ชาวนาทุ่งกุลากลืนน้ำตา น้ำท่วมแหล่งข้าวหอมมะลิ จ.ร้อยเอ็ด

ชาวนาทุ่งกุลากลืนน้ำตา น้ำท่วมแหล่งข้าวหอมมะลิ จ.ร้อยเอ็ด

“เอาข้าวคืนมาไม่ได้เลย ต้นข้าวมันเปื่อยแล้ว ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้…”

หนูปา แก้วพิลา ชาวบ้านโนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เล่าถึงความเสียหายจากน้ำท่วมนาข้าวซึ่งกำลังตั้งท้องนานนับสัปดาห์ “ตอนนี้ข้าวก็เน่าเยอะ เพราะน้ำท่วมขังตั้งแต่ก่อนบุญข้าวสาก เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งในพื้นที่บ้านเราฝนไม่ได้ตกหนักพอที่น้ำจะท่วม ที่น้ำท่วมน่าจะไหลมาจากทางมหาสารคาม ฝั่งทุ่งกุลาเราเป็นแอ่งกระทะ พื้นที่ส่วนใหญ่ขุดลอกคลอง ทั้งนามีคลองล้อมรอบ แล้วทีนี้น้ำที่มาจากด้านบนไหลตามคลองน้ำมาในนาข้าว จะปล่อยออกก็ไม่ได้เพราะน้ำหนุนระบายออกไม่ได้ น้ำจึงท่วมนาน ข้าวเลยเน่า”

จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้น บ้านโนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด มีนาข้าวถูกน้ำท่วมกว่า 100 ไร่  ซึ่งที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของจังหวัดร้อยเอ็ดที่ส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งเกษตรกรสามารถพัฒนาการเกษตรและผลิตข้าวหอมมะลิแบบอินทรีย์จนได้รับการรับรองประกาศนียบัตรข้าวอินทรีย์ สามารถส่งออกไปยัง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และเป็นคลัสเตอร์ ให้กับชาวนาอีก 22 จังหวัด ที่ส่งออกข้าวอินทรีย์ไปต่างประเทศ

เทศบาลตำบลโนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ราบอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการเกษตรกรรม ในทุก ๆ ปี ช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม จะมีฝนตกหนักโดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม ฝนจะตกชุกตลอดทั้งเดือน ลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ชุมชนอยู่ใกล้แม่น้ำสายสำคัญและมีแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับการเกษตร 21 แหล่งน้ำ คือ ลำน้ำเตา ร่องเซียม ห้วยอีเป อ่างหนองดูน อ่างหนองคลอง อ่างหนองโสกม่วง อ่างเลิงแก อ่างหนองส้มโฮง อ่างหนองคูณ หนองใหญ่หนองหวาย หนองขามป้อม หนองตาปู่ หนองตู้ หนองใหญ่ หนองฝาย หนองบัว หนองปากทาง หนองป่ายูคาริตัส หนองวัด และหนองเหมียด

“น้ำมาเยอะ พี่เข่าอ่อนตั้งแต่ไปเห็นข้าวน้ำท่วม ไม่คิดว่าจะท่วมขนาดนี้ ไปถึงไม่มีอะไรเหลือสักอย่าง ความหวังหมดลงไปเลย ตรงนั้นเป็นข้าวปลูกนาทามดินงามปลูกข้าวได้น้ำหนักดีแต่โดนน้ำท่วมหมดเลย ซึ่งข้าวแปลงนี้ถ้าได้เก็บเกี่ยวตามปกติ จะได้ข้าวหอมมะลิราว ๆ  12 ตัน มูลค่าประมาณกว่า 120,000 บาท”

หนูปา แก้วพิลา เล่าต่อด้วยน้ำเสียงแห่งความผิดหวัง เช่นเดียวกับ ประจวบ แก้ววัน ที่ได้รับผลกระทบนาข้าวถูกน้ำท่วมกว่า 30 ไร่ ต้องสูญเสียโอกาสจากรายได้กว่า 2 แสนบาท

“มันขาดรายได้ไปไม่น้อยเลย เงินที่จะขายได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ถ้าได้เก็บเกี่ยว คือ เงินแสนหายไปเลย เพราะว่าในคลองน้ำเยอะฝนตกตลอด น้ำไหลลงไปรวมกันระบายออกไม่ได้จึงเป็นการท่วมขัง ทุ่งกุลาแถวบ้านพ่อมันทำเป็นคลองน้อย ๆ  แล้วมีคูคันคลองเยอะ น้ำเข้าแต่ละทีก็ 2 สัปดาห์ – 1 เดือน ถึงจะสามาารถระบายออกตามธรรมชาติได้ ซึ่งไม่เหมือนเมื่อก่อนที่น้ำท่วมแค่หนึ่งสัปดาห์ก็ระบายออกแล้ว อันนี้เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ปัจจุบันนาข้าวของพ่อตายหมดแล้ว 30 ไร่”

เกษตรกรในพื้นที่ยังตั้งข้อสังเกตและยืนยันว่า การเยียวยาผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และได้ไม่คุ้มเสีย สิ่งสำคัญการบริหารจัดการน้ำปริมาณน้ำหลากจากอีสานตอนบนขึ้นไป เพื่อให้สมารถรับมือกับ และป้องกันน้ำท่วมที่จะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านได้

ประจวบ แก้ววัน ชาวบ้านโนนสวรรค์

“เรื่องการช่วยเหลือน้ำท่วมนาข้าวเราขาดรายได้ไปเลย รายได้เป็นศูนย์ รัฐจะช่วยอย่างไรก็ข้าวตายไปแล้ว การช่วยเหลือไม่คุ้มทุน เช่น ไร่ละ 1,000 กว่าบาท อย่างน้อย ๆ ลงทุนก็ต้อง 2,000-3,000 บาท  ข้าวหอมมะลิอย่างน้อยก็กิโลละ 11-12 บาท ซึ่งปีนี้เงินแสนของพ่อหายไปเลย แค่ 4-5 เดือนหายวับไปเลย มันไม่ได้มีแค่พ่อแต่ยังมีอีกเยอะ เราชาวนาซึ่งทำนาอย่างเดียว ถ้าใครมีวัว มีควาย ก็อาจจะพออยู่ได้ต้องขายวัวขายควายพอได้ซื้อข้าวกิน แต่อย่างของพ่อหายจะไปหมดเลย” ประจวบ แก้ววัน กล่าวทิ้งท้ายการสนทนา

ข้อมูลจาก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 จากดาวเทียม ICEYE ระบุว่า พบพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่บางส่วนแถบลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล  239,501 ไร่ ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ 55,836 ไร่ สุรินทร์ 52,760 ไร่  ร้อยเอ็ด 47,750 ไร่  อุบลราชธานี 24,975 ไร่ กาฬสินธุ์ 15,214 ไร่ มหาสารคาม 14,289 ไร่  ยโสธร 11,502 ไร่ อุดรธานี 6,236 ไร่ บุรีรัมย์ 5,803 ไร่  หนองคาย 3,782 ไร่  และสกลนคร 1,356 ไร่  ส่วนพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบแล้วทั้งสิ้น  134,355 ไร่  

ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ ทั้ง ท่วม และ แล้ง ยังเป็นโจทย์ที่เครือข่ายชาวบ้านมองว่า การบริหารจัดการน้ำ การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อรับมือจำเป็นต้องมีการเตรียมการวางแผนอย่างรอบด้านด้วยข้อมูล เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นคือความเดือดร้อนและปากท้องของชาวบ้าน ผู้ทำหน้าที่ “ชาวนา” ที่ทุกคนอยากจะเก็บเกี่ยวพืชผล ต้นข้าว ที่ลงแรงมุ่งมั่นมากกว่าการชดเชยเยียวยาปลายเหตุเพื่อแก้ปัญหาเป็นครั้งคราว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ