คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ฮิวแมนไรท์วอทช์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ร่วมจัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ “การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย โดยเน้นประเด็นคำพิพากษาศาลฎีกาคดีทนายสมชาย นีละไพจิตรและร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย” เนื่องในวาระครบ 12 ปี การบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร
ที่มา: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
วันที่ 12 มีนาคม 2559 เป็นวันครบรอบ 12 ปี ของการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ซึ่งพยานที่พบเห็นเขาครั้งสุดท้ายระบุว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 5-6 คน พยายามผลักตัวของนายสมชายให้เข้าไปในรถยนต์ของกลุ่มดังกล่าว หลังจากนั้นมาก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นทนายสมชายอีกเลย
ในปี 2548 เจ้าพนักงานตำรวจ 5 นายถูกฟ้องในฐานความผิดร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และข่มขืนใจผู้อื่น ซึ่งจำเลยทั้ง 5 คน ได้ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกามีคำสั่งยกฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจ 5 นายในการรับผิดทางอาญาต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายของนายสมชาย นีละไพจิตร ส่วนนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร และลูกๆ ไม่อาจเป็นโจทก์ร่วมและไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลในอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเขาได้
ICJ แถลงการหายตัวไปของ “ทนายสมชาย” ชี้กระบวนการสืบสวนล่าช้า พร้อมกดดันให้ไทยต้องสืบหาความจริงต่อไปแม้ศาลจะยกฟ้องไปแล้ว และต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสากลป้องกันการบังคับสูญหาย (อุ้มหาย) โดยด่วน
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) แถลงเนื่องในโอกาสครบ 12 ปีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนคนสำคัญของประเทศไทยเมื่อปี 2547 โดยระบุว่าการยกจำเลยทั้ง 5 คนในคดีทนายสมชายเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เป็นการด่วน
ทั้งนี้ ICJ ยืนยันว่าแม้คดีความของครอบครัวนีละไพจิตรและจบลง แต่รัฐบาลไทยยังคงต้องสืบหาความจริงต่อไป โดยนายแซม ซาริฟี่ ผู้อํานวยการ ICJ สํานักงานเอเชียกล่าวว่า “คําพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่ได้ทําให้คดีทนายสมชายยุติลง รัฐบาลไทยยังมีพันธกรณีที่ต้องสืบหาและสอบสวนข้อเท็จจริงรวมถึงนําความยุติธรรมมาสู่ทนายสมชายและครอบครัว”
นอกจากนี้ ICJ ยังย้ำเตือนด้วยว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 รัฐบาลไทยได้ให้คํามันสัญญาต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ไว้ว่า “จะดําเนินการอย่างสุดความสามารถและละเอียดถี่ถ้วนในการนําความยุติธรรมมาสู่คดีทนายสมชาย” โดยขณะนี้ ICJ รับทราบแล้วว่ากระทรวงยุติธรรมของไทยกำลังอยู่ในระหว่างยกร่าง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหาย ซึ่งนิยามและกำหนดให้การบังคับให้สูญหายและทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นความผิดทางอาญา
ด้านอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย กล่าวว่า “คําพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินว่าจําเลยทั้ง 5 ไม่มีความผิด และปฏิเสธสิทธิของดิฉันและลูกๆ ที่จะมีสิทธิเข้าร่วมในกระบวนพิจารณาคดีนั้น แสดงให้เห็นว่าเหยื่อของการบังคับให้สูญหายไม่มีที่พึ่งที่จะเรียกร้องความยุติธรรมในประเทศไทย และก็เป็นที่ชัดเจนว่าจะไม่มีสิ่งใดที่จะเปลี่ยนแปลงได้ จนกว่าประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยด่วน รวมทั้งแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกันสิทธิของเหยื่อ”
HRW เป็นอีกหนึ่งองค์กรสิทธิที่ร่วมเรียกร้องให้มีการสืบสวนการหายตัวไปของทนายสมชายใหม่ พร้อมระบุว่าความล้มเหลวตลอด 12 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย
ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) แถลงในโอกาสครบ 12 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดการสอบสวนกรณีทนายสมชาย ซึ่งเป็นทนายความมุสลิมคนสำคัญของประเทศ ใหม่อีกครั้ง หลังศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีทั้ง 5 คนไปเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา
แบรด แอดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ HRW กล่าวด้วยว่า “ความล้มเหลวของรัฐในการตอบสนองต่อการหายตัวไปของทนายสมชาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเป็นการลักพาตัวและฆาตกรรม ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย และการที่กฎหมายไทยไม่ได้ระบุให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรมก็ได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐหลีกเลี่ยงการสืบหาตัวบุคคลที่สั่งลักพาตัวทนายสมชาย”
HRW ระบุว่าเมื่อปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เปิดเผยว่ามีหลักฐานที่ระบุว่าทนายสมชายเสียชีวิตแล้ว และมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 คน อย่างไรก็ตาม ในคำตัดสินของศาลฎีกาเมื่อปลายปี 2558 ไม่มีจำเลยคนใดในคดีถูกลงโทษฐานฆาตกรรม โดยศาลระบุว่าไม่มีหลักฐานการเสียชีวิตของทนายสมชาย ขณะที่ครอบครัวนีละไพจิตรไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นโจทก์ร่วมด้วยเหตุผลเดียวกัน
HRW ได้เรียกร้องความยุติธรรมต่อรัฐบาลปัจจุบันของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 โดยเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งไทยลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2555 ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อบทของอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการทำให้การบังคับสูญหายมีความผิดทางอาญาด้วย
ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดความจริงและความยุติธรรมต่อผู้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งครอบครัวของคนเหล่านั้นที่ได้รับผลกระทบ และดำเนินการให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการเข้าแจ้งความเพื่อการดำเนินคดีต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหาทางเยียวยาโดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการตอบโต้เพื่อเอาคืน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้
• สอบสวนการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และผู้ที่คาดว่าถูกบังคับให้สูญหายทุกคนในประเทศไทย อย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นไปได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายในกรณีต่างๆ
• ผ่าน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหาย พ.ศ. …. โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจนตามนิยามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวด้วย
• ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว
• ระบุที่อยู่และชะตากรรมของผู้ที่คาดว่าถูกบังคับให้สูญหายและรับประกันว่าจะนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
• รับประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่
เอกสารแนบ:
ความเห็นของนางอังคณา นีละไพจิตรต่อคําพิพากษาศาลฎีกา