รู้หรือไม่? ประชากรเพียงร้อยละ 10 ของประเทศนี้ ถือครองทรัพย์สินสูงถึงร้อยละ 85.7
รู้หรือไม่? ว่าในขณะเดียวกันนั้น ทรัพย์สินที่เหลืออีกเพียงร้อยละ 14.3 ต้องถูกแบ่งกระจายให้หยาดหยดลงสู่ประชากรอีกร้อยละ 90 ทั่วประเทศ
รู้หรือไม่? มีประเทศหนึ่งในโลกนี้ ที่ 1 ตระกูลใหญ่ ถือครองที่ดินกว่า 6 แสนไร่ทั่วประเทศ
และรู้หรือไม่? ในขณะเดียวกันนั้น คนอีกร้อยละ 76 หรือประมาณ 50 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ได้เลยแม้เพียงไร่เดียว
เป็นตัวเลขที่น่าตกใจและน่าหดหู่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ทำใจเสียเถิด คุณยังต้องอยู่กับมัน เพราะตัวเลขสถิติทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซ้ำร้าย ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนชัดเจนที่สุดในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง จนพาไทยขึ้นแท่นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก จากรายงานของ CS Global Wealth Report 2018 แซงหน้ารัสเซียและตุรกีไปอย่างขาดรอย
เมื่อประชากรร้อยละ 76 หรือประมาณ 50 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่มีโฉนดได้ พวกเขาจึงถูกผลักให้ต้องเข้าไปอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐรูปแบบต่างๆ แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด หนีเสือปะจระเข้ เพราะเมื่อเข้าไปแล้วก็กลับต้องถูกดำเนินคดี หรือต้องยอมรับว่าตนเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายของหน่วยงานเจ้าของที่ดินนั้นๆ อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็มีใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ส่วนกรมป่าไม้ ใช้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ เป็นต้น
ในขณะเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 สำนักข่าวมติชนรายงานว่า อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวโต้การแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยความว่า “ป่าไม้หาย” ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะตั้งแต่รัฐบาล คสช. ขึ้นมาบริหารประเทศ มีป่าไม้เพิ่มขึ้น 1 ล้านไร่ มาจากนโยบายทวงคืนผืนป่าถึง 760,000 ไร่
คำถามคือ จำนวนป่าไม้ที่ได้มาจากการทวงคืน 760,000 ไร่ มีการเปิดเผยข้อมูลจำแนกเป็นรายคดีหรือไม่ ว่าแท้ที่จริงผู้ที่ถูกทวงคืนนั้นเป็นนายทุนจริง หรือกลับเป็นชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินมาแต่เดิม และตัวเลขความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพย์สิน ทั้งริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในยุค คสช. นั้น มีนโยบายทวงคืนผืนป่านี้อยู่เบื้องหลังหรือไม่
ก่อนจะเป็นทวงคืนผืนป่า: แนวคิดกฎหมายอาณานิคม ไม้เพื่อการค้า สู่แนวคิดอนุรักษ์สุดโต่ง
หากจะมองกฎหมายและนโยบายป่าไม้ในปัจจุบันให้เห็นถึงโครงสร้าง สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เห็นว่า ควรมองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพราะแนวคิดเรื่องการรวมศูนย์อำนาจการจัดการป่าเริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น
“ฐานคิดแบบนี้เกิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นฐานคิดของกรมป่าไม้ มีฐานคิดมาจากกฎหมายอาณานิคมอังกฤษที่เราไปรับมาจากพม่า โครงสร้างและระบบการจัดการก็เอามาจากพม่าหมด ลองคิดดูว่า มีคนอังกฤษ 4 คนมาเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ในไทย วางรากฐานทั้งหมดไว้ ซึ่งตั้งแต่ตอนนั้นมันเป็นแบบนี้มาตลอด ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย วิธีคิดเหมือนเดิมหมด สืบทอดกันมาเหมือนเป็นมรดก” สุมิตรชัยเล่า
หากคิดว่า แนวคิดการจัดการป่าของกรมป่าไม้เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ สุมิตรชัยเห็นว่าอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะแนวคิดของกรมป่าไม้ในสมัยนั้น มองว่าไม้เป็นสินค้า ไม่ได้มองว่าจะเก็บไม้ไว้ในเชิงอนุรักษ์ เห็นได้จากการเปิดให้มีการทำสัมปทานป่าไม้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
“แนวคิดป่าไม้ของไทยไม่ใช่แนวคิดที่ต้องมีป่าไม้ไว้เพื่อการอนุรักษ์ พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับแรกเมื่อปี 2484 พูดถึงการทำไม้ พูดถึงการให้สัมปทานป่าไม้ กรมป่าไม้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้สัมปทานป่าไม้ ไม่ใช่ตั้งกรมป่าไม้มาเพื่ออนุรักษ์ป่า แล้วก็ให้สัมปทานยาวนานมาตลอด ตั้งแต่ตั้งกรมป่าไม้ปี 2439 จนกระทั่งหลังปี 2475 หลังคณะราษฎรปฏิวัติ ก็กลับมาให้สัมปทานป่าไม้อีกครั้งปี 2504 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์” ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นกล่าว
หลังจากนั้น เมื่อมีการเปิดเผยตัวเลขว่า การเปิดสัมปทานป่าไม้ทำให้พื้นที่ป่าในประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 27 เปอร์เซ็นต์ จึงเกิดเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ของภาคประชาชนจนสามารถปิดสัมปทานป่าไม้ได้ในปี 2532 เรื่อยมาจนถึงช่วงปี 2540 เกิดสมัชชาคนจน แนวคิดป่าชุมชนก็เกิดขึ้นในช่วงนั้น เพราะเกิดการเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชนครั้งใหญ่ โดยมีการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน มาจนถึงแนวคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เมื่อเป็นเช่นนี้ สุมิตรชัยจึงเห็นว่า กรมป่าไม้ไม่ควรอ้างสิทธิ์ว่าแนวคิดการอนุรักษ์ป่าเกิดมาจากตน เพราะแนวคิดนี้เกิดมาจากประชาชนที่ตระหนักถึงผลกระทบของการเปิดสัมปทานป่าไม้มากกว่า
“ฉะนั้นแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ป่ามันไม่ได้เกิดจากการที่รัฐคิดอยากจะทำ แต่เกิดจากการกดดันจากหลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและกระแสโลก คือไปรับปากในเวทีโลกแล้ว ว่าต้องมีป่า 40 เปอร์เซ็นต์มาตลอด แต่ตอนปี 2532 ป่าในไทยเหลือแค่ 27 เปอร์เซ็นต์ คือเป็นตัวเลขที่ตกต่ำที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีแล้ว” สุมิตรชัยแสดงความคิดเห็น
เมื่อปิดสัมปทานป่าไม้แล้ว กรมป่าไม้จำเป็นต้องเข้าสู่แนวคิดการอนุรักษ์ป่า เพราะไม่ได้มีหน้าที่ทำไม้เพื่อการค้าอีกต่อไป หากไม่ผันตัวเข้าสู่แนวคิดอนุรักษ์ กรมป่าไม้ก็ไม่จำเป็นต้องมีอยู่ แต่ปัญหาคือ แนวคิดการอนุรักษ์นั้นกลับเป็นแนวคิดที่มองไม่เห็นคนและชุมชนที่อยู่ในป่า ที่เรียกว่า “แนวคิดการอนุรักษ์แบบสุดโต่ง” จนเกิดเป็นปัญหาเรื่องการขับไล่คนออกจากป่าถึงทุกวันนี้
แผนแม่บทป่าไม้: กฎหมายแข็งกร้าว เผด็จการแข็งขัน
จากทัศนะของนักพัฒนาเอกชนจากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนืออย่าง สุริยันต์ ทองหนูเอียด มองว่า ในช่วงปี 2540 ที่เรื่อง “สิทธิชุมชน” เป็นกระแสในสังคมไทย เป็นช่วงเวลาที่แนวคิด “คนอยู่กับป่า” ได้รับการยอมรับมากที่สุด แต่หลังจากรัฐบาล คสช. ขึ้นมามีอำนาจ รัฐพยายามรวมศูนย์การจัดการทรัพยากรป่าไม้ยิ่งขึ้น
“แนวคิดของรัฐเรื่องการจัดการทรัพยากรป่ากลับไปเป็นแนวคิดที่รัฐรวมศูนย์การจัดการไว้ที่ส่วนกลางมากขึ้น เน้นการจัดการที่ใช้กฎระเบียบ ใช้กลไกราชการ และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นมากขึ้น ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 ทัศนะของรัฐมองว่า ป่าเป็นของรัฐ ประชาชนเป็นส่วนเกิน เพราะฉะนั้นการแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะในร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ นำไปสู่ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเหมือนนโยบายอพยพคนออกจากป่า ช่วงปี 2535-2537” สุริยันต์อธิบาย
หลังจากทำรัฐประหารและขึ้นมาเป็นรัฐบาลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาล คสช. ได้ออกประกาศและคำสั่งอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลว่าบ้านเมืองยังอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก หนึ่งในนั้นคือคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง “การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้” แต่ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้มากที่สุด คือผู้ที่อาศัยทำกินในป่ามาแต่เดิมซึ่งเป็นคนยากจน หลังจากถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากเข้า คสช. จึงกลับลำ ออกคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 มาแก้ไขคำสั่งที่ 64 หลังจากออกประกาศนั้นมาได้เพียง 3 วัน โดยเพิ่มเติมเนื้อหาว่า
“การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป”
สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นการพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่สถานการณ์เรื่องคนอยู่กับป่าเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น เกิดการหันหน้าเข้าพูดคุยกันมากขึ้น กลับกลายเป็นการผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลาง โดยผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนกลับเป็นชาวบ้านและผู้อยู่อาศัยเดิม ไม่ใช่นายทุนดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง
“แนวคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนขับเคลื่อนมา 10 กว่าปี ตั้งแต่อภิสิทธิ์ถึงยิ่งลักษณ์ ถ้ามองในเรื่องของการแก้ไขปัญหา มันนำไปสู่การหันหน้าเข้าหากัน มันมีบรรยากาศที่ดีขึ้น แต่พอ คสช. มา ออกคำสั่งสองตัวนี้มา ให้ทหารสนธิกำลังเข้าตรวจยึดพื้นที่ คราวนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้ที เหมือนเจอบุรุษขี่ม้าขาว เลยใช้ทหารเป็นเครื่องมือ” สุมิตรชัยกล่าว
เครื่องมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่ให้ใช้เกณฑ์ภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์สิทธิในการอยู่อาศัยและทำกิน หากมีร่องรอยการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ก่อนปี 2545 ก็สามารถอยู่ต่อไปได้ แต่หากพบว่าไม่มีร่องรอยก่อนปี 2545 พื้นที่ตรงนั้นจะถูกทวงคืน และชาวบ้านต้องย้ายออก ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นชี้ว่า มตินี้ไม่สามารถช่วยการไขปัญหาได้จริง และเรื่องความเป็นความตายชาวบ้านไม่ควรตัดสินเพียงภาพถ่ายทางอากาศ
“เราไม่เคยเห็นด้วยกับเกณฑ์นี้ เพราะมันไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน วิถีชีวิตของชาวบ้าน สภาพทางกายภาพ เรื่องไร่หมุนเวียน มันเอาแผนที่ทางอากาศมาเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายไม่ได้ มันต้องดูหลายอย่างในการดำเนินการ ดูวิถีชีวิตชาวบ้าน ดูความจำเป็น ดูสภาพความเป็นจริงว่ามันเป็นที่ทำกินเดิมของเขาที่ปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ เรื่องพวกนี้ถูกลบทิ้ง แล้วเอามตินี้กลับมา แล้วดูเหมือนว่าเขาไปทำข้อมูลมาเสร็จหมดแล้วก่อนที่จะออกแผนแม่บทป่าไม้” สุมิตรชัยย้ำ
แผนแม่บทป่าไม้ เกิดขึ้นภายหลังจากมีการประกาศใช้คำสั่ง คสช. ทั้งสองฉบับดังกล่าว เป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 128 ล้านไร่ภายใน 10 ปี ส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ต้องเพิ่มให้ได้อีก 25 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือ รัฐจะเอาพื้นที่ป่าเหล่านั้นมาจากไหน หากไม่ได้มาทวงคืนจากชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินแต่เดิมในเขตป่า
“แผนแม่บทป่าไม้มาพร้อมตัวเลขปฏิบัติการ ใช้วิธีการแบบทหาร คือแจกตัวเลขเลย โดยเฉพาะที่เป็นสวนยางพาราจะเหมาเลยว่าพวกนี้เป็นนายทุนหมด พอเจอก็ตัดฟันไปก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง ฟันเสร็จก็ติดป้ายยึด นี่คือสถานการณ์ที่เหมือนโดนข้าศึกโจมตี เหมือนนอนๆ อยู่ ตื่นเช้ามา พื้นที่โดนยึดไปแล้ว ตอนนั้นแค่ประมาณ 3-4 เดือน ตัวเลขคดีขึ้นมาประมาณ 400-500 คดี” ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นเล่าถึงเหตุการณ์ในขณะนั้น
ไร่ข้าวโพดแหลกลาญ ยางพาราราบเป็นหน้ากลอง ยุทธการทางทหารถูกนำมาใช้กับชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอ้างว่าชาวบ้านเป็นกลุ่มนายทุน หรือเป็นลูกจ้างนายทุน เมื่อถึงขีดสุด ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนได้รวมตัวกันขับเคลื่อนในพื้นที่ภาคเหนือ เกิดเป็นกิจกรรม “เดินก้าวแลก” เพื่อให้หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่าทันที จนได้เจรจากับ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น
ภาพหญิงสาวชาวลีซูผู้ถูกตัดฟันข้าวโพดร้องไห้ปานขาดใจยังติดตา เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้พบเห็นว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือชาวบ้านโดยแท้ ไม่มีทางเป็นนายทุนอย่างแน่นอน สายตาทั้งหมดจึงกลับมาจับจ้องที่ทหาร ผู้ที่ควรจะเป็นรั้วของชาติ แต่สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ กลับเป็นประชาชนผู้ไม่มีทางสู้ถูกกระทำ
“หลังจากนั้นเลยเปลี่ยนมาใช้วิธีการเข้าไปเจรจากับชาวบ้าน แล้วให้เซ็นเอกสารคืนพื้นที่ ออกมาเป็นแบบฟอร์มเลย บางที่มีการหลอกให้ชาวบ้านไปชี้ที่ อ้างว่า สำรวจไปเพื่อจะให้สิทธิ์ ชาวบ้านก็ไปยืนชี้ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่กลายเป็นว่าเอามาเป็นหลักฐานในการบีบบังคับให้เซ็นคืน ให้ยอมรับว่าอยู่หลังปี 2545 บางที่ก็ขู่ว่า ถ้าไม่เซ็นจะดำเนินคดีให้หมด คือเปลี่ยนวิธี จากการตัดฟันที่ให้ภาพรุนแรง กลายเป็นใช้เอกสารในการหลอกชาวบ้านแทน” สุมิตรชัยอธิบาย ย้ำว่านโยบายนี้ยังไม่หยุด และยังมีสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน
การจัดการร่วมไม่เกิด ความเหลื่อมล้ำไม่ลด
หากถามชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินมาแต่เดิมมีสิทธิในการทรัพยากรป่าไม้มากเพียงไหน คำตอบคือมากเพียงพอในฐานะความเป็นเจ้าของบ้าน ที่พร้อมดูแลจัดการให้เป็นระเบียบ ภายใต้เงื่อนไขว่าตนต้องสามารถใช้ประโยชน์จากบ้านของตนได้ด้วย
สุริยันต์ ทองหนูเอียด จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ มองว่า ชุมชนที่อยู่ในป่ามาแต่เดิมและสามารถยืนหยัดอยู่ทุกวันนี้ได้ เป็นเพราะชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งกับป่าไม้ สามารถจัดการทรัพยากรได้อย่างดีเยี่ยม
“ชุมชนมีลักษณะการดำรงอยู่ที่เขาใช้เรื่องการพึ่งพาธรรมชาติมายาวนาน เราจะเห็นว่าการจัดการป่าหรือว่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน คือชุมชนที่มีความสามารถในการดูแลป่าแล้ว ชุมชนที่ใหม่และเข้าไปบุกรุกก็จะไม่เหลืออยู่ เพราะว่าองค์ความรู้ รวมไปถึงการจัดการทรัพยากรที่ต่อยอดกันมามันไม่มี ก็จะเห็นได้ว่าบางพื้นที่ที่เข้าไปใหม่ก็จะไม่สามารถรักษาความยั่งยืนได้” สุริยันต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม การกระทำของภาครัฐที่ผ่านมา 4 ปีนี้ที่พยายามรวมศูนย์อำนาจการจัดการป่า ยังยืนยันจะทวงคืนผืนป่าต่อไป แล้วผลักให้คนที่อยู่กับป่ากลายเป็นผู้ไม่มีปากเสียง แม้จะเป็นเสียงแห่งการต่อสู้ในสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินดั้งเดิมก็ตามที เป็นปัจจัยที่ยิ่งทวีความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้สูงขึ้น
“ที่ผ่านมาคือ คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยไม่มีพื้นที่ทางการเมืองหรือนโยบาย กลุ่มนายทุนเป็นกลุ่มที่ทำผิดอย่างเห็นได้ชัด แต่กฎหมายเข้าไปไม่ถึง หรือกฎหมายไม่กล้าเข้าไปดำเนินการ เพราะว่าหลายเรื่องเรารู้ดีว่ามันเกี่ยวเนื่องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง เกี่ยวเนื่องกับทุนรายใหญ่” สุริยันต์ย้ำ
กฎหมายและนโยบายที่ออกมาจากคนไม่กี่คน แล้วมาบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ เป็นประเด็นหลักที่ชาวบ้านยังกังขา อิทธิพล วัฒนาศักดิ์ดำรง ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หมี ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เห็นว่า กระบวนการเช่นนี้ไม่เป็นทำ เพราะไม่ฟังเสียงของชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ และดูแลรักษาป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ
“ผมว่าการออกนโยบายต่างๆ ต้องเอาความเป็นจริงเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็กำหนดนโยบายออกมา แล้วก็เอาความคิดของคนนั้นคนนี้ที่ไม่ใช่ชาวบ้านมาเป็นนโยบายหรือแนวทาง ผมว่าต้องลงพื้นที่แล้วเอาความจริง หรือเอาคนในชุมชนที่จัดการทรัพยากรและอยู่กับป่าเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยออกมาเป็นนโยบายมากกว่า เพราะว่าตลอดมามันก็มีกฎหมายไม่รู้กี่ฉบับ ป่ามันก็ลดลง แล้วยังกระทบชุมชนอีก ถ้ามามองความจริงในบ้านเราจะเห็นว่า มันไม่ต้องทวงคืนเลย” อิทธิพลกล่าว
โครงสร้างกฎหมายป่าไม้ แก้ยาก แต่แก้ได้
ด้วยโครงสร้างของกฎหมายป่าไม้ รวมทั้งแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ที่ไม่เห็นคนอยู่กับป่า เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในทัศนคติของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ด้านป่าไม้มายาวนาน ในมุมมองของนักกฎหมายอย่าง สุมิตรชัย หัตถสาร จึงมองว่า จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนครั้งใหญ่เหมือนการขับเคลื่อนของกลุ่มเอ็กต้า ปาริฉัตร (Ekta Parishad) ที่ต่อสู้เรื่องที่ดินป่าไม้ในอินเดีย
“ชนพื้นเมืองทั้งหมดในอินเดีย เป็นชายขอบของอินเดีย มารวมตัวกันเดินเท้า เคลื่อนไหวให้เกิดกฎหมายรับรองสิทธิกลุ่มชนเผ่าในการจัดการทรัพยากร เหมือนกันเลยกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) แต่เขารวมตัวกันได้ จัดตั้งกันอย่างเข้มข้น” สุมิตรชัยเล่า
จากคำอธิบายนี้ นำมาสู่แนวคิดที่ว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต้องรวมตัวกัน เพื่อกดดันรัฐบาลให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกฎหมาย
“คือผมมองว่าประเทศไทยต้องทำแบบนี้ การเจรจาอย่างเดียวไม่พอ มันเหนื่อย และมันเข้าสู่เกมการเมืองที่ซับซ้อน ชาวบ้านเราก็ไม่เท่าทัน มันต้องมีพลังอื่นภายนอกเข้ามากดดัน มันต้องกลับไปสู่แนวคิด การจัดการร่วมที่ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน มองเป้าหมายข้างหน้าเป็นเป้าหมายเดียวกัน” ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นเสนอ
ด้าน สุริยันต์ ทองหนูเอียด จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า รัฐต้องเปลี่ยนแนวคิด หากพื้นที่ใดมีศักยภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เห็นเป็นรูปธรรม ก็ควรสนับสนุน ไม่ใช่ทวงคืนกลับมาเป็นของรัฐ
“เจ้าหน้าที่รัฐควรจะดูกฎหมายทั้งสองส่วน กฎหมายส่วนที่ปราบปรามก็ต้องทำกับนายทุน แต่ว่าส่วนที่ส่งเสริมก็ต้องให้ชาวบ้านได้รางวัลด้วย เพราะเราทราบแต่ว่า รัฐจะใช้แต่กฎหมายด้านที่เป็นลบ คือปราบปรามชุมชน ทำลายข้อตกลงหรือกระบวนการที่ชาวบ้านสร้างกันมามากกว่ากระบวนการส่งเสริม รัฐต้องยอมรับว่ารัฐจัดการที่ดินด้วยตัวเองด้านเดียวไม่พอ ป่าไม้มีตั้งกี่ไร่ จะรักษาไว้ด้วยเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นรัฐต้องร่วมมือกับชาวบ้าน” สุริยันต์กล่าว
เช่นเดียวกับชาวบ้านที่อยู่ในป่าอย่าง อิทธิพล วัฒนาศักดิ์ดำรง ที่มองว่าชาวบ้านที่ดูแลป่าต้องได้รับการสนับสนุน ไม่ใช่ถูกดำเนินคดี ถูกทวงคืนผืนป่า และโทษที่เพิ่มสูงขึ้นจะไม่สามารถผลักให้คนออกจากป่าได้ เพราะตนอยู่มาก่อนกฎหมาย
“แม้โทษจะหนักแค่ไหน แต่มันก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะที่เราอยู่มันเป็นวิถีชีวิต หรือเป็นที่ทำมาหากินของมนุษย์ที่อยู่มาแต่เดิม ต่อให้จะมีโทษเท่าไร ในเมื่อมันไม่มีอันจะกินแล้ว ไม่มีที่อยู่แล้ว มันจะทำอย่างไร มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่ แต่เราไม่ได้อยู่เฉยๆ เราอยู่แล้วเราดูแลรักษาด้วย” อิทธิพลย้ำ
รายงานจาก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนืิอ