สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
27 ก.ค.58
หมอทะเลาะกันผู้ป่วยลำบาก ยิ่งเป็นผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ยิ่งแล้วใหญ่ มานั่งวิเคราะห์ดูเห็นว่ากลุ่มก๊วนหมอที่ทะเลาะกันแยกออกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน คือ กลุ่มหมอที่ทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ระดับจังหวัดระดับมหาวิทยาลัย กับกลุ่มหมอในโรงพยาบาลขนาดกลางๆ จนถึงขนาดเล็กในระดับอำเภอ
ประเด็นที่ทะเลาะกันอาจมีหลายเรื่องทั้งที่เกี่ยวกับความเชื่อหลักการแนวทางในการทำงาน ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ความเป็นพรรคพวก ความเป็นนายเป็นลูกน้อง ความเป็นสถาบันที่จบออกมา ความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ ปริมาณงาน โอกาสความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนที่ถูกโจมตีและทำให้เป็นแพะรับบาปในตอนนี้คือ “ระบบหลักประกันสุขภาพ” โดยเฉพาะระบบหลักประกันของบัตรทอง ที่ถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างเมื่อต้องการดิสเครดิตฝั่งตรงข้าม
กลุ่มหมอสาธารณสุขจังหวัดกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็ออกมาโจมตีว่าเพราะให้มีการรักษาฟรี คนจึงมากันล้นโรงพยาบาลหมอทำงานกันไม่หวาดไม่ไหว เงินก็ได้รับไม่มากพอ ค่าตอบแทนทำงานเต็มที่ก็ยังได้ใกล้เคียงกับพวกหมอในระดับอำเภอที่ไม่ต้องทำงานหนักส่งต่อคนไข้อย่างเดียว แล้วยังถูกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กั๊กเงินไว้อีก กันไว้ส่วนกลางทำโน่นทำนี่ยุบยับไปหมดทำให้เงินไปถึงโรงพยาบาลน้อยเกินไป
ขณะที่กลุ่มหมอในระดับอำเภอก็ออกมายืนยันนั่งยันว่าระบบที่ สปสช.บริหารกองทุนนั้นดีอยู่แล้ว เป็นการกระจายเงินไปตามสิทธิของประชาชนตามจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมาในอดีตเพราะให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารเองจัดการเอง การกระจายงบประมาณก็ไม่ไปตามจำนวนประชากรแต่ไปตามขนาดของโรงพยาบาล ซึ่งแน่นอนโรงพยาบาลใหญ่โรงพยาบาลจังหวัดก็รับไปเนื้อๆ พวกโรงพยาบาลในชนบทแม้จะต้องดูแลประชากรหลายแสนคนก็ได้งบไม่มากพอ แถมมีโอกาสคอรัปชั่นได้มากกว่าเพราะงุบงิบบริหารกันในกระทรวง รวมถึงใครเข้าถึงนายได้มากกว่าก็มีโอกาสได้งบมากกว่า ได้โอกาสความก้าวหน้ามากกว่า
เรื่องทะเลาะกันจึงอยู่ที่ใครจะได้เป็นปลัดกระทรวง ใครจะเป็นพรรคพวกของปลัด ซึ่งแน่นอนย่อมได้รับอานิสงส์ต่อกัน
สิ่งที่ทำกันก็คือออกมาแฉพฤติกรรมกันไปมา ทั้งเรื่องการคอรัปชั่นเวลา เบิกค่าโอทีทำงานโดยไม่ทำงาน เอารถราชการไปใช้ส่วนตัว ฯลฯ ที่สุดก็โยนมาที่เรื่องงบประมาณไม่พอ พวกประชาชนที่ใช้บัตรทองฟรีต้องร่วมจ่ายเงิน วนกลับมาที่เรื่องหลักการและแนวคิดว่าด้วยการจัดสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีข้อถกเถียงกันในสังคมโลกมาตลอดเวลาว่าควรจัดให้เฉพาะคนจนเท่านั้น หรือเป็นการจัดแบบถ้วนหน้า
สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เป็นการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้ามาแล้ว หากถอยกลับไปให้คนรวยร่วมจ่าย รัฐจัดให้เฉพาะคนจน ก็กลับไปที่การถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำออกไปเหมือนเดิม หรือพูดอีกอย่างว่าคนรวยไม่ต้องมาใช้ระบบบัตรทอง ไปซื้อบริการเองตามเงินที่มีของตน ยิ่งไปตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้ระบบทุนเข้ามามีอิทธิพลต่อระบบสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตในสังคมไทยนั่นคือไปส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนเติบโต เรียกเก็บเงินค่ารักษาแพงๆ เพราะคนรวยย่อมใช้อำนาจเงินในการซื้อบริการ
ทั้งๆ ที่รู้ว่าทรัพยากรด้านสาธารณสุขนั้นมีความจำกัดโดยเฉพาะการผลิตหมอ พยาบาล ให้เพียงพอแก่ความต้องการก็ไม่เคยสำเร็จ เพราะคนมีเงินลงทุนในตลาดหุ้นก็ช่วยลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน คนมีเงินจ่ายก็ช่วยให้โรงพยาบาลเอกชนดึงบุคคลากรไปให้บริการได้ตามจำนวนเงินเดือนที่สูงมากๆ ของหมอ อย่างนี้ถือว่าเป็นวังวนของปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพของไทย
แม้การเพิ่มเงินงบประมาณให้ระบบก็ยังไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่ซับซ้อนนี้ การจะแก้ปัญหานี้ได้ต้องได้คนมีฝีมือมีวิสัยทัศน์ก้าวพ้นไปจากเรื่องพวกพ้อง การทะเลาะเบาะแว้งกันเองของกลุ่มหมอ คนที่เป็นนักบริหาร นักเศรษฐศาสตร์ นักมนุษยวิทยา นักสังคมศาสตร์ เพราะการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนจำเป็นต้องมองในทุกมิติชีวิตมนุษย์
การลงทุนในชีวิตมนุษย์เป็นการลงทุนระยะยาวและมีความยั่งยืน หากจะเปลี่ยนรัฐมนตรีสาธารณสุขทั้งที หาคนนอกที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในกลุ่มหมอแต่ฝักใฝ่ในประชาชนพร้อมจะปฏิรูปสังคมไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจะดีไม่น้อยทีเดียว
หมายเหตุ : ที่มาภาพ http://www.hfocus.org/