การสมรสเท่าเทียม เรื่องที่เราไม่ควรละเลย

การสมรสเท่าเทียม เรื่องที่เราไม่ควรละเลย

   “การสมรสเท่าเทียม” เป็นการเปิดโอกาส สร้างความเสมอภาค และความเท่าเทียมให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรจะได้รับ 

ปัจจุบันมีคนหลากหลายทางเพศที่ไม่สามารถแต่งงานถูกต้องตามกฎหมายไทยและไม่ได้รับการรับสวัสดิการรัฐในเรื่องต่างๆ เกิดการผลักดันต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชน เกิด #สมรสเท่าเทียม ตามบนโลกโซเชียลมากมาย

     เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับต่างประเทศ ในเรื่องด้านกฎหมายการสมรส มีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง เห็นได้ว่า ประเทศไทยยังไม่ได้รับรองสิทธิในการสมรสกันระหว่างเพศเดียวกันหรือกลุ่ม LGBTQ+ แต่มีประมาณกว่า 30 ประเทศที่ยอมรับการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เนเธอแลนด์ ที่เปิดโอกาสให้คู่รักหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมเหมือนกับคู่สมรสชาย-หญิง

     กลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ยังไม่สามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในไทย รวมไปถึงเรื่องการได้รับสวัสดิการรัฐต่างๆ ผู้คนเหล่านี้ต้องเจอกับอุปสรรคในหลายๆด้าน ทั้งทางเรื่องกฎหมายและการยอมรับจากสังคม เกิดการผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. คู่ชีวิต เป็น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และมีความคิดเห็นเป็นสองฝ่าย คือ กลุ่มคนที่ยอมรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และกลุ่มคนที่ต่อสู้และต้องการผลักดันการสมรสเท่าเทียมให้ถึงที่สุด 

     หลังจากที่ได้มีการพูดคุยหรือสัมภาษณ์กับผู้ที่ต้องการขับเคลื่อนการสมรสเท่าเทียม รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า ผู้สื่อข่าว ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ได้ให้ความเห็นความแตกต่างในประเด็น พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากคู่รัก LGBTQ+  เนื่องจากโดยภาพรวมแล้ว ร่างฯ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังไม่ให้สิทธิคู่ชีวิตเท่ากับคู่สมรสชาย-หญิงในบางประเด็นที่สำคัญมาก เช่น 

  • 1) สิทธิในการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลของคู่รัก เช่น กรณีนาย A ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัส แล้วหมอต้องการการตัดสินใจทันทีว่าจะรักษาอย่างไร จะต้องให้ญาติที่สืบสันดารเท่านั้น ส่วนนาย B ที่เป็นคู่ชีวิต ไม่สามารถตัดสินใจแทนได้ทางกฎหมาย
  • 2) ไม่สามารถรับสิทธิรักษาพยาบาลของอีกฝ่าย ที่เป็นข้าราชการได้ 
  • 3) สิทธิในการขอสัญชาติไทยให้กับคู่ชีวิตกรณีเป็นชาวต่างชาติ 

     ในเวลาเดียวกันรุ่งโรจน์ สมบุญเก่า เห็นว่า ความยากลำบากและความท้าทายในการผลักดันการสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย มาจากการที่ภาครัฐมักจะชี้แจงว่าประเทศเรายังใหม่กับเรื่องนี้ มีเหตุผลด้านศีลธรรม ความมั่นคง งบประมาณ และขอให้ไทยใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตไปก่อน หากพิสูจน์ได้ว่าไม่ขัดกับข้อที่กล่าวมา อนาคตก็อาจจะปลดล็อก แก้ไขมาตรา 1448  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.1448) คล้ายกับอังกฤษมีการผ่านกฎหมายให้มีการจดให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ในปี พ.ศ. 2557 ความท้าทาย คือ เราจะลบมายาคติว่าการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ ทั้งในทางสังคมและทางกฎหมาย มีเพียงพ่อ แม่ ลูก จริงหรือไม่ 

     รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า ได้กล่าวถึงส่วนของการผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่า หลักๆแล้วตอนนี้มีอยู่ 2 ฉบับที่ต้องลุ้นต่อตามกลไกทางกฎหมาย คือ 

  • 1) ฉบับแรกเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล ล่าสุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรขอรับไปศึกษาก่อนส่งกลับคืนให้สภาฯ พิจารณารับหลักการภายใน 60 วัน
  • 2) ฉบับที่ 2 เรียกว่าสั้นๆว่า สมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน ยังสามารถลงชื่อสนับสนุนผ่าน  https://www.support1448.org  ซึ่งตามกฎหมายจะต้องมีประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ จึงสามารถเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อรัฐสภาได้ แต่ทางเครือข่ายต้องการให้ได้ 3 แสน รายชื่อ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 2.9 แสนคนแล้ว

    เพื่อให้สังคมไทยยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ผู้ที่เห็นด้วยในการผลักดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน ยังคงสามารถลงชื่อเพื่อร่วมกันเป็นเสียงหนึ่งในการสร้างสังคมที่เคารพในสิทธิความเป็นคนของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ