ผู้บริโภคเตรียมรับมือข้าวราคาแพง ผลกระทบน้ำท่วมหนัก “พายุโนรู”

ผู้บริโภคเตรียมรับมือข้าวราคาแพง ผลกระทบน้ำท่วมหนัก “พายุโนรู”

ในช่วงสามถึงสี่วันที่ผ่านมา การเคลื่อนตัวเข้ามาของพายุโซนร้อนโนรูตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2565 ทำให้เกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบจากพายุลูกนี้โดยทั่วกัน แม้ในบางพื้นที่อย่างภาคใต้จะมีฝนตกหนักและเรือประมงงดออกจากฝั่งชั่วคราว แต่ก็ถือว่าได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านของพายุโดยตรง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดได้สร้างความเสียหายไปแล้วกว่า 762,394 ไร่ ในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา มหาสารคาม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ ยโสธร กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู สกลนคร อุดรธานี หนองคาย อุบลราชธานี ลำปาง ศรีษะเกษ และนครพนม 

สถานการณ์อุทกภัยฉับพลันนอกจากจะสร้างความเสียหายกับทรัพย์สิน บ้านเรือน และความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างชื่อเสียงและมูลค่าการซื้อขายหลายหมื่นล้านให้กับประเทศไทย 

ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินรายงานว่า พื้นที่ปลูกข้าวในประเทศไทยคิดเป็น 51.71% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศหรือประมาณ 66,309,145 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ใน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ซึ่งได้รับความเสียหายมากที่สุดในภูมิภาค

พื้นที่สีเหลืองคือพื้นที่ปลูกข้าว ข้อมูล : Agri-Map ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก
พื้นที่ปลูกข้าวประเทศไทย

ปี 2565 ปีแห่งความหวังของชาวนาไทย ส่งออกข้าวได้มากขึ้น

ในปี 2565 นี้ถือว่าเป็นปีแห่งความหวังของชาวนาไทยที่จะสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น เนื่องจากผลการผลิตข้าวนาปรังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่ได้รับน้ำมากเพียงพอสามารถสร้างผลผลิตได้ถึง 2 รอบ ประกอบกับข้อได้เปรียบและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่มากขึ้น เนื่องจากวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ประเทศอินเดียซึ่งเป็นผู้ถือครองอันดับ 1 ในการส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ได้ประกาศจำกัดการส่งออกและมีการเก็บภาษีผู้ส่งออกข้าว ส่งผลให้ราคาข้าวของอินเดียแพงขึ้น ตลาดโลกจึงมีความต้องการข้าวจากประเทศอื่นๆเพิ่มขึ้นแทน และถือเป็นโอกาสของประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินว่า การใช้มาตรการนี้ของอินเดียจะทำให้ความต้องการข้าวไทยเพิ่มขึ้นและทำให้ราคาข้าวเปลือกมีราคาสูงขึ้นตามความต้องการ ในเบื้องต้นแม้การเร่งเก็บเกี่ยวข้าวก่อนฤดูกาลจะทำให้ได้ผลผลิตที่มีความชื้นสูง แต่ราคารับซื้อในตอนนี้ก็กำลังปรับตัวขึ้นเกือบถึง 10,000 บาทต่อตัน 

จากการเคลื่อนผ่านของ พายุโนรู ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 โดยคาดการณ์ว่า ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2565 นี้จะทำให้ผลผลิตข้าวนาปีที่กำลังทยอยเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดอาจได้รับความเสียหาย เมื่อผนวกกับพายุที่เข้ามาทำให้เกิดน้ำท่วมหลาก และในบางพื้นที่อาจมีการแช่ขังของน้ำในระดับสูง คาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีที่มูลค่าราว 2,900 ถึง 3,100 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เผยว่านอกจากฝนที่ตกลงมาและการมีน้ำสะสมจากการระบายของเขื่อนอุบลรัตน์ไหลมารวมกันซึ่งใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายแล้วประมาณ 110,000 ไร่

ขอบคุณภาพจาก เพจอยู่ดีมีแฮง

แม้การประเมินตัวเลขความเสียหายในเบื้องต้นนี้จะมีมูลค่าไม่มาก เมื่อเทียบกับน้ำท่วมครั้งรุนแรงเมื่อปี 2554  ที่มีมูลค่าความเสียหายราว 51,000 ล้านบาท ปี 2560 มูลค่าความเสียหายราว 17,000 ล้านบาท และปี 2562 ที่มีมูลค่าความเสียหายราว 9,500 ล้านบาท แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นและถี่ขึ้น ทำให้ความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตรอาจจะยิ่งมีมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้  

พื้นที่น้ำท่วมลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล น่าจะเข้าสู่สภาวะปกติภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

นอกจากนี้ รายงานสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่พบว่า แม้พายุโนรูได้อ่อนกำลังลงและเคลื่อนผ่านพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้วนั้น แต่ยังคงมีร่องมรสุมแผ่ปกคลุม และหย่อมความกดอากาศต่ำ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังปานกลาง ซึ่งพัดมาจากฝั่งอันดามัน ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากการสอบถามสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเพิ่มเติมผ่านรายการวันใหม่ ช่องไทยพีบีเอส วันที่ 3 ตุลาคม 2565 ได้มีการคาดการณ์ว่า พื้นที่น้ำท่วมตามลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลนั้น น่าจะเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้หรือกว่า 3 – 4 สัปดาห์ แต่ถ้าหากมีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติมในพื้นที่ก็จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมเช่นนี้ยาวนานขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้อีกด้วย

ผู้บริโภคเตรียมรับมือ ราคาข้าวสูงขึ้น

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า เนื่องจากความต้องการปริมาณข้าวไทยที่สูงขึ้นในตลาดโลกและความเสียหายจากอุทกภัยเพิ่มเติมที่ทำให้ประเทศไทยอาจจะมีผลผลิตข้าวน้อยลงจากที่คาดการณ์ไว้ ผลกระทบจากทั้งสองปัจจัยประกอบกันนี้ จะส่งผลให้ราคาข้าวในไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้บริโภคอาจจะต้องเตรียมรับมือกับราคาข้าวที่สูงขึ้นหลังจากนี้ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ