ลงชื่อนับหมื่น! ตรวจสอบคอรัปชั่นที่กรมศุลกากรผ่าน Change.org

ลงชื่อนับหมื่น! ตรวจสอบคอรัปชั่นที่กรมศุลกากรผ่าน Change.org

ผู้ประกอบการสุดทน ลุกขึ้นรณรงค์ให้ “คสช.ตรวจคอรัปชั่นที่กรมศุลกากร” ประชาชนนับหมื่นลงชื่อสนับสนุน  เตรียมยื่นรายชื่อเร็วๆนี้

7 ก.ค.2557 –  ปัญหาการคอรัปชั่นที่กรมศุลกากร คือหนึ่งปัญหาที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานที่ต้องได้รับการแก้ไข  และได้กลายเป็นแคมเปญร้อนอยู่บน Change.org ในขณะนี้  

Change.org กล่าวถึงการรณรงค์ที่ถูกสร้างขึ้นโดย นางสาวสินัตตรา ประเสริฐสม  อดีตแอร์โฮสเตส ที่หันมาเป็นประกอบการนำเข้าวัสดุก่อสร้าง ได้รณรงค์เรื่องนี้ผ่าน www.change.org/customhouse

โดยนางสาวสินัตตรา กล่าวว่า  เหตุที่รณรงค์เรื่องนี้เพราะปัญหาการคอรัปชั่นในกรมศุลกากรเป็นที่รับรู้กันมานาน แต่ไม่มีใครเคยเข้าไปแก้ไข จึงอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำลังจัดระเบียบสังคมและปรับปรุงโครงสร้างของประเทศ เข้าไปตรวจสอบและแก้ปัญหาดังกล่าว  อย่าปล่อยให้การปัญหาคอรัปชั่นที่กรมศุลกากรเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมไทย เรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไข

นางสาวสินัตตรา กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ทำอาชีพนำเข้าวัสดุก่อสร้าง ได้เจอปัญหาการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะกับตัวเองและไม่สามารถปล่อยไว้ได้  โดยปัญหาที่พบจะมีลักษณะว่า เมื่อสินค้าส่งมาถึงแล้วเจ้าหน้าที่จะพยายามกักของไว้และอ้างข้อปฏิบัติต่างๆว่าทางผู้ประกอบการดำเนินการเอกสาร หรือเรื่องต่างๆตามระเบียบศุลกากรไม่ถูกต้อง เช่น อ้างว่าแจ้งพิกัดผิด ทั้งๆที่สินค้าชนิดนั้นๆได้มี่การนำเข้ามาอย่างถูกต้องและใช้พิกัดตามที่กำหนดมาเกือบสามปีแล้ว เจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าแจ้งผิด จะต้องแจ้งใหม่เปลี่ยนใหม่และเปลี่ยนย้อนหลังทั้งหมด ซึ่งทางบริษัทได้ตรวจสอบกลับไปที่ตัวแทน (บริษัทชิปปิ้ง) แล้วว่าการดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามปกติ ไม่เช่นนั้นนั้นทุกครั้งที่ผ่านมาสินค้าก็จะไม่สามารถผ่านออกมาได้ เนื่องจากทุกครั้งทางศุลกากรจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียด

แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็ได้เรียกร้องขอเงินใต้โต๊ะจำนวนหนึ่ง เพื่อให้สินค้าผ่านออกมาได้ ซึ่งทางบริษัทจำเป็นต้องจ่ายเพราะหากส่งสินค้าล่าช้าจะเกิดความเสียหายทั้งต่อบริษัทและลูกค้า ซึ่งเราไม่สามารถไปร้องเรียนที่หน่วยงานใดได้เพราะใช้เวลาในการดำเนินการนานมากและยังต้องใช้เอกสารยืนยันต่างๆเป็นจำนวนมากอีกด้วย  และเรื่องแบบนี้จะไม่มีการบันทึก  เพราะเจ้าหน้าที่จะกล่าวลอยๆ ว่าจะไม่อนุญาตให้นำสินค้าออกมา หากไม่มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะตามจำนวนที่เรียกร้องและไม่ได้ทำเป็นเอกสารทางราชการแต่อย่างใด ซึ่งผู้ประกอบการมักจะไม่มีทางเลือกและต้องยอมทำตามคำขอของเจ้าหน้าที่ในการทำผิดกฎหมายเพราะไม่อยากมีปัญหา และไม่อยากร้องเรียนเป็นคู่กรณีกับเจ้าหน้าที่โดยตรงเนื่องจากจะถูกเพ่งเล็งและกลั่นแกล้งในการดำเนินการครั้งต่อๆไปได้

“ดิฉันทราบดีว่าเรื่องเช่นนี้ไม่ได้พึ่งเกิดและไม่ได้เกิดขึ้นกับดิฉันคนเดียว หากแต่อยู่คู่กับระบบศุลกากรของประเทศไทยเรามาช้านานแล้ว สอบถามจากเพื่อนๆผู้ประกอบการด้วยกันทุกคนจะตอบว่าปัญหานี้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว  ซึ่งดิฉันไม่สามารถปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้  เพราะทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบของประเทศไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว หากแต่เป็นเรื่องส่วนรวมที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน” นางสาวสินัตตรา กล่าว 

ก่อนหน้านี้ได้โทรไปแจ้งสายด่วน 1111 แล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่แนะนำให้เอาผิดเป็นรายบุคคลตามกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นอย่างถาวร เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมีการแก้ทั้งระบบไม่เช่นนั้นคนอื่นๆก็จะประสบปัญหาเดียวกันอีก  จึงรณรงค์เรื่องนี้เพื่อให้เป็นประเด็นสาธารณะ และขอวิงวอนให้ คณะ คสช. เร่งตรวจสอบเรื่องนี้โดยด่วน  ซึ่งหลังจากที่มีการรณรงค์ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนไทยจำนวนกว่า 17,000 คน ภายในเวลาสั้นๆโดยขณะนี้ตนเองกำลังประสานกับเจ้าหน้าคสช. เพราะต้องการยื่นรายชื่อผู้เห็นด้วยทั้งหมดให้กับ คสช.ในเร็วๆนี้ เพื่อให้มีการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้การรณรงค์ดังกล่าวได้ผู้ลงชื่อได้แสดงความเห็นด้วยในเรื่องนี้ เช่น  ก้องเกียรติ ตรัยวรกุล  จากกรุงเทพฯ ระบุว่า เป็นผู้นำเข้ารายหนึ่งเช่นกัน ขนาดสินค้านำเข้าถูกต้อง สำแดงพิกัดภาษีทุกอย่างถูกต้อง แต่ถูกกลั่นแกล้งไม่ให้ออกของได้เพียงเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ถูกใจและต้องจบลงที่เงินใต้โต๊ะจึงสามารถออกของได้

วิไลวรรณ ประทุมวงศ์  จากกรุงเทพฯ อีกท่านระบุว่า  เคยไปสัมภาษณ์ผู้ส่งออกเพื่อทำงานวิจัยให้กับหน่วยงานหนึ่ง ปัญหานี้พบในทุกรายค่ะคือ ความล่าช้า และการจ่ายเงินนอกระบบค่อนข้างเยอะมาก และบริษัทส่วนใหญ่ใช้Shipping ในการดำเนินการ มีน้อยมากๆ ที่บริษัทจะติดต่อกับกรมศุลด้วยตัวเอง เพราะมีความล่าช้า หากอยากได้ของเร็ว ก็ต้องมีจ่ายนอกรอบ

อภิรัตน์ ทักษ์รัตนศรัณย์ จ.เชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า  ศุลกากรเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบ และอำนวยความยุติธรรมในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นหัวใจในการค้าขายกับต่างประเทศ การทุจริตขององค์กรนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรแห่งนี้ต้องมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสมีความสุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและภาพลักษณ์ของประเทศไทย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ