ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตถนนยางนา

ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตถนนยางนา

เมื่อพูดถึงถนนยางนา ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน เรานึกถึงอะไร ?

และนี่คือส่วนหนึ่งของผลสำรวจความเห็นผู้คนจากโลกออนไลน์

“ฟังเสียงประเทศไทย” อยากให้เราได้ฟังกันและกันให้มากๆ และอีกประเด็นที่เราชวนมาแลกเปลี่ยนกัน เป็นเรื่องสำคัญของเมืองเชียงใหม่ อีกหนึ่งเรื่อง นั้นคือ เรื่องของต้นยางนา บนถนน เชียงใหม่ -ลำพูน ที่มีอายุ100 กว่าปี เกือบๆ จะ 150 ปีแล้ว ซึ่งนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้กับพื้นที่อื่นๆ ที่จะมีความเหมือนหรือใกล้เคียงกัน

ถนนสายนี้สำคัญที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยของผู้คน และยังเป็นแลนด์มาร์คสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์เพราะมีที่เดียว

แต่มีโจทย์ที่ต้องแก้คือ อายุของยางนาที่มาก และชุมชน คนที่อยู่โดยรอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการดูแลอย่างทันท่วงที และนี่คือโจทย์ที่เราจะมองภาพอนาคตของถนนยางนานี่ร่วมกัน

3 ฉากทัศน์ ภาพอนาคตความเป็นไปได้ของถนนสายนี้

หากต้องเลือกและมีโอกาสเลือกคุณจะเลือกฉากทัศน์ไหน?

กล้วยใต้ ผลไม้ท้องถิ่นทางเหนือ ทานความหมายย่านที่พักอาศัยคุณภาพดี เน้นการอยู่อาศัยแบบเดิมทั้งหมดโดยลดปริมาณของรัฐส่งเสริมการใช้ถนนโลคัลไรด

ทุเรียนหมอนทอง ผลไม้ดีขึ้นซื้อมีราคา แทนความหมายของย่านการค้าร่วมสมัย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญส่งเสริมการค้าขายและเศรษฐกิจท้องถิ่น

ลำไยสีชมพู ผลไม้เฉพาะถิ่นขึ้นชื่อของภาคเหนือ แทนความหมายว่าเป็นย่านท่องเที่ยวเอกลักษณ์ เน้นคนอยู่อาศัยเดิมและผู้อาศัยใหม่ที่เห็นคุณค่าของพื้นที่ราบต้นยางโดยเป็นกลุ่มที่ยอมรับได้กับข้อจำกัดที่เกิดขึ้น

“การมีอยู่และอนาคต” ต้นยางนาริมถนนสาย 106 เชียงใหม่-ลำพูน อายุร้อยกว่าปี

ถนนสายรุกขมรดก ยางนาบนถนนสาย 106 เชียงใหม่ -ลำพูน

ต้นยางนา ถ.สายเชียงใหม่-ลำพูน เริ่มปลูกครั้งแรก พ.ศ.2425 ตั้งแต่บริเวณเชิงสะพานนวรัฐ อ.เมืองเชียงใหม่ ถึงเขต จ.ลำพูน ตลอด 2 ข้างทางในเขต จ.เชียงใหม่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์

ปัจจุบันต้นยางนามีอายุ 140 ปี

นับจากที่เริ่มปลูก พ.ศ. 2425 เริ่มปลูกครั้งแรกบนถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูนร่วมระยะทาง 13 กิโลเมตร  ข้อมูลจากการบันทึกไว้ของกรมป่าไม้ มีจำนวนต้นยางนา 1,106 ต้น

ต้นยางนาอายุกว่าร้อยปี เผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งถนนหนทางที่มีรถสัญจรสเทือนรากตลอด 24 ชั่วโมง ผนวกกับการขยายตัวของเมืองจนเปลี่ยนถนนทั้งย่าน จนกลายเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและย่านเศรษฐกิจ ด้วยอายุที่มากและการพัฒนาเมือง ส่งผลต่อต้นยาง จากที่มี อยู่ 1,106 ต้น ปัจจุบันเหลือ 923 ต้น

ย้อนไทม์ไลน์ เกิดอะไรขึ้นบ้างกับต้นยางนา

  • พ.ศ.2546 จ.เชียงใหม่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต้นยางนา บริเวณถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เพื่อพิจารณาหาแนวทางพิจารณาแก้ไขปัญหา แก่ประชาชนที่อาศัยบริเวณสองข้างทาง และผู้ใช้เส้นทางให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลวิธีการและแนวทางที่ถูกต้องในการบำรุงรักษา อนุรักษ์ต้นยาง ให้สามารถคงอยู่ต่อไปโดยไม่เกิดปัญหาแก่ประชาชน

นับแต่นั้นเป็นต้นมา หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์ต้นยางนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้เข้ามามีบทบาทผลักดันมูลนิธิรักษ์ยางนา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการดูแลต้นยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูนมากขึ้น

จ.เชียงใหม่ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต้นยางนา บริเวณถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ตามคำสั่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๑๐๑๑/๒๕๔๖ เมื่อวันที่ ๒๕ เม.ย. พ.ศ. 2546 โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานกรรมการ เพื่อพิจารณาหาแนวทางพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวแก่ราษฎรที่อาศัยบริเวณสองข้างทาง และผู้ใช้เส้นทางให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลวิธีการและแนวทางที่ถูกต้องในการบำรุงรักษา อนุรักษ์ต้นยางให้สามารถคงอยู่ต่อไปโดยไม่เกิดปัญหาแก่ประชาชน

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เห็นถึงความสำคัญของการดำรงอยู่ของต้นยางนาจึงจัดสรรงบประมาณจำนวน 592,000 บาท มาให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ร่วมกับกลุ่มพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ฝ่ายวนวัฒนวิจัยและพฤกษศาสตร์ ทำศัลยกรรมบาดแผลต่าง ๆ ของต้นยางนาเพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการจำนวน 100 ต้น

  • 16 ม.ค.พ.ศ. 2547 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 182,600 บาท สำหรับจัดงานพิธีเปิดโครงการอนุรักษ์ต้นยางนาสองข้างถนนสายเชียงใหม่- ลำพูน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิด ณ บริเวณสวนสุขภาพเทศบาล ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และจัดสรรงบประมาณจำนวน 500,000 บาท ให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ดำเนินการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง
  • พ.ศ. 2548 แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 2 ได้ส่งมอบพื้นที่ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูนและต้นยางนาสองฝั่งถนน ให้อยู่ในความรับผิดชอบดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลในพื้นที่ช่วยดูแลด้วย

และตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา กรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้จัดสรรเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับโครงการการอนุรักษ์ต้นยางนา ตามแผนงานต่อเนื่องที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เสนอขอแต่อย่างใด

แต่ได้เสนอของบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการต่อมาในปีงบประมาณ 2553 และ 2555 โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการสำรวจต้นยางนาทุกต้น พร้อมร่างจัดทำแบบภูมิทัศน์

  • 21 มิ.ย.พ.ศ.2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับต้นยางนาในพื้นที่ อ.สารภี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดห้องเรียนคอมพิวเตอร์พระราชทาน ณ ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ณ ศูนย์สุขภาพระรินจินดา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ไว้ว่า“ฝากผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ อย่าให้ใครตัดต้นยางที่ถนนเชียงใหม่-ลำพูน เพราะไม่มีที่ไหนอีกแล้ว”
  • พ.ศ. 2554 ชุมชนทั้ง 5 เทศบาลตำบลและเทศบาลนครเชียงใหม่ ตลอดสายถนนต้นยางนาเชียงใหม่-ลำพูน ได้เริ่มรวมกลุ่มจัดตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ต้นยางนา พร้อมเสนอการปลูกต้นยางนาเฉลิมพระเกียรติฯ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 9 ต้น ต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่จึงได้ร่วมกับส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้ให้การสนับสนุน โดยจัดทำโครงการปลูกต้นยางนาเฉลิมพระเกียรติฯ 84 พรรษา ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบขึ้น ในวันที่ 4 ธ.ค.พ.ศ.2554 โดยต้นยางนาได้มาจากประชาชน รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.ชม.)ในการขนส่งต้นยางนาและการจัดพิธีการเฉลิมพระเกียรติฯ

  • พ.ศ.2556 -2557 มีการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ และการจัดการพื้นที่สีเขียวเมืองเก่าเชียงใหม่ ตามแนวคิดนิเวศประวัติศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม พื้นที่ดำเนินการ คือ พื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ 5 ชุมชน และเทศบาลตำบลยางเนิ้ง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นพื้นที่นำร่อง มีเครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ร่วมกับโครงการหมอต้นไม้อาสา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันดำเนินงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม
  • 27 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุวาตภัย ต้นยางนาหมายเลข 104ที่ถูกต้นโพธิ์และต้นไทรหุ้ม โค่นล้มพาดถนน บริเวณหน้าตลาดหนองหอยในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
  • 23 เมษายน 2558 เวลา 21.18 น. เกิดเหตุพายุทำให้ต้นยางนาหักครึ่งท่อน บริเวณหน้าขนส่งหนองหอย

ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

  • 17 ก.ค. พ.ศ.2558 ได้มีการประกาศเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ ต้นยางนาและต้นขี้เหล็ก โดยคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ 172/2558 โดยอำนาจตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดให้พื้นที่ที่วัดจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน ออกไปด้านละ 40 เมตร ตั้งแต่ลำเหมืองพญาคำ อ.เมืองเชียงใหม่ ถึงสุดเขต ต.อุโมงค์ อ.ลำพูน จ.ลำพูน ในท้องที่ ต.วัดเกต ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ ต.หนองผึ้ง ต.ยางเนิ้ง และ ต.สารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และในท้องที่ ต.อุโมงค์ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูนเป็นพื้นที่ ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
  • 20 เมษายน 2559 เวลา 15.30 น. ได้เกิดฝนตก และลมกระโชกแรง ต้นยางหมายเลข 92 หักขวางถนน ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
  • 17 พฤษภาคม พ.ศ.2559 เกิดพายุหมุนโค่นต้นยางนา 5 ต้น สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนชาวบ้านสองฝั่งถนนเป็นอย่างมาก และในวันที่ 8 มิ.ย. พ.ศ.2559 คณะกรรมการคุ้มครองยางนาฯ จึงได้ประชุมหารือถึงมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนแก่ประชาชน
  • พ.ศ.2560 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูต้นยางนา ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม อ.สารภี ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ประจำปีงบประมาณ
  • พ.ศ.2560 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศให้ต้นยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูนบริเวณหน้าวัดสารภี ได้เป็น 1 ใน 65 แห่ง ในโครงการ “วัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” ซึ่งถือว่าเป็นการตอกย้ำความสำคัญและศักยภาพของพื้นที่เป็นอย่างดี รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของการท่องเที่ยวที่เน้นให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น
  • 7 พฤษภาคม 2563 เวลา 20.30 น. เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรงในพื้นที่อำเภอสารภี มีผลทำให้ต้นยางนาหมายเลข 344และ 384 ด้านฝั่งตะวันออก ล้มทั้งต้น ในเขตเทศบาลตำบลยางเนิ้งบริเวณหมู่ 5 บ้านศรีโพธิ์ธาราม และหมู่ 7 บ้านต้นเหี่ยว
  • 7 – 14 ตุลาคม 2563  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 403 ราย ในหัวข้อ “ต้นยางนา ถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน เอกลักษณ์หรือปัญหา?” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ถึงความคิดเห็นที่มีต่อต้นยางนาในบริเวณนั้น

พบว่า ประชาชนชาวเชียงใหม่และผู้สัญจรผ่านเส้นทางถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.81 รู้จักหรือเคยเดินทางผ่านถนนสายต้นยาง มีเพียงร้อยละ 11.19 เท่านั้นที่ไม่รู้จัก และ/หรือไม่เคยเดินทางผ่านถนนสายเก่า เชียงใหม่-ลำพูน

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่ามีเพียงร้อยละ 41.54 เท่านั้นที่ทราบถึงประวัติความเป็นมาของต้นยางนาบนถนนสายเก่า เชียงใหม่-ลำพูน ในขณะที่ร้อยละ 58.46 ไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมา

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนชาวเชียงใหม่ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นยางนาต่อผู้อยู่อาศัย/ผู้สัญจรผ่านถนนสายดังกล่าว พบว่าประชาชนร้อยละ 54.23 เห็นว่าต้นยางนาไม่ได้เป็นปัญหา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากต้นยางนาเป็นเอกลักษณ์ของถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน (ร้อยละ 68.81) เห็นว่าต้นยางนาสร้างความร่มรื่นให้กับบ้านเรือน/ร้านค้าบนถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน (ร้อยละ 38.53) เห็นว่าต้นยางนาทำให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์เรื่องราวที่ผ่านมาในอดีตตั้งแต่การก่อสร้างถนน (ร้อยละ 36.24) และเห็นว่าต้นยางนาจะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ (ร้อยละ 29.82)

ในขณะที่อีกร้อยละ 45.77 เห็นว่าต้นยางนาเป็นปัญหา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากกิ่งหรือต้นของต้นยางล้มทับถนนกีดขวางเส้นทางจราจร (ร้อยละ 58.70) เนื่องจากกิ่งหรือต้นของต้นยางล้มทับบ้านเรือน/ร้านค้าของชาวบ้าน (ร้อยละ 52.17) ต้นและรากของยางนากีดขวางเส้นทางจราจร อาจทำให้เกิดอุบัติได้ (ร้อยละ 52.17) และต้นและรากของต้นยางนาทำให้ไม่สามารถขยายช่องทางจราจร (ถนน) ได้ (ร้อยละ 22.83)
เมื่อถามถึงแนวทางในการจัดการต้นยางนาที่มีอายุและทรุดโทรมลงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 61.22 เห็นว่าควรมีการอนุรักษ์/ฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิมที่สมบูรณ์ ในขณะที่ ร้อยละ 34.44 เห็นว่าควรมีการตัดแต่งกิ่งต้นยางนาบางส่วนออก และมีเพียงร้อยละ 4.34 ที่เห็นว่าควรตัดต้นยางนาทิ้งทั้งหมด

  • 1 ตุลาคม 2564 เวลา เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรงในพื้นที่อำเภอสารภี ผลทำให้ต้นยางนาโค่นล้ม 10 ต้น พร้อมกับต้นสนและต้นสะเดา บ้านเรือนชาวบ้านเสียหาย
  • 12  ตุลาคม 2564  ประชุมครั้งแรกของปีของคณะอนุกรรมการคุมครองสิ่งแวดล้อมฯ โดยมีข้อเสนอในการจัดการกับต้นยางนา 3ระยะ  ระยะเร่งด่วน : เยี่ยวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ทั่วถึง /จัดการแต่งกิ่ง ลดทอนความสูง กิ่งก้านสาขา 30 ต้นเร่งด่วนเพื่อลดความสบายใจของประชาชนในพื้นที่/ รีบจัดให้มีระบบเเจ้งเตือนภัย วัดแรงลม ฝน แล้วมีแผนซ้อม ระบบมีเสียงเตือน คนในพื้นเสี่ยงหาที่หลบ ปิดถนนลดอุบัติเหตุ /รับข้อเสนอให้มีการเปิดสภาพลเมือง หาทางออก สร้างทางเลือกในการอยู่ร่วมกับต้นไม้ใหญ่

ระยะกลาง : -บำรุงต้นไม้ ให้สมบูรณ์ แต่ละต้นไม่เหมือนกัน โดยให้มีการสำรวจด้วยเครื่อง Tree radar scan ที่มีเครื่องแรกของประเทศ (อบจ.เร่งจัดซื้อ ส่งมอบภายใน2เดือน) ระยะยาว : พิจารณาเรื่องการใช้ถนน จำกัดการเดินรถ เน้นใช้ถนน local road เรียบทางรถไฟเป็นหลัก

  • 15 ตุลาคม 2564   เกิดเวทีสภาพลเมืองรับฟังเสียงประชาชนแบบออนไลน์เพื่อหาทางออกและจัดการกับต้นยางนาของทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่

ปัจจุบันต้นยางนาสองฝั่งถนน ได้รับผลกระทบจากแนวทางการพัฒนาเมืองในอดีต ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับมิติทางสิ่งแวดล้อมมากเท่าที่ควร จนนำไปสู่การเริ่มทรุดโทรม หักโค่น ล้มตาย สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน ร้านค้า และผู้ใช้เส้นทางสัญจรไปมา

สถานการณ์ปัญหานับวันจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากขาดความสม่ำเสมอในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการฟื้นฟู ดูแล และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าจากกรณีต้นยางนาหักโค่น

รวมทั้งสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างประชาชนที่อยู่ใต้ต้นยางนา ที่ต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของผู้คนเป็นอันดับแรก ในขณะที่ประชาชนที่อยู่ห่างจากต้นยางออกไปมีความเห็นว่าต้องอนุรักษ์ต้นยางนาเอาไว้ก่อนเป็นประการแรก

คลิป ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับถนนสายยางนา

เสียงจากคนในพื้นที่

ด.ญ.ทวิพาน ปันแปรง หนูอยากให้ถนนสายนี้ลดปริมาณพาหนะถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงไปใช้เส้นทางเรียบรางรถไฟ และอยากให้มีเจ้าหน้าที่ให้ดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพราะว่ามีการเกิดอุบัติเหตุ และเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดเมื่อไหร่ อยากให้เจ้าหน้าที่มาดูแล

คุณบุญชู เทพสุนทร อยู่บ้านปากกอง หมู่3 สารภี ได้รับผลกระทบคือต้นยางล้มในบ้าน ผมเห็นถนนสายนี้ สายต้นยางนี้อยากจะอนุรักษ์ และไม่อยากให้ต้นใดต้นหนึ่งตายหรือล้มไป อยากเห็นเป็นสายแรกและสายเดียวใประเทศเราให้เป็นที่สวยงาม จะปลูกทดแทนคงยากเพราะอายุเป็น 100 ๆ ปีมาแล้ว ควรจะต้องรักษาและเร่งดำเนินการในการดูแลรักษา หากองทนมาบริหารจัดการในการดูแลรักษา

คุณอินทิรา เขิญคำ เติบโตที่ปากกอง สารภี อยู่ใต้ต้นยางมา 60 กว่าปี อยากให้เขามาอนุรักษ์อยากให้เขามาดูแลต้นไหนที่อายุมากแล้วควรจะทำยังไง แบ่งเบาภาระคนที่อยู่ข้างล่างต้นยาง อยากให้มีหน่วยงานมาดูแลเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาด้วย

คุณรดา ชัยวงศ์ อยู่สายต้นยางมา 60 กว่าปี เห็นถนนสายต้นยางนี้มีความร่มเย็นตั้งแต่เด็กมาแล้ว เราก็ใช้ประโยชน์จากต้นยางมาตั้งแต่เล็ก อยากให้แต่ละองค์กรมาช่วยกันอนุรักษ์ ให้เป็นถนนสายวัฒนธรรม ที่งดงามขึ้นไป

คุณดำรง โพอิน อยู่บ้านปากกอง สารภี ผมใช้ถนนเส้นนี้มาประมาณ 70 กว่าปีแล้ว ผมอยากให้ทางหน่วยงานราชการที่อยู่ใกล้ทางถนนเส้นนี้ ช่วยดูแลเป็นหูเป็นตาให้คล้ายๆว่าช่วยเป็นการอนุรักษ์มาช่วยกันรณรงค์ให้มีคนออกมาช่วยกันปกปักรักษา ถนนเส้นนี้ตลอดไป

คุณสุรินทร์ มวลเทพ ประชาชนชาวหนองผึ้ง อยู่ที่นี่ 30กว่าปีรู้สึกว่าต้นยางนี้มันก็สวยงามแต่ก็อันตรายก็มีเยอะแต่ก็อยากให้อนุรักษ์ต่อไป ให้อยู่คู่กับบ้านเราต่อไป

คุณสุรพล อนุสรพรพงศ์ รองผอ.โรงเรียนวัดเวฬุวัน ผมเป็นคนดอยสะเก็ด ผมมีความภาคภูมิใจในถนนเส้นต้นยางเพราะว่า ผมเป็นคนที่จะนำความสวยงามของต้นยางไปบอกเพื่อนๆที่อยู่ต่างจังหวัด แต่ว่าตั้งแต่ผมมาอยู่โรงเรียนนี้ 17 ปี ผมเห็นว่าต้นยางเรามันจะตายลงเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าที่เรามานั่งคุยกันตรงนี้ ผมก็มีความหวัง

นี่คือส่วนหนึ่งของเสียงประชาชนในพื้นที่ที่ร่วมเเสดงความเห็น ต่อถนนสายยางนา ในมุมของคนที่อยู่และใช้ชีวิตร่วมกับต้นยางนา

ชวนชมและชวนฟังอย่างตั้งใจคลิ๊กชมได้ที่…..

หากมองภาพอนาคต ภายใต้ฉากทัศน์ทั้ง3แต่ละท่านมองอย่างไร

ชวนแลกเปลี่ยน มุมมองจากตัวเเทนประชาชนในพื้นที่ 3 คน 3 มุมมอง ภายใต้ 3 ฉากทัศน์ภาพอนาคตที่พอเป็นไปได้

“แต่ละคนมองอนาคตของถนนยางนาในมุมต่างกัน ทิศทางไหนที่ควรจะเป็น”

  • คุณจุลจิรา คำปวง : ตัวแทนประชาชน กลุ่มคนใต้ต้นยาง
  • คุณสมชัย เบญจชย : อดีตนักวิชาการป่าไม้ สมาคมยางนา -ขี้เหล็กสยาม
  • คุณวรพรรธน์ ชุติมา : รองประธานหอการค้า จ.เชียงใหม่ ตัวแทนภาคเอกชนนักธุรกิจในพื้นที่

คุณจุลจิรา คำปวง ตัวแทนประชาชน กลุ่มคนใต้ต้นยาง

อยากเห็นต้นยางอยู่ต่อไป เพียงตัดให้มันมีความปลอดภัยมากขึ้น ปรับภูมิทัศน์วิศวกรรมจราจรให้ดียิ่งขึ้น บริหารจัดการจราจร สารภีคือต้นยางเป็นนเอกลักษณ์ของเราไปแล้วเป็นวิถีชีวิตของพวกเราไปแล้ว แต่จะทำยังไงไม่ให้เราเดือดร้อนไปกับมันด้วย ถ้าในอนาคตมีคนมายริหารจัดการให้เราให้มีการจัดไม่ให้มีกิ่งไม้แห้ง ให้ต้นไม้ยังอยู่และบริหารควบคู่วิศวกรรมจราจร และให้สองข้างมีความสวยงาม สิ่งที่จะตามมาคือการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นคนจะมาท่องเที่ยว มีต้นยาง มีวิถีชีวิต และมีการพัฒนาไปด้วย สิ่งที่พวกเราชาวบ้านอยากเห็นก็คือ ต้นไม้ยังอยู่ คุณภาพชีวิตดีขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ชุมชนได้ดีขึ้น

คุณสมชัย เบญจชย อดีตนักวิชาการป่าไม้ สมาคมยางนา ขี้เหล็กสยาม

มองถึง การอนุรักษ์คือมันต้องสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย ทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ทางอ้อมคือให้ความสดชื่นสดใสให้อากาศบริสุทธ์ ทางตรงเรายังไปไม่ถึงคือไม้ที่มันล้มเราจะทำยังไงมาสร้างโบสถ์วิหารวัดวาอารามไหม หรือสนามเด็กเล่น หรือที่เป็นโครงสร้างสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ตรงนั้น มีคำพูดที่ว่า เราจะใช้ไม้อย่างชาญฉลาด เราจะใช้อย่างยั่งยืนอย่างไร ตอนนี้เราจะเห็นพฤติกรรมการเร่งอายุของยางนาให้เร็วขึ้น แทนที่จะอยู่ไป 500ปี มันอาจจะอยู่ได้สัก 100-200ปี แต่ก็เป็นที่น่าดีใจเราจะยืดอายุไขข้องต้นยางนา

คุณวรพรรธน์ ชุติมา  รองประธานหอการค้า จ.เชียงใหม่ ตัวแทนภาคเอกชนนักธุรกิจในพื้นที่

ถ้ามองในภาคธุรกิจ ถนนเส้นยางนามีการปลูกกันมาตั้งนานถึงปัจจุบันก็ 140 ปีแล้ว แน่นอนว่ากลุ่มที่มาอาศัยอยู่ ส่วนใหญ่ก็เข้ามาภายหลัง ธุรกิจที่เข้ามาในอ.สารภี หลังจากนั้น เราไม่ได้ต้องการตัวถนนที่จะเดินทางได้ลำบาก ดังนั้นธุรกิจส่วนใหญ่จะไปสร้างอยู่บริเวณริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำพูน และเรียบเส้นทางรถไฟอยู่แล้ว ดังนั้นบริเวณที่อยู่ใต้ต้นยางนาตรงนี้ ถ้าจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ควรจะเป็นลักษณะของที่อยู่อาศัยแต่ตรงนี้ก็ในมุมมองของผมคิดว่าควรจะเป็นที่อยู่อาศัยที่เน้นกลุ่มตลาดบนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ

คลิปรายการ Version 25 นาที

และนี่ข้อมูลและข้อเท็จจริง จากพื้นที่ที่เราทีมฟังเสียงประเทศไทยเรียบเรียงเอาไว้ และเราหวังว่าทุกท่านสามารถเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอแนะร่วมกัน ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อที่จะไปสู่การพูดคุยและหาทางออกร่วมกันกับอนาคตถนนสายยางนา

เพื่อแสวงหาทางออกข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันติดสินใจ มีหลายแนวทางที่จะร่วมกันพัฒนาถนนสายยางนาสายนี้ คุณผู้อ่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและโหวตเลือกภาพอนาคตของถนนสายนี้ร่วมกับคนเชียงใหม่ได้ ที่ลิงค์ด้านล่าง นี้ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2565

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง สนทนาอนาคตถนนยางนาครั้งที่ 1

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ