เสียงสภาประชาสังคมขี้เหล็ก-ยางนา กับ 3 นวัตกรรมดูแลถนนสายยางนา เชียงใหม่

เสียงสภาประชาสังคมขี้เหล็ก-ยางนา กับ 3 นวัตกรรมดูแลถนนสายยางนา เชียงใหม่

พี่น้องใต้ต้นยางนา ในอำเภอสารภี อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ นักวิชาการ หน่วยงานรัฐ ท้องถิ่นและภาคประชาสังคม ราว 120 คน ยกมือเห็นด้วยต่อการนำนวัตกรรมมาทดลองใช้เพื่อดูแลต้นยางนาภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ทดลองเมืองนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในเวทีประชาสังคม สภายางนาขี้เหล็กครั้งที่ 4/2565 ที่จัดขึ้นวันนี้ (13 ก.ย. 65) ณ วิทยาลัยเทคนิคสารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่

ประชาชนในพื้นที่ร่วมยกมือสนับสนุนการใช้นวัตกรรมดูแลยางนา

ชวนไปทำความรู้จักกับ 3 นวัตกรรมที่จะถูกนำมาทดลอง และใช้ในการดูแลถนนสายยางนาซึ่งมีต้นยางนาอายุกว่าร้อยปี ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106

นายมนัสพงษ์ มั่งไคร้ ตัวแทนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสังคมให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งใน จ. เชียงใหม่เองก็มีมีเทคโนโลยีนวัตกรรมอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก จึงได้ทำโครงการห้องทดลองเมืองนวัตกรรม หรือ City Lab โดยเอานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ กระบวนการมาใช้ในพื้นที่เมือง ทดลองใช้ในเวลาสั้นๆ เพื่อยืนยันว่านวัตกรรมสามารถปรับใช้ได้จริง สามารถแก้ปัญหาพื้นที่ได้ แต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากรัฐในพื้นที่ และสถาบันการศึกษา รวมถึงภาคประชาสังคมและคนในพื้นที่

“ยางนา ยังมีหลายเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน แต่การทดลองเองก็ไม่ได้ลึกถึงตัดสินใจว่าต้องทำอย่างไร แค่ดูแล ประเมินสุขภาพ เป็นข้อมูลให้รับทราบ ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ”

เติมข้อมูล 3 นวัตกรรมที่จะช่วยดูแลถนนและต้นยางนา

1

นายปิยะพงษ์ บุษบงก์ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายถึงนวัตกรรมที่ 1 คือ ระบบเตือนภัยแรงลม หากต้นยางนาในพื้นที่เจอแรงลมมาปะทะจะนำไปสู่การหักโค่น หรือถ้ามีการเสียดสีกันมากก็มีโอกาสล้มครืนตามกันไป เสนอแนวทางแก้ปัญหาและรับมือ เปลี่ยนจากการพยากรณ์โดยอิงจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่อยู่ห่างไกลจะไม่ค่อยแม่นยำในการนำมาพยากรณ์ในพื้นที่โดยตรง จึงน่าจะมีเครื่องมือในการพยากรณ์พายุล่วงหน้าของพื้นที่เอง

เทคโนโลยีนี้ จะคล้าย ๆ เสาทีวี เสาอากาศ ที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นที่สูง เช่น ที่วิทยาลัยเทคนิคสารภีก็สามารถทดลองตั้งได้ หรือติดตั้งกับเสาสัญญาณมือถือ จะสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าพยากรณ์ได้ 24 ชั่วโมง อ้างอิงจากต่างประเทศที่หากแรงลม 88 กม./ชม มีโอกาสให้กิ่งต้นยางนาหัก หรือไปขัดสี เพิ่มแรงเสียดทานให้ล้มครืนลงได้ แต่ระบบทำได้แค่แจ้งเตือน จากเซนเซอร์ ยังต้องอาศัยระบบแจ้งเตือนจากหน่วยงานในพื้นที่ ส่งผ่านทางผู้นำที่จะแจ้งเตือนคนในพื้นที่ ซึ่งอาจจะแจ้งผ่านเสียงตามสายหรือไลน์

“ระบบเตือนภัยแรงลมไม่ได้สำเร็จรูปในตัวเอง ทำได้เพียงแจ้งเตือน ต้องอาศัยการจัดการหรือการเผชิญเหตุจะอยู่ที่ศักยภาพของพื้นที่ในการจัดการ แต่เราสามารถเฝ้าระวังและจัดการได้ ซึ่งหากแรงลมปะทะเกิน 120 กม./ชม. อาจจะต้องห้ามการสัญจรในพื้นที่ ระบบเตือนจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจของหน่วยงานในพื้นที่ได้”

แบบจำลองระบบเตือนภัยพายุ

2

ผศ.ดร บรรจง สมบูรณ์ชัย นักวิชาการ ม.แม่โจ้ กล่าวถึง นวัตกรรมที่สอง คือ  เครื่องมือที่จะเอามาช่วยตรวจสุขภาพต้นยางนา เปรียบเสมือนตอนเราป่วยเราไปหาหมอได้ เพราะต้นไม้เขาอยู่กับที่ ทำอย่างไรให้รู้ว่าป่วย หรือยังสมบูรณ์แข็งแรง เราสามารถตรวจสุขภาพต้นไม้โดยใช้ระบบสแกนลำต้น และราก เพราะต้นไม้มีโครงสร้าง 2 ส่วน สิ่งที่เห็นภายนอกและสิ่งที่มองข้างนอกไม่เห็น เช่น ด้านในลำต้นหรือระบบราก ซึ่งช่วงที่ต้นยางนาล้มก็ได้ไปชันสูตรดู พบว่ารากกลวง หดสั้น ด้วน แต่มองจากภายนอกเราไม่เห็นเพราะมียางมะตอย คอนกรีตปิดทับอยู่

ที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จึงต้องมาทำแผนคุยกับทางอบจ.เชียงใหม่ และเห็นว่ามีเครื่องมือที่ต่างประเทศใช้ คือ Tree Radar Scan เมื่อสแกนหรือเอกซเรย์แล้วเห็นข้างใน ตอนนี้อบจ.เชียงใหม่สั่งมาแล้ว เครื่องมืออยู่ที่แม่โจ้ ซึ่งทางทีมและนักศึกษาฝึกฝนการใช้งานมาครึ่งปีแล้ว จะเอามาขยายผล ทดสอบ จะทำให้เห็นว่าต้นยางต้นไหนสุขภาพไม่ดี ก็จะส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือในการจัดการต่อ

เครื่องมือในการประเมินสุขภาพต้นไม้

ในการประเมินสุขภาพต้นไม้ทางหมอต้นไม้จะใช้สายตาดูภายนอก ทรงพุ่ม กิ่งก้าน มีแบบฟอร์มประเมินแต่ละต้น  พร้อมจัดทำประวัติ จากนั้นจะใช้เครื่องสแกนระบบราก ซึ่งการทำงานจะต้องปิดการจราจรในบางส่วน โดยจะมีขั้นตอน ทำแผนที่ เมื่อประมวลผลจะได้ข้อมูลมาเป็นระบบรากเพื่อมาประเมินอีกที

ส่วนตัวลำต้นจะใช้ขดลวดและใช้ค้อนเคาะ ใช้เสียงโซนิค ถ้ามีเสียงก้อง สะท้อนก็จะมีปัญหา มีโพลงก็จะมาดูผลประมวลอีกที สามดูพื้นดิน แล้วจะส่งข้อมูลให้อบจ.เชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้อบจ.เชียงใหม่จะเป็นเจ้าภาพสแกนทั้งหมด เพื่อจะเป็นข้อมูลให้คนจัดการต่อไป

3

นายชวิศ หาญพิทักษ์กุล บริษัท เอเชี่ยนแอสฟัลท์ จำกัด ได้นำเสนอถึงนวัตกรรมที่สาม นวัตกรรมยางมะตอยดูแลต้นไม้ พบว่าปัญหาคือต้นยางนาบนถนนสายนี้ คือถูกคลุมด้วยถนน และคอนกรีต ทำให้ต้นไม้ไปหาอาหารได้ยาก สังเกตจากกิ่ง ต้นไม้ทางถนนไม่ค่อยโต พอรากไม่โตทางถนน ต้นไม้ก็จะล้มไปทางที่อยู่อาศัย จึงต้องให้รากเติบโต สมบูรณ์และสามารถพยุงตัวเองได้ ส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยได้ คือ ยางมะตอยมีพรุน ที่ยังคงความแข้งแรงไว้ แต่น้ำ แร่ธาตุกับอากาศ สามารถผ่านยางมะตอยไปได้ รากก็จะเติบโต แข็งแรง อีกส่วนหนึ่งพอน้ำลงไปในดินแล้วไม่สามารถระบายความชื้นเพราะถนนปกคลุม ต้นไม้ไม่สามารถหายใจได้ ก็จะส่งผลให้รากเน่า

“เราปล่อยให้น้ำลงไปได้ แต่ต้องทำระบบให้ออกด้วย โดยยางมะตอยพรุนตัวนี้ไม่ใช่ตัวใหม่ แต่เป็นมาตรฐานที่กรมทางหลวงมีอยู่แล้ว จะออกแบบให้ตรงนี้มาใช้และออกแบบระบบที่เกี่ยวข้องให้ต้นไม้สามารถหาอาหารเองได้ ข้อดีคือเปิดโอกาสให้ต้นไม้หาอาหารเองได้ และตัดน้ำออกเพื่อให้ไม่มากเกินไป แต่ทั้งนี้ต้องมีระบบมารองรับเพิ่มจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกับทางอบจ. เชียงใหม่”

นวัตกรรมยางมะตอยดูแลต้นไม้

นางสาวอัญริฬห์ ทิพย์ธนวิกรม หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลหนองผึ้ง กล่าวว่า เทคโนโลยี 3 อย่างเป็นสิ่งที่ดี เป็นนวัตกรรมที่ช่วยยางนา ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและเช็คดูสุขภาพ สามารถดูแนวโน้มโอกาสที่จะเกิดขึ้น เทศบาลหนองผึ้งก็มีต้นยางนาอยู่ในเขตพื้นที่ 200 กว่าต้น เราเคยมีต้นเอื้องผึ้ง ตอนนี้ก็ได้ทำการอนุบาลให้คงอยู่คู่ต้นยาง อยู่ระหว่างการติดและไม่ได้ไปทำลายต้นยาง

ส่วนเรื่องของอุบัติเหตุเป็นพื้นที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ทั้งเรื่องต้น กิ่งหักโค่น เป็นเทศบาลเป็นหน่วยแรกที่ต้องรับทราบ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือ สิ่งแรกที่ดำเนินการคือที่อยู่อาศัย ส่วนทรัพย์สิน รถ ชีวิตของประชาชนที่เดินทางสัญจรจะประสานไปยังอบจ.เชียงใหม่ต่อไป ด้านการดูแลเราพยายามดูแล สังเกต กิ่งแห้งและแจ้งเหตุไปที่อบจ. เขาก็ส่งเจ้าหน้าที่มาตัด ลิดกิ่งที่อาจจะเป็นอันตราย เพราะการอนุรักษ์และพัฒนาให้ถนนสัญจรปลอดภัยต้องทำควบคู่กัน

ประชาชนที่มาร่วมรับฟังความคิดเห็น

น.ต.เวียด โบสถ์ทอง ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการอบรมอาสาสมัครพิทักษ์ยางนามาหลายรุ่น ภาระหน้าที่ตามชื่อคืออาสาสมัครช่วยกันดูแลต้นยาง เรามีความเป็นห่วงว่าต้นยางถนนที่สวยที่สุดในไทย ส่วนตัวเป็นห่วงว่าต้นยางล้มตายไปเรื่อย ๆ ทั้งจากบ้านเรือน สิ่งก่อสร้าง ทำให้รากไปหาอาหารไม่ได้ ก็ล้มตายไป

ในนามของประชาชนในพื้นที่ก็เห็นด้วยในการทำนุบำรุงให้ต้นยางงอกงาม เราได้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีถนนสวยที่สุดในประเทศไทย แต่จะเห็นว่าริมถนนยังรุงรังมาก น่าจะตกแต่งให้สวยงาม  อีกเรื่องความปลอดภัยของผู้คนเดินทางสัญจร หากขี่จักรยานยนต์ ก็ต้องสวมหมวกนิรภัย ถ้าโดนหมวกจะช่วยได้บ้าง ตรงนี้ไม่อยากให้ละเลย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ