ไปต่อไม่รอภัยพิบัติ สร้างสรรค์นวัตกรรมรับมือโลกแปรปรวนฉบับคนสามัญ

ไปต่อไม่รอภัยพิบัติ สร้างสรรค์นวัตกรรมรับมือโลกแปรปรวนฉบับคนสามัญ

“ฝนมาทีไรน้ำท่วมทุกที ต้องเจอแบบนี้ไปอีกเมื่อไหร่ แล้วจะต้องรับมือยังไง”

ในช่วงที่ผ่านมาฝนตกหนักในหลายพื้นที่เพราะพายุที่พัดเข้ามาทุกปีจนล่าสุดเจอกับพายุโนรูที่รุนแรงกว่าปกติ ทำให้บ้านเรือนเสียหายและน้ำท่วมหนัก ชุมชนต้องรับมือแบบไม่ทันตั้งตัว

ภาคพลเมืองหลากหลายกลุ่มลุกขึ้นมา ด้วยความตั้งใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้น และจับมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาเครื่องมือ นำเอาข้อมูลและเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ของข้อมูลและสถานการณ์ และยังสามารถเตรียมความพร้อมรับมือได้ ในตอนนี้มีหลายแพลตฟอร์มที่ทำเกี่ยวกับน้ำท่วม เช่น Floodrealtime, HYDROGENCE และ C-Site


Flood Realtime

แพลตฟอร์มแผนที่บอกพิกัดจุดเสี่ยงของระดับน้ำในประเทศ พัฒนาโดยบริษัท ไอบิทซ์ จำกัด ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มข. เพื่อให้คนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศในเมืองและวางแผนรับมือกับน้ำที่กำลังจะมา และคนที่เข้ามาใช้สามารถเพิ่มจุดเสี่ยงในพื้นที่ตนเองได้

แผนที่แสดงความเสี่ยงน้ำท่วมแบบ real-time

HYDROGENCE

น้ำท่วมในเมืองกรุงเทพฯ ยังคงเป็นปัญหาที่คนเมืองต้องการให้แก้ไขมาตลอด เพราะการจัดการทั้งน้ำทิ้งจากบ้านเรือนและอาคารที่ยังไม่เป็นระบบ เช่น ระบบเครื่องสูบน้ำที่ข้อมูลไม่เชื่อมกันเมื่อ 5 ปีก่อน เกิดการจัดการเฉพาะหน้าที่เจ้าหน้าที่ต้องลงไปเก็บขยะในท่อ  ส่งผลให้การระบายน้ำไม่ดี ยังต้องเจอกับน้ำฝนและน้ำหลากจนเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่   

แบบจำลองการติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศในเมือง (Monitoring) ใช้กทม.เป็นพื้นที่ทดลอง

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม Hydrogence ขึ้นเพื่อจัดการปัญหาน้ำท่วม เป็นนวัตกรรมแก้ปัญหาเชิงรุกที่ต้นเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและยังได้คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติแบบ real-time ที่แม่นยำมาช่วยจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมของเมืองใหญ่ให้เป็นระบบ โดยการติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศในเมืองเพื่อให้เกิดการวางแผนรับมือ และควบคุมการไหลของน้ำจากประตูระบายน้ำได้

C-Site

แพลตฟอร์มที่ภาคพลเมืองเข้ามาสื่อสาร ปักหมุดพิกัดที่เกิดเหตุและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว เป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในไทยพีบีเอส เกิดเป็นเครือข่ายภาคพลเมืองที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูลอย่างมีส่วนร่วมและพัฒนาเป็นฐานข้อมูลสำคัญต่อสาธารณะ อย่างล่าสุดมีการติดตามเคลื่อนไหวพายุโนรูของภาคพลเมืองผ่านหมุดของ C-Site

หมุดรายงานความเคลื่อนไหวพายุโนรูของภาคพลเมืองบน C-Site

ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการลุกขึ้นมาของภาคพลเมืองและร่วมมือกับเอกชน ในการขับเคลื่อนประเด็นสังคม สื่อสารข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของภัยพิบัติน้ำท่วมที่หลายพื้นที่พบเจอให้เกิดการรับรู้ นำเอาข้อมูลไปเป็นแนวทางในการตัดสินใจหรือแก้ปัญหาต่างๆ ได้ผ่านแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือต่างๆ ที่ร่วมกันแชร์ข้อมูล เรื่องราว ถกเถียงหาวิธีการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นและในอนาคต ในหลายๆ ประเทศเองมีแพลตฟอร์มที่ทำเกี่ยวกับประเด็นน้ำและดินถล่มให้เห็นเช่นกัน

FloodCitiSense

น้ำท่วมขังในเมืองเกิดขึ้นในช่วงเวลาฝนตกหนักและมาอย่างรวดเร็ว จนทำให้ยากต่อการจัดการระบายน้ำในเมืองและก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในเมืองและสภาพแวดล้อมโดยรอบ จึงจำเป็นต้องมีแบบจำลองและข้อมูลน้ำท่วมที่มีความละเอียด รวดเร็วและทันเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมใน 3 เมืองที่มีแนวโน้มที่จะเกิดคือ Brussels, Rotterdam และBirmingham 

โดยแต่ละเมือง ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำฝนและผลกระทบที่เกิดได้ตลอดเวลาผ่านเซ็นเซอร์และเทคโนโลยีบนเว็บ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปคาดการณ์น้ำท่วมในเมืองโดยการทำงานระหว่่างหน่วยงาน สถาบันและประชาชน FloodCitiSense จึงเป็นบริการเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้าในเมืองสำหรับประชาชนและเจ้าหน้าที่ของเมือง

 Brussels 1 ในเมืองนำร่องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมร่วมกับเครือข่ายในเมือง

MOBILISE

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการรับมือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของหลายๆ ประเทศอย่างประเทศศรีลังกานั้น ยังขาดวิธีการขับเคลื่อนข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการและรับมือกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติน้ำท่วมและดินถล่มในท้องถิ่น เพราะข้อมูลต่างๆ กระจัดกระจายไปตามแต่ละหน่วยงานของรัฐแต่ระดับท้องถิ่นหรือชุมชนเข้าไม่ถึง ทำให้ยากในการรวบรวมข้อมูล ปรับตัวและรับมือกับความเสี่ยงจากเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

MOBILIZE 3.0 แบบจำลองผลกระทบของน้ำท่วมในพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อให้เครือข่ายตรวจสอบปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นที่อาจนำไปสู่น้ำท่วมและดินถล่ม

MOBILISE จึงเป็นบริการเตือนภัยล่วงหน้าถึงความเสี่ยงจากภัยพิบัติในชุมชนทั้งน้ำท่วมและดินถล่ม พัฒนาโดย THINKlab(มหาวิทยาลัย Salford) และ Tecxal Systems Ltd และชุมชนซึ่งเป็นผู้เผชิญกับสถานการณ์ เป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญแก่เจ้าหน้าที่ผ่านเทคนิค Crowdsourcing เจ้าหน้าที่จะส่งการแจ้งเตือนได้ทันทีไปยังชุมชนที่อยู่ใกล้และห่างไกลได้ รวมถึงยังทำให้ชุมชนเข้าใจและเรียนรู้กับความเสี่ยงในพื้นที่ตนเอง จนนำไปสู่การปรับตัวและวิธีรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น

รับมือกับภัยพิบัติด้วย แผนที่น้ำชุมชน

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 ในรายการคุณเล่าเราขยาย ตอน ประชาชน X ข้อมูล จับตาสถานการณ์น้ำ ดูการสื่อสารของภาคพลเมืองที่เผชิญกับพายุโนรูตอนเข้าไทยผ่านหมุด C-site และดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มาร่วมพูดคุยถึงการเข้าถึงข้อมูลที่ประชาชนควรเข้าถึงและวิธีการรับมือควรเป็นอย่างไร

ดร. อานนท์ กล่าวว่า ปัญหาน้ำหลักๆ ในประเทศไทยมี 4 เรื่องคือ น้ำฝน (อิทธิพลของโนรู) น้ำท่า ซึ่งกำลังแม่น้ำลำธารกำลังปริ่มทั้งในเขตชลประทานและนอกชลประทาน น้ำหลากหรือน้ำในทุ่งซึ่งควบคุมบริหารจัดการได้ยาก และน้ำทะเล ที่มักจะมาเข้ามาหนุน ดังนั้นเรื่องน้ำท่วมจึงต้องพิจารณาทั้ง 4 เรื่องนี้ แม้พายุโนรูกำลังลดลงไปแล้วแต่ไทยยังมีโอกาสที่จะเจอพายุฝนในช่วง 2 เดือนต่อจากนี้

การรับมือกับภัยพิบัติน้ำที่กำลังเกิดขึ้น ภาคประชาชนมีความสำคัญและต้องทำความเข้าใจสภาพพื้นที่ของตัวเอง แผนที่เสี่ยงหรือแผนที่น้ำท่วมของชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งรับมือกับภัยพิบัติของชุมชน จะเป็นการวาดมือก็ได้ว่าน้ำอยู่ตรงไหน บ้านเรือนอยู่ตรงไหนซึ่งเมื่อทำขึ้นมาแล้สก็จะใช้ได้ในระยะยาว และส่วนของข้อมูลน้ำ ฝนรายวันสามารถนำมาพิจารณาดูแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้

ดร. อานนท์ เสนอแนะ

แพลตฟอร์ม เครื่องมือและพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่รวบรวมมา เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่หลายพื้นที่ของไทยและโลกกำลังพบเจอ เปลี่ยนจากการรับมือที่ไม่ทันตั้งตัวสู่การเตรียมพร้อมประสานความร่วมมือ ประชาชนคนในพื้นที่จึงลุกขึ้นมาบอกเล่า สื่อสารข้อมูลออกไปให้คนอื่นได้รับรู้โดยใช้เทคโนโลยี ผ่านแพลตฟอร์มที่คนหลายส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและแลกเเปลี่ยนข้อมูลกัน และยังสามารถนำไปเอาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองๆ ในตอนนี้และในอนาคตได้

รู้จักแพลตฟอร์มเพิ่มเติมได้ที่นี่


author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ