“ภูเขาน่าน” คำที่ผู้เขียนค้นรูปใน google ทีแรกคิดว่าคงได้ภาพวิวสวยๆ ทะเลหมอก แต่แปลกใจ (ไม่มาก) ที่ได้ภาพ เขาหัวโล้น ที่พึ่งจะเผาตอซังข้าวโพด หากเทคโนโลยีปราศจากอคติ นี่คงเป็นที่สะท้อนภาพ “ภูเขาน่าน” ในมุมมองของโลกแห่งความจริง
จากงานบ่น “มองให้ไกลกว่าอุโมงค์ต้นไม้ จาก เขาหัวโล้น” (อ่านเพิ่มเติม) เกี่ยวกับการตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อขยายถนนเส้นทาง อ.เมืองน่าน-อ.ท่าวังผา ซึ่งเกิดกระแสต่อต้าน มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ที่ทั้งคนในและนอกพื้นที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมเป็นอย่างมาก เพราะถนนดังกล่าว มีหลายช่วงที่สองข้างทางปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ จนเป็นที่รู้จักในนามอุโมงค์ต้นไม้ เป็นเส้นทางประมาณ 10 กิโลเมตรที่มีเสน่ห์ ร่มรื่น และสวยงาม
กระแสคัดค้านดังกล่าว ทำให้อยากชวนขยับคิดต่อไปยัง “ภูเขาหัวโล้น หรือ ภูเขาน่าน” ที่เกลื่อนไปทั่วทั้งจังหวัด
ภูเขาน่าน กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ในยุคหนึ่ง ลักษณะการทำเกษตรในจังหวัดน่าน พื้นที่ราบมักเพาะปลูก ข้าว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง กะหล่ำ งา ยาสูบ และผักต่างๆ
ส่วนพื้นที่ดอนนั้น มี ส้ม ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง ข้าวโพด ฝ้าย เมี่ยง และพื้นที่สูง เป็นพื้นที่ปลูก ข้าวไร่ ข้าวโพด ฝ้าย พริก ถั่วเหลือง ถั่วเขียว
แต่ปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ พื้นที่ราบเหลือเพียง ข้าว ข้าวโพด ยาสูบ ที่ดอนนั้น สัดส่วนของข้าวโพด ยางพารา และ สัก เพิ่มขึ้น และที่น่าแปลกใจคือพื้นที่ลาดชันเดิมเคยมีป่าธรรมชาติปกคลุม ถูกเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด และ ยางพารา [1]
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบเกษตรกรรมจากในยุคหนึ่งที่ทำการผลิตเพื่อยังชีพ ไปสู่การผลิตเพื่อสนองตลาดระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือตัวเลือกหนึ่งที่เกษตรกรสนใจ เพราะมีความต้องการในตลาดโลก ราคารับซื้อที่สูงเป็นอีกแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดนี้ อีกทั้งภาครัฐยังสนับสนุนในการปล่อยเงินกู้และจำหน่ายปัจจัยการผลิต มีทีมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ให้ข้อมูล การโฆษณาทดลองเพาะปลูก เงินกู้นอกระบบที่ผู้ปล่อยกู้เองกลายเป็นพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อผลผลิต เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปทั่วทั้งจังหวัดน่าน และขยายเนื้อที่เพาะปลูกขึ้นทุกปี แม้ว่าบางพื้นที่ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกก็ตามที
นโยบายจากภาครัฐเป็นแรงจูงใจหลักที่สำคัญ โดยที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาโดยตลอด ทั้งการประกันราคา และ จำนำข้าวโพด แต่กลับไม่มีการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิต ทำให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยต่อไรเป็นรองประเทศอื่นๆที่ผลิตข้าวโพดเป็นหลัก อาทิ ในปี 2557 สหรัฐอเมริกา ผลผลิตเฉลี่ย 1595.20 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนไทย ผลผลิตเฉลี่ย 671 กิโลกรัม/ไร่ แสดงให้เห็นถึงการขาดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างจริงจัง เกษตรกรต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า เพื่อเพิ่มผลผลิต นำมาสู่ความเสื่อมโทรมของหน้าดิน ปัญหาหนี้สินและความยากจน (เขมรัฐ, สิทธิเดช, 2555) [2] แม้ว่าราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มสูงขึ้น จากปี 2553 อยู่ที่ราคา 5.43 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นมาเป็น 7.01 บาท/กิโลกรัม ในปี 2557 ก็ตามที
จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร[3] เนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ปี 2555/56 มี 7.529 ล้านไร่ เพิ่มจาก 7.401 ล้านไร่ในปี 2554/55 โดย จังหวัดน่านมีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อปี 2555/56 มี 787,254 ไร่ [คิดเป็น ร้อยละ 10.45 ของเนื้อที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ] โดยขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจาก จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีเนื้อที่เพาะปลูกกว่า1ล้านไร่ ย้อนกลับไปปี 2549 จังหวัดน่านมีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพด 151,654 ไร่ ผ่านไป 7 ปี เพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว
ในปี 2556 ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งประเทศ มี 4.95 ล้านตัน จังหวัดน่าน มีผลผลิต 465,583 ตัน จากความต้องการใช้ในประเทศ 4.67 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีมากขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ [4]
เกษตรกรส่วนใหญ่กว่า 80% เลือกใช้ปัจจัยการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จากเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ถือครองตลาดอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากกลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้ความใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐ เช่น ธกส. และ สหกรณ์การเกษตรในท้องถิ่นต่างๆ ทำให้เกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ยี่ห้ออื่นที่ต้องซื้อด้วยเงินสด โดยเมื่อเกษตรกรกู้เงินจาก ธกส. หรือ สหกรณ์การเกษตรในท้องถิ่น ก็มักจะได้รับการเสนอแนะให้ใช้เมล็ดพันธุ์ หรือปัจจัยการผลิตอื่นๆของบริษัทเดียวกันไปด้วย แม้จะมีราคาสูงกว่าเมล็ดพันธุ์บริษัทอื่นๆก็ตามที
กลยุทธ์ทางการตลาด โฆษณาชวนเชื่อ การหาซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ง่าย เป็นผลทำให้ ข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง ถูกกลืนหายไปและถูกแทนที่ด้วยเมล็ดพันธุ์ของบรรษัท
เกษตรกรรายหนึ่ง ใน อ.สันติสุข จ.น่าน สะท้อนว่า “สมัยก่อนชาวบ้านปลูกข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถเก็บไว้ปลูกในฤดูต่อไปได้ ต่อมาษริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรเข้ามากว้านซื้อเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จนหมด และนำพันธุ์ข้าวโพดใหม่เข้ามาส่งเสริมด้วยการโฆษณาว่าให้ผลผลิตสูงและมีน้ำหนักดีกว่า เมื่อชาวบ้านลองปลูกจึงพบว่าข้าวโพดพันธุ์ดังกล่าวเป็นหมัน ทำให้ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกปี” (กลุ่มติดตามบทบาทบรรษัท, 2552)
กินไก่ = กินข้าวโพด?
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตอาหารสัตว์กว่า 50% ของอาหารไก่ในระบบอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ คือข้าวโพดเหล่านี้ คาดการณ์ว่าในปี 2558 ประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 7.59 ล้านตัน ในการผลิตอาหารสัตว์ [5]
ความต้องการในการบริโภค เนื้อสัตว์ อาทิ ไก่เนื้อ พบว่า ปี 2553-2557 ผลผลิตเนื้อไก่ของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.58 และอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.13 โดยในปี 2557 มีการผลิตไก่เนื้อ 1,209 ล้านตัว หรือ 1.658 ล้านตัน บริโภค 1.088 ล้านตัน [6]
การผลิตไก่เนื้อเหล่านี้ เกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้การดำเนินของบริษัทอาหารขนาดใหญ่ 12 บริษัท ซึ่งมีสัดส่วนของปริมาณการผลิตรวมกันมากกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ อีกทั้งยังควบคุมการผลิตครบทั้งวงจร เป็นสายพานการผลิตที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยง เกี่ยวข้องกันไปมา [7]
มองให้ไกลได้แค่ไหนบ้าง?
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้สีเขียวๆมีแต่ต้นข้าวโพดแห้งๆ แลดูไม่สบายตาสบายใจ สำหรับผู้ผ่านไปมา การใช้พื้นที่ทำการเกษตรเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น ทำให้มักใช้ทั้ง ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ย่าฆ่าหญ้า เมื่อใช้ในปริมาณที่มากเกินเกณฑ์มาตรก็ย่อมตกค้างลงดินและชะลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ เนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเกินครึ่งเคยเป็นป่ามาก่อน การที่พื้นที่ป่าหายไปนั้น ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ด้วยความที่เป็นต้นน้ำ เมื่อภูเขาไม่มีต้นไม้ก็ไม่สามารถชะลอน้ำ กักเก็บความชุ่มชื้นได้ ทุกวันนี้แม่น้ำน่านกลายเป็นสีน้ำตาลส้มเกือบทั่วทั้งปี ปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน น้ำป่าไหลหลาก เกิดขึ้นประจำทุกปีในหลายพื้นที่ แต่กลับเหือดแห้งในฤดูร้อน ยิ่งหน้าร้อนแบบนี้ ใกล้ถึงฤดูเพาะปลูกรอบใหม่ หลายพื้นที่กำลังเตรียมแปลง ปรับหน้าดิน ด้วยการเผา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาหมอกควัน และฝุ่น ในภาคเหนือ ถามว่าเกษตรสามารถเตรียมพื้นที่ด้วยวิธีอื่นได้ไหม คำตอบคือ ทำได้ แต่ว่ายุ่งยากและมีค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าการเผาไร่เป็นการเพิ่มแร่ธาตุลงในดิน
ปัญหาเขาหัวโล้น การบุกรุกป่า ถูกพูดถึงมานาน แต่แคะแกะเกาไม่ถูกจุดสักที ชาวบ้านเกษตรกร มักถูกมองในแง่ลบจากคนนอกพื้นที่อยู่แล้ว ว่า ตัดไม้ทำลายป่า ไม่อนุรักษ์ เห็นแก่ตัว เห็นแก่เงินและสิ่งมอมเมา ส่วนภาครัฐที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเชื่อคำโฆษณา ว่าข้าวโพดเป็นพืชมหัศจรรย์ที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ห่างไกลได้ และเป็นผู้ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเหล่านี้เอง นอกจากยังไม่ช่วยขจัดปัญหาความยากจนแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ท้ายที่สุด เมื่อเกิดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์พื้นที่ รัฐมักลงเอยด้วยการใช้วิธีการเดิมๆในการจัดการปัญหา ไล่คนออกจากพื้นที่ บ้างก็จับกุม ยึด เวนคืนแต่สุดท้ายที่ดินเหล่านั้นก็ตกไปอยู่กับนายทุนคนใหม่
วิถีชีวิตล้วนแล้วแต่มีการเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมไม่หยุดนิ่ง บางครั้งบางทีเราต้องมองให้กว้าง ไม่ใช่แค่ใช้ตาแต่บางทีต้องใช้ใจรับฟังด้วย เพื่อที่จะหาทางออกร่วมกัน
จากลูกเจี๊ยบสู่เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด
จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
จากภูเขาดงดอย ถึง ที่ราบลุ่ม
จากทรัพยากรดินน้ำป่า กลายเป็น อาหารให้คนกิน
ตลอดทั้งกระบวนการต้นจนจบ ใคร? ได้รับผลประโยชน์ อุตสาหกรรมอาหารถูกผูกขาดโดยเครือข่ายบริษัทยักษ์ใหญ่ แปลว่า ปากท้องเราถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องรับประทานอะไร แม้ว่าเราจะบอกว่า การกินเราตัดสินใจเอง แต่ลองพิจารณาให้ดี เรามีตัวเลือกแค่ไหนกัน
อีกทั้งยังปฏิเสธไม่ได้ว่าเรา กลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการทำลายล้างภูเขา ป่าต้นน้ำ หลายๆแห่ง ไม่ใช่เพียงแค่น่าน จึงไม่ถูกนักที่จะโยนความผิดให้การทำการเกษตรของชาวบ้านเพียงอย่างเดียว
“ถ้าไม่มีคนขึ้นมาส่งของ ไม่มีคนให้ปุ๋ยให้ยา ไม่นำเครื่องจักรมา ถ้าไม่มีทุนเหล่านี้ ชาวบ้านก็ไม่มีปัญญาไถ่เขาเป็นลูกๆหรอก” ใครสักคนกล่าวไว้ บังเอิญได้ยินมา
ถึงจุดหนึ่งผู้บริโภค ต้องรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองบริโภคส่งผลต่ออะไรบ้าง ต้องตรวจสอบย้อนหลังกลับไป สร้างแรงกดดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้หยุดหากิน หยุดผลาญทรัพยากรของส่วนรวมเสียที หยุดการทำ CSR สร้างภาพรักสิ่งแวดล้อมในขณะที่กำลังสนับสนุนการทำลายป่าต้นน้ำ และกดทับเกษตรกรให้กลายเป็นเพียงแรงงานในไร่ของตนเอง
อุโมงค์ต้นไม้เป็นการเริ่มต้นประเด็นอนุรักษ์ที่ดี ต้นไม้ทุกต้นย่อมเป็นพี่น้องกัน ระบบนิเวศถูกเชื่อมร้อยโยงทุกสรรพสิ่งเข้าหากัน มันคงแปลกดีถ้าสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้แต่ถัดออกไปเป็นสุสานร้างของต้นไม้และสายน้ำสีขุ่นแถมยังตื้นเขิน
ลองตั้งใจมองให้ไกลกว่าอุโมงค์ต้นไม้…
อ้างอิง
[1] ภาพอนาคตการเกษตร จังหวัดน่าน
https://www.dropbox.com/s/mghm4rhivrhxqsk/nan.pdf?dl=0
[2] ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลไกสู่ความเหลื่อมล้ำในระดับท้องถิ่น กรณีศึกษา: ห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ.เวียงสา จ.น่าน
http://www.econ.chula.ac.th/public/publication/project/Poli/Corn_animals_kamrat_sitid.pdf
[3] ข้อมูลเอกภาพ ปี 2557
http://www.oae.go.th/download/forecast/unityofcountry2557.pdf
[4] สถานการณ์และแนวโน้มสินค้าเกษตรที่สำคัญ
http://www.oae.go.th/download/document_tendency/journalofecon2558.pdf
http://www.thaifeedmill.com/Portals/0/ประชากรสัตว์/ประมาณการประชากรสัตว์ปี58%20(1).pdf
[6] สถานการณ์และแนวโน้มสินค้าเกษตรที่สำคัญ
http://www.oae.go.th/download/document_tendency/journalofecon2558.pdf
[7] อนาคตของไก่เนื้อไทยในอาเซียน (AEC)
http://tpso.moc.go.th/img/news/1386-img.pdf