รายงานสรุป ‘1 ปี กับการใช้กลไกทางกฎหมาย’ กรณีการหายตัวของ ‘บิลลี่’

รายงานสรุป ‘1 ปี กับการใช้กลไกทางกฎหมาย’ กรณีการหายตัวของ ‘บิลลี่’

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
17 เม.ย. 2558

นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 จนบัดนี้ เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ที่นายพอละจี รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ได้หายตัวไป หลังเดินทางกลับมาจากบ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อเตรียมข้อมูลที่จะใช้ในเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2554 โดยมีชาวบ้านพบเห็นนายบิลลี่ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งทำการค้นตัวแล้วพบว่านายบิลลี่มีรังผึ้งและน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ทำการตักเตือนและปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานที่อ้างเกี่ยวกับการจับกุมและหลักฐานการปล่อยตัวแต่อย่างใด 

20151804001503.jpg

นายบิลลี่เป็นแกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ช่วยทนายความ ในคดีที่ชาวบ้านบางกลอยยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อศาลปกครองกลาง จากกรณีที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัว ที่บ้านบางกลอยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ตาม “โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า” มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยุทธการตะนาวศรี” เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แม้ปรากฏผลการศึกษายืนยันว่าชาวบ้านเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมชาวปกาเกอะญอที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปีแล้ว ขณะที่นายบิลลี่หายตัวไปนั้นอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อต่อสู้คดีดังกล่าว ซึ่งศาลนัดไต่สวนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ นายบิลลี่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่านายบิลลี่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีและกรณีร้องเรียนดังกล่าวอยู่กับตัวด้วยในขณะที่หายไป

การดำเนินการทางกฎหมายเริ่มต้นขึ้น เมื่อนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายบิลลี่ ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 เมื่อทราบข่าวการหายตัวไปของนายบิลลี่หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

22 เมษายน 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ทราบข่าวกรณีการหายตัวของนายบิลลี่ จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และออกจดหมายเปิดผนึกขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

23 เมษายน 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล(ICJ) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ลงพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ และญาติของนายบิลลี่ โดยในวันเดียวกันทนายความได้ประชุมเตรียมคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามความประสงค์ของญาติ

24 เมษายน 2557 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ พร้อมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 ซึ่งศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน โดยมีการสืบพยาน 2 ปากในวันดังกล่าว คือ นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายบิลลี่ ในฐานะผู้ร้อง และนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย และศาลได้นัดสืบพยานอีก 10 ปาก ในวันที่ 30 เมษายน 2557 วันที่ 12 พฤษภาคม 2557 วันที่ 2 มิถุนายน 2557 วันที่ 16 มิถุนายน 2557 และสิ้นสุดการสืบพยานในวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 โดยมีพยานที่ขึ้นเบิกความต่อศาล ได้แก่ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอีกจำนวน 4 คน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักศึกษาฝึกงาน 2 คน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และพยานผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 

25 เมษายน 2557 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการประชุมเพื่อตรวจสอบเรื่องการหายตัวของนายบิลลี่ โดยในวันเดียวกัน พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วยตำรวจภูธรภาค 7 กองบังคับการปราบปราม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมประชุมเพื่อเร่งรัดติดตามคดี ต่อไป พร้อมกันนี้ พ.ต.อ.สุขสวัสดิ์ สุขแสวง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี นำภรรยาของนายบิลลี่เข้าพบ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับปากว่าจะดูแลความปลอดภัยให้กับครอบครัวของนายบิลลี่ และจะเร่งติดตามตัวนายบิลลี่ให้พบโดยเร็ว 

27 เมษายน 2557 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ประชุมคณะสืบสวนสอบสวนติดตามคดีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ พร้อมเชิญนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ นายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย และญาตินายบิลลี่ เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมและร่วมรับฟังความคืบหน้า 

28 เมษายน 2557 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) และ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ดำเนินการสืบสวนอย่างละเอียดและเป็นกลางกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่

2 พฤษภาคม 2557 องค์การสหประชาชาติ (UN) มีคำแถลงต่อกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ (หรือนายบิลลี่) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยโฆษกขององค์การสหประชาชาติ นาย Rupert Colville ว่ามีความห่วงกังวลเรื่องความไม่ก้าวหน้าของการสืบสวนสอบสวน กรณีการหายตัวไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย นายพอละจี รักจงเจริญ (หรือนายบิลลี่) ที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย มีคนพบนายบิลลี่ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังจากที่เขากลับมาจากชุมชนเพื่อเตรียมข้อมูลที่จะใช้ในเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2553 และ 2554 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าวว่าเขาจับกุมตัวบิลลี่และได้สอบสวนเขาในวันที่ 17 เมษายนกล่าวหาว่าเขามีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง และได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แต่ไม่มีใครพบบิลลี่อีกเลยนับแต่นั้น

15 พฤษภาคม 2557 สื่อมวลชนได้ทำการเผยแพร่ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายธรรมรัตน์ วงศ์โสภา ผู้อำนวยการส่วนอุทยาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เป็นประธาน ซึ่งผลการสอบสวนระบุว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กรณีมีมูลความผิดวินัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบวินัยข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ และฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ส่วนความผิดวินัย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง แก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น ผู้กระทำแม้จะมีหน้าที่ราชการจะต้องปฏิบัติ ได้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบแล้วก็ตาม แต่มิได้กระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามพฤติการณ์ยังไม่พอรับฟังได้ว่า ผู้กระทำกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด สำหรับกรณีนายพอละจี หรือบิลลี่ หายตัวไป เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หรือบุคคลใดหรือไม่ เพียงใดนั้น คณะกรรมการเห็นว่ากรณีอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยในวันเดียวกัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งย้ายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ไปประจำอยู่ที่สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 

20 มิถุนายน 2557 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองค์การสหประชาชาติสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อร้องเรียนให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับการหายตัวไปของนายบิลลี่

17 กรกฎาคม 2557 ศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งยกคำร้องของนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ที่ยื่นขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว แม้ทนายความฝ่ายผู้ร้องจะนำพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานมาเบิกความต่อศาล ได้ความว่าคำให้การนักศึกษาฝึกงานในชั้นพนักงานสอบสวนจะขัดกับคำให้การในชั้นศาลแต่พยานปากพนักงานสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าจึงไม่อาจรับฟังได้ จากการไต่สวนพยานทั้งหมดแล้วยังฟังไม่ได้ว่านายบิลลี่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง 

19 สิงหาคม 2557 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่ อำเภอแก่งกระจาน การลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากจะมีการสอบปากคำพยานชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้จุดที่มีการอ้างว่าบิลลี่ ถูกนำตัวมาปล่อยไว้ก่อนจะหายตัวไป จุดประสงค์เพื่อต้องการหาเส้นทางการหายตัวที่แน่ชัด พร้อมกันนี้ยังได้นัดเก็บวัตถุพยาน “ดีเอ็นเอ” ลูกชายของนายบิลลี่ เพื่อจะนำไปเปรียบเทียบกับวัตถุพยานสำคัญที่เก็บได้ก่อนหน้านี้ในรถปิกอัพที่ใช้เป็นพาหนะนำตัวบิลลี่ไปสอบปากคำและนำตัวไปปล่อย การเก็บดีเอ็นเอครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บดีเอ็นเอไปใช้เปรียบเทียบกับหลักฐานในคดีดังกล่าว 

2 สิงหาคม 2557 คำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1939 /2557 ลงวันที่ 22 สิงหาคม ให้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งถูกคำสั่งให้เดินทางมาปฏิบัติราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ ช่วยปฏิบัติราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ให้เดินทางกลับมาปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 

16 กันยายน 2557 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ พร้อมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีที่มียกคำร้องไต่สวนการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557

19 กันยายน 2557 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ลงพื้นที่เก็บหลักฐานเพิ่มเติม และส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบอีกครั้ง หากผลดีเอ็นเอตรงกันก็จะนำไปสู่การดำเนินคดีได้ โดยดีเอ็นเอที่เจ้าหน้าที่เก็บมาตรวจมีเพียงคราบเลือดเท่านั้น และผลการตรวจสอบดีเอ็นเอดังกล่าวพบว่าเป็นคราบเลือดของมนุษย์เพศชาย

25 กันยายน 2557 พนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 7 สอบปากคำนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กรณีการควบคุมตัวนายบิลลี่ เพื่อเตรียมสรุปสำนวนส่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการ ทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

1 ตุลาคม 2557 นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คำสั่งที่ 2383/2557 โยกย้ายให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้ไปปฏิบัติราชการให้ไปปฏิบัติราชการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 5 ตุลาคม 2557 และให้ไปปฏิบัติราชการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ในตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นน้ำเป็นต้นไป โดยให้นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก มาปฏิบัติหน้าที่หัวอุยานแห่งชาติแก่งกระจานแทน มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2557

29 มกราคม 2558 คณะพนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 7 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมกรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรวม 4 คน จับกุมและควบคุมตัวนายพอละจี รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่ดังกล่าวฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในวันเดียวกัน นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรม และขอให้เร่งรัดการสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ ต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หลังจากที่นายบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมและควบคุมตัวด้วย

26 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลจังหวัดเพชรบุรี ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 7 กรณีขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเนื้อหาในคำพิพากษาระบุว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว แม้คำเบิกความจะมีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดหาใช่ข้อสาระสำคัญอันเป็นพิรุธไม่ พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน 

อย่างไรก็ดี คณะทนายความ เห็นว่าคดีนี้ เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม จึงได้เตรียมยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต่อไป เนื่องจากการบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ