20 ปีสถาปนากระทรวง พม. “เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย”

20 ปีสถาปนากระทรวง พม. “เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย”

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม.  และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด  ร่วมเปิดงาน ‘20 ปี พม.

กระทรวง พม. / จุติ  ไกรฤกษ์รมว. พม.  เปิดงานสถาปนากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ครบรอบ 20 ปี  “20 ปี  พม.  เสริมพลัง  สร้างโอกาส  พัฒนาคนทุกช่วงวัย”  ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล’  นักเศรษฐศาสตร์  ประธานบอร์ด พอช.คนใหม่ร่วมงาน  และปาฐกถาพิเศษ “2579 ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดตั้งและเปิดดำเนินการในเดือนตุลาคม 2545  ปัจจุบันมีอายุครบ 20 ปี  เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการสถาปนากระทรวง พม.  จึงร่วมกับหน่วยงานในสังกัดจัดงาน “ 20 ปี  พม.  เสริมพลัง  สร้างโอกาส  พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ที่กระทรวง พม. ระหว่างวันที่ 29 กันยายน- 3 ตุลาคมนี้ 

จุติรมว.พม. เปิดงาน ‘20 ปี พม.

โดยวันนี้ ( 29 ก.ย.) เวลา 10.00 น.  ที่กระทรวง พม.  ถนนกรุงเกษม  กรุงเทพฯ  นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม.  เป็นประธานในการจัดงานสถาปนากระทรวง พม.ครบรอบ 20 ปี  โดยมีการจัดงาน “ 20 ปี  พม.  เสริมพลัง  สร้างโอกาส  พัฒนาคนทุกช่วงวัย” ที่บริเวณห้องประชุมชั้น 2 กระทรวง พม.  มีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด เจ้าหน้าที่  หน่วยงานภาคี  ภาคเอกชน  และประชาชน  เข้าร่วมงานประมาณ  500 คน

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม.

นอกจากนี้นายวีระศักดิ์  โควสุรัตน์  สมาชิกวุฒิสภา (อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)  เข้าร่วมงาน  และปาฐกถาพิเศษเรื่อง  “เสริมพลัง  สร้างโอกาส  พัฒนาคนทุกช่วงวัย” 

การจัดงานในวันนี้  มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU.) ระหว่างกระทรวง พม.กับภาคเอกชน  รวม 2 ฉบับ  โดยมีนายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม. เป็นประธาน คือ 1.ข้อตกลงความร่วมมือ “เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง”  และ 2. “การสร้างความร่วมมือในการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยสู่ผู้ขาดแคลนอาหาร”  ระหว่าง กระทรวง พม. กับมูลนิธิสโกลารส์  ออฟ  ซัสทีแนนซ์  (SOS)
การลงนามบันทึกความร่วมมือ  “ส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยสู่ผู้ขาดแคลน”

นอกจากนี้  รมว.พม. ได้รับมอบรถเข็นคนพิการ  จำนวน 500 คันจากมูลนิธิเวชดุสิต  ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

รมว.พม.รับมอบรถวีลแชร์จากมูลนิธิเวชดุสิต ฯ

ทั้งนี้  การจัดงานครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อจัดแสดงผลงานด้านสังคมของรัฐบาลและเป็นมหกรรมด้านสังคม และเพื่อสร้างการรับรู้และแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมของประเทศอย่างมีคุณภาพ  เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและกลุ่มเป้าหมายต่อไป

โดยมีกิจกรรมหลากหลาย  เช่น  โซนที่ 1 เวทีกลาง  พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ  พิธีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ   การเสวนาวิชาการ และการแสดงบนเวที  โซนที่ 2 การแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. 

โซนที่ 3 การแสดงนิทรรศการและผลงานด้านการพัฒนาคนทุกช่วงวัย  และทิศทางการดำเนินงานในอนาคต รวมทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย  โซนที่ 4 การแสดงผลงาน Soft Power พม.  การแสดงผลิตภัณฑ์  ผลงานภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปะ  ดนตรี  วัฒนธรรม  อาหาร  การประมูลทรัพย์หลุดจำนำ  ฯลฯ  ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน – 3  ตุลาคมนี้    ระหว่างเวลา  9.00-16.00 น.

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช. (ซ้าย) นำ รมว.พม. ชมนิทรรศการ

ดร.กอบศักดิ์ “2579 ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดิน”

ในเดือนตุลาคมนี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เปิดดำเนินงานมาครบ 22 ปี  และได้เข้าร่วมการจัดงาน 20 ปีที่กระทรวง พม.ด้วย  มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  การจัดนิทรรศการ  แสดงผลงาน  พื้นที่รูปธรรมตำบลเข้มแข็ง  เวทีเสวนาวิชาการ  การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสินค้าจากชุมชน  ฯลฯ

โดยในวันนี้  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล   ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ คนใหม่  ได้ปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง “2579  ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”

ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช.

ดร.กอบศักดิ์  กล่าวปาฐกถา  มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า  พอช.เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย ถ้าเราจะเปลี่ยนเมืองไทยให้ได้ต้องอาศัยพี่น้องที่เป็นชุมชน  เพราะเชื่อว่าการพัฒนาที่จะสำเร็จต้องมาจากข้างล่าง   มาจากฐานราก   ตนทำงานเศรษฐศาสตร์มานาน   เห็นว่าประเทศไทยยิ่งนานวัน   การพัฒนาจากข้างบนลงล่าง   จากเจ้าสัว  ยิ่งทำยิ่งหลงทาง  ยิ่งทำเป็นยิ่งเป็นหนี้   เสียที่ดิน   มีปัญหาแหล่งน้ำ  ป่า  ฯลฯ

“ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น   พัฒนาแล้วดี   GDP  โตขึ้น   แต่ทำไมชุมชนเราอ่อนลง ?   เพราะเราเดินผิดทางไปไกลหลายสิบปี   ในหลวงรัชกาลที่  9   ตรัสว่า  การพัฒนาต้องทำจากประชาชนส่วนใหญ่ก่อน  รัฐบาลว่าทำจากเจ้าสัวก่อน  คนรวยก่อน  แล้วจะถึงเรา  ทำแบบนี้ไม่ถึงเรา  ตอนนี้ก็ยังไม่ถึง   ทำแล้วติดอยู่ข้างบน  ที่อาจารย์ชอบสอนว่าทำข้างบนแล้วจะไหลลงมา  เป็นหัวรถไฟ  และขบวนรถไฟจะตามมา  แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น”  ดร.กอบศักดิ์เปรียบเทียบ

 ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า  การพัฒนาแบบนี้ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ   ไม่ยุติธรรม  ในหลวงท่านบอกว่าเราพัฒนาเน้นข้างบนเกินไป  ให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง   พี่น้องชุมชนเป็นคนนำไปใช้  พระองค์บอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานชีวิต   เป็นเสาเข็ม   เราเห็นตึกสวยๆ  แต่เราไม่เห็นเสาเข็ม   มันก็อยู่ไม่ได้   แต่การทำงานกับ พอช. จะทำจากล่างขึ้นบน   เน้นความเข้มแข็งที่ฐานราก

ที่ผ่านมาชุมชนได้นำเอาแนวคิดของพระองค์ท่านไปปฏิบัติ  สร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน  พลิกฟื้นแผ่นดินที่แห้งแล้ง  สู่แผ่นดินทองอีกครั้ง  มีสถาบันการเงินชุมชน  เก็บเงินวันละ 1 บาท  ปีหนึ่งได้เงินเป็นล้าน  เช่น  ที่ตำบลหนองสาหร่าย  จ.สุพรรณบุรี  ใช้ความดีเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้  พระอาจารย์สุบิน  ปณีโต  จังหวัดตราด  มีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์  เครือข่ายมีเงินเป็นพันล้านบาท  มีสวัสดิการชุมชนเอามาช่วยเหลือกันในยามเจ็บป่วย  คลอดลูก  เรียนหนังสือ  จนถึงตาย   ฯลฯ

ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างการสร้างความเข้มแข็ง  สร้างเศรษฐกิจชุมชน  เช่น  โครงการธนาคารต้นไม้  ชุมชนปลูกไม้มีค่า   ถือเป็นทองคำที่งอกอยู่หลังบ้าน  อยู่บนคันนา  มีธนาคารปูม้า  ปูตัวหนึ่งมีไข่นับล้านฟอง  ปล่อยลงทะเลให้แพร่พันธุ์  ปูตัวหนึ่งมีค่าเท่ากับทองคำสองบาท   ที่จังหวัดตรัง  ทำธนาคารปูม้า  ปูดำ   ป่าชุมชน   ชาวบ้านได้เงินวันละ 4 พันบาท  แต่ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ แค่วันละ 300 บาท

“ที่ดงขี้เหล็ก  จังหวัดปราจีนบุรี  ทำบ้านมั่นคงในชนบท  บ้านสวยมาก   เขาให้ดูตู้เหล็กสามชั้น  มีโฉนดที่ดินเต็มไปหมด   คือธนาคารที่ดินไปกู้มา   ขายฝากธนาคารหลุดมือ  ที่นี่รับจำนำแทน  ถ้ามีเงินก็มาไถ่คืนได้  เรามีโครงการดีๆ งอกเงยจากสถาบันการเงินชุมชน”  ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างสถาบันการเงินตำบลดงขี้เหล็ก  จ.ปราจีนบุรี  ที่นำเงินสถาบันฯ ไปไถ่โฉนดช่วยเหลือชาวบ้านที่เอาที่ดินไปจำนองไม่ให้หลุดมือ

ดร.กอบศักดิ์ร่วมงานบ้านมั่นคงและเยี่ยมชมสถาบันการเงินชุมชนที่ตำบลดงขี้เหล็ก  เมื่อเดือนตุลาคม 2561

ในช่วงท้าย  ดร.กอบศักดิ์ในฐานะประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  กล่าวว่า  สิ่งที่ชุมชนจะเข้มแข็งเต็มแผ่นดินในปี 2579  ตนมีข้อเสนอหลายประการที่ชุมชนและ พอช. ควรจะทำ  เช่น   มีการแลกเปลี่ยนรู้  ชุมชนที่เข้มแข็งช่วยเป็นพี่เลี้ยง  นำคนรุ่นใหม่มาช่วยงานพัฒนาชุมชน   ทำเว็บไซด์กรณีศึกษา   ให้ความรู้ทางสื่อออนไลน์        นำความรู้จากปราชญ์ชุมชนมาเผยแพร่ไปทั่วประเทศ   เพราะสื่อออนไลน์กระจายได้รวดเร็ว

นอกจากนี้   พอช. ควรจะมีทีมให้คำปรึกษาแก่ชุมชนเพื่อจัดทำโครงการดีๆ  เสนอต่อหน่วยงานรัฐเพื่อนำงบประมาณมาจัดทำโครงการ  เช่น  การใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์   และ พอช.ต้องหาพาร์ตเนอร์มาร่วมทำงาน พอช.จะทำเพียงลำพังไม่ได้  ต้องชวนมาร่วมกันสานพลัง  เช่น  มหาวิทยาลัย  สถานทูต  เอาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วย  จะได้โครงการดีๆ อีกมากเยอะมาก  

สุดท้ายต้องทำกฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อปลดล็อกข้อติดขัด  เช่น  กฎหมายสวัสดิการชุมชน  ระเบียบชุมชนเข้มแข็ง หัวใจสำคัญ  คือต้องเขียนกฎหมายขึ้นมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน !! 

ผู้เข้าร่วมเวทีที่ พอช.จัดที่กระทรวง พม.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ