รัฐประหารเพื่อ Mining Zone: เหตุผลที่ดาวดินต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน

รัฐประหารเพื่อ Mining Zone: เหตุผลที่ดาวดินต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๘

 

‘ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ….’ หรือร่างกฎหมายแร่ที่คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. มีมติรับหลักการไปเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังตรวจพิจารณาอยู่ในขณะนี้นั้น ได้บรรจุหลักการใหม่ที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งไว้ นั่นก็คือเรื่องเขตทรัพยากรแร่ หรือ Mining Zone

ปัญหาใหญ่ของการนำแร่ขึ้นมาใช้ ก็คือ แหล่งแร่อาจจะพบอยู่ภายใต้พื้นที่ซึ่งมีข้อจำกัดการใช้พื้นที่ตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบอื่นๆ การขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่หวงห้ามเหล่านี้เพื่อการทำเหมืองแร่ก็มีอุปสรรคมาตลอดประวัติศาสตร์ ๑๐๐ กว่าปีของกฎหมายแร่ไทย โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตป่าไม้ 

ด้านกฎหมาย กล่าวเฉพาะช่วงเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นต้นมา จะเห็นได้ถึงร่องรอยการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง ‘เขตป่าไม้’ กับ ‘เขตแร่’ ที่ชัดเจนมาก เนื่องจากความยากของการนำเอาทรัพยากรแร่ในเขตป่าไม้ออกมาใช้ประโยชน์ได้ทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายแร่ (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ด้วยการเพิ่มเติมมาตรา ๖ ทวิ เข้ามา เพื่อเปิดโอกาสให้กับการนำแร่ในเขตป่าไม้มาใช้ประโยชน์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มีการแก้ไขมาตรา ๖ ทวิ และเพิ่มเติมมาตรา ๖ จัตวา เข้ามา เพื่อปิดโอกาสไม่ให้นำแร่ในเขตป่าไม้มาใช้ประโยชน์ 

ร่องรอยการต่อสู้ระหว่างรัฐและส่วนราชการด้วยกันเองจากกลไกการเมืองด้วยการแก้ไขกฎหมายในรัฐสภาเป็นความอุตสาหะพยายามที่จะประกาศ ‘เขตแร่’ หรือ ‘เขตทรัพยากรแร่’ ในเขตป่าไม้ให้ได้ เพื่อที่จะเข้าไปเอาทรัพยากรแร่ในเขตป่าไม้ออกมาใช้ประโยชน์ให้ง่ายขึ้น แต่เกิดการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างหน่วยงานบริหารจัดการทรัพยากรแร่กับหน่วยงานบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้จึงทำให้เนื้อหาบทบัญญัติในมาตรา ๖ จัตวา ไม่เอื้อประโยชน์ให้มีการนำทรัพยากรแร่ในพื้นที่ป่าไม้ออกมาใช้ประโยชน์ได้ง่ายเท่าที่ควร เพราะติดเงื่อนไขว่าหากพื้นที่หรือเขตป่าไม้ใดที่สำรวจแล้วถึงแม้จะพบแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงก็ไม่สามารถกันพื้นที่ที่มีทรัพยากรแร่ออกจากเขตป่าไม้เพื่อนำมาออกสัมปทานทำเหมืองแร่เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามได้ หากพบว่าเขตป่าไม้นั้น ‘เป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม’ 

พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๖

พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒

 มาตรา ทวิ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใดๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้

 ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตรหรือประทานบัตรไม่ได้จนกว่ารัฐมนตรีจะได้ยกเลิกประกาศดังกล่าวนั้น

 มาตรา ๖ ทวิ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ การทดลองการศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใด ๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้

 ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่งผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นสมควรให้ยื่นคำขอได้เป็นกรณีพิเศษโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 เมื่อหมดความจำเป็นที่จะใช้เขตพื้นที่เพื่อประโยชน์ดังกล่าวตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษา

 

 มาตรา ๖ จัตวา เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้น แต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย

ตาราง เปรียบเทียบการแก้ไขกฎหมายแร่ในส่วนของมาตรา ๖ ทวิ และมาตรา ๖ จัตวา 
เพื่อนำทรัพยากรแร่ในเขตป่าไม้มาใช้ประโยชน์

หมายเหตุ ถ้อยคำที่ขีดเส้นใต้ในมาตรา ๖ จัตวา ในตาราง เป็นการเน้นข้อความโดยผู้เขียนเอง 
ในเอกสารพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ทั้งฉบับ ไม่มีการขีดเส้นใต้บทบัญญัติแต่อย่างใด 

Mining Zone สัมปทานพิเศษ สัญญาผูกขาด: เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จากปัญหาการพัฒนาทรัพยากรแร่ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่สาม ที่ไม่อาจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้มากตามที่วางแผนไว้ ทำให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ด้วยการเพิ่มเติมมาตรา ๖ ทวิ เข้ามา เนื่องจากว่ากฎหมายแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นไม่อาจเร่งรัดและส่งเสริมการสำรวจและการผลิตแร่ให้ได้ผลและอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ตามที่วางแผนไว้ จึงได้เพิ่มเติมมาตราดังกล่าวเพื่อประกาศ ‘เขตทรัพยากรแร่’ เป็นการจูงใจหรือเปิดโอกาสให้นักลงทุนทำสัญญาในลักษณะ ‘สัมปทานพิเศษ’ กับรัฐได้ เนื่องจากสัมปทานปกติตามกฎหมายแร่ที่ใช้บังคับอยู่มีข้อจำกัดในเรื่องขนาดของพื้นที่ อายุสัมปทานที่มีกำหนด และคุณสมบัติของผู้ขอสัมปทาน หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการลงทุนในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินจำนวนมากและเทคโนโลยีขนาดใหญ่ตามไปด้วย แต่สัมปทานพิเศษทำให้ข้อจำกัดของสัมปทานปกติตามกฎหมายแร่หมดไป กล่าวคือ สัมปทานพิเศษได้เปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนสามารถทำ ‘สัญญาผูกขาด’ ต่อกันเพื่อดำเนินการสำรวจและผลิตแร่ใดก็ได้ที่เป็นเป้าหมาย เป็นการทำสัญญาจับจองพื้นที่แหล่งแร่เพื่อการ ‘สำรวจ’ และ ‘ผลิต (หรือทำเหมืองแร่)’ ล่วงหน้าไว้ก่อนทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอาชญาบัตรให้สำรวจแร่และประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่แต่อย่างใด 

การทำสัญญาเช่นนี้เป็นการผูกขาดแหล่งแร่ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีขนาดใหญ่มากกว่าที่สัมปทานปกติตามกฎหมายแร่จะอนุญาตให้สัมปทานได้เอาไว้ให้แก่เอกชนที่ทำสัญญา เพื่อรับประกันไม่ว่ากรณีใดๆ ว่ารัฐจะเอื้อประโยชน์ให้ถึงที่สุดให้เอกชนที่ทำสัญญาได้รับอาชญาบัตรและประทานบัตรอย่างแน่นอน โดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา หากแม้ยังไม่ได้รับสัมปทานที่เป็นอาชญาบัตรสำรวจแร่หรือประทานบัตรทำเหมืองแร่ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม เช่น การประท้วงคัดค้านโครงการของประชาชน หรือความล่าช้าในระบบราชการที่เกิดจากบุคลากร องค์กร ระบบหรือตัวบทกฎหมายที่มีข้อจำกัดการใช้พื้นที่ตามกฎหมายหลายฉบับขัดกัน เป็นต้น สัญญาสัมปทานพิเศษก็จะคุ้มครองพื้นที่แหล่งแร่นั้นไว้ให้กับเอกชนที่ทำสัญญาโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา

ลักษณะการทำสัญญาแบบสัมปทานพิเศษหรือสัญญาผูกขาดเช่นนี้เป็นการลอกเลียนเอามาจากบทบัญญัติในกฎหมายปิโตรเลียม หรือพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่ครั้งหนึ่งทรัพยากรปิโตรเลียมก็เคยอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแร่ (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐) แต่เนื่องจากทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นแร่ที่มีมูลค่ามหาศาลและแหล่งปิโตรเลียมส่วนใหญ่ทั้งที่อยู่ในทะเลและบนบกมีลักษณะการแพร่กระจายตัวในพื้นที่ขนาดใหญ่มาก จึงเห็นว่ากฎเกณฑ์การให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมควรจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างออกไปจากการทำแร่ประเภทอื่น ประกอบกับความต้องการกระตุ้นการลงทุนขนานใหญ่จากการเร่งรัดการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ จึงได้แยกทรัพยากรปิโตรเลียมออกไปจากกฎหมายแร่ ให้มาอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายปิโตรเลียมเป็นการเฉพาะแทน 

สัมปทานพิเศษเหมืองแร่เมืองเลย

แม้แนวคิดและวิธีการของ Mining Zone จะยังไม่มีความสมบูรณ์ในกฎหมายแร่ เพราะติดเงื่อนไขว่าพื้นที่หรือเขตป่าไม้ใดที่สำรวจแล้วถึงแม้จะพบแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงก็ไม่สามารถกันพื้นที่ที่มีทรัพยากรแร่ออกจากเขตป่าไม้เพื่อนำมาออกสัมปทานทำเหมืองแร่เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามได้ หากพบว่าเขตป่าไม้นั้น ‘เป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม’ ก็ตาม ความพยายามนำบทบัญญัติของมาตรา ๖ ทวิ และมาตรา ๖ จัตวา มาใช้เพื่อให้เกิดสัมปทานพิเศษนั้นได้เปิดโอกาสให้เอกชนจับจองพื้นที่แหล่งแร่เป็นแปลงขนาดใหญ่มาก เช่น สัญญาให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี คลุมพื้นที่ ๒,๓๓๓ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑.๕ ล้านไร่ ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมทรัพยากรธรณีกับบริษัท ไทยอะกริโกโปแตช จำกัด เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ทำให้แร่โปแตชทั้งหมดในขอบเขตพื้นที่แหล่งแร่ตามสัญญาเป็นของบริษัทดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว (ปัจจุบันบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของกิจการ) ไม่ว่าจะขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชกี่ครั้งหรือนานเพียงใดก็ตาม เพราะเป็นสัญญาที่ไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาหรือไม่กำหนดวันสิ้นสุดอายุสัมปทาน
 
นอกจากแร่โปแตชแล้ว เพื่อทำให้สภาพการใช้สัมปทานพิเศษขยายการพัฒนาทรัพยากรแร่มากยิ่งขึ้นไปอีก อาทิเช่น โครงการสำคัญที่ใช้เงื่อนไขสัมปทานพิเศษตามมาตรา ๖ จัตวา ก็คือ โครงการเปิดประมูลเพื่อพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการขนาดใหญ่ พื้นที่เลย-อุดรธานี-หนองคาย นั่นเอง โดยมีผู้ได้รับสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ จำนวน ๔ ราย คือ (๑) บริษัท ผาคำเอ็กซ์พลอเรชั่นแอนด์ไมนิ่ง จำกัด แปลง ๑ พื้นที่ ๒๕๓,๙๓๐ไร่ (๒) บริษัท ผาทองเอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง จำกัด แปลง ๒ พื้นที่ ๗๙๘,๙๑๔ ไร่ (๓) บริษัท ภูเทพ จำกัด แปลง ๓ พื้นที่ ๖๙๔,๐๗๐ ไร่ และ (๔) บริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลง ๔ พื้นที่ ๔๒๖,๒๙๗ ไร่ รวมพื้นที่ให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมด ๒,๑๗๓,๒๑๑ ไร่ 

ผลสำเร็จของการให้สัมปทานพิเศษตามมาตรา ๖ จัตวา ก็คือบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ครอบครอบพื้นที่ขนาดใหญ่ ๕๔๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓๔๐,๖๑๕ ไร่ (ปรับลดจากเดิม ๔๒๖,๒๙๗ ไร่) ตามสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง จนสามารถเปิดทำเหมืองแร่ทองคำที่ภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนอยู่จนทุกวันนี้ และยังมีพื้นที่ที่ขอประทานบัตรจับจองไว้อีกเป็นจำนวนมาก โดยมีรายละเอียดทั้งหมด ดังนี้ 

๑. ประทานบัตร จำนวน ๖ แปลง คือ ประทานบัตรที่ ๒๖๙๖๘/๑๕๕๗๔, ๒๖๙๖๙/๑๕๕๗๕, ๒๖๙๗๐/๑๕๕๗๖, ๒๖๙๗๑/๑๕๕๕๘, ๒๖๙๗๒/๑๕๕๕๙ และ ๒๖๙๗๓/๑๕๕๖๐ ที่ตั้งอยู่บนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย รวมเป็นพื้นที่ ๑,๒๙๑ ไร่ ซึ่งเป็นเหมืองแร่ที่กำลังดำเนินการและเกิดความขัดแย้งต่อต้านจากประชาชนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน อยู่ในขณะนี้ 

ถ้ารวมพื้นที่ที่เป็นโรงประกอบโลหกรรม (แต่งแร่และถลุงแร่) และบ่อกักเก็บกากแร่ (บ่อไซยาไนด์) ในบริเวณพื้นที่ประทานบัตรดังกล่าวด้วย จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ 

๒. คำขอประทานบัตร จำนวน ๑๐๖ แปลง ประมาณ ๓๐,๑๑๔ ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ติดอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ประเภทต่าง ๆ (ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าใช้สอยอื่น ๆ) และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ และ ๑ บี

ซึ่งคำขอประทานบัตร แปลงที่ ๑๐๔/๒๕๓๘ (แปลงภูเหล็ก) ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย และแปลงที่ ๗๖/๒๕๓๙ ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ที่ได้ดำเนินการจัดทำเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร ไปเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ และวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ตามลำดับ ก็อยู่ในคำขอประทานบัตรกลุ่มนี้ด้วย

Mining Zone ในร่างกฎหมายแร่

เหตุผลที่ทำให้บริษัททุ่งคำได้ ‘ประทานบัตร’ ทำเหมืองแร่ทองคำเพียง ๖ แปลง ที่ภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน โดยไม่สามารถได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำแปลงอื่นในช่วงเวลาเดียวกันได้ก็เพราะ ‘คำขอประทานบัตร’ จำนวนอีก ๑๐๖ แปลง ที่บริษัททุ่งคำครอบครองเอาไว้นั้นอยู่ในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ และบี เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรีที่เป็นขั้นตอนยุ่งยากเพิ่มขึ้นมาจากการซ้อนทับของกฎหมายอื่น (ตามข้อเท็จจริงแล้วถ้าหากใช้เงื่อนไขและหลักการเดียวกัน ประทานบัตร ๔ ใน ๖ แปลงที่ภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอนก็ไม่สมควรได้ประทานบัตรเช่นเดียวกันกับคำขอประทานบัตรอีก ๑๐๖ แปลงที่เหลือ เพราะว่าประทานบัตรทั้ง ๔ แปลง เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างพื้นที่ป่าไม้กับของ ส.ป.ก. ทั้งหมด) 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวที่แนวคิดและวิธีการของ Mining Zone ยังปรากฎอยู่ในกฎหมายแร่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์มากนัก สิ่งที่หน่วยงานรัฐ-ราชการพยายามผลักดันมาตลอดคือทำให้แนวคิด Mining Zone มีความสมบูรณ์ในกฎหมายแร่ ด้วยการกันเขตทรัพยากรแร่ออกจากพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่น ดังที่เห็นได้จากการผลักดันร่างกฎหมายแร่ล่าสุด ที่บทบัญญัติในร่างกฎหมายแร่ฉบับ คสช. ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เนื้อหาสาระสำคัญของร่างฯ ในส่วนของความต้องการเข้าไปทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าไม้ (ทั้งป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายเฉพาะหรือตามมติคณะรัฐมนตรี) และพื้นที่หวงห้ามหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายฉบับอื่นที่ห้ามใช้พื้นที่เพื่อการทำเหมืองแร่ ได้บัญญัติเนื้อหาเอาไว้ในหมวด ‘การบริหารจัดการแร่ในพื้นที่พิเศษ’ คล้าย ๆ กับเขตเศรษฐกิจพิเศษในกฎหมายการค้าการลงทุนที่ยกเว้นมาตรการบังคับบางอย่างและให้สิทธิพิเศษเพื่อจูงใจการลงทุน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามโดยการเปิดให้เอกชนประมูลพื้นที่แหล่งแร่นั้น

เบื้องแรก ประกาศกำหนดให้แร่ที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่หวงห้ามหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามการทำเหมืองแร่ รวมถึงพื้นที่ที่ถึงแม้จะพบว่าเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมก็ต้องนำมาประกาศเป็น ‘เขตแหล่งแร่’ เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม ซึ่งถือว่าเป็นการลบทิ้งมาตรา ๖ จัตวา ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางในการนำพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมายอื่นมาทำเป็น Mining Zone ตลอด ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา

หลังจากประกาศเขตแหล่งแร่แล้ว ก็จะทำการประกาศให้เอกชนมาประมูลเขตแหล่งแร่เพื่อขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ต่อไป ต่อจากนั้นยังเปิดโอกาสให้เอกชนที่ชนะการประมูลได้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ในเขตแหล่งแร่ไม่ต้องขออนุญาตหรือขอสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ (อาชญาบัตรและประทานบัตร) ตามกฎหมายแร่ได้อีกด้วย ก็เพราะว่าบทบัญญัติในร่างฯ ได้เปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนทำสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกัน จนเป็นเหตุจูงใจให้รัฐสามารถออกประกาศกระทรวงเพื่อกำหนดให้แร่บางชนิด/ประเภท และการทำเหมืองบางขนาดถูกยกเว้นจากการขอสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ได้ และก็จะถูกยกเว้นให้ไม่ต้องทำ EIA หรือ EHIA แล้วแต่กรณีไปโดยปริยายด้วย 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้บัญญัติเนื้อหาเกี่ยวกับการลดขั้นตอนในการขออนุญาตสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่เอาไว้ด้วย กล่าวคือ โดยปกติตามกฎหมายแร่ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน การเข้าไปขอสัมปทานสำรวจแร่หรือทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่หวงห้ามหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามการทำเหมืองแร่ หากติดเงื่อนไขว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ ซึ่งโดยทั่วไปภายในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ เอ (และบีบางส่วน) ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่ควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องอนุญาตประทานบัตร หรือต่ออายุประทานบัตร หรือขอสิทธิ หรือขอใบอนุญาตอื่นใดในกิจการเหมืองแร่ต้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเสนอ ครม. อนุมัติเป็นราย ๆ ไป ซึ่งจะทำให้มีขั้นตอนและระยะเวลาเพิ่มเติมจากคำขอสัมปทานสำรวจแร่หรือทำเหมืองแร่ปกติที่อยู่นอกเขตพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ แต่บทบัญญัติในร่างกฎหมายแร่ฉบับ คสช. สามารถนำแร่ในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่หวงห้ามหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามการทำเหมืองแร่ที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ ที่หวงห้ามไว้ออกมาให้สัมปทานได้โดยไม่ต้องผ่านมติ ครม. อีกต่อไป โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดยตรง 

สุดท้ายบทบัญญัติที่เกี่ยวพันกันในหลายมาตราของหมวดว่าด้วยการบริหารจัดการแร่ในพื้นที่พิเศษของร่างกฎหมายแร่ฉบับ คสช. ยังสามารถกำหนดพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ เอ ที่ปัจจุบันกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่ควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง โดยห้ามมิให้มีการทำเหมืองแร่หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าเป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาด สามารถถูกแก้ไขโดยนำพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ เอ ดังกล่าว มาใช้ประโยชน์เพื่อการขอสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามได้อีกด้วย 

แรงจูงใจ ทำไม ครม. ในรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ถึงรับหลักการร่างกฎหมายแร่

การเตรียมการออกนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำฉบับใหม่ที่รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและอธิบดี กพร. ออกมาให้สัมภาษณ์ในแนวทางที่สอดคล้องกันว่าจะผลักดันให้มีการเปิดพื้นที่สัมปทานแหล่งแร่ทองคำแห่งใหม่ใน ๓๑ จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ ๑ ล้านไร่ ภายในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ๒๕๕๘ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำนโยบาย โดยจะระดมความคิดเห็นของประชาชนเป็นขั้นตอนสุดท้ายไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากที่จัดเวทีระดมความคิดเห็นในส่วนนักวิชาการและผู้ประกอบการเสร็จแล้ว ถือได้ว่า นอกจากฉวยโอกาสผลักดันร่างกฎหมายแร่ในรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. และผลักดันกฎหมายฉบับอื่น ๆ เพื่อดึงอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้้านต่าง ๆ มารวมศูนย์อยู่ในมือรัฐเกิดขึ้นอย่างถี่ยิบแล้ว การฉวยโอกาสผลักดันนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำฉบับใหม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

ทั้งนี้ นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำฉบับใหม่เป็นส่วนขยายของการผลักดันร่างกฎหมายแร่ เพื่อทำให้กลไกอำนาจที่แฝงอยู่ในตัวบทกฎหมายและนโยบายทำหน้าที่ให้สอดคล้องกัน ซึ่งในเชิงตัวบทกฎหมายสะท้อนอำนาจเชิงนามธรรม แต่ในตัวนโยบายไปจนถึงการแปลงไปสู่โครงการพัฒนาสะท้อนอำนาจเชิงรูปธรรมที่เห็นภาพชัดขึ้น ดังนั้น การแก้ตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียวรัฐบาลทหาร คสช. ไม่สามารถเข้าใจได้หรือมองไม่เห็นผลในทางปฏิบัติ จึงทำให้หน่วยงานราชการ ในที่นี้คือ กพร. จึงต้องทำให้ คสช. เห็นด้วยกับร่างกฎหมายแร่ด้วยการทำให้เห็นว่าหากแก้ไขกฎหมายแร่แล้วจะนำมาซึ่งการเปิดพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำนับแสนไร่ทั่วประเทศ จึงทำให้ คสช. ยอมรับหลักการร่างกฎหมายแร่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอมา เพราะ คสช. เห็นผลในทางปฏิบัติว่ากฎหมายจะนำไปสู่นโยบายและโครงการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเม็ดเงินได้จริง 

ด้วยเหตุนี้เอง บทบัญญัติเกี่ยวกับเขตทรัพยากรแร่ หรือ Mining Zone ในร่างกฎหมายแร่จะสามารถปลดล็อคข้อติดขัดอุปสรรคปัญหาทั้งปวงที่ไม่สามารถเดินหน้าเหมืองแร่ทองคำที่เลยและที่พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลกของบริษัททุ่งคำและบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ตามลำดับ (เพราะพื้นที่ขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่แปลงใหม่ ๆ อยู่ในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมายอื่นแทบทั้งหมด) และนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำฉบับใหม่ที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าไม้และพื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมายอื่นต่อไปได้ ถูกแก้ไขจนหมดสิ้น

เหตุผลที่ดาวดินต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน

ที่กล่าวมาทั้งหมด นั่นคือผลของ Mining Zone หากร่างกฎหมายแร่ฉบับ คสช. ผ่านเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ เราจะเห็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ ส.ป.ก. และพื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมายอื่นทั่วประเทศถูกเฉือนหรือขุดควักให้แหว่งวิ่นเป็นหลุมขนาดใหญ่เป็นหย่อม ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ตรงใจกลางหรือชายขอบของพื้นที่่สงวนหวงห้ามเหล่านั้น ถึงแม้จะเป็นพื้นที่ควรค่าแก่การทำประโยชน์อื่นมากกว่าเหมืองแร่ก็ตาม     

ต่อผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย หาก Mining Zone ถูกประกาศออกมาเป็นกฎหมายแร่ฉบับใหม่ ในส่วนของพื้นที่ที่เป็นแปลง ‘คำขอประทานบัตร’ อีก ๑๐๖ แปลง ประมาณ ๓๐,๐๐๐ กว่าไร่ รวมทั้งพื้นที่่ที่จะเปิดใหม่ตามนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำฉบับใหม่อีกหลายแสนไร่ ที่อยู่รายรอบตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ในท้องที่ตำบลและอำเภอใกล้เคีียงด้วย จะถูกขุดควักทำลาย และรถขนสินแร่ทองคำหลายร้อยคันต่อวันจะมุ่งสู่ภูทับฟ้าที่บ้านนาหนองบง พื้นที่ที่ประชาชนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน มีชีวิตอาศัยอยู่ ก็เพราะบนภูทับฟ้าไม่ได้มีแค่เหมืองแร่ทองคำอย่างเดียว แต่มีโรงประกอบโลหกรรม ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นโรงงานถลุงแร่และทิ้งกากแร่ที่มีสารไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบจำนวนมหาศาลเอาไว้บนภูแห่งนั้นอีกตราบนานเท่านาน 

ต่อปัญหาในทางขัดกันของนโยบาย ที่แทบจะเรียกได้ว่าย้อนแย้งสุดขั้ว รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. สนับสนุนให้หน่วยงานที่บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ดำเนินการขับไล่คนออกจากป่าด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา ไม่เว้นแม้กระทั่งการกลั่นแกล้งชาวบ้านด้วยการตัดโค่นยางพาราในพื้นท่ี่ทำกิน โดยอ้างการรักษาป่าต้นน้ำ ตามแผนแม่บทป่าไม้ และคำสั่ง คสช. หลายฉบับ แต่รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. กลับจะเฉือนทำลายพื้นท่ี่ป่าไม้หลายแสนไร่เอาไปทำเป็น Mining Zone ตามร่างกฎหมายแร่ที่กำลังผลักดันอยู่ในเวลานี้

ความรู้ทางกฎหมายที่นักศึกษากลุ่มดาวดินใช้หมู่บ้านรอบเขตเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยเป็นห้องเรียนเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะไม่ใช่กางตำราเอาตัวบทกฎหมายมาสอนชาวบ้าน แต่เป็นการเดินทางไปค้นหาปรัชญาของกฎหมายในเรื่องของความเป็นธรรม/ความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่มีในห้องเรียน จึงทำให้ความรู้ด้านกฎหมายที่นักศึกษากลุ่มดาวดินมีไม่เพียงตั้งอยู่บนพื้นฐานของตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมองเห็นความไม่เป็นธรรมของตัวบทกฎหมายด้วย ซึ่งเป็นการขยายความรู้วิชากฎหมายไปจากเพียงแค่ท่องตำรากฎหมายที่เน้นบทบัญญัติ คำพิพากษา ออกไปในระดับทฤษฎีและปรัชญาของกฎหมาย โดยเฉพาะการถกเถียง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมที่ฝังลึกอยู่ในตัวบทกฎหมาย

นี่แหละคือเหตุผลหนึ่งที่ดาวดินต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับชาวบ้าน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ