำเภออำเภอกุสุมาลย์ อธิบายถึงนิเวศป่าโคกล้อมนาข้าวว่า “พื้นที่ของป่าแทนคุณจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นที่นา 40 ไร่ และพื้นที่ป่า 40 ไร่ เราก็จะมีทั้งแบบป่าดั้งเดิมซึ่งมีมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และก็ป่าที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ คือเราก็ปลูกต้นไม้เพิ่ม ปลูกพวกของป่าเพิ่ม อย่างเช่น ผักหวาน พวกไม้ป่าเศรษฐกิจ มีทั้งพยุง ยางนา มะค่า ประดู่”

ทั้งนี้ พื้นที่บ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ เป็นอีกหนึ่งรูปธรรมของความสำเร็จ โดยมีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจครอบครัวทั้งชุมชนรวมกัน ประมาณ 1,128 ไร่ มีมูลค่าปัจจุบันของไม้ใช้สอย คิดเป็นเงิน 24,035,424 บาท มูลค่าทางเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าเศรษฐกิจครอบครัวในชุมชนบ้านโคกสะอาดนี้เป็นสิ่งสำคัญในฐานะแหล่งอาหาร แหล่งต้นน้ำสำหรับการปลูกข้าวในนาโคก นิเวศ “นาโคก” เป็นพื้นที่นาข้าวที่อยู่ท่ามกลางป่าล้อมรอบ ซึ่งมีความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าว ต้นไม้ในนาข้าว มีการปลูกข้าวในนิเวศโคก ซึ่งมีการบริหารจัดการน้ำและมีการปลูกข้าวหลากหลายถึง 300 สายพันธุ์ โดยคนในชุมชนได้รวมกลุ่มกันพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นข้าวพื้นบ้าน “หอมดอกฮัง” ดำเนินกิจกรรมมาต่อเนื่องกว่า 10 ปี

จากเวทีเสวนาป่าเศรษฐกิจครอบครัวเส้นทางสู่เมืองสกลนครร่มเย็น ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงเรียนวิถีธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ได้เกิดข้อเสนอร่วมกัน 9 ข้อ ได้แก่

1.) พัฒนานโยบายส่งเสริมป่าเศรษฐกิจครอบครัว รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ สร้างโลกเย็น ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบ (- CO2) 2.) ร่วมสร้างระเบียบชุมชนสู่ข้อบัญญัติตำบลเพื่อรักษา ฟื้นฟู และสร้างเศรษฐกิจป่าระดับครอบครัว 3.) ฟื้นฟูจัดการป่าเศรษฐกิจครอบครัวเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ สุขภาวะคน สังคมและระบบนิเวศ 4.) พัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามฤดูกาล 5.) พัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับครอบครัวและเครือข่ายครบวงจร 6.) แปรรูปผลผลิตจากป่าเศรษฐกิจครอบครัวทั้งอาหาร สมุนไพร เครื่องสำอาง ของเล่นเด็ก พลังงาน 7.) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดในท้องถิ่น ออนไลน์ และตลาดที่กว้างขวางออกไป 8.) สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการฟื้นฟูป่าด้วยพืชพื้นบ้านบนฐานความรู้เรื่องนิเวศป่า และ9.) พัฒนาการศึกษาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติเป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยมีธรรมชาติเป็นฐาน (Nature Base Transformative Education)

“จริงๆ แล้วเราจะสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยเศรษฐกิจในนิเวศป่า จากการใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่เกิดจากป่า นอกจากจะเป็นแค่ซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว จะไปได้มากกว่านั้นนะครับ ก็คือเกิดผลทางเศรษฐกิจ และท่านได้สุขภาพด้วย ท่านสร้างสิ่งแวดล้อมให้ประเทศให้กับโลก และจะเป็นประโยชน์กับทั้งประชาคมสกลนคร ประชาคมประเทศไทย และประชาคมโลกด้วยครับ” นายแพทย์สมบูรณ์ จิระวัฒนาสมกุล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวทิ้งท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ