ลำดับเหตุการณ์ ชาวบ้านโคกยาว จ.เพชรบูรณ์ แผนแม่บทป่าไม้ฯ ประกาศแนวเขตทับพื้นที่ทำกิน

ลำดับเหตุการณ์ ชาวบ้านโคกยาว จ.เพชรบูรณ์ แผนแม่บทป่าไม้ฯ ประกาศแนวเขตทับพื้นที่ทำกิน

             ภายหลังจากที่ได้มีการดำเนินนโยบายทวงผืนป่า 40 ของพื้นที่ประเทศ ภายในระยะเวลา 10 ปี และการประกาศใช้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 นำไปสู่การใช้แผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่จัดทำขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังจากที่มีการประกาศคำสั่งดังกล่าว ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งนายทุนบางส่วนที่ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบและยังมีผู้ประสบความเดือดร้อนที่เป็นชาวบ้านทำไร ทำสวนในเขตพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมซึ่งรัฐเคยมีการอนุญาติให้ทำกิน แต่หลังจากประกาศคำสั่งดังกล่าวทำให้มีการขอคืนพื้นที่ป่าให้ตรงตามเป้าหมายของแผนแม่บทป่าไม้ฯ ทำให้ชาวบ้านและเกษตรกรที่ทำกินในพื้นที่ป่าได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากตามมา

             สำหรับอีกหนึ่งกรณีที่ได้รับผลจากคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 /2557 คือพื้นที่บ้านโคกยาว ตำบลน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่บางส่วนมีปัญหาทับซ้อนกับอุทยาน ทั้งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน

             โดยลำดับหตุการณ์ของกรณีบ้านโคกยาวเริ่มจาก ช่วงปลายเดือนเมษายนเรื่อยมาถึงเดือนพฤษภาคม 57 เจ้าหน้าที่อุทยานภูผาม่านได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านในพื้นที่รื้อสิ่งปลูกสร้าง มีการติดประกาศห้ามเครื่องกลหนักเข้าพื้นที่ของอุทยานฯ และให้ลงชื่อในเอกสารยินยอมออกจากพื้นที่

             

             กระทั่งวันที่ 24 มิ.ย.57 มีการเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินโดยพันโทเทพจิต วีณะคุปต์ เจ้าหน้าที่สอบสวนอาวุโส สำนักตรวจสอบจริยธรรมและกิจการพิเศษ นายชัยยุทธ์ คุณชมพู ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากร สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช นายพิชญะ ยั่งยืน ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) นาย ศุภชัย คชประสิทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สบถ.อ. (ขอนแก่น) ซึ่งได้มีการประชุมที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติภูผาม่านในวันที่ 8 ก.ค. 57 และมีมติร่วมกันทั้งหมด 4 ข้อ คือ 1. การพิสูจน์สิทธิ์ต่อ กอปร. 2.ผู้ร่วมประชุมยอมรับคำสั่ง คสช. ที่ 66 จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง 3.ให้รื้อฟื้นโครงการการมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน ในการบริหารจัดการอุทยานฯภูผาม่าน  4. ผ่อนผันให้ราษฏรทำกินในพื้นที่เดิมก่อน แต่ห้ามมิให้นำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่

                หลังจากนั้นยังมีการสั่งห้ามจากเจ้าหน้าที่อุทยานไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งถือว่าเป็นการขัดต่อข้อตกลงที่ได้ทำเอาไว้ รวมไปมีการข่มขู่ให้ชาวบ้านตัดต้นยางพาราในพื้นที่ทำกินของตน และข่มขู่ว่าหรือจะให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้ามาตัดเอง จนถึงปัจจุบันชาวบ้านยังคงไม่ตัดต้นยางพารา แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปทำไร่หรือเก็บผลผลิตทางการเกษตรได้เช่นกัน หลังจากนั้นในวันที่ 9 ก.ย. 57 เจ้าหน้าที่อุทยานภูผาม่านได้นำป้ายคำสั่งห้ามเข้าเขตอุทยาน ภูผาม่านรวมไปถึงห้ามใช้เครื่องกลหนัก ห้ามใช้ยาฆ่าหญ้ามาติด

 

                     ชาวบ้านในพื้นที่บ้านโคกยาว เล่าให้ฟังระหว่างลงพื้นที่ว่า “พอมาติดประกาศแล้ว ราษฎรเลยเดือดร้อนก็เลยไปยื่นหนังสือที่อำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบลส่งนายก อบต.เข้าจังหวัดไปศูนย์ราชการจังหวัดก็ศาลากลางจังหวัด ไปที่ปลัด ปลัดต้องเข้าสู่ศูนย์ดำรงธรรม ไปยื่นที่ทหาร ต่อไปเป็นลำดับ ไม่นานก็มีผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ามาที่คอนสาร มาประชุม ราษฎรก็ได้มีโอกาสไปยื่นหนังสืออีกรอบ เพื่อให้ท่านลงมาช่วยเหลือประชาชน หาทางออกให้กับประชาชน หาแนวทางแก้ไขทำอย่างไร มาถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 57 ประชุมที่อุทยานภูผาม่านก็ได้ข้อตกลงให้มีที่ทำกิน ไปก่อน ผ่อนผันไปก่อน ก็อยู่พื้นที่ตรงนี้มาตลอด”

                   “แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจก็เลยเข้ากรุงเทพ ไปยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หมอนิรันดร์ ท่านก็ได้รับเรื่องอยากให้ท่านแก้ไขทางออกให้กับราษฎรให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ให้ปักแนวเขต ที่ของป่าก็ให้อยู่ต่อไป ที่ของประชาชนก็ให้อยู่ไป แต่ปัจจุบันที่ยังซ้อนทับกันอยู่ ไม่ให้ป่าต้องไปบุกรุกคน คนต้องไม่บุกรุกป่าอีก ไม่ต้องบุกรุกกันอีก ให้คนกับป่าอยู่ด้วยกัน ในเมื่อเป็นคนไทยแต่ไม่มีที่ทำกินบนผืนแผ่นดินไทยเป็นสาเหตุที่ไปยื่นกรรมการสิทธิฯ แนวเขตก็ไม่ชัดเจน เขาตกลงแนวเขตแต่ราษฎรไม่ได้รับรู้ ไม่รู้เรื่องด้วย คนตกลงแค่คนกลุ่มน้อย เพียงสองสามคน” 

 

               แม้ว่าล่าสุดชาวบ้านโคกยาวได้นำป้าย มีข้อความตามมติรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินไปติดคู่กับป้ายประกาศของอุทยานภูผาม่าน หรือแม้กระทั่งการจัดตั้งคณะกรรมการของชุมชนขึ้นมาเพื่อร่วมหาทางแก้ไขกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งมีการประชุมร่วมกันกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ การยื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมกับนายแพทย์ นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินภายในชุมชนกันเอง เช่น การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาที่ดินทำกินภายในหมู่บ้านเอง การทำข้อตกลงร่วมกันในการสร้างกฎกติการะเบียบในการใช้ป่าของชุมชนและที่ดินทำกิน และการสร้างแนวเขตแผนที่ทำมือที่ทำโดยชุมชนเอง

                 แต่แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวจะถูกแก้ไขได้ก็ต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากส่วนของภาครัฐและผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ฯ ให้เป็นไปตามคำสั่งคสช.ที่กล่าวไว้ว่าซึ่ง “การกระทำใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการขั้นตอนต่อไป” 

        

แผนที่ทำมือ ซึ่งชาวบ้านวาดลงใส่พื้นหลังไวนิลเพื่อเป็นการกำหนดจุดคร่าวๆ ของพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนมีการกำหนดจุดเขตพื้นที่ข้อพิพากษ์แนวเขตทำกิน

        

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ