ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2559 ผู้เขียน ได้ลงพื้นที่บ้านพนัส ต.ชาณุวรรณ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด มีโอกาสพบกับนายชอบ สุดบ่อนิจ อายุ 71 ปี ประธานป่าชุมชนดงเค็ง เล่าถึงการต่อสู้กว่าจะได้พื้นที่ป่าชุมชนกลับคืนมาว่า ช่วงปี 2533 สำนักงานส่งเสริมการปลูกป่า (กรมป่าไม้) ได้เข้ามาปลูกไม้ยูคาลิปตัส เนื้อที่ 300 ไร่ ภายใต้โครงการพัฒนาป่าไม้ทุ่งกุลาร้องไห้
เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะปลูกต้นไม้พื้นบ้านเพื่อช่วยฟื้นฟูป่าดงเค็ง และจะเป็นประโยชน์ต่อการบำรุง รักษาป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ก่อนที่จะปลูกเจ้าหน้าที่สวนป่าได้ทำการไถป่าธรรมชาติออกจนโล่งเตียน แต่กลับกลายนำต้นยูคาลิปตัส เข้ามาปลูกแทนที่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้ดำเนินการปลูกเพิ่มอีก 1,700 ไร่ และปี พ.ศ. 2536 ปลูกเพิ่มอีก 700 ไร่ รวมพื้นที่กว่า 2,857 ไร่
นอกจากชาวบ้านถูกกำจัดสิทธิห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และห้ามเข้าไปเลี้ยงสัตว์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นพื้นที่ป่าดงเค็งเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ป่ายูคาฯ เริ่มโตขึ้น ได้สร้างผลกระทบต่อสภาพของหน้าดินที่เกิดความเสื่อมโทรม รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย
ในช่วงปี 2536 ชาวบ้านจึงเริ่มเคลื่อนไหว เรียกร้องต่อหน่วยงานราชการ ให้ยกเลิกโครงการ เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ชาวบ้านกว่า 2,000 คน จึงร่วมกันชุมนุมคัดค้าน และร่วมแรงร่วมใจกันบุกเข้ารื้อถอนยูคาลิปตัส ออกหมดจนโล่งเตียน และร่วมกันฟื้นฟูป่าชุมชนดงเค็ง ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
ปัจจุบันในป่าชุมชนดงเด็ง กว่า 2,857 ไร่ มีพืชสมุนไพรเติบโตขึ้นมามากกมาย สามารถนำมาต้มเป็นยาบำรุงเลือด บำรุงร่างกาย แก้ปวดเมื่อย เป็นต้น เช่น ต้นไม้ดินเดียวหมายถึงในต้นลำเดียวจะมีสูตร 5 กษัตริย์ คือ 1.ราก 2.ลำต้น 3.ใบ 4.หมาก และ 5.เกสร นำทั้งหมดในต้นเดียวมาต้มกินเป็นยาบำรุงเลือด บำรุงร่างกาย
ต้นกำลังเลือดม้า ซึ่งยางของต้นจะมีลักษณะคล้ายเลือด ชาวบ้านจึงเรียกกันว่ากำลังเลือดม้า, ต้นดูกใส คือเนื้อในจะเป็นสีขาว, ต้นตาไก้ หรือกำแพง 7 ชั้น คือเนื้อในจะมีหลายสีขึ้นเรียงกันเป็นชั้นๆ เหมือนกับขนมชั้น
และต้นเอี่ยนค่อน หรือปลาไหลเผือก พันธุ์หยิกบ่ถอง ไม่นานพ่อใหญ่ชอบให้ลองใช้เล็บมือหยิกลงไปที่ใบ ปรากฏว่าแรงเล็บที่กดลงไปหยิกตรงใบเท่าไรก็ไม่ขาด สรรพคุณนำไปต้มเป็นยาบำรุงกำลัง อีกทั้งนำรากส่วนหนึ่งไปผสมกับตัวยาสมุนไพรอื่นๆ (ไม่ระบุเคล็ดลับ) ทำให้สามารถยิงฟันแทงไม่เข้า
พ่อใหญ่ชอบ บอกอีกว่า ชุมชนจะร่วมอนุรักษ์ป่าทุกชนิดไว้ไม่มีการซื้อขายในเชิงธุรกิจ แต่ชาวบ้านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ 9 หมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รอบป่าชุมชนดงเค็งใน 3 ตำบล คือ ต.แสนสุข ต.ชาณุวรรณ และต.กุดน้ำใส
นี่แหล่ะครับ การเพิ่มพื้นที่ป่า หรือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวใจหลักต้องเริ่มจากชุมชน เพราะชุมชนเป็นเจ้าของ หาใช่ว่ารัฐจะมียุทธการทวงคืนผืนป่า แล้วดำเนินการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เคารพสิทธิชุมชน หรือศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนแต่อย่างใดเลย