‘22 ปี พอช.’…. “เปลี่ยนผ่าน สานต่อ สู่ชุมชนเข้มแข็ง”ก้าวที่ท้าทาย…สู่เป้าหมาย “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มแผ่นดิน” (2)

‘22 ปี พอช.’…. “เปลี่ยนผ่าน สานต่อ สู่ชุมชนเข้มแข็ง”ก้าวที่ท้าทาย…สู่เป้าหมาย “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มแผ่นดิน” (2)

อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ผู้มีบทบาทในการก่อตั้ง พอช.เมื่อ 22 ปีก่อน (ที่ 4 จากซ้ายไปขวา) นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.คลัง (ที่ 5 จากซ้าย) กับผู้นำองค์กรชุมชนในวันเปิดทำการ พอช. เมื่อ 26 ตุลาคม 2543

“ตั้งใจจะให้ พอช. เป็นเครื่องมือของประชาชน  เป็นกลไกการพัฒนาใหม่  ที่ชาวบ้านเป็นผู้กำหนดแนวทางการพัฒนาของตนเอง   พอช.จะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนงานไปพร้อมกับขบวนการขององค์กรชุมชนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ  พอช.จะมีการจัดองค์กรไปพร้อมกับการพัฒนาความคิด  ความรู้  ความสามารถของคนในขบวนองค์กรชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง  คน พอช.มีตัวตนเล็ก ให้ความสำคัญกับการทำงานให้บรรลุเป้าหมายมากกว่าตัวตนขององค์กรและของคนทำงาน  โดยระยะยาวมีเจตนารมณ์ให้องค์กรนี้เป็นองค์กรของประชาชน”

ถ้อยความข้างต้นนี้  คือปณิธานของ‘อาจารย์ไพบูลย์   วัฒนศิริธรรม’  ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ขึ้นมาในปี 2543

แม้ว่าวันนี้  อาจารย์ไพบูลย์จะจากไปแล้ว  (เสียชีวิตในปี 2555) และ พอช. ได้ผ่านร้อน  ผ่านหนาว  จนก้าวข้ามปีที่ 22  เข้าสู่ปีที่ 23  แต่ปณิธานของท่านมิได้เลือนหาย  ยังได้รับการสานต่อ  โดยเฉพาะแนวคิด “การพัฒนาที่ชุมชนเป็นแกนหลัก  และเป็นเจ้าของการพัฒนา”  ผ่านรูปธรรมโครงการต่างๆ  โดย พอช.เป็นฝ่ายสนับสนุนการพัฒนาของภาคประชาชน  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  ฯลฯ

พอช. หนุนเสริมการพัฒนาภาคประชาชน สร้าง “ตาข่ายรองรับทางสังคม” 

แต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่ชาวบ้านทั่วไป  เกษตรกร  ชาวไร่  ชาวนา  ไม่มีสวัสดิการสังคมรองรับเหมือนกับข้าราชการหรือพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป   ผู้นำชุมชนหลายคน  เช่น  ครูชบ  ยอดแก้ว  (ปัจจุบันเสียชีวิต) ครูประชาบาลจากอำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา  จึงได้ส่งเสริมการออมเงินวันละ 1 บาท โดยการก่อตั้ง ‘กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วันละ 1 บาท’  เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมในยามเดือดร้อนจำเป็น  และนำเม็ดเงินที่งอกเงยจากกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์มาช่วยเหลือสมาชิกในยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเสียชีวิต 

ต่อมาแนวคิดนี้ได้ขยายเป็นวงกว้างไปสู่ชุมชน  ตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ  และในเวลาต่อมาได้พัฒนามาเป็น ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล’  โดย พอช. สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลหรือเทศบาลครั้งแรกในปี 2548   มีชุมชนนำร่องทั่วประเทศประมาณ 99  กองทุน 

มีหลักการที่สำคัญ   คือ  ให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  ขณะเดียวกันรัฐบาลในยุคที่อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และรองนายกรัฐมนตรี (ตุลาคม 2549-กุมภาพันธ์ 2551) ได้ร่วมสนับสนุนการจัดสวัสดิการภาคประชาชน  โดยสมทบงบประมาณของรัฐผ่าน พอช.เข้ากองทุนเพื่อให้กองทุนเติบโต  แล้วนำเงินกองทุนนั้นมาช่วยเหลือสมาชิกตามข้อตกลงของแต่ละกองทุน 

เช่น  คลอดบุตรช่วยเหลือ 500-1,000 บาท  นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 100-200 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10คืน  ช่วยไฟไหม้  น้ำท่วม  ภัยพิบัติ  ไม่เกิน 2,000 บาท  ช่วยสมาชิกที่เสียชีวิต  3,000-20,000 บาท (ตามอายุการเป็นสมาชิกและสถานะการเงินของกองทุน) นอกจากนี้หลายกองทุนยังช่วยเรื่องทุนประกอบอาชีพ  ช่วยคนด้อยโอกาส           คนพิการ  ทุนการศึกษาเด็ก   รวมทั้งสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน  เช่น  การจัดการขยะ  สิ่งแวดล้อม  ดูแลป่าชุมชน  ทรัพยากรในท้องถิ่น  สร้างแหล่งอาหารในชุมชน  ฯลฯ

แม้จำนวนเงินที่ช่วยเหลือจะไม่มากนัก  แต่เป็นการช่วยเหลือที่ทันท่วงที  ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐที่มีระเบียบขั้นตอนมากมาย   ยิ่งเมื่อกองทุนสวัสดิการชุมชนเหล่านี้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย  ยิ่งทำให้เกิดพลัง  ช่วยเหลือกันได้มากขึ้น  เช่น  ช่วยเหลือพี่น้องชุมชนต่างๆ ในยามเกิดภัยพิบัติ (ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554, 2562 และปีนี้  กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วภูมิภาค  ได้ระดมข้าวสาร  อาหารแห้ง  สิ่งของจำเป็นไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ  รวมทั้งการช่วยเหลือดูแลกันในช่วงสถานการณ์โควิด-19)

ถือเป็นตาข่ายทางสังคม (Social Safety Net) รองรับผู้เดือดร้อน  ผู้ยากลำบากที่คนในชุมชนจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลกันเอง  และยังเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทั่วไปอีกด้วย !! 

จากการริเริ่มจัดตั้งกองทุนสวัสดิการภาคประชาชน  โดยการสนับสนุนของ พอช.  ทำให้รัฐบาลในยุคต่อมามีนโยบายสมทบเงินเข้ากองทุนในอัตรา 1 : 1 รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เช่น  อบต.  เทศบาล  อบจ.  และภาคเอกชนต่างก็ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนด้วยเช่นกัน

               ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ  จำนวน  5,915 กองทุน  สมาชิกกองทุนรวม  6,486,679 ราย   เงินกองทุนรวมกันจำนวน 20,413  ล้านบาท  โดยมีผู้รับสวัสดิการไปแล้วรวม 1,970,314 ราย   เงินจ่ายสวัสดิการรวม 2,399,946,472  บาท

            (เงินกองทุน 20,413  ล้านบาท  แยกเป็นเงินสมทบจากสมาชิก  จำนวน 13,944 ล้านบาท (ร้อยละ 68) เงินสมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. จำนวน 3,378  ล้านบาท (ร้อยละ 17) เงินสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  จำนวน 1,398 ล้านบาท (ร้อยละ 7) และเงินสมทบจากภาคเอกชน  เงินบริจาค  ฯลฯ  จำนวน 1,691  ล้านบาท  (ร้อยละ 8)

กองทุนสวัสดิการชุมชนบางแห่งสนับสนุนการจัดการขยะ  แล้วนำขยะรีไวเคิลมาขาย  รายได้นำมาช่วยกิจกรรมเด็กและเยาวชน  ทุนการศึกษา

ก้าวย่างต่อไป  สู่เป้าหมาย ‘ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มประเทศไทย’

นอกจากผลงานที่เป็นรูปธรรมดังกล่าวแล้ว  พอช. ยังมีภารกิจสำคัญอีกหลายด้าน  เช่น  การส่งเสริม ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ ให้เป็นกลไกในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ  เอกชน  และประชาสังคม  และถือเป็นการสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก  เพราะสภาองค์กรชุมชนตำบล (หรือเทศบาล ส่วนในกรุงเทพฯ คือสภาองค์กรชุมชนระดับเขต)  จะมีผู้แทนชุมชนจากกลุ่มต่างๆ ในตำบลเข้าร่วมเป็นสมาชิก  และร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่น  รวมทั้งเสนอข้อคิดเห็นเข้าสู่การแก้ไขปัญหาในระดับประเทศ  ผ่านเวทีประชุม ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ’

ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ 7,795 แห่ง  จำนวนกลุ่มองค์กรชุมชนจดแจ้ง 156,280 องค์กร  และมีสมาชิกสภาองค์กรชุมชน   ประกอบด้วย  ตัวแทนชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิ  รวม 254,945 คน

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  ในโอกาสที่ พอช. ดำเนินงานครบ 22 ปี  และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 23  ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน (Transform) ที่สำคัญ  อย่างไรก็ตาม  ภายใต้ระบบงบประมาณและบุคลากรของ พอช.ที่มีจำกัด  แต่มีพื้นที่ทำงานครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย

“พอช.จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการร่วมสร้างกลไกในการดำเนินงานที่สำคัญ  คือ  ขบวนองค์กรชุมชน  ประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับภาคีการพัฒนา  ด้วยการสร้างจุดร่วมและหนุนเสริมทรัพยากรในการทำงาน  รวมทั้งการเชื่อมโยงกับองค์กรภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ให้ขับเคลื่อนงานพัฒนาไปด้วยกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ  ดังคำที่ว่า  “เราจะเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาด้วยกัน”

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ. พอช.  (ยืนกลาง/เสื้อขาว) ลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า พอช. ยังคงมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ  “ปี 2579 ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”  โดยมีประเด็นการพัฒนาอันเป็นทิศทางสำคัญในช่วงต่อไป  ดังนี้

1.การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง  สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง  เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  สามารถจัดการตนเองบนพื้นฐานทุนชุมชนท้องถิ่น  และผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

2.การสานพลังความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบาย  3. การพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้นำ  คนและขบวนองค์กรชุมชน  4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาชุมชน

 “พอช. ให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรชุมชน  และประชาสังคม  บูรณาการทุกภาคส่วนในการสนับสนุนองค์กรชุมชนและเครือข่าย  ดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม  การพัฒนาองค์กรที่เอื้อต่อการทำงานของชุมชน  นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง”  ผอ.พอช. กล่าว

นอกจากนี้  ผอ.พอช.  ได้ย้ำว่า  “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งคือทางรอดของประเทศไทย”    โดยมี 4 เสาหลัก  คือ    1.การเสริมสร้างประชาธิปไตยของชุมชน  โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางในการสร้างทิศทางการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนท้องถิ่น

2.การรักษา  พัฒนา  และต่อยอดทุนชุมชน  ทุนทางปัญญา  ทุนทางวัฒนธรรม  วิถีชีวิต  การประกอบอาชีพ  ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  องค์กรการเงินชุมชน  และป่าชุมช

3.การมีระบบสวัสดิการของชุมชนที่เกิดขึ้นมาจากการจัดตั้งของชุมชน  เป็นภูมิคุ้มกันของชุมชน  ทั้งการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  และกองทุนสวัสดิการชุมชน  และ 4.การประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  หรือสัมมาชีพชุมชน

ส่วนการสร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชน  และเครือข่ายองค์กรชุมชนในทุกระดับของ พอช. จะดำเนินการผ่าน    6 พันธกิจสำคัญ ได้แก่  1. พัฒนาคุณภาพชีวิตในองค์กร   2.สร้างหุ้นส่วนการพัฒนา  3.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนที่หลากหลาย  4.เพิ่มศักยภาพผู้นำองค์กรชุมชน   5. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม  และ 6. มีระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงการพัฒนาและเปิดเผย   

“ทั้งหมดนี้…จะเป็นทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนกระบวนการทำงานที่สำคัญ….สู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของพอช.  คือ…ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทยในปี 2579”  ผอ.พอช. กล่าวย้ำ

ผอ.พอช. (ขวา)  แสดงความยินดีกับ ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันฯ คนล่าสุด

กระจกส่อง พอช.           

               นางสาวนิ่มอนงค์  จันทร์สุขศรี  อายุ 36 ปี  ชาวนครสวรรค์  ผู้แทนเครือข่ายที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงเมืองและชนบทภาคเหนือ  บอกว่า  เธอรู้จัก พอช.เมื่อประมาณ 11 ปีที่แล้ว  หรือในปี 2554  ตอนนั้นเธออาศัยอยู่กับครอบครัวในชุมชนสถานีรถไฟปากน้ำโพในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์  เป็นชุมชนแออัด  สภาพทรุดโทรม  ขาดสาธารณูปโภค  ขณะนั้นชุมชนกำลังโดนไล่ที่  เธอจึงเข้ามาช่วยงานชุมชนด้วยการสำรวจและเก็บข้อมูลครัวเรือนในชุมชน  ปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของชาวบ้านเพื่อเตรียมจะทำโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.สนับสนุน  (พอช.สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ตั้งแต่ปี 2549)

นางสาวนิ่มอนงค์

หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการจัดทำบ้านมั่นคง  เช่น  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  รวมคน  รวมเงิน  เพื่อใช้แก้ปัญหา  มี พอช.เป็นที่ปรึกษา  มีเทศบาลให้การสนับสนุน  นำไปสู่การเจรจาขอเช่าที่ดินราชพัสดุหลังสำนักงานอัยงานจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง  เนื้อที่ 16 ไร่  รองรับชาวชุมชนที่เดือดร้อนจำนวน 102 ครัวเรือน  เริ่มสร้างบ้านในปี 2560  โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อก่อสร้างบ้านประมาณ 26 ล้านบาทเศษ  เป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวและสองชั้น  สร้างเสร็จตั้งแต่ช่วงปี 2562-2563 เป็นต้นมา  ใช้ชื่อชุมชนว่า  ‘บ้านมั่นคงสวรรค์เมืองใหม่’

11 ปีที่ผ่านมา  นอกจากชุมชนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ  คือ  มีบ้านใหม่ที่มั่นคง  ไม่ต้องกลัวโดนไล่     มีน้ำ  ไฟ  มีถนน  มีสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว  ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เพราะแต่ก่อนหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น  ไม่ให้การยอมรับชาวชุมชน  ไม่เชื่อว่าชุมชนจะบริหารโครงการ  หรือดูแลเรื่องเงินหลายล้านได้  พอโครงการเสร็จ    มีรัฐมนตรีมาเปิดงาน  ทำให้หน่วยงานต่างๆ ให้การยอมรับ  เชื่อถือ  และทำให้คนจนเข้าถึงสิทธิต่างๆ มากขึ้น”

“แต่สิ่งที่อยากจะสะท้อนถึง พอช.  คือ  เมื่อก่อนชาวบ้านจะทำงานกับ พอช. ด้วยความคล่องตัว  แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีระเบียบและขั้นตอนต่างๆ มากมาย  เหมือนจะเป็นระบบราชการ  และอีกอย่างคือ  การทำงานของ พอช. ไม่ควรจะเน้นปริมาณ  หรือทำงานตามตัวชี้วัด  เช่น  โครงการบ้านมั่นคง  หากชาวบ้านยังไม่มีความพร้อมก็ยังไม่ควรทำ  แต่ตอนนี้เหมือนจะเร่งทำเพื่อให้ได้ปริมาณตามตัวชี้วัด”  ผู้แทนเครือข่ายที่อยู่อาศัยฯ สะท้อนความเห็น

บ้านมั่นคงชุมชนสวรรค์เมืองใหม่ดูสวยงามไม่แพ้บ้านจัดสรร

ครูมุกดา  อินต๊ะสาร   อายุ  63  ปี  ประธานเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา  จ.พะเยา  (อดีตคณะกรรมการสถาบันฯ ในยุคก่อตั้งปี 2543) ในฐานะที่รู้จักและทำงานร่วมกับ พอช. ตั้งแต่ยุคก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน  สะท้อนภาพรวมการทำงานของ พอช. ว่า 

“คนทำงาน พอช.รุ่นก่อนๆ  จะทำงานแบบไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์  และทำงานด้วยความเคารพชาวบ้าน  ทำงานกับชาวบ้านด้วยความเท่าเทียมกัน  ทำงานแบบผสมผสาน  บูรณาการ  งานจึงขับเคลื่อนไปได้ดี  ส่วนคนรุ่นใหม่ก็มีความสามารถ  มีความเก่งด้านเทคโนโลยี  และมีความคิดใหม่ๆ  แต่จะต้องเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจากคนรุ่นเก่าเพื่อนำสิ่งดีๆ มาปรับใช้”

สิ่งที่อยากจะฝากเอาไว้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ  1.คนทำงานจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวบ้านได้คิด  วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของชุมชนท้องถิ่นจริงๆ  ไม่ใช่คิดมาจากส่วนกลาง  ต้องมาร่วมกันคิดและทำร่วมกันอย่างจริงจัง

2.พอช.ต้องทำงานเป็นทีม  ต้องมองและทำทั้งขบวนให้เกิดการเชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับตำบล  ท้องถิ่น  จนถึงภาพรวม  ไม่ใช่แยกเป็นประเด็น  เช่น  ทำเฉพาะเรื่องบ้าน  หรือทำเฉพาะเรื่องสวัสดิการชุมชน    และต้องทำงานเชื่อมประสานกับภาคีเครือข่าย  ฯลฯ

ครูมุกดามีบทบาทส่งเสริมให้เด็กสาวใน จ.พะเยาได้เรียนต่อ  ไม่ถูกความยากจนบังคับให้เข้าสู่วงจรธุรกิจบริการทางเพศ

ครูมุกดาบอกด้วยว่า  จากประสบการณ์ที่เธอเคยทำงานร่วมกับอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ในยุคเริ่มก่อตั้ง พอช.  ทำให้ได้ประสบการณ์และแง่คิดในการทำงานหลายอย่าง  เช่น  การมองคนทุกคนว่ามีคุณค่า  การเอาใจเขามาใส่ใจเรา  ทำอย่างไรจะให้พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด  อย่าท้อถอยในงานที่เราทำ  ต้องทำงานด้วยหัวใจ  ด้วยจิตอาสา  เมื่อทำงานสำเร็จจะทำให้เกิดความปีติ 

“นอกจากนี้เวลาทำงานหรือประชุมร่วมกับอาจารย์ไพบูลย์  ท่านจะถามว่า  ‘พวกเราถามชาวบ้านหรือยังว่าชาวบ้านคิดอย่างไร ?  ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อย่างไร ?’  เพราะท่านให้ความสำคัญกับประชาชน  และตั้งใจจะให้ พอช. เป็นองค์กรของประชาชน”  ครูมุกดาบอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานทิ้งท้าย

…นี่คือบางส่วนของกระจกที่สะท้อนให้เห็นภาพของ พอช. ในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา  เพื่อก้าวย่างสู่การเปลี่ยนผ่าน  สานต่อให้ พอช. เป็นองค์กรของประชาชนตามปณิธานของอาจารย์ไพบูลย์  และนำไปสู่เป้าหมาย    “ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดิน”  เพื่อเป็นทางรอดของประเทศไทย  เพราะหากชุมชนเข้มแข็ง  ประเทศชาติก็จะมั่นคงแข็งแรง  เหมือนกับการสร้างบ้าน  ต้องสร้างจากฐานราก  บ้านจึงจะมั่นคง  !!

เรื่องและภาพ :   สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ