ก้าวต่อของชุมชนหัตถศิลป์เวียงกาหลง

ก้าวต่อของชุมชนหัตถศิลป์เวียงกาหลง

เมืองวัฒนธรรม แดนพุทธภูมิ ถิ่นกาขาว ชาวศรีวิไล

คำขวัญนี้จะเป็นที่ไหนไม่ได้ คือ ที่บ้านเวียงกาหลงเมืองโบราณ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

“เวียงกาหลง” มีประวัติศาสตร์และมีตันทุนในการพัฒนาสู่อนาคตที่น่าสนใจ ชุมชนเวียงกาหลง ชุมชนหัตถศิลป์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างเครื่องเคลือบเวียงกาหลง หนึ่งต้นทุนของชุมชนที่ถูกส่งต่อมาองค์ความรู้หลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน ทั้งเอกลักษณ์เฉพาะการเขียนลายเส้นที่อ่อนช้อนงดงาม ด้วยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ดอกไม้ และสัตว์ในท้องถิ่น

นอกจากเครื่องเคลือบเวียงกาหลงแล้วที่นี่ยังมีต้นทุนอีกหลายอย่าง ที่ชุมชนพยายาม สร้างการเรียนรู้เพื่อสืบทอด สานต่อ สร้างอาชีพ  และพัฒนาไปสู่แนวทางการเป็นผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม รวมถึงเชื่อมต่อภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะการศึกษาที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น

ทีมงานฟังเสียงประเทศไทยภาคเหนือครั้งนี้ เราเดินทางมาถึงพิกัด ที่ 7 แล้ว ครั้งนี้เรามาชวน คนเวียงกาหลง ทั้งพระ ครูภูมิปัญญา ผู้นำชุมชน ตัวแทนอปท. และเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มารวมตัว ล้อมวงคุยและฟังอย่างใส่ใจกันที่ วัดแม่ห่าง ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

และแน่นอนว่าทางทีมงานฟังเสียงประเทศไทยได้รวบรวมข้อมูลไว้ตั้งต้นเพื่อคุยและมองภาพอนาคต ของชุมชนเวียงกาหลงมากขึ้น ทั้งข้อมูลพื้นฐาน สถานการณ์ และความพยายามปรับตัวของคนในชุมชนมาแบ่งปันให้ผู้อ่านได้รู้จักเวียงกาหลงมากขึ้น

“เวียงก๋าหลง” หรือ เวียงกาหลง เมืองเก่าที่เคยรุ่งเรืองอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1500 – 1600 ตั้งอยู่บริเวณดอยหลวง ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย มีพระธาตุแม่เจดีย์ ที่สร้างสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรพุกาม ช่วงยกทัพไปยังกัมพูชา สร้างเมือง และขุดคูล้อมรอบเป็นป้อมปราการรูปตัววีหรือปีกกา หากเข้ามาไม่เชี่ยวชาญก็จะหลงหาทางออกไม่ได้ จึงเป็นที่มาของ เวียงกาหลง

เมืองเครื่องเคลือบโบราณลายเวียงกาหลง

เแหล่งผลิตเครืองปั้นดินเผาสำคัญของล้านนาตั้งแต่อดีต นักโบราณคดีขุดค้นพบเตาเผาเครื่องเคลือบโบราณกว่า 200 เตา และโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น เศษภาชนะดินเผา เศษกระเบื้องดินเผา อิฐ เบี้ยดินเผา ดินเผาไฟ เครื่องมือเหล็ก หินลับมีด

เครื่องเคลือบเวียงกาหลงใช้ดินละเอียดในการปั้น ทำให้น้ำหนักเบา มีลายเขียนสีดำใต้เคลือบประเภทเคลือบใส เคลือบสีน้ำตาล และเคลือบสีเขียว ที่พัฒนาจากแบบจีนมาสู่ลวดลาย เฉพาะ 4 กลุ่ม คือ ลายพันธุ์พฤกษา ลวดลายรูปสัตว์ รูปแบบภาชนะ และรูปแบบประติมากรรม

เมืองเครื่องเคลือบดินเผาโบราณที่รุ่งเรือง ส่งขายไปยังต่างประเทศ เกิดภัยธรรมชาติและโรคระบาด ผู้คนจึงอพยพออกไปกลายเป็นเมืองร้าง ปัจจุบันชุมชนเวียงกาหลงเป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาเมื่อราว 200 ปีที่ผ่านมา การผลิตเครื่องเคลือบดินเผาจึงได้เริ่มต้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2515 และทําเป็นอาชีพ จนเป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาวในปี พ.ศ.2546 โดยพัฒนา รูปแบบและวิธีการเผาด้วยเตาแก๊ส มีการออกแบบลวดลายใหม่ให้เป็นที่ต้องการผู้บริโภค พัฒนารูปทรงของผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เหมาะสมกับการใช้ในชีวิตประจําวัน

เวียงกาหลงเป็นเมืองผ่านจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังเชียงราย อยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ประมาณ 90 กิโลเมตร และเมืองเชียงราย 100 กิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่ม สลับที่ราบสูง มีภูเขาล้อมรอบ มีแม่น้ำและลำห้วยธรรมชาติ 5 สายไหลผ่าน ประชาชนส่วนใหญ่จึงทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และรับจ้างเป็นอาชีพรอง

ประชากรในพื้นที่เวียงกาหลง

ปี พ.ศ. 2553  มีประชากร 9,448 คน

ปี พ.ศ. 2565 ประชากร 9,183 คน  ลดลง 265 คน ซึ่งมีแนวโน้มประชากรจะลดเรื่อยๆ

เป็นผู้สูงอายุ 1,751 คนและเยาวชน 1,491 คน มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากกว่าเด็กและเยาวชน

มีโรงเรียนในระดับประถมศึกษา 5 แห่ง

การส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นใหม่ของเวียงกาหลง

  • นักวิชาการและชุมชนมีงานวิจัยศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เวียงกาหลง เก็บข้อมูลพื้นที่ทุกหมู่บ้าน จํานวน 17 หมู่บ้าน
  • จัดตั้งแหล่งเรียนรู้เวียงกาหลงศึกษาในโรงเรียน โดยนําศิลปะลายเวียงกาหลงร่วมสมัยเข้าไปในสถานศึกษาให้เยาวชนได้เรียนรู้ โดยเริ่มที่โรงเรียนวัดหนองบัวพิทยา
  • มีรายวิชาการงานอาชีพ รายวิชาศิลปะ รายวิชาเทคโนโลยี รายวิชาช่างสิบหมู่ มาบูรณาเรียน “ศิลปะ เวียงกาหลงศึกษา” ส่งเสริมการเรียนรู้เวียงกาหลงศึกษาในโรงเรียนเครือข่าย

มีตั้งศูนย์การเรียนรู้ศิลปะเวียงกาหลงในวัดแม่ เป็นห้องแสดงนิทรรศการ ผลงานผลิตภัณฑ์ศิลปะเวียงกาหลงที่ได้พัฒนาสร้างสรรค์ขึ้น และจัดสอนการออกแบบนําศิลปะเวียงกาหลงไปพิมพ์ลงบนวัสดุอื่นๆ

มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายวิชาการ U2T เพื่อออกแบบการทำบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าและการตลาด พร้อมเชื่อมต่อกับการท่องเที่ยวชุมชนเวียงกาหลง แต่ยังไม่มีความต่อเนื่อง และยังไม่สามารถสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาใกล้ชุมชน

จุดแข็ง

  • เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางโบราณคดี และยังเป็นทางผ่านที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และลำปาง ทำให้มีนักท่องเที่ยวผ่านเข้ามาตลอด
  • เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงจะมีชื่อเสียง ระดับ ๕ ดาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี
  • มีดินขาวและดินดําที่เหมาะกับการทำเครื่องปั้นในพื้นที่
  • มีความรู้ที่ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบและสล่าชุมชนที่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่

แรงฉุด

  • ขาดแรงงานที่มีทักษะในการสืบสานภูมิปัญญาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง ผู้ผลิตที่มีฝีมือปัจจุบันที่ยังสืบสานภูมิปัญญานี้อยู่เพียงครอบครัวเดียวเท่านั้น
  • ประชากรในชุมชนเริ่มลดลง สัดส่วนผุ้สูงอายุที่มากกว่าเด็กและเยาวชน
  • การเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์ สืบสานมรดกศิลปะเวียงกาหลงให้แก่ประชาชนทั่วไปมี น้อยมาก และยังไม่มีการกระตุ้นอย่างจริงจังจากหน่วยงาน องค์กร กลุ่มพลังต่าง ๆ ในท้องถิ่น

โอกาส

  • พ.ศ. 2559 กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศให้เชียงรายเป็น เมืองแห่งศิลปะแห่ง
  • ภายหลังการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบบเศรษฐกิจได้หยุดชะงักและอัตราการเลิกจ้างงานสูงขึ้น คนเวียงกาหลงจึงเริ่มหันกลับมามองคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ และต้องการที่จะรื้อฟื้นเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงกลับมาอีกครั้ง
  • นโยบายรัฐบาลและนโยบายของท้องถิ่นหนุนเสริมศิลปวัฒนธรรม และเกษตรปลอดภัยในท้องถิ่นที่จะสามารถเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวชุมชนได้ และมีแผนยุทธศาสตร์ของท้องถิ่นในการพัฒนา
  • เป็นพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐให้ความสนใจ และสนับสนุนให้มีกองทุนสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
  • มีการรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน

อุปสรรคที่ชุมชนต้องก้าวผ่าน

  • ยังขาดแผนในการทำงานร่วมกันที่ต่อเนื่องของภาคส่วนต่างๆในท้องถิ่น สถานศึกษา โรงเรียน ชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ยังขาดการเชื่องต่อของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชน คนรุ่นใหม่ยังมองไม่เห็นถึงการไปต่อทางอาชีพในชุมชน
  • สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวลดลง

นี่คือก้าวต่อไปของเวียงกาหลง เมืองแห่งหัตถกรรมภูมิปัญญา เพื่อสืบทอด สานต่อ สร้างอาชีพ สู่แนวทางแผนการพัฒนาผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม (Cultural Entrepreneur) ไม่ให้เวียงกาหลงเป็นแค่เมืองผ่าน แต่เป็นเมืองพักเพื่อการเรียนรู้ของทุกคนและต่อยอดเศรษฐกิจของชุมชน

นอกจากข้อมูลที่ทางทีมงานรวบรวมให้เห็นสถานการณ์ที่ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้กำลังเผชิญแล้ว เราอยากชวนมองต่อว่า ก้าวต่อไปของชุมชนหัตถศิลป์เวียงกาหลง เวียงกาหลง next step ใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งทางรายการทดลองประมวลภาพอนาคตมาด้วยกัน 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาชวนกันมองว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นไปในทิศทางใด ?

เวียงกาหลง  next step ภาพอนาคต 3 ปีข้างหน้าจะเป็นแบบไหน

ภาพที่1 จัดการต้นทุนตามแนวคิด เศรษฐกิจชุมชน

การทำงานร่วมกันของคนในชุมชนเป็นไปแบบธรรมชาติตามศักยภาพและเงื่อนไข โดยวัดเป็นศูนย์กลาง จัดการเรียนรู้ฯ ซึ่งเน้นเพื่อคนในชุมชนเป็นหลัก อาจจะมีคนภายนอกชุมชน ผู้สนใจ และนักท่องเที่ยวบ้าง ในช่วงที่มีกิจกรรมหรืองานงานเทศกาลต่าง ๆ รวมถึงต่อยอดขยายไปสู่หลักสูตรท้องถิ่นในระดับประถมศึกษาและอาชีวะศึกษา เพื่อให้เด็กเยาวชนในพื้นที่ได้ศึกษาและเข้าใจรากเหง้า ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีโอกาสพัฒนายกระดับจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยภายนอกที่เห็นความสำคัญเข้ามาศึกษาวิจัยต่อยอด รวมถึงเชื่อมต่อการท่องเที่ยวตามกิจกรรมโครงการฯ ขณะที่ผลิตภัณฑ์มีความเฉพาะเจาะจงและเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะงานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และหาผู้สืบต่องานได้ยากขึ้นเนื่องจากขาดผู้สืบทอด เนื่องจากคนรุ่นใหม่เลือกที่จะออกไปทำงานนอกชุมชน มากกว่าเห็นว่าเป็นโอกาสทางอาชีพ

ภาพที่2 ชุมชนผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม

วัด ผู้นำชุมชน และเครือข่ายภาควิชาการ ร่วมกันพัฒนาและยกระดับให้ผลิตภัณฑ์เวียงกาหลง ตอบโจทย์ตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ  ภาครัฐเข้ามามีบทบาทหลักในการจัดการความรู้ชุมชน และความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการทำการตลาดโดยสนับสนุนและเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน มีการทำแผน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่เชื่อมต่อกับภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ภาคหัตถกรรม ภาคท่องเที่ยว ภาคการเกษตรยั่งยืน เพื่อยกระดับให้เวียงกาหลงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้และแหล่งอาหารปลอดภัยของภาคเหนือ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับภาคเศรษฐกิจชุมชนให้มีเม็ดเงินไหลเวียนมากขึ้น แต่อาจมีการกระจุกตัวของรายได้กับบางธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว  แต่ทั้งนี้รัฐท้องถิ่นต้องลงทุนในเรื่องการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ขณะที่คนในชุมชนแม้มีโอกาสทางเศรษฐกิจจากการสร้างงานใหม่ๆ แต่ก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ภาพ3 ชุมชนการศึกษาเพื่อพัฒนาธุรกิจท้องถิ่น

ชุมชน วัด โรงเรียน และมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการพัฒนา และสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ โดยเห็นถึง โอกาสของความรู้ด้านหัตถกรรมของท้องถิ่น อย่างเครื่องเคลือบเวียงกาหลง ที่มีคุณค่าและมูลค่าทางการตลาด ยกระดับไปสู่การมีหลักสูตรการศึกษาที่สอดรับกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งต่อความรู้ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เกิดการต่อยอด ออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และใช้เทคโนโลยี โซเซียลมีเดียเพื่อพัฒนาการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เติบโตทางธุรกิจและมีอาชีพในชุมชน ชุมชนมีการลงทุนในด้านการศึกษาของท้องถิ่น หรือมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น ให้เกิดการจัดกระความรู้เพื่อให้ความรู้เฉพาะทางเข้าสู่ระบบการศึกษาหลักได้

เพื่อให้ตรงกับแนวคิดของรายการ คือ ฟัง” ด้วยหัวใจที่เปิดรับ  เพื่อส่ง “เสียง”แลกเปลี่ยนกันด้วยข้อมูลที่รอบด้าน ลองไปอ่านและฟังเสียงส่วนหนึ่งจากวงสนทนาโดยตัวแทนข้อมูลทั้ง 3 ภาพอนาคตมาร่วมให้ข้อมูล

พระครูโฆษิตสมณคุณ เจ้าอาวาสวัดแม่ห่าง ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

เรื่องของเครื่องปั้น เครื่องเคลือบเวียงกาหลง หากเราย้อนอดีตไปหาความเป็นรากเหง้าของคนเวียงกาหลง ของดีทั้งหลายที่หลายคนสะท้อนในวงก่อนหน้านี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคำที่เราสะท้อนออกมา ทำให้เห็นว่าคนเวียงกาหลงเป็นคนที่มีคุณภาพ สามารถที่จะสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรม เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ได้ ซึ่งในอดีตสิ่งเหล่านี้สามารถใช้เลี้ยงชีพคนในอดีตได้ นี่คือคุณภาพและคุณค่าของเวียงกาหลง

หลังจากที่เราได้เรียนรู้ผ่านวันเวลา รวมถึงงานวิจัยของศูนย์ศิลปะชีพบางไทรเมื่อปีที่ผ่านมา 7 หัตถกรรมชั้นครูที่กำลังจะสูญหายไปในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือเครื่องเคลือบเวียงกาหลง

แล้วเราคนเวียงกาหลงทั้งหลายรู้หรือไม่และกำลังทำอะไรกันอยู่ เหลือเพียงครอบครัวเดียวคือ สล่าทัน ที่ยังคงทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางพระอาจารย์ต้องกลับมาศึกษาและต่อยอดให้เกิดผล โดยเริ่มจากโรงเรียนวัดหนองบัววิทยา ให้เณร ที่บวชเรียน ชวนสล่าพ่อครูที่ยังหลงเหลืออยู่มีส่งเสริมการเรียนรู้ ในเยาวชนเรียนรู้และพัฒนารูปแบบกระบวนการให้เกิดชิ้นงานขึ้นมา จึงศึกษาการปั้นและการเขียนลายเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากคำบอกเล่าของผู้รู้ในชุมชนรวบรวมออกมาเป็นเอกสาร และพัฒนาเป็นหลักสูตร เพราะที่ผ่านมาเราไม่มีหลักสูตรเป็นของตนเอง ซึ่งหลักสูตรท้องถิ่นกระทรวงศึกษาเปิดโอกาสให้สถานศึกษา ทุกพื้นที่สามารถสร้างหลักสูตรตนเองขึ้นมาได้ เมื่อเราพัฒนาสามเณรได้แล้ว เราจึงคิดถึงการต่อยอดและถ่ายถอดองค์ความรู้นี้ออกไป คุณครู พ่อครู แม่ครู ในชุมชน กำลังแรงส่งไม่มีเพียงพอ จากเดิมศิลปะเหล่านี้ถูกนำไปจากวัดสู่ชุมชน แต่เราย้อนแนวคิดเหล่านี้ทำวัดให้เป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้เครื่องเคลือบเวียงกาหลง ในวัดแม่ห่าง พื้นที่ศูนย์กลางหมู่บ้านและชุมชน และการรวบรวมองค์ความรู้ตรงนี้เราได้รับจากทั้งชุมชน ผู้นำชุมชน มาพัฒนาคนเองและเณร ถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนผู้ที่สนใจทั้งภายนอกและในชุมชน เราสามารถเป็นตัวหลักในการสร้างหลักสูตร ให้กับโรงเรียนอื่น ๆ หลาย ๆ โรงเรียนในพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้  วัตถุประสงค์คือ 1.อิ่มท้อง 2.อิ่มสมอง 3.อิ่มใจ

คุณครรชิต วงส์วรรณ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงกาหลง

ภาพที่ 2 ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องการการมีส่วนร่วม มองเป็นภาพฝันมากกว่าถึงการก้าวต่อไปของคนเวียงกาหลง ไม่ใช่แค่เฉพาะร่วมคิด แต่ร่วมใช้ด้วย เรื่องผลิตภัณฑ์ความโด่งดังไม่น่าเป็นห่วงแล้วในเรื่องเครื่องเคลือบ ในนามองค์กรส่วนท้องถิ่นที่อยากเห็นการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เพียงแค่คำสั่งจากภาครัฐ อยากให้ระเบิดจากข้างในให้ชุมชนเริ่มคิดและส่งแผนเสนอขึ้นมา เพราะทุกครั้งที่เราลงไปฟังแผนของหลาย ๆ ชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานถนนหนทาง

ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือการมีส่วนร่วม อย่างปัจจุบันยกตัวอย่างเครื่องเคลือบ เทศบาลไม่ได้มองเพียงแค่เครื่องเคลือบอยากให้คนเวียงกาหลงรับรู้เรื่องราวของคนเวียงกาหลงทั้งหมด เครื่องเคลือบลายเวียงกาหลง หรือเรื่องราวท้องถิ่น สามารถไปอยู่บนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ ไปอยู่ในถุงผ้า ร่วม เสื้อพื้นเมือง พยายามที่จะหนุนเสริม ในการดำเนินการเทศบาลพร้อมที่จะเรียนรู้ ตามรอย สืบสาน ซึ่งจะอยู่ในแผนทั้งหมด เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนทุกคนในเวียงกาหลงทั้งหมดไม่ได้แค่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสร้างแผนตำบลกำหนดทิศทางในแต่ละปี

ดร.ปิยะพงษ์ สุปัญโญ นักวิชาการ ม.พะเยา

            แม้จะทำงานอยู่พะเยาแต่เป็นคนเชียงราย ที่มองเห็นโอกาสที่เวียงกาหลงสามารถไปต่อได้ จนเองการทำงานผ่านกลไกของมหาวิทยาลัยทำงานมาในรูปแบบของงานวิจัย บริการวิชาการ ตนมีโอกาสได้ทำเรื่องของธุรกิจ business matching ต่าง ๆ ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจสร้างสรรค์ จึงมองเห็นทางและโอกาสให้เวียงกาหลงไปสู่ระดับโลกได้ มองไปจนถึง Next step

เรามีเยาวชนหลาย ๆ เข้ามาร่วมวงและหลาย ๆ คนพูดถึงเรื่องผู้ประกอบการท้องถิ่น พร้อมทั้งมีนโยบายจากนายกเทศมนตรี สิ่งเหล่านี้นำมาพูดกันและรวมกัน สามารถให้เวียงกาหลงไปสู่ตลาดภายนอกได้นำเรื่องของการตลาดมาจับ อีกประเด็นคือเราไม่ได้มองเรื่องเครื่องเคลือบเพียงอย่างเดียวแต่มองถึงเรื่องการท่องเที่ยว ที่จะสามารถมูลค่าให้กับเวียงกาหลงได้ เราจะสังเกตว่านักท่องเที่ยวเดินทางไปจังหวัดเชียงรายผ่านไปมา กว่าหลักแสนคน เราจะทำอย่างไรให้เวียงกาหลงมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้มหาศาล จะทำอย่างไรให้ให้จุดนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ ให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเรียนรู้ได้ เพราะเราเห็นศักยภาพชุมชน ท้องถิ่นที่พร้อม และอีกเรื่องที่มองคือเรื่องการสร้างเครือข่ายภายนอก เราเห็นแล้วในวงคือความร่วมมือจากชุมชน วัด ท้องถิ่น ตนเชื่อว่าในจังหวัดเชียงรายมีหลายองค์กรที่พร้อมเข้ามาสนับสนุน เช่น มหาวิทยาลัย เอกชนหอการค้า ผ่านกลไกของระดับจังหวัดเพื่อไปยังระดับประเทศ เพื่อให้มีเม็ดเงินต่าง ๆ เข้ามาหมุนเวียนกับชุมชนโดยใช้กระบวนการเหล่านี้

ยังมีบทสนาทนาอีกมากมาย รับชมย้อนหลังผ่านทางไลฟ์ Facebook

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ทีมงานรายการฟังเสียงประเทศไทย ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงด้วยข้อมูลที่รอบด้าน ซึ่งเสียงของพี่น้องเวียงกาหลงในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมร่วมกันผลักดันก้าวต่อไปของพื้นที่ และทำให้ต้นทุนชุมชนอย่างงานหัตถศิลป์ เครื่องเคลือบเวียงกาหลง ถูกส่งต่ออย่างเป็นระบบไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงกับต้นทุนอื่น ๆ ในการสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อให้คนรุ่นใหม่กลับมาเห็นต้นทุนของพื้นที่ และต่อยอดให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

คุณผู้อ่านสามารถติดตาม รายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus กดลิงก์ หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวกับแฟนเพจTheNorth องศาเหนือ

เพราะทุกการเดินทางและการฟังกันและกัน เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ