เรียบเรียง : นาตยา สิมภา
ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่
ครั้งนี้รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal เดินทางมาถึงพิกัดที่ 8 แล้ว ณ ท่าเรือท่องเที่ยวทะเลบัวแดงบ้านเดียม อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เพื่อให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างใคร่ครวญ ได้ไตร่ตรอง ฟังโดยไม่ตัดสิน และชวนรับฟัง แลกเปลี่ยนถึงการมีส่วนร่วมออกแบบ “เบิ่งแงง ทะเลบัวแดงหนองหานกุมภวาปี” ผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา
เราเชื่อว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคต โอกาสและข้อท้าทายของหนองหานน้อยมาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการมีข้อมูลเพิ่มเติมของทะเลบัวแดงมาแบ่งปันกัน
– ทะเลบัวแดง ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่อันดับ 2 ของอีสาน –
ทะเลบัวแดง หนองหานกุมภวาปี ห่างจาก อ.เมือง จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 45 กิโลเมตร เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่อันดับ 2 ของอีสาน รองจากหนองหารหลวง ที่ จ.สกลนคร มีเนื้อที่รวมประมาณ 22,500 ไร่ มีพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอ คือ อ.หนองหาน อ.กุมภวาปี อ.กู่แก้ว และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม มีชุมชนโดยรอบหนองน้ำประมาณ 32 ชุมชน เป็นกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว บางแห่งมีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี มีตำนานเกี่ยวข้องกับหนองหารที่จังหวัดสกลนคร เป็นที่เกิดเหตุการณ์ในตำนาน “ผาแดง นางไอ่”
– ความหลากหลายทางชีวภาพ –
หนองหานทะเลบัวแดง ถูกขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ 1 ใน 14 แห่งของภาคอีสาน กำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อปี 2534 เป็นแหล่งชุมนุมของนกอพยพในช่วงฤดูหนาวจากจีน ยุโรป และตะวันออกกลาง พบพันธ์นกอย่างน้อย 74 ชนิด เป็นนกน้ำและนกชายเลน 27 ชนิด เป็นนกประจำถิ่น 34 ชนิด นกอพยพอย่างน้อย 40 ชนิด มีพันธุ์ปลาน้ำจืดอย่างน้อย 39 ชนิด และพันธุ์ผักน้ำ 28 ชนิด เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาของอำเภอกุมภวาปี พื้นที่หนองหานกุมภวาปี มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 13 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 5 กิโลเมตร มีเกาะใหญ่อยู่ 2 เกาะ คือ ดอนแก้ว และดอนป่า
– ทะเลบัวแดงหนองหาน กุมภวาปี –
ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ดอกบัวแดงในหนองหานเริ่มออกดอก ข้อมูลจากสมาคมกลุ่มเรือเมื่อปี 2555 ระบุมีนักท่องเที่ยวเข้าชมบัวแดงเฉลี่ยปีละ 400,000 คน ซึ่งมีข้อมูลเฉพาะฤดูชมบัว ปี 61-62 เฉพาะท่าเรือบ้านเดียม มีนักท่องเที่ยวลงเรือ 141,816 คน ทำเงินกว่า 8 ล้านบาท เป็นแหล่งรายได้และอาชีพของชุมชน ทั้ง เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์/แหล่งต้มเกลือสินเธาว์ของชุมชน /ร้านค้าขายของที่ระลึก/ ที่พักโฮมสเตย์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเรือเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งที่นี่ มี ท่าเรือทะเลบัวแดง มีอย่างน้อย 6 จุด คือ (ท่าเรือบ้านเดียม ท่าเรือดอนคง ท่าเรือคอนสาย ท่าเรือแชแล ท่าเรือโนนน้ำย้อย ท่าเรือเชียงแหว)
– สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาหนองหาน –
1.กรมชลประทานได้สร้างคันดินรอบหนองหานภายใต้โครงการโขง ชี มูล ปี 2535 – 2538
2.มีโครงการพัฒนาหนองหานกุมภวาปี โดยการกำกับดูแลของกรมทรัพยากรน้ำ ครม.อนุมัติงบประมาณ ปี 2552 ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี
3.สถานการณ์คุณภาพน้ำในหนองหานกุมภวาปี พบว่า คุณภาพน้ำในช่วงหน้าแล้ง จัดอยู่ในเกณฑ์น้ำผิวดินประเภทที่ 4 หรือ เกณฑ์เสื่อมโทรม ส่วนในช่วงฤดูฝน จัดอยู่ในเกณฑ์น้ำผิวดินประเภทที่ 3 หรือ คุณภาพน้ำพอใช้ สามารถนำมาใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรได้
– แหล่งท่องเที่ยว จ.อุดรธานี –
อุดรธานี มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย รวมมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 94 แห่ง โดยทะเลบัวแดง เป็น 1 ใน แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของอุดรธานี (แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ,แหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะวิทยาการ ,แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ,แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ,แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ,แหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก
แหล่งท่องเที่ยวประเภททางธรรมชาติประเภทถ้ำ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร)
มีการศึกษาระบุว่า จังหวัดอุดรธานี มีแนวทางในการพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่
- ด้านสิ่งดึงดูดใจด้วยการพัฒนาให้มีความหลากหลาย เช่น การยกยอ น้ำตาลก้อน สร้างเอกลักษณ์ชุมชน
- ด้านการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ด้วยสื่อสังคมออนไลน์
- ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก จัดให้มีร้านอาหาร ขายของที่ระลึก และห้องน้ำ
- ด้านความหลากหลายของกิจกรรมท่องเที่ยว
- ด้านการบริการท่องเที่ยว จัดให้มีการผลิตและจำหน่ายของที่ระลึกในชุมชน
- ด้านการมีส่วนร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐ เอกชน นักท่องเที่ยวและคนในชุมชน
ที่มา : ณัฐณภรณ์ เอกนราจินดาวัฒน์, วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร.ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 ปี 2561
หนองหานน้อยกุมภวาปี หรือ ทะเลบัวแดง จ.อุดรธานี คือแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่อันดับสองในภาคอีสาน ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี จะเป็นช่วงที่ดอกบัวแดงจะงอกจากน้ำ แตกใบ และเริ่มออกดอกตูมและบาน ให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงาม ภายใต้ต้นทุนทรัพยากรมีทั้งโอกาสและข้อท้าทาย ทำให้ เครือข่ายชุมชนเรือท่องเที่ยวรอบหนองหาน อาจารย์นักวิชาการ หน่วยงานท้องถิ่น และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี พร้อมกับฟังเสียงประเทศไทยชวนล้อมวง “โสเหล่” และ “ฟัง” อย่างใส่ใจ และมองภาพอนาคตร่วมกันถึงการมีส่วนร่วมออกแบบ “เบิ่งแงง ทะเลบัวแดงหนองหานกุมภวาปี” แหล่งทรัพยากรสำคัญของชาวอุดรธานี และต้นน้ำลำปาว ถึงปัญหา แนวทางการดูแล และการใช้ประโยชน์ร่วมกัน จาก ศาลาท่าเรือท่องเที่ยวทะเลบัวแดงบ้านเดียม อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ซึ่งในอนาคตอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายลักษณะ ทางรายการจึงได้ประมวลฉากทัศน์หรือภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นมาเพียง 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาได้พูดคุย ถึง “ทะเลบัวแดง” หนองหานน้อย อ.กุมภวาปี
ต้นทุนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์และพืชน้ำ รวมถึงวิถีชีวิต การใช้ประโยชน์และการดูแลร่วมกัน เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่นำมาสู่ฉากทัศน์ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรายการลองประมวลมาเพียง 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาได้แลกเปลี่ยนอย่างมีส่วนร่วม
ฉากทัศน์ A ทะเลบัวแดง หนองหานน้อยแห่งตำนานผาแดงนางไอ่ภายใต้ธรรมชาติจัดสรร
• ทะเลบัวแดงหนองหานน้อยแหล่งทรัพยากรของคนในชุมชนที่พึ่งพาและใช้ประโยชน์ตามวิถีชีวิตดั้งเดิม เน้นการใช้ประโยชน์ตามฤดูกาลภายใต้ความเชื่อของชุมชน มีกลไกการสนับสนุนดูแลในระดับหมู่บ้านโดยกลุ่มอาชีพและผู้นำชุมชน ซึ่งความร่วมมืออาจไม่มีระบบอย่างเป็นทางการ อาจทำให้การปรับปรุงและพัฒนาทะเลบัวแดงเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน ผู้คนและรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนจัดการ ซึ่งควบคุมปริมาณและคุณภาพได้ยาก ชุมชนต้องร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกแบบการดำเนินงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอาจส่งผลต่อสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตที่ลดจำนวนลง รวมถึงสภาพแวดล้อมเชิงกายภาพของหนองหานทำให้อาจมีสัตว์น้ำและพืชต่างถิ่นเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
ฉากทัศน์ B ทะเลบัวแดง ชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
• ทะเลบัวแดงแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเน้นการลงทุนร่วมอย่างมีเป้าหมาย เอกชนเป็นกำลังหลักในการบริหารจัดการร่วมวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนธุรกิจท่องเที่ยว คำนวณผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจการให้บริการ เพื่อตัดสินใจวางแผนการลงทุนและบริหารความเสี่ยงทางด้านต้นทุนและรายได้ ชุมชนเป็นผู้ปฏิบัติตามแผนดำเนินงาน ซึ่งอาจส่งผลให้การมีส่วนร่วมออกแบบลดความสำคัญลง แต่อาจทำให้เพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวได้ใกล้เคียงจำนวนที่ต้องการ มีรายได้ที่แน่นอน แต่ทุกภาคส่วน ทั้ง ชุมชน รัฐท้องถิ่น และเอกชน จำเป็นต้องลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ พร้อมสร้างระบบนิเวศการท่องเที่ยวในชุมชนโดยรอบหนองหานเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของนักท่องเที่ยวซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และพัฒนาพื้นที่เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน
ฉากทัศน์ C ทะเลบัวแดง ทะเลสาบที่แปลกของโลก “World’s strangest lakes”
• ทะเลบัวแดง แหล่งท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก 1 ใน 15 ทะเลสาบที่มีความแปลก รัฐบาล ท้องถิ่นและชุมชนต้องร่วมมือกันเพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเพื่อให้มีความสะดวกในการเข้าถึงและความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพฤติกรรมที่หลากหลายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมาก ยิ่งขึ้น ด้านหนึ่งอาจส่งผลให้ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว และวิถีชุมชนได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงโดยบุคคลภายนอกชุมชน ซึ่งระบบนิเวศอาจเสื่อมโทรมรวดเร็วตามการผันแปรของจำนวนนักท่องเที่ยว แต่รายได้หลักของคนในชุมชนอาจจะมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไฮซีซั่น ความต้องการบริโภคจะสูงขึ้น ชุมชนต้องมีการปรับวิถีชีวิตและทักษะการให้บริการ ควบคู่กับการพัฒนา ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานโลก การใช้ประโยชน์พืชและสัตว์น้ำเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจน
นอกจากข้อมูลพื้นฐาน แผนพัฒนาและศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมาที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A
– ทะเลบัวแดง หนองหานน้อยแห่งตำนานผาแดงนางไอ่ภายใต้ธรรมชาติจัดสรร –
ไพสิฐ สุขรมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรือท่องเที่ยวทะเลบังแดงบ้านเดียม
“ในการท่องเที่ยวทะเลบัวแดงเราได้เกิดแนวคิดไปดูงานที่ ทะเลน้อย ซึ่งมีบัวแดง มีควาย มีนกเหมือนกับที่นี่ แต่ที่นี่มีพื้นที่ใหญ่กว่า จึงกลับมาชักชวนชาวบ้าน ก่อนจะได้ชื่อทะเลบัวแดงที่จริงแล้วตรงนี้คือ หนองหานกุมภวาปี ไม่มีทะเลบัวแดงคนจะรู้จักในนามหนองหาน พอสำรวจบัวจากการกำหนด 1 ตารางเมตร ว่ามีดอกบัวกี่ดอกจากนั้นก็คำนวณพื้นที่ทั้งหมดว่าจะมีกี่ล้านดอกและความกว้างไกลของป่าบัวแดงมันเปรียบดั่งทะเล มองไปทางไหนก็มีแต่ดอกบัว ก็เลยเสนอว่าเอาชื่อทะเลบัวแดงจึงเป็นที่มาของชื่อทะเลบัวแดง ซึ่งปัจจุบันหากถามหาหนองหานกุมภวาปี เด็กรุ่นใหม่ที่มาเที่ยวแทบจะไม่รู้จัก รู้แค่ว่าไปอุดรไปที่ทะเลบัวแดง แต่ที่จริงแล้วมันคือหนองหาน”
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B
– ทะเลบัวแดง ชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ –
วีระวัฒน์ วงษ์ศรีรักษา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเชียงแหว จ.อุดรธานี
“สำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีส่วนที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนหลัก ๆ ส่วนที่หนึ่งก็คือ ภาครัฐ ส่วนที่สองคือภาคเอกชนและส่วนที่สามคือประชาชน นั่นหมายความว่าการที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวหนองหานให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นจะต้องอาศัย 3 ส่วนนี้ในการช่วยเหลือกัน
ทะเลบัวแดงของอำเภอกุมภวาปีจะมีหลายหน่วยงานในการดูแลอยู่ เช่นคันกั้นน้ำเป็นพื้นที่ของชลประทานซึ่งเป็นพื้นที่ของชลประทานเป็นผู้ดูแล จากคันกั้นน้ำเข้าไปด้านใน 90 เมตร ลเป็นที่สาธารณะมีหน่วยงานท้องถิ่นและอำเภอเป็นผู้ดูแล นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งมีเขตห้ามล่าที่เขามีกฎหมายเกี่ยวกับการอนึรักษ์ และในส่วนหนึ่งของหนองหานที่ประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำก็จะมีผลกระทบในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากจะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตก่อน นี่คือภาพรวมของภาครัฐ
ในส่วนที่สองคือภาคเอกชน ถ้าภาคเอกชนให้การสนับสนุนหรือว่าเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ ก็จะทำให้คนเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่วนในเรื่องงบประมาณทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนมันต้องช่วยกันเพราะงบประมาณของเฉพาะท้องถิ่นมันไม่สามารถจะจัดการบางปัญหาที่เกิดอย่างปัญหาได้ อย่างเช่น วัชพืชจอกหูหนูยักษ์ก็เป็นปัญหาใหญ่ หากจะนำขึ้นมากำลังของประชาชนจิตอาสาก็ได้เพียงเล็กน้อยไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นภาครัฐต้องสนับสนุนการแก้ไขปัญหาตรงนี้
และในส่วนของภาคประชาชน วิถีชีวิตของพวกเขาตั้งแต่อดีที่ผ่านมา หนองหานถูกใช้น้ำอย่างเป็นประโยชน์ ซึ่งน้ำเพื่อการเกษตรก็ถูกพัฒนาขึ้น โดยจะมีทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศไว้และน้ำเพื่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวทะเลบัวแดง ถ้าเราจัดระบบน้ำที่ไม่มั่นคงดอกบัวก็จะขึ้นได้ไม่เต็มเพราะว่าฤดูกาลของหนองหานมี 2 ฤดู หน้าฝนลมจะมาทางตะวันตกฉียงใต้แล้วพัดไปทางตะวันนออกเฉียงเหนือ ต้นจอกหูหนูยักษ์หรือเศษสวะก็จะถูกพัดไปมันจะกวาดเอาพืชพันธุ์ไปกองอยู่ทางนั้น พอหน้าหนาวลมตะวันออกฉียงใต้ก็จะกวาดพวกนี้กลับคืนไปเพราะฉะนั้นถ้าจองหูหนูยักษ์ยิ่งมีมากมันก็จะกวาดไปมาแบบนี้ มันมีทั้งดีและไม่ดีสิ่งดีคือมันลากเอากอบัวไปเกิดทั่วบริเวณ แตสิ่งไม่ดีคือพอดอกบัวกำลังจะเติบโตมันก็กวาดออกไปหมด ถ้าเราสามารถจัดการในจุดนี้ให้พอสมควร ทั้งการอนุรักษ์ในชณะเดียวกันก็พัฒนาดอกบัวให้ขึ้นได้สวยงาม”
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ C
– ทะเลบัวแดง ทะเลสาบที่แปลกของโลก “World’s strangest lakes” –
สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
“ที่นี่มีนกเยอะ ตอนนั้นมีนก 107 ชนิด 101 ชนิดเป็นนกที่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ครึ่งหนึ่งเป็นนกอพยพ อีกครึ่งหนึ่งเป็นนกประจำถิ่น ที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์มากเพราะว่ามันมีแหล่งอาศัย เพราะฉะนั้นมันเป็นแหล่งรวมนกจากสากลเปรียบดั่งสนามบินนานาชาติของนกเลยทีเดียว
ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องของสากลต้องมองให้เห็นว่า ความเป็นสากลในแง่การอนุรักษ์ถือว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานนาชาติแล้วครับ เหลือเพียงอีกขั้นเดียวก็คือ แรมซาร์ไซต์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประเทศไทยมีแล้ว 14 แห่ง ในภาคอีสานมี 3 ที่ คือ บึงโขงโหลง กุดทิง จ.บึงกาฬ และมีที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง จ.นครพนม หนองหานก็ยังรออยู่ทางเขตห้ามล่าอาจจะขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศก็ได้เพราะมีความพร้อมหมดแล้ว
ศักยภาพระดับสากลของความเป็นแหล่งอนุรักษ์ระดับสากลผมคิดว่ามันพร้อมแล้ว ศักยภาพคือสิ่งที่ซ่อนอยู่แต่เราไม่ได้ดึงออกมาซึ่งมันมีพลัง มีความสำคัญและมีคุณค่าแต่ยังแอบซ่อนอยู่ คนยังไม่รู้ อย่างเรื่องนกต้องประชาสัมพันธ์มากกว่านี้เพราะนกมาพร้อมกับบัวและหน้าหนาว แต่พอหน้าแลงนกก็จะน้อยก็ต้องหาที่เที่ยวที่อื่น นี่คือการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ระดับสากลต้องมองว่า
1.ต้องมีการจัดการที่บูรณาการหลายฝ่ายทั้งแง่ของการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์แลการแบ่งเขตพื้นที่ การอบรมคนเรือ อบรมนักท่องเที่ยว อบรมมัคคุเทศก์การให้ควารมรู้เรื่องระบนิเวศ ตัวอย่างที่เคยไปเที่ยวทะเลสาบในเยอรมนีเรือที่ใช้ก็เป็นเรือไฟฟ้า นั่นคือระบบสากลนะครับ หรือหากเป็นกีฬาทางน้ำก็ไม่ให้ใช้เครื่องยนต์ ว่ายน้ำ ล่องแพยางแบบนี้ได้ พอเรือไปถึงกลางทะเลสาบ จะมีคนออกมาเป่าแตรสะท้อนหน้าผา ทำให้รู้สึกประทับใจแล้วก็มีของที่ระลึกขายเต็มไปหมด นั่นคือระบบสากลที่เคยไปมันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลแต่ก็ต้องควบคู่กับการอนุรักษ์เพื่อให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
ผมจึงคิดว่าหนองหานขึ้นอยู่ที่พวกเราทุกคนว่าจะทำอย่างไร ถ้าในระดับสากลมันอาจจะไม่ใช่แค่บ้านเดียว ตั้งแต่ทางเข้าจากถนนมิตรภาพ ถ้าทำให้สะอาดแต่ละบ้านปลูกดอกไม้ตามชานหน้าต่างให้สวยงามแบบแหล่งท่องเที่ยว พอมาถึงก็จัดเป็นส่วนต่าง ๆ อย่างดี หากจะเป็นสากลต้องช่วยกันในหลายภาคส่วน”
ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน
นี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้ แต่อย่างไรก็ตามโจทย์และเงื่อนไข
โจทย์ในการดูแล-เบิ่งแยง หนองหานน้อยทะเลบัวแดง จำเป็นต้องฟังเสียงชุมชนและมีข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งชุมชน หน่วยงาน เอกชน และคนรุ่นใหม่ ยังต้องหารือและขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งนอกจากเสียงของคนหนองหานทะเลบัวแดงแล้ว ผู้ที่สนใจในพื้นที่อื่น ๆ สามรถร่วมเป็นส่วนสำคัญในการเบิ่งแงง ทะเลบัวแดง แหล่งทรัพยากรและสถานที่ท่องเที่ยวในการพัฒนาให้ตอบโจทย์ของทุกคนได้ สามารถติดตามรายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจอยู่ดีมีแฮง
เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”