พอช.-กทม.-เครือข่ายจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ‘คนเปลี่ยนเมือง’ ด้านเครือข่ายชุมชนยื่น 7 ข้อให้ กทม.หนุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

พอช.-กทม.-เครือข่ายจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ‘คนเปลี่ยนเมือง’ ด้านเครือข่ายชุมชนยื่น 7 ข้อให้ กทม.หนุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

เครือข่ายชุมชน  ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมจัดงาน ‘คนเปลี่ยนเมือง’ ที่ลานคนเมือง กทม.

ลานคนเมือง กทม. / พอช.ร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่ายจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ‘คนเปลี่ยนเมือง’ ที่ลานคนเมือง  ศาลาว่าการ กทม. เนื่องในโอกาส ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’  มีการจัดนิทรรศการ  การเสวนา  ฐานการเรียนรู้  ฯลฯ ด้านเครือข่ายชุมชนยื่น 7 ข้อเสนอให้ กทม.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง

UN – HABITAT   หรือ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’  กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์  ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

ปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม  UN – HABITAT   มีคำขวัญว่า “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง” (Mind the Gap. Leave No One and No Place Behind)  โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  และเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ  ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนทั่วภูมิภาคต่างๆ  

ล่าสุดวันนี้ (28 ตุลาคม) ที่ลานคนเมือง  ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  พอช.ร่วมกับ กทม.  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  สหพันธ์องค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ  (สอช.)  สมาคมคนไร้บ้าน  จัดงาน ‘คนเปลี่ยนเมือง’   โดยมีผู้แทนกรุงเทพมหานคร  ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ผู้นำชุมชน  ผู้แทนเครือข่ายชุมชน  ผู้บริหาร พอช. ฯลฯ  เข้าร่วมงานประมาณ  500  คน

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ  โดยเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) คนไร้บ้าน  การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง  เวทีเสวนาการแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนกลุ่มต่างๆ  การจัดฐานกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย  การยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายถึงผู้ว่าฯ กทม. เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต  และการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอาหารจากชุมชน

การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ลานคนเมือง

เดินหน้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนใน กทม.

นายธาราศานต์  ทองฟัก   ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคกรุงเทพฯ  ปริมณฑลและตะวันออก  พอช.  กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า  1.เพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานวันที่อยู่อาศัยโลกกับนานาชาติ  เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างมีส่วนร่วม  เพื่อรณรงค์   เผยแพร่การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนเป็นแกนหลัก

            2.เพื่อสร้างความร่วมมือและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร 50 เขต  การสร้างกลไกร่วมโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้ง 50 เขต  ทบทวนข้อมูล  และจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ  หน่วยงานต่างๆ  และที่ดินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร และการพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน

            3.เพื่อมอบประกาศเกียรติคุณให้กับองค์กร  หน่วยงาน  ที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตองค์กรชุมชนในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด

            4.เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่นำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy “ย่านบ่อนไก่  ย่านคลองเตย”

            และ 5.เพื่อจัด WORKSHOP ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาศักยภาพการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระหว่างเครือข่ายชุมชน  เจ้าหน้าที่ พอช.  สำนักงานเขต  สำนัก กทม.  และคนรุ่นใหม่  รวมถึงเปิดพื้นที่กิจกรรมให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเมือง  ‘กรุงเทพฯ แห่งอนาคต’

“พอช.และองค์กรร่วมจัดงาน  เชื่อมั่นว่าการจัดงานในวันนี้  จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน  ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรุงเทพมหานคร  และหน่วยงานต่างๆจะช่วยสนับสนุน  คลี่คลายปัญหาข้อติดขัดในเรื่องที่อาจเกินความสามารถของชุมชน  เพื่อให้เกิดผลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป”  นายธาราศานต์กล่าว

ทั้งนี้ในกรุงเทพมหานครมีชุมชนทั้งหมดจำนวน 2,481 ชุมชน  ในพื้นที่ 50 เขต  มีชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ 1,261 ชุมชน  ผู้เดือดร้อนประมาณ  168,572 ครัวเรือน  ได้รับการแก้ไขปัญหาตามโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.แล้วในพื้นที่ 39 เขต  รวม  185 ชุมชน  รวม 20,358 ครัวเรือน  หรือคิดเป็นประมาณ  15 %  และยังไม่ได้แก้ปัญหา  85 %  ขณะที่นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย  พอช. และเครือข่ายชุมชนใน กทม.จึงมีแนวทางร่วมกับ กทม.เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน

พอช. พร้อมร่วมมือสนับสนุน กทม.

นายกฤษดา  สมประสงค์   ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ  ‘พอช.’ กล่าวว่า  วันนี้คนไทยมากกว่า 1.7 ล้านคนยังไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเป็นของตัวเอง   ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน  ลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความเป็นธรรมในสังคม  และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ  รวมถึงการมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) มีแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”

ผอ.พอช.ยกตัวอย่าง โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สำคัญ  เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบรางรถไฟ  โดย ครม.มีมติเห็นชอบให้ พอช. เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศรวมประมาณ 27,000 ครัวเรือน   โดยขณะนี้ พอช.ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณางบประมาณสนับสนุนการแก้ไขปัญหาต่อไป

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช.

นอกจากนี้  รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  นายจุติ ไกรฤกษ์   มีความห่วงใยประชาชนกลุ่มเปราะบางในชุมชน  เช่น  ผู้สูงอายุ  เพราะขณะนี้สังคมไทยเข้าสู่สภาวะสังคมสูงวัย  ซึ่งพวกเราต้องช่วยกันดูแล  เพื่อให้ท่านมีความอบอุ่น  มีสุขภาพแข็งแรง  ตลอดจนถึงกลุ่มพ่อเลี้ยงเดี่ยว  แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องแบกรับภาระต่างๆ  รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  และต้องทำให้คนในชุมชนมีโอกาสทำมาหาเลี้ยงชีพ  พัฒนาด้านอาชีพ  เพื่อนำรายได้มาดูแลผู้คนเหล่านี้

“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9  เป็นสิ่งที่พวกเรายึดมั่นในเจตนารมณ์ของการพัฒนา ความพอประมาณ  ความมีเหตุมีผล  การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี  การสร้างพื้นที่อาหารให้กับชุมชนในยามที่เราได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ  เราจะมีอาหารสำรองได้อย่างไร  เช่น ชุมชนสวนพลูที่มีพื้นที่กลางที่ทำเกษตรอินทรีย์  ซึ่งวันนี้มาร่วมออกบูธด้วย”  ผอ.พอช. ยกตัวอย่างชาวชุมชนสวนพลูที่นำผักที่ปลูกมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงดูชาวชุมชนในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ผอ.พอช. กล่าวถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ พอช.ว่า  ที่ผ่านมา พอช.ทำเรื่องบ้าน 5 เรื่อง  คือ 1.บ้านมั่นคง  2.บ้านพอเพียง 3.บ้านพอเพียงชนบท  4.กลุ่มคนไร้บ้าน  5,ที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง (คลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  ฯลฯ)  และ 6.ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟที่กำลังเสนอเข้าสู่กระบวนการของรัฐบาล             

โดย พอช. พร้อมที่จะสนับสนุนทุกหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการทำเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องประชาชน  เช่น  กรุงเทพมหานคร  ฯลฯ  และยังมีเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนที่ทำงานโดยอิสระในการที่จะสนับสนุนการทำงานของทุกหน่วยงาน   เพื่อให้งานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยมีความก้าวหน้า  เข้าถึงผู้มีรายได้น้อย  ผู้ด้อยโอกาส  กลุ่มเปราะบาง ตามคำขวัญที่ว่า “ใส่ใจช่องว่าง  ไม่ทิ้งใคร  และที่ใดไว้ข้างหลัง” 

ข้อเสนอเครือข่ายชุมชนถึง กทม.แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง

การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ‘คนเปลี่ยนเมือง’ ในวันนี้ที่ลานคนเมือง  ศาลาว่าการ กทม.  ผู้แทนเครือข่ายชุมชนเมืองได้ยื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยต่อกรุงเทพมหานคร  รวม 7 ข้อดังนี้

1.กรณีหน่วยงาน/เจ้าของที่ดินต้องการให้ชุมชนรื้อย้ายออกจากพื้นที่  ควรมีนโยบายในการรองรับ และกลไกกลางในการเจรจา  วางแผนการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม  ไม่ใช่ใช้กฎหมายฟ้องร้องไล่รื้อ

2.ขอเสนอให้กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการแบ่งปันที่ดินสาธารณะ  และที่ดินลำรางเสื่อมสภาพ  ให้ผู้มีรายได้น้อยใช้ประโยชน์รองรับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  โดยยื่นเสนอ ครม. ในการเพิกถอนสภาพที่ดินจากการเป็นที่ดินลำราง  และขอให้กรุงเทพมหานครเปิดเผยข้อมูลที่ดินสาธารณะ และที่ดินลำรางที่กรุงเทพมหานครดูแล

ผู้แทนเครือข่ายอ่านข้อเรียกร้อง

3.ขอให้กรุงเทพมหานครมีบทบาทในการประสานเจรจาหลักร่วมกับเจ้าของที่ดินวัด และเอกชน เพื่อขอใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย

4.ให้มีการแต่งตั้ง หรือทบทวนกลไกคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยมีองค์ประกอบของกรุงเทพมหานคร / สำนักงานเขต / ภาคประชาชน / ผู้เดือดร้อน / สถาบันการศึกษา / ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการหารือ พูดคุย วางแผนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และส่งเสริมคุณภาพชีวิตร่วมกัน (สำนักงานเขตเป็นเจ้าภาพ ภาคประชาชนเป็นเลขาร่วม)

5.เสนอให้แก้ไขระเบียบในการจดแจ้งจัดตั้งชุมชน  สำหรับชุมชนในที่ดินทุกประเภท  โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดิน เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนงบประมาณสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

6.ขอให้กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาที่อยู่อาศัยที่มีความเป็นย่าน  สำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน พร้อมทั้งดูแลในมิติคุณภาพชีวิต

7.ขอให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและแก้ไขผังการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น กฎหมายผ่อนผันการก่อสร้างที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในผังสีเขียว  เพื่อให้สามารถปลูกสร้างบ้านได้หลายรูปแบบ  สอดคล้องกับรายได้ของผู้มีรายได้น้อยในเมือง

ผู้แทน กทม.รับข้อเรียกร้อง

เวทีเสวนา ‘ที่อยู่อาศัยสู่การเปลี่ยนเมือง’ 

การจัดงานในวันนี้มีเวทีเสวนาที่อยู่อาศัยสู่การเปลี่ยนเมืองมีประเด็นนำเสนอที่น่าสนใจ  เช่น นางสาวสุมล  ยางสูง  ผู้อำนวยการ  สำนักงานภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก  พอช.  กล่าวว่า  พอช. ร่วมกับเครือข่ายพี่น้องชุมชนแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยมายาวนาน  ก่อนที่จะมีการจัดตั้ง พอช. อย่างเป็นทางการในปี 2543   โดย พอช. ร่วมกับเครือข่ายพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ  สร้างที่อยู่อาศัยให้มั่นคงถ้วนหน้า  ผู้เดือดร้อนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  โดยอาศัยความร่วมมือกับเจ้าของที่ดิน  หน่วยงานต่างๆ เช่น  การไฟฟ้า  ประปา  สถาบันการศึกษา ฯลฯ

ส่วนในกรุงเทพฯ  ปัจจุบัน พอช.ทำงานร่วมกับชุมชนและสำนักงานเขตจำนวน 32 เขต และกำลังกระจายให้ครอบคลุมทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ  เกิดรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างหลากหลายเพื่อผู้มีรายได้น้อย  เช่นโครงการบ้านมั่นคง   โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-เปรมประชากร   โครงการบ้านพอเพียง  ฯลฯ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาทั้งเมือง  ครอบคลุมทุกมิติ   อาศัยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญคือการขับเคลื่อนโดยพลังของเครือข่ายองค์กรชุมชน

“การทำงานที่อยู่อาศัย  เมืองจะเปลี่ยน  คนต้องปรับ  คนต้องลุกขึ้นมา  ซึ่งใน กทม.  พอช.ต้องทำงานร่วมกับสำนักงานเขต และหน่วยงานต่างๆ  เพราะ พอช.ทำลำพังไม่ได้  ที่สำคัญคือ  พลังของประชาชน  และ พอช. ไม่ได้มาสร้างบ้าน  พอช.เป็นเพียงโซ่ข้อกลางที่ให้ทุกคน  ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม  ร่วมมือ  ร่วมใจ  สร้างชุมชน  สร้างสังคมคุณภาพ”  นางสาวสุมล กล่าว

นายสมพร หารพรม  ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยกล่าวถึงการทำงานกับกลุ่ม ‘คนไร้บ้าน’  ว่า มูลนิธิเริ่มสำรวจข้อมูลปัญหากลุ่มคนไร้บ้านตั้งแต่ปี 2544  เริ่มจากย่านสนามหลวงซึ่งเป็นแหล่งพักพิงของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ  ซึ่งขณะนั้นรัฐมีนโยบายปิดสนามหลวง  ซึ่งจะทำให้คนไร้บ้านได้รับผลกระทบ  มูลนิธิและคนไร้บ้านจึงเจรจาต่อรองกับ กทม.จนได้ที่พักชั่วคราวเป็นเต็นท์อยู่ริมคลองหลอด 

ต่อมาได้ผลักดันจนหน่วยงานยอมรับ  จนได้สร้างบ้านพัก ‘สุวิทย์  วัดหนู’ เพื่อเป็นศูนย์ตั้งหลักชีวิตที่บางกอกน้อย  และเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหา  จนรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ  118 ล้านบาท  เมื่อ  8 มีนาคม 2559  เพื่อจัดตั้งศูนย์อีก 3 แห่งเพื่อดูแลคนไร้บ้านทั่วประเทศ  (เชียงใหม่  ขอนแก่น  ปทุมธานี)  ประมาณ 700 คน

การทำงานกับคนไร้บ้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 ด้าน  คือ 1.ทัศนคติทางสังคมเปลี่ยนไปจากเดิม  คือ “คนไร้บ้านไม่ใช่ภาระต่อสังคม”  2.ทัศนคติมุมมองของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวง พม.  สาธารณสุข   มหาดไทย  ที่หันมาให้ความสำคัญกับคนไร้บ้าน  และทำงานร่วมกันมากขึ้น

 และ 3. การทำเรื่องที่พักมี “ห้องเช่าคนละครึ่ง”  (เพื่อให้คนไร้บ้านอยู่ใกล้แหล่งงาน  เช่น  หัวลำโพง  มีงานทำ  มีรายได้จ่ายค่าห้องเช่าครึ่งหนึ่ง  และหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนครึ่งหนึ่ง) เพื่อให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยราคาถูก

ข้อเสนอ ระยะสั้น  ต่อกรุงเทพมหานคร  พอช.  พม.  ขอให้มีการสนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัยราคาถูก  บ้านพักฉุกเฉินกรณีประสบภัย (เช่น โควิด)  การมีที่อยู่อาศัยที่ทุกคนสามารถเข้าถึง อยู่รอดในสังคมเมืองได้   2. การปรับปรุงอาคารร้าง  ที่ดินรกร้าง  เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย คนไร้บ้าน

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ