รัก (จำกัด) ในสังคมที่หลากหลาย

รัก (จำกัด) ในสังคมที่หลากหลาย

20162602201343.jpg

รัฐโรจน์ จิตรพนา
นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ในเมื่อเราเป็นประชาชนคนไทยเหมือนกัน เสียภาษีเท่ากัน แล้วทำไมเราเข้าถึงกฎหมายได้ไม่เท่ากัน” ประโยคนี้ถูกกล่าวขึ้นระหว่างการสนทนากับคู่รักคู่หนึ่งในสัปดาห์ของวันแห่งความรัก 

แล้วคุณคิดว่าทำไม?

การจดทะเบียนสมรส อาจเป็นตัวแทนของความรักที่มั่นคง แต่กับคนกลุ่มหนึ่ง แม้จะมีความรักต่อกัน การจดทะเบียนสมรสเหมือนคู่สามี-ภรรยายังคงเป็นเรื่องไม่สามารถทำได้ เพราะเป็น “ความรักต่อเพศเดียวกัน”

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ผู้คนในโลกออนไลน์เปลี่ยนภาพประจำตัวเฟซบุ๊กเป็นสีรุ้ง สัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองชัยชนะให้กับคู่รักเพศเดียวกัน เมื่อคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา มีมติ 5 : 4 เสียงรับรองสิทธิในการสมรสและการปกป้องที่เท่าเทียมของคู่รักเพศเดียวกัน นั่นหมายความว่าทั้ง 50 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกาคู่รักเพศเดียวกันจะได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนคู่รักเพศเดียวกันในไทย ยังคงทำได้เพียงการร่วมเฉลิมฉลองกับชัยชนะครั้งนั้น ซึ่งนำมาสู่การจุดประเด็นชวนสังคมพูดคุยถึงสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันให้ขยายวงกว้างขึ้นอีกครั้ง แต่การยอมรับสถานะความสัมพันธ์ที่นอกเหนือจากหญิง-ชาย ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการรรับรองตามกฎหมายในประเทศไทย

“ประการสำคัญคือ กฎหมายครอบครัวมรดก ยังมีเรื่องการเลือกปฏิบัติในระหว่างรักต่างเพศความที่เราใช้หลักการว่ามนุษย์มีแค่ 2 เพศ ถ้อยคำภาษาจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิตถ้าเราต้องการคุ้มครองทุกคน ไม่ควรระบุว่าเขาเป็นเพศใดยิ่งเราระบุเท่าไรก็ไม่สามารถครอบคลุมคนทุกคนได้”

นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร องค์กรที่ดำเนินงานส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านความเป็นธรรมทางเพศระบุชัดเจนถึงความสำคัญของการมี “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ที่จะปิดช่องว่างของความไม่เสมอภาคในกฎหมายครอบครัวมรดก ที่รับรองเพียงคู่รักหญิง-ชายเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ผู้คนมีความหลากหลายทางเพศมากกว่าเพียงหญิงและชายเท่านั้น

แล้วปัจจุบันความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตอยู่ในขั้นใด ?

เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองจากการรัฐประหาร ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาต่อ และได้มีร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับประชาชน ที่นำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างกันขึ้นมา

“ที่ผ่านมาการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อร่างฉบับของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนั้นยังไม่เพียงพอ จึงทำให้รายละเอียดยังไม่ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงเช่น รายละเอียดที่กำหนดว่าผู้จะจดทำเบียนสมรสต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์  และ ไม่ให้สิทธิคู่ชีวิตรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน” ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าว

จากการสนทนากับคู่รักเพศเดียวกัน พริษฐ์ ชมชื่นและจันทร์จิรา บุญศรี ที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมากว่า 3 ปี ต่างสะท้อนความกังวลทั้งต่อการที่ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกัน ไม่สามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาล ไม่สามารถลงชื่อยินยอมการรักษาพยาบาลให้กับคู่ชีวิตของตัวเอง ไม่สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ไม่สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ รวมทั้งไม่มีสิทธิในการรับมรดกเนื่องจากไม่สามารถได้รับการรับรองให้เป็นคู่ชีวิตที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ท่ามกลางความไม่มั่นคงของชีวิตคู่ ความต้องการของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันจึงถูกสะท้อนผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับของประชาชน เพื่อที่จะทำให้ร่างฉบับนี้ตรงตามความต้องการของทุกคนอย่างแท้จริง เพราะการจดทะเบียนสมรสไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของความรักและการแต่งงานเท่านั้น สิทธิที่ตามมาหลังจากการรับรองการเป็นคู่ชีวิตเป็นสิ่งที่ประชาชนควรมีอย่างเสมอภาคกัน 

… แต่สิทธิต่างๆ ยังคงถูกจำกัดด้วยเพศสภาพ ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ