เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ‘ประกาศเจตนารมณ์’ “แก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ” ขณะที่ขบวนคนจนเตรียมยื่นข้อเรียกร้องแก้ปัญหา

เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ‘ประกาศเจตนารมณ์’ “แก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ” ขณะที่ขบวนคนจนเตรียมยื่นข้อเรียกร้องแก้ปัญหา

การจัดงาน 20 ปี พม. วันที่  2 ตุลาคม  ไฮไลท์คือ ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัย  ใส่ใจช่องว่าง  ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง’ 

กระทรวง พม. /  การจัดงานสถาปนากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี “20 ปี พม. เสริมพลัง  สร้างโอกาส  พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-3 ตุลาคม              ที่กระทรวง พม.  วันนี้เป็นการจัดงานวันที่ 4  โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย

วันนี้ (2 ตุลาคม)  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และเครือข่ายองค์กรชุมชนได้จัดเวที “การพัฒนาที่อยู่อาศัย  ใส่ใจช่องว่าง  ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง”  ที่ห้องประชุมประชาบดี  กระทรวง พม.  มีนายอนุกูล     ปีดแก้ว  ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กล่าวเปิดงาน  โดยมีนายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน  และหน่วยงานภาคีประมาณ 200 คนเข้าร่วมงาน

นายอนุกูล  ปีดแก้ว  ปลัดกระทรวง พม. กล่าวเปิดงาน

ขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาคประกาศเจตนารมณ์ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อย

ดร.จรรยา  กลัดล้อม  และ นายธนาทร  พานทอง  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน  ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2566 (3 ตุลาคม) มีเนื้อหาว่า  เป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยตามแผนปฏิบัติการที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) คู่ขนานไปกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ  20  ปี  ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Housing For All)”

โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ยึดโยงกับปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยได้ให้การรับรอง ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 11 ของสหประชาชาติ  และวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง  ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ทางการเมืองในการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและยั่งยืน

ดร.จรรยาและนายธนาทร  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน

               เครือข่ายองค์กรชุมชน  เครือข่ายประชาสังคม และ พอช. ซึ่งร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตในชุมชนเมืองและชนบท  ขอร่วมกันประกาศเจตนารมณ์  เพื่อคนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579  โดยเราจะร่วมกัน 

1.สร้างและยกระดับการพัฒนาองค์กรชุมชน  เครือข่ายองค์กรชุมชน  ให้มีความเข้มแข็ง  สมดุล       มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของสมาชิก  2.สำรวจข้อมูลชุมชนทั้งเมือง  ตำบลทุกเรื่อง  และยกระดับการจัดระบบฐานข้อมูลสู่การวางแผน  วางผังการพัฒนาทุกมิติ

3.ฟื้นฟูและจัดตั้งกองทุนชุมชน  เมือง  ตำบล  ยกระดับให้เป็นสถาบันการเงินของชุมชนที่เข้มแข็ง  สร้างชุมชนสวัสดิการเพื่อการอยู่ร่วมกัน  4.ใช้โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชุมชน   เมือง  ตำบล เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟู พัฒนาการตั้งถิ่นฐานชุมชนทั้งเมืองและชนบทที่สอดคล้องกับวิถี  วัฒนธรรม   ชุมชน   ภายใต้บริบทพื้นที่ที่หลากหลาย

5.สร้างระบบการบริหารจัดการโครงการและงบประมาณที่มีธรรมาภิบาล  เปิดเผยโปร่งใส  มีระบบการรายงานผล ติดตาม  ระบบการหนุนเสริมระหว่างกัน  6.สนับสนุนการสร้างคนทำงานรุ่นใหม่ให้มีบทบาทในการพัฒนา  เพื่อเป็นกำลังในการสร้างนวัตกรรมงานพัฒนาในพื้นที่ทุกระดับ  7.ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ดิน  ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิตทุกมิติ  ทั้งเชิงพื้นที่  และประเด็นงานอย่างเป็นขบวนการ  เช่น   ชุมชนริมคลอง  ชุมชนชายฝั่ง  ชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ   พื้นที่ในเขตป่า   เป็นต้น

8.สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   การจัดการองค์ความรู้   โรงเรียน  ชุมชน  งานพัฒนาที่หลากหลายร่วมกัน

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

1.สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนปฏิบัติการนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินสำหรับผู้มีรายได้น้อยในทุกระดับ   และส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจในการดำเนินการไปยังกลไกระดับท้องถิ่น  ให้ชุมชนมีส่วนร่วม

2.การจัดทำแผนงานและงบประมาณสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดิน  ที่อยู่อาศัย  และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยทุกระดับ  ในโครงการพัฒนาของภาครัฐทุกโครงการ  ต้องมีส่วนร่วมของชุมชนผู้เดือดร้อน

3.ให้ทบทวนกลไกหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดิน  ที่อยู่อาศัย  เช่น  คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติระดับจังหวัด   คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  โดยเพิ่มสัดส่วนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนผู้เดือดร้อน  สภาองค์กรชุมชนตำบล  ภาคประชาสังคม

4.ให้ชุมชน  ภาคประชาชน  มีส่วนร่วมในการกำหนด  กำกับ   ติดตาม  ประเมินผล  การบังคับใช้กฎหมาย  ระเบียบ ข้อบังคับ  ที่มีผลกระทบต่อที่ดินทำกิน  ป่าชุมชน  วิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น

5.ให้ทบทวนการออกกฎหมาย  ระเบียบ  ข้อบังคับ  ในทุกประเภทที่ดิน  ที่ไม่เอื้อต่อสิทธิการอยู่อาศัย  ทำกินของชุมชน  และการใช้ประโยชน์  และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   เช่น พ.ร.บ.  และร่างอนุบัญญัติอุทยานแห่งชาติ  พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  พ.ศ. 2562

6.ให้มีการจัดทำแผนและมาตรการสนับสนุน  ช่วยเหลือที่ชัดเจน  เป็นรูปธรรม  สำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ  เช่น  ชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบการนโยบายการพัฒนาระบบราง  ชุมชนริมคูคลองทั่วประเทศ  ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยริมคูคลอง

“ด้วยพลังการขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่นดังกล่าวแล้วนี้  เราจะร่วมกับภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน  สร้างความมั่นคงของมนุษย์ด้านที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้บรรลุ  และสอดคล้องกับคำขวัญวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2565  ‘ใส่ใจในช่องว่าง  ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง( Mind the Gap Leave No One and Place Behind)”

เวทีเสวนา :  รูปธรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัย

เวทีเสวนานำเสนอรูปธรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัย  “ใส่ใจช่องว่าง  ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง”  โดยมีผู้แทนจากชุมชนริมคลองลาดพร้าว  ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ  การพัฒนาที่อยู่อาศัยภูมินิเวศน์อันดามัน  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองและชนบท  ฯลฯ 

โดยผู้เข้าร่วมเสวนาได้บอกเล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่  ชุมชน  ท้องถิ่นของตนเอง  รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค   โดยเฉพาะชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ  ที่กำลังโดนฟ้องร้องดำเนินคดี  และอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  เพื่อนำมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย  เสนอต่อนายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว. พม. ในฐานะที่กระทรวง พม. มีภารกิจดูแลการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อย

นายเชาว์  เกิดอารีย์   ผู้แทนเครือข่าย ‘ชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.)’ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)  โดยขณะนี้ชาวชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ  เช่น  ชุมชนบุญร่มไทร  โดนฟ้องร้องดำเนินคดีให้รื้อย้ายนับร้อยราย  ขณะนี้ชาวชุมชนอยู่ในระหว่างการรื้อย้ายและก่อสร้างบ้านพักชั่วคราว 

มีข้อเสนอ  คือชุมชนอยากได้รับงบประมาณสนับสนุนด้านระบบสาธารณูปโภคจากภาครัฐในการสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวและที่อยู่อาศัยใหม่   โดยจะยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลในวันที่ 3 ตุลาคมนี้ (เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก)   นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขอเช่าที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่ยังมีราคาสูง  ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา   และเสนอว่า  การรื้อย้ายชุมชนต้องไม่กระทบเรื่องอาชีพของชาวบ้าน   ต้องมีการพัฒนาเรื่องคุณภาพชีวิตควบคู่กับการพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วย  

นอกจากนี้ในส่วนของ พอช.  มีข้อเสนอให้ พอช. เพิ่มงบประมาณกรณีชุมชนโดนไล่รื้อ  จากเดิมครอบครัวละ (ไม่เกิน) 18,000 บาทเป็น 25,000 บาท  และให้เพิ่มงบสนับสนุนการก่อสร้างบ้าน  สร้างสาธารณูปโภคในชุมชนใหม่จากเดิมประมาณครอบครัวละ  80,000 บาทเป็น 160,000 บาท

ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้ (3 ตุลาคม) องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World  Habitat Day)  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนารางรถไฟ  และผู้เดือดร้อนปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ  ประมาณ  2,000 คนจะเดินทางมายื่นข้อเรียกร้องที่กระทรวงคมนาคมและที่ทำเนียบรัฐบาล

ข้อเสนอถึง กทม.เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง

นางสำลี  ศรีระพุก  ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตยานนาวา  กรุงเทพฯ  บอกว่า  ขณะนี้ชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเขตยานนาวาทั้งหมด 23 ชุมชน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ดินเช่าเอกชน  โดนเอกชนไล่รื้อ  หรือไม่ต่อสัญญาเช่าที่ดินหลายชุมชน  เพราะที่ดินในเขตยานนาวามีราคาแพง  เจ้าของต้องการเอาที่ดินไปขายหรือพัฒนา  ทำให้ชุมชนแตกกระจาย  ต่างคนต้องไปหาที่อยู่อาศัยใหม่  

แต่อย่างไรก็ตาม  ขณะนี้มีจำนวน 3  ชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินกรมธนารักษ์ได้รับการแก้ไขปัญหา  โดยกรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินปลูกสร้างบ้านอย่างถูกต้อง  ระยะเวลาเช่าช่วงแรก 30 ปี  และ พอช.ให้การสนับสนุนกระบวนการแก้ไขปัญหา  รวมทั้งสนับสนุนเรื่องสินเชื่อและงบประมาณอุดหนุนการก่อสร้างบางส่วน  ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครโดยผู้ว่าราชการ กทม.คนใหม่  มีนโยบายแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด  แต่ยังมีปัญหาอุปสรรค  จึงมีข้อเสนอ  ดังนี้

1.ให้ กทม.มีนโยบาย  ระเบียบ  แผนงาน  การพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรม  ตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.  2.ให้ กทม. จัดหาที่ดินรองรับ   โดยมีกลไกกลางประสานความร่วมมือ  แบ่งปันที่ดินมาแก้ปัญหาชุมชนที่โดนไล่รื้อ  กรณีที่ดินราชพัสดุ   ที่ดินลำรางสาธารณะ   

ชุมชนเชื้อเพลิง 2  เป็นชุมชนแรกในเขตยานนาวาที่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  โดยจัดทำโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.สนับสนุน  และกรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินในอัตราผ่อนปรน  ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือในการใช้ที่ดินรัฐแก้ไขปัญหา  ขณะนี้สร้างบ้านเสร็จแล้ว  40 หลังจากทั้งหมด 145  หลัง

3.แก้ระเบียบการจัดตั้งชุมชน  ให้ผู้เดือดร้อนเป็นเป้าหมาย   เพื่อให้สามารถจัดตั้งชุมชนเพื่ออยู่ในความดูแลของ กทม.ได้  (บางชุมชนอยู่มานานกว่า 15 ปี  แต่ยังจัดตั้งไม่ได้  เพราะมีระเบียบ  เช่น  ต้องมีบ้านเรือนไม่น้อยกว่า 100 หลัง)

               4.ให้ กทม. ทบทวนกลไกคณะกรรมการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยครอบคลุม 50 เขต  โดยมีคณะกรรมการมาจากสถาบันการศึกษา   ภาคเอกชน  ชุมชน   มีสำนักงานเขตเป็นเจ้าภาพ   มีภาคประชาชนร่วมกันเป็นคณะกรรมการ   เนื่องจากปัจจุบันมีการจัดตั้งคณะกรรมการแล้ว 25 เขต  แต่มีคณะกรรมการมาจากตัวแทนแขวง  ซึ่งไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา  จึงเป็นการแต่งตั้งที่ไม่ถูกต้อง

               5. ให้ กทม. สำนักงานเขต  พิจารณางบสนับสนุนสาธารณูปโภคพื้นฐานในชุมชนแออัด  6.ให้ กทม.ยกเว้นการปลูกสร้างบ้านมั่นคงของ พอช. ตามกฎหมายผังเมืองสีเขียวปี 2549  เพราะเดิมมีกฎหมายนี้  แต่ปัจจุบันผังเมืองสีเขียวกำหนดให้ปลูกได้เฉพาะบ้านเดี่ยว  ทำให้คนจน  ชุมชนไม่สามารถปลูกสร้างบ้านแถวได้  7.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขผังเมือง   และมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเมือง  เพราะคนจนต้องอยู่กับเมือง  เป็นแรงงานสร้างเมือง  ฯลฯ


เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ