อัพเดท เครือข่ายกลุ่มองค์กรประมงท้องถิ่น หารือกับผู้ว่าฯ กนอ. ปมเยียวยา “ถมทะเลเฟส 3” ไม่เป็นธรรม พร้อมข้อเสนอใหม่ ขอกนอ.จ่ายเยียวยา 3 – 4 แสน กนอ.รับเรื่องเตรียมประชุมพิจารณา ด้านเครือข่ายประมงพื้นบ้าน เตรียมอบรมวิธีประเมินค่าเยียวยาในวันที่ 29 – 30 ตุลานี้
หลังจากมูลนิธิกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเอกสารถึงเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เพื่อแจ้งเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยจ่ายแบบครั้งเดียว เป็นจำนวนเงิน 47,000 – 100,000 บาท/ราย ทำให้ชาวบ้านมองว่านี่ไม่ใช่วิธีการเยียวยาที่เป็นธรรม
ทางเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจึงรวมตัวกันเข้าหารือถึงแนวทางการเยียวยาที่เป็นธรรมจากการถมทะเลเฟส 3 กับ รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ผวก. กนอ.) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
สมหมาย ศรีวิชัย ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ระบุว่าว่า หลังจากประชุมกับ กนอ.แล้ว ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากทางผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่เบื้องต้น กนอ. ชี้แจงขอกลับลำจากจากที่เคยส่งหนังสือแจ้งจำนวนเงินชดเชยเยียวยาไปยังเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น สองจำนวน คือ 100,000 กับ 47,000 ปรับเป็นจ่ายเยียวยา 100,000 เท่ากัน เพื่อยืนยันถึงความเท่าเทียมกับทุกกลุ่มที่ได้รับความเสียหาย แต่ทางเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ยังไม่ยอมรับข้อเสนดังกล่าว
“100,000 บาท ที่บอกจะให้เท่ากัน เราไม่รับอยู่ดี ยังไงเราก็ไม่ยอมจบ เพราะ กนอ. ไม่ได้เสนอมาเป็นมาตรฐานเดียวกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เขามีสองมาตรฐาน เขาได้เหยียบหัวประมงพื้นบ้านไปเรียบร้อยแล้ว” สมหมาย กล่าว
สมหมาย ให้ข้อมูลว่า ศรีนวน อักษรศรี ประธานกลุ่มประมงบ้านตากวน จ.ระยอง ได้เสนอขอชดเชยเยียวยาถึงกนอ.ว่า ถ้าชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการถมทะเลอยู่ในรัศมี ระยะทางไม่เกิน 5 กม. ต้องการเรียกเยียวยา 4 แสนบาท ประกอบด้วย ประมงพื้นบ้านตากวนกับหนองแฟบสามัคคี และชุมชนยนอกรัศมี 5 กม. เรียกเยียวยา 3 แสนบาท ประกอบด้วย ประมงพื้นบ้านแหลมรุ่งเรือง, ประมงเรือเล็กบ้านกรอกยายชา, อนุรักษ์ประมงสามัคคีบ้านพลา, กลุ่มหัวบ้าน, ลูกน้ำเค็มก้นปึก, สะพานเมืองสุชาดา, กลุ่มประมงพื้นบ้านก้นปึก, บ้านตะกวน และปากน้ำบ้านเรา
สมหมาย กล่าวว่า ทาง กนอ. ตอบกลับมาว่าจะรับเรื่องที่เสนอมาไปเข้าที่ประชุมพิจารณาต่อ แต่ยังไม่มีทีท่าชัดเจนว่าจะมีกระบวนการทำงานอย่างไร เบื้องต้นจะมีประชุมภายในของกนอ. วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคมนี้
“เราไม่ได้เห็นแก่ได้ ที่ต้องการเรียกร้องเยียวยาเต็ม 100% อะไรขาดนั้น แต่เราก็ต้องดูว่าสภาพพวกเรานั้นต้องเสียพื้นที่ทำกินตลอดชีวิตไปกว่า 2,000 ไร่ บนท้องทะเลที่โครงการถม เงินแค่นี้มันก็ไม่มาก เพราะทางเขาได้รับผลประโยชน์เต็ม ๆ มาทุกเฟส ”สมหมาย กล่าว
ขอบคุณภาพจาก: facebook Somnuck Jongmeewasin
ข้างต้นคือ การพยายามเรียกร้องให้เกิดการเยียวยาที่เป็นธรรมจากเสียงเครือข่ายประมงในพื้นที่ แต่ขณะเดียวกัน จะมีการจัดงานเพื่อเป็นพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการเรียกเงินเยียวยากับพี่น้องชาวประมง ที่ชื่อว่า “ประชาคมประมงผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่ว” ในวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2565 ณ โรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ อำเภอเมืองระยอง จ.ระยอง ร่วมจัดโดย สมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี – EEC Watch – Land Watch Thai – กลุ่มประมงพื้นบ้านปากน้ำบ้านเรา – กลุ่มประมงพื้นบ้านก้นปึก – กลุ่มประมงพื้นบ้านหัวบ้านปากน้ำ – กลุ่มประมงพื้นบ้านก้นปึกลูกน้ำเค็ม – กลุ่มประมงพื้นบ้านตากวน – กลุ่มประมงพื้นบ้านสะพานเมือง – กลุ่มประมงพื้นบ้านแหลมรุ่งเรือง – กลุ่มประมงพื้นบ้านกรอกยายชา – กลุ่มประมงพื้นบ้านหนองแฟบสามัคคี
สมนึก จงมีวศิน กรรมการสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี เล่าว่า กิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะจากที่ เครือข่ายประมงพื้นบ้านระยองที่โดนถมทะเลมาบตาพุดเฟสที่ 3 เคยมาดูเคสที่ แหลมฉบัง-บางละมุง จ.ชลบุรี ที่เราสามารถเรียกร้องค่าเยียวยาได้ทั้งหมด 6 ปี เป็นเงินประมาณ 2,100 ล้านบาท ซึ่งจ่ายรายปี แต่กลับกันในส่วนที่มาบตาพุด การจ่ายเยียวยาขึ้นกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้จ่ายเยียวยาให้กับชาวบ้าน จึงเป็นประเด็นกันมาตลอด จนกระทั่งชาวบ้านส่งเรื่องร้องต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“กนอ. ใช้วิธีตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาเพื่อจะจ่ายเยียวยาเป็นรายเดือน คือพยายามจะจ่ายให้น้อยที่สุด แล้วจ่ายครั้งเดียวด้วย ซึ่งมันไม่ยุติธรรม มันคือการจ่ายเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม ก็เลยเกิดไอเดียว่าชาวบ้านก็อยากจะเรียนรู้กันใหม่ เอาแบบถูกต้องเลย ชาวบ้านบอกว่าต้องให้เป็นกำไรสุทธิเลย” สมนึก กล่าว
สมนึก ระบุ เพิ่มเติมว่า“วันที่ 29-30 ตุลาคม ประชุม 2 วันนี้ เราจะมีนักวิชาการมาสอนวิธีการคำนวณเงินเยียวยาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ แล้วให้พี่น้องทำกันเพื่อนำความรู้ไปเคลมค่าเยียวยาเรื่องถมทะเล เรื่องของน้ำมันรั่วด้วยครับ ซึ่งตอนนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมคาดว่า 500 กว่าคนแล้ว ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเมื่อก่อนจะไม่รวมตัวกันเยอะขนาดนี้ แต่เพราะว่าถูกหลอกไปมาจนไม่ไหวแล้ว”
ขอบคุณภาพจาก: facebook กฤช ศิลปชัย – Krit Silapachai
ด้าน กฤช ศิลปชัย ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง กล่าวว่า “พี่น้องระยองที่มารวมตัวกันในวันที่ 29-30 ตุลานี้ ราว ๆ 10 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากบริเวณหน้าหาดของตัวเองแตกต่างกัน แล้วทุกคนเห็นตรงกันหมดว่าการได้รับการชดเชย เยียวยา ฟื้นฟูทะเล มันไม่ชัดเจนเลย ครั้งนี้พี่น้องตั้งใจมารวมตัวกันแล้วจะประชาคมกันว่า เราจะต่อสู้เรียกร้องกันอย่างไรบ้าง การใช้สิทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมจะดำเนินการอย่างไร จะไปช่องทางไหนต่อ ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง ซึ่งจะมีกลุ่มนักวิชาการเข้ามาช่วยให้คำแนะนำด้วย”
ทาง กฤช ตั้งข้อสังเกตว่าในรายงาน การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (EHIA) มีพี่น้องอยู่ 9 กลุ่มที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน แต่ทำไมกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือไม่ได้อยู่ในเล่มรายงาน
“ผมคิดว่า EHIA ที่เขาทำแล้วไม่ครอบคุลม คือวิธีการที่เขาเชิญกลุ่มประมงที่เข้าไปทำ EHIA ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ อย่างในตำบลมาบตาพุดเชิญไม่ครบทุกกลุ่มและบางกลุ่มถูกมองข้ามไป เป็นกลุ่มที่ไม่เคยส่งเอกสารใด ๆ ให้เขาเลย ซึ่งการทำประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมามันไม่ทั่วถึง”
“สถานการณ์ตอนนี้มีเรือที่ได้รับผลกระทบ 855 ลำ แล้วเรือ 1 ลำ มี 1 ลำที่ต้องใช้ทำมาหากินเพื่อดูแลครอบครัวอีก รวมแล้ว ไม่ต่ำกว่า 3,000 คน เพราะเมื่อออกทะเลแล้วไม่มีปลาปูกลับมา ก็ไม่มีรายได้ส่งลูกไปโรงเรียน มันส่งผลเป็นทอด ๆ”กฤช กล่าว
000