ลุ่มน้ำแม่แจ่ม : แอ่งอารยธรรมภาคเหนือตอนบน

ลุ่มน้ำแม่แจ่ม : แอ่งอารยธรรมภาคเหนือตอนบน

20143108174738.jpg

น้ำแม่แจ่มหรือชื่อเดิมแม่น้ำสลักหินบริเวณออบหลวง  หากข้ามสะพานเหนือออบหลวงเดินไปทางด้านซ้ายมือคือดินแดนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของภาคเหนือตอนบน

ระหว่างที่ข้าพเจ้าเดินทางกลับมาจากการเยี่ยมพี่น้องปกาเกอญอที่แม่ซา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งกำลังต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ผมได้มีโอกาสนำนิสิต CD เข้าไปศึกษาแหล่งโบราณคดีที่ออบหลวง  ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของลำน้ำแม่แจ่มทางตอนล่างของลุ่มน้ำ

ที่นี่มีหน้าผาชื่อผาช้างที่นักโบราณคดีชาวไทยและฝรั่งเศส คือ นายสายันห์ ไพรชาญจิตน์  ดร.มารีแอล ซังโตรนิ  และ ดร.จอง ปิแอร์ ปอโทร ระบุว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัย ที่พักแรม  และสถานที่ประกิบพิธีกรรมของมนุษย์สมัยหินกลางเมื่อประมาณ 28,000 ปีมาแล้ว  และมีการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องมาถึงสมัยโลหะตอนปลายและสมัยประวัติศาสตร์

การสำรวจของนักโบราณคดียังพบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยหินกลางในสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์  มีเครื่องมือหินกระเทาะ และกระดูกสัตว์ที่มนุษย์จับมากินและทิ้งไว้จำนวนมากและได้ทำการกำหนดอายุด้วยวิธี Tandetron พบว่ามีอายุ 28,000 ปีมาแล้ว  ที่นี่จึงเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยหินกลางที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือตอนบน

ที่ผาช้างยังมีภาพเขียนสีสีแดงแกมดำเข้มและสีขาวที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพที่วาดโดยมนุษย์สมัยหินใหม่และสมัยโลหะได้เข้ามาประกอบพิธีกรรมในบริเวณนี้เมื่อราว 2,500-3,000 ปีมาแล้ว

ห่างลงมาระหว่างผาช้างกับออบหลวง นักโบราณคดีชาวไทยและฝรั่งเศส ขุดค้นพบหลุมฝังศพและโครงกระดูกของมนุษย์สมัยโลหะตอนปลาย (สำริด) ทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของภาคเหนือ

ขณะที่ชาวบ้านที่บ้านแม่ซาได้บอกกับข้าพเจ้าว่า บริเวณภูเขาสูงทางตอนกลางของลุ่มน้ำ มีซากโบราณสถานหลายแห่ง และคาดว่าเคยมีคนกลุ่มชาติพันธุ์ลั๊วเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ซากโบราณสถานเหล่านี้ได้ถูกทำลายไปจำนวนมากจากการเข้ามาขุดค้นของนักล่าสมบัติ  และปัจจุบันก็ไม่ได้มีการสำรวจอย่างจริงจัง

หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ข้างต้นนี้  แสดงให้เห็นว่าลุ่มน้ำแม่แจ่มคืออู่อารยธรรมที่สำคัญของภาคเหนือตอนบน  และข้าพเจ้ายังเห็นอีกว่าแหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของลุ่มน้ำแม่แจ่มยังอาจเชื่อมโยงกับลุ่มน้ำปิงโดยเฉพาะบริเวณที่น้ำแม่แจ่มไหลลงไป  ซึ่งบริเวณนี้ถูกทำลายไปแล้วจากการจมอยู่ใต้น้ำของเขื่อนภูมิพล

ในปัจจุบัน  กรมชลประทานกำลังผลักดันเขื่อนแม่แจ่ม  ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนบนของบริเวณนี้  แม้ว่าจะไม่ทำให้ถูกน้ำท่วมเพราะอยู่ใต้เขื่อน  แต่การสร้างเขื่อนก็จะทำลายลักษณะทางกายภาพของลุ่มน้ำแม่แจ่มที่ถือว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของมนุษยชาติ  

แทนที่จะทำลายลุ่มน้ำด้วยโครงการเขื่อนขนาดใหญ่  ข้าพเจ้าคิดว่าเราควรปกป้องรักษาและมีการศึกษาทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ทั้งด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์สังคมในแอ่งแม่แจ่มอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์สำหรับคนรุ่นต่อไป  

20143108173638.jpg

20143108173931.jpg

ภาพเขียนสีบริเวณผาช้างที่สันนิษฐานว่าเกิดจากการประกอบพิธีกรรมของมนุษย์สมัยประวัติศาสตร์ 2,500-3,000 ปี

20143108174004.jpg

หลุมศพที่พบโครงกระดูกมนุษย์สมัยโลหะตอนปลาย (สำริด)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ