ประมงท้องถิ่น จ.ระยอง ชี้ปัญหาการเยียวยา “ถมทะเลเฟส 3” ไม่เป็นธรรม

ประมงท้องถิ่น จ.ระยอง ชี้ปัญหาการเยียวยา “ถมทะเลเฟส 3” ไม่เป็นธรรม

เครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จ.ระยอง รวมตัวไม่รับเงินเยียวยาผลกระทบโครงการมาบตาพุด เฟส 3 ชี้เงื่อนไขไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับผลกระทบที่ต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน เตรียมยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ระยองเร่งดำเนินการให้เกิดการเยียวยา 

บรรยากาศถมทะเลโครงการมาบตาพุด เฟส 3 ณ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง

สืบเนื่องจาก เอกสารมูลนิธิกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่ถึงเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เพื่อแจ้งเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยจ่ายแบบครั้งเดียว เป็นจำนวนเงิน 47,000 – 100,000 บาท/ราย 

หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 27 ก.ย. 2565 แต่เครือข่ายกลุ่มประมงไม่ยินยอมเซ็นต์รับข้อตกลงดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงในหนังสือนั้นไม่เป็นธรรม และไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องตามแนวทางเยียวยาที่เครือข่ายเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ผ่านคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ไปก่อนหน้านี้

สมหมาย ศรีวิชัย ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นและชาวประมงชุมชนแหลมรุ่งเรือง อ.เมือง จ.ระยอง มองว่าเอกสารฉบับนี้เป็นการมัดมือชกชาวบ้านให้เซ็นต์ยินยอม ไม่มีความเป็นธรรมในการเยียวยา เนื่องจากข้อตกลงข้อที่ 3 ของเอกสารดังกล่าว ระบุว่าภายหลังที่ได้รับเงินเยียวยาแล้ว ชาวบ้านจะต้องไม่ดำเนินการยื่นคำขอร้องทุกข์ ร้องเรียน และร้องขอ การใช้สิทธิทางศาล หรือกระทำด้วยประการอื่นใด ที่ทำให้เกิดการเยียวยาอีกมจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 

“ตอนนี้เครือข่ายจะไม่เซ็นต์เอกสาร เเละไม่รับฟังการนิคมอุตสาหกรรมแล้ว แต่เราจะเล่นตามเคสท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีการเยียวยาเป็นระยะเวลา 6 ปี เราอยากเรียกร้องให้มีการเยียวยาพวกเรา เดือนละ 30,000 บาทต่อราย ตามที่เสนอไปแล้ว ไม่ใช่แบบรอบเดียว” สมหมาย กล่าว 

สมหมาย เล่าว่าหลังจากชาวบ้านอ่านเอกสารข้างต้น เครือข่ายประมงท้องถิ่น 11 กลุ่ม ได้แก่ ประมงพื้นบ้านแหลมรุ่งเรือง, ประมงเรือเล็กบ้านกรอกยายชา, หนองแฟบสามัคคี, อนุรักษ์ประมงสามัคคีบ้านพลา, กลุ่มหัวบ้าน, บ้านตากวน, ลูกน้ำเค็มก้นปึก, สะพานเมืองสุชาดา, กลุ่มประมงพื้นบ้านก้นปึก, บ้านตะกวน และปากน้ำบ้านเรา ที่ครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อ.บ้านฉาง และ อ.เมือง ได้รวมตัวประชุมหารือกันที่บ้านตากวน อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มองค์กรประมงท้องถิ่น มีพื้นที่ชุมชนที่อยู่ห่างจากจุดที่ถมทะเล ในรัศมี 5 -10 กิโลเมตร เท่านั้น 

สมหมาย เปิดเผยว่า ผลการประชุมองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นตัดสินใจเตรียมร่างหนังสือเพื่อยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เรียกร้องให้เร่งดำเนินการให้เกิดการเยียวยาที่เป็นธรรม กับชาวประมงจำนวน 800-900 ราย

สมหมาย ศรีวิชัย ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มองค์กรประมงท้องถิ่นและชาวประมงชุมชนแหลมรุ่งเรือง

เครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระบุว่าการเยียวยาของรัฐว่าไม่เป็นธรรม เพราะผลกระทบที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ ไม่สัมพันธ์กับเงื่อนไขและจำนวนเงินการเยียวยา 

สมหมาย กล่าวว่า ความเดือดร้อนจากการโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดของชุมชน ดำเนินมาตั้งแต่ โครงการระยะที่ 1,2, และปัจจุบันระยะที่ 3 ก็ต้องเผชิญกับการถมทะเลในพื้นที่ที่เคยออกเรือประมงหากิน ต้องรับสภาพสูญเสียพื้นที่ทำมาหากินไปตลอดชีวิต

พื้นที่ถมทะเล มันเป็นพื้นที่ในการวางเครื่องมือประมงทุกชนิดได้ เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำทั้ง หอยหวาน อวนปู อวนกุ้ง หอยกุ๊งกิ๊ง ตรงนั้นเคยเป็นแหล่งที่วางอวนของประมง” สมหมาย กล่าว 

สมหมาย ยังให้ข้อมูลอีกว่าตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ได้ให้อำนาจประมงพื้นบ้านมีอาณาเขตออกไปทำมาหากินได้จากชายฝั่งไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล แต่การถมทะเลจากโครงการพัฒนาท่าเรือฯ ใช้พื้นที่ไปแล้ว 1 ไมล์ทะเล หรือราว ๆ 1,000 ไร่ และสร้างคันกันคลื่นอีกรวมแล้วจะเสียพื้นที่ออกเรือประมงเกือบ 2 ไมล์ ดังนั้น เหลือพื้นที่ออกหาอาหารทะเลประมาณ 1 ไมลค์ ซึ่งไม่เพียงพอต่ออาชีพภาคประมง

“ตอนนี้ชาวประมงไปไม่รอด แต่การเยียวยาก็ไม่เป็นธรรม เราต้องการเรียกร้องให้เยียวยาเป็นธรรม ชุมชนหรือหมู่บ้านที่อยู่บนบกเขาเสียหายเเค่ขนถ่ายสินค้า แต่ประมงเสียหายทั้งหมด วิถีชีวิตประมงก็จะเปลี่ยนไป เราจึงมีการพูดคุยกับทางประมงจังหวัด เพื่อเป็นตัวแทนกระบอกเสียงแทนประมงท้องถิ่น ให้ดำเนินการเสนอแก้ไขกฎหมายให้ขยายน่านน้ำไปเป็นที่ 12 ไมล์ทะเล แต่ตอนนี้เป็นเพียงการเสนอเท่านั้น” สมหมาย  กล่าว 

ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ยังให้ข้อมูลอีกว่า ทุกวันนี้เวลาออกเรือวางอวนปู ปลา หอย สิ่งที่เจอคือตะกอนจากหินที่ใช้ถมทะเลลอยฟุ้งออกมาเกาะตามอวนของชาวบ้าน ทำให้ปลาเล็กปลาใหญ่หายไป และต้องออกเรือไกลขึ้นเพื่อพ้นพื้นที่ถมทะเลจึงจะเจอเหล่าสัตว์น้ำ ทำให้ต้นทุนค่าน้ำมันสูงขึ้น ใช้เวลามากขึ้น แต่ผลตอบแทนรายได้ก็ยังไม่ดีเท่าปีที่ผ่านมา 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ