วันสตรีสากล: ผู้หญิงในความรุนแรงกับสันติภาพที่กินได้

วันสตรีสากล: ผู้หญิงในความรุนแรงกับสันติภาพที่กินได้

20160703153756.jpg

ฐิตินบ โกมลนิมิ

เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟซบุ๊ก Thitinob Komalnimi

ในรอบหลายปีของการเปลี่ยนผ่านการเมืองทำให้ผู้หญิงชายขอบในหลายพื้นที่ต้องต่อสู้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักหน่วง แต่ก็ยังอยากเชื่อมบรรยากาศวันสตรีสากล ปี 2016 กลับไปที่ผู้หญิงภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่ใช้อาวุธกันถึงตายที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าจะมีผลักดันให้การพูดคุยสันติภาพเดินหน้าต่อ ทว่าในช่วงของการหยุดชะงัก หรือการต่อรองทางการเมืองของคู่ขัดแย้งหลัก ผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่เหยื่อลูกหลงในเหตุระเบิดพื้นที่สาธารณะ หลายครั้งเธอกลายเป็นเป้าการทำร้าย ยิงแล้วเผาก็มี มิพักต้องกล่าวถึงการแบกรับภาระต่างๆ ในครอบครัวทุกมิติหากสูญเสียผู้นำหรือสมาชิกในครัวต้องกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบคดีความมั่นคงด้วย

ภายใต้กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปัตตานี ในปี 2558 ผู้หญิง/เครือข่ายผู้หญิงต่างๆ 23 องค์กรก้าวหน้าในการวมตัวกันเป็น “ขบวนการผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้” ที่ขับเคลื่อนผ่าน ‘คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้’ (Woman Agenda for Peace -PAW) 

จุดเด่นของขบวนผู้หญิง/คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้นี้ คือการทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยไม่เลือกชาติพันธุ์ งานเยียวยาคืองานที่ ‘ไม่เลือกฝ่าย’ หลังการริเริ่มพูดคุยสันติภาพ ปี 2556 มีการขยับข้อเรียกร้องยุติความรุนแรง ละเว้นเป้าอ่อน: เด็ก สตรี นักบวช ผู้สูงอายุ (ซึ่งเป็นสันติภาพเชิงลบ) มาสู่สันติภาพเชิงบวกมากขึ้น คือเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งที่ใช้อาวุธได้ตระหนักถึงวงจรความรุนแรง เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการตายในเหตุสะเทือนขวัญ พวกเธอให้ความสำคัญในการรณรงค์ให้เกิด ‘พื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย’ อย่างมีส่วนร่วมและต่อเนื่อง

ปีนี้ในวันงานสื่อสันติภาพชายแดนใต้ พวกเธอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำให้สันติภาพ “กินได้” หมายความว่าจับต้องได้ ยึดโยงกับประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับสันติภาพ และเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชน โดยใส่ใจช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ยากที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง คุณภาพชีวิต ปัญหายาเสพติด ปัญหาการจัดการทรัพยากร นอกจากนั้นต้องไม่ปล่อยให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่หวาดระแวง ตีตรา และปฏิบัติต่อผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่งคงเหมือนพวกเขาเป็นโจรผู้ร้ายหรือเป็นผู้ต้องสงสัยไม่จบไม่สิ้น 

ที่สำคัญขอให้กองกำลังติดอาวุธทุกกลุ่ม ไม่ไปซ้ำเติม ก่อเหตุรุนแรงที่ทำให้ผู้หญิงและชาวบ้านซึ่งไม่ใช่คู่สู้รบ ขาดพื้นที่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตและทำมาหากิน ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสภาวะแวดล้อมที่ทุกๆ ฝ่าย ต้องช่วยกันดูแลรักษาและทะนุถนอม เพื่อไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนซ้ำซ้อน และช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีต่อกระบวนการสันติภาพ 

เจตจำนงของ ‘คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้’ ต้องการเป็น ‘พื้นที่กลางสร้างสันติภาพ’ ที่สามารถเชื่อมโยงสะท้อนเสียง ออกแบบปฏิบัติการต่างๆ ของผู้หญิงในระดับหมู่บ้าน ชุมชน (Track 3) ให้ผู้กุมทิศทางการแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งรุนแรงทั้งฝ่าย A คือรัฐไทย ฝ่าย B – ‘มาราปาตานี’ องค์กรร่มของขบวนการเห็นต่างจากรัฐ (Track 1) ได้ยิน ขณะเดียวกันพร้อมทำงานกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพในอนาคต 

ปีนี้พวกเธอคืบหน้าไปอีก โดยจะจัดขบวนทั้งภายในเครือข่าย/ขบวนและสร้าง “แกนนำ” ไปรับฟังเสียงความคิดเห็นจากชุมชนและกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลาย เพื่อหาแนวทางการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยและกระบวนการสันติภาพ จากนั้นจัดทำเป็นข้อเสนอต่อสาธารณะและคู่ขัดแย้งที่เกี่ยวข้อง

สรุปให้ง่าย มากกว่าการรณรณรงค์ให้เกิด ‘พื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย’ ขบวนผู้หญิงฯ จะสร้างปฏิบัติการทางสังคมเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ให้เสียงของผู้หญิงเข้มข้นแข็งแรงต่อรองทางการเมืองกับผู้ใช้ความรุนแรงได้มากขึ้น จึงต้องคอยติดตามปฏิบัติการเหล่านั้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ