วิพากษ์แผนแม่บทป่าไม้ สู่การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน

วิพากษ์แผนแม่บทป่าไม้ สู่การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน

20152601190240.jpg

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ร่วมจัดเวทีวิพากษ์แผนแม่บทป่าไม้ ขึ้นที่ ศาลาบ้านดินชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อร่วมกันจัดทำร่างข้อเสนอแผนจัดการทรัพยากรชุมชนให้ชาวบ้านได้นำไปปรับใช้แทนแผนแม่บทป่าไม้ สืบเนื่องมาจากหน่วยงานภาครัฐได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น จากแผนปฎิบัติการดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนต่อประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ 

นายเหลาไท นิลนวล ผู้ประสานงานสมัชชาชาวนา ชาวไร่ ภาคอีสาน  กล่าวว่า  ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมือนเป็นการรื้อฟื้นกลับคืนมาของโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม หรือ คจก. ที่ได้เคยสร้างปัญหาและส่งผกระทบความไม่ชอบธรรมกับชาวบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ได้เกิดปรากฎการณ์การชุมนุมเรียกร้องเพื่อคัดค้านโครงการ คจก. เมื่อช่วงปี 2535 และในความไม่แตกต่างในโครงการ คจก.กับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ในยุค คสช. นั้น คือเป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆ ที่เคยประสบความล้มเหลวมาแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งกรอบความคิดและแนวปฏิบัติในการจัดสรรที่ดินของรัฐ จะผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

20152601190332.jpg 

เหลาไท กล่าวต่อว่า จากบทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวบ้านที่เขาอยู่ในเขตป่า หรืออยู่ในที่ดินทำกินมาก่อน และชาวบ้านก็เป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นปัญหาความไม่เป็นธรรม ต้องแก้ไขด้วยการมีส่วนร่วมให้สามารถวิพากษ์แผนแม่บทป่าไม้ฯ เพื่อให้สามารถร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจปานปลายออกไปได้ หน่วยงานรัฐควรหานโยบายอื่นเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ไม่ใช่ทวงคืนจากชาวบ้านที่ไร้ทางสู้ นอกจากนี้ภาครัฐควรเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการให้ชุมชนมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาเองด้วย
ดังนั้นจึงเสนอให้การดำเนินนโยบายตามแผนแม่บททวงคืนผืนป่าฯ ควรให้ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และต้องไม่มีการปราบปราม รัฐควรหยุดการอพยพ ยุติไล่รื้อคนออกจากที่ทำมาหากิน หรือใช้วิธีการเดิมๆ แต่ต้องกำหนดให้มีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ

ด้าน ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวด้วยว่า หลักการแก้ไขปัญหาควรคำนึงถึงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน โดยพิจารณามาตรการหลักๆ เพื่อผลักดันให้มีผลบังคับใช้ทางกฏหมาย เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า กองทุนธนาคารที่ดิน และการส่งเสริมสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการระงับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ออกไว้ก่อน และดำเนินการทบทวน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในช่วงที่ผ่านมา

20152601190340.jpg

ดร.อลงกรณ์ กล่าวเพิ่มว่า การยึดถือแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2544-2545 โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ โดยไม่พิจารณาข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ อาจกระทบสิทธิต่อประชาชนหลายพื้นที่ ที่เคยถือครองทำประโยชน์ที่ดินมาก่อน และถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เดิม ฉะนั้นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ หรือการพิสูจน์สิทธิ์ ต้องมีความหลากหลาย ทั้งนี้ต้องมีลักษณะจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน ระหว่างนายทุนที่ถือครองที่ดินในเขตป่า กับชาวบ้านที่มีกรณีพิพาทสิทธิในที่ดินกับหน่วยงานภาครัฐ

“ต่อข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางที่ชาวบ้านได้รับผกระทบมาก่อนหน้านั้น ควรให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาแนวทางในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการไล่รื้อชาวบ้าน ต่อศาลปกครองในข้อหาขัดคำสั่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่า ฉบับที่ 66/2557 ที่ระบุว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป“ ดร.อลงกรณ์ กล่าว

รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน

20152601190403.jpg20152601190404.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ