เปิดไทม์ไลน์ต้นยางนา บนถนนสายปวศ. การหักโค่นระหว่างปี 57 – 64

เปิดไทม์ไลน์ต้นยางนา บนถนนสายปวศ. การหักโค่นระหว่างปี 57 – 64

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 สภาพลเมืองเชียงใหม่ เปิดสภาพลเมืองครั้งที่ 3 ประจำปี 2564 ในหัวข้อวิกฤตยางนาถนนเชียงใหม่-ลำพูน ณ ห้องประชุม อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

ผศ.ดร.เขมกร ไชยประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สวมหมวกในนามตัวแทนสภาเมืองสีเขียว ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีความห่วงใยโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้และสิ่งแวดล้อม นำเสนอข้อมูลพื้นฐาน ตั้งต้นพูดคุยกัน

ถนนที่ประกอบไปด้วยต้นยางนา ในระยะทาง 13-15 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยต้นยางนาทั้งหมด 924 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2564) เส้นสีเขียวเป็นต้นยางนา ส่วนสีเหลืองจะเป็นต้นขี้เหล็ก ตั้งแต่สโมสรยิมคานาไปจนถึงแยกหนองหอย จะอยู่การดูแลของหน่วยงานราชการและส่วนเทศบาลนครเชียงใหม่ ต่อจากแยกหนองหอยไปจนสิ้นสุดต้นสุดท้ายที่อยู่ อ.สารภี อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ 

2425 ประวัติศาสตร์ยางนาต้นแรก

เริ่มตั้งแต่ในปี 2425 ต้นยางนา ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เริ่มปลูกครั้งแรกในสมัย มหาอำมาตย์โทเจ้าพระยาสุรสีห์ วิสิษฐ์ ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)

2454 ราชการได้นำต้นยางนามาให้ราษฎรช่วยกันปลูกเสด็จพระราชดำเนินมาบริเวณต้นยาง

2517 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาบนถนนต้นยาง และทรงแวะพักที่บริเวณต้นยางหมายเลข 1 ซึ่งเป็นต้นยางต้นแรกและเป็นสัญลักษณ์หรือหมุดหมายที่บอกจุดสิ้นสุดของจังหวัดลำพูน และจุดเริ่มต้นของจังหวัดเชียงใหม่

จากนั้นราว ปี 2546 – 2547 เริ่มที่จะสนใจดูแล มีการเปิดโครงการอนุรักษ์ต้นยางนาสองข้างถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ดำเนินโครงการโดย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ต่อมาในปี 2548 แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 2 ได้ส่งมอบพื้นที่ถนนเชียงใหม่-ลำพูนและต้นยางนา ให้อยู่ในความรับผิดชอบดูแลขององค์การ บริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.)

อีกเหตุการณ์ที่น่าจะจารึกเอาไว้ในปี 2550 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับต้นยางนาในพื้นที่อำเภอสารภี ไว้ว่า

“ฝากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อย่าให้ใครตัดต้นยางที่ถนนเชียงใหม่-ลำพูน เพราะไม่มีที่ไหนอีก แล้ว”

หลังจากนั้น ในปี 2554 เทศบาลในเขตต้นยางนาถนนเชียงใหม่-ลำพูน รวมกลุ่มจัดตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ต้นยางนา

ถนนหลวงสู่ถนนของประชาชน และการหักโค่น

ส่วนที่จะเริ่มโดยชาวเชียงใหม่นะคะ คือในปี 2556-2558 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ฯ โดย เครือข่ายเขียว สวย หอม ดำเนินการในพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลยางเนิ้ง

2558 มีการประกาศพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ ต้นยางนาและต้นขี้เหล็ก มีประกาศออกมาโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เราเริ่มที่จะบันทึกในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น ในปี 2559 วันที่ 17 พ.ค.เกิดพายุหมุนโค่นต้นยางนา บนสองฝั่งถนน ต้นยางโค่นตอนนั้นคือ 5 ต้น และยอดหัก จำนวน 3 ต้น

ในปี 2560 กระทรวงวัฒนธรรม ได้เลือกให้ต้นยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูนเป็น 1 ใน 65 แห่ง ของ โครงการ “วัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี”

หลังจากนั้นในปี 2561-2563 มีโครงการการรักษาฟื้นฟูระบบรากและสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ต้นยางนาถนนสาย เชียงใหม่-ลำพูน ให้อยู่คู่ชุมชนอย่างปลอดภัย สวยงามและยั่งยืน โดยการสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อม สร้างอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา

ปี 2562 มีการก่อตั้งสมาคมยาง นา-ขี้เหล็กสยาม

ปี 2563 มีการจัดเดินวิ่งการกุศล เพื่อฟื้นฟูต้นยางนา-ขี้เหล็ก ให้มีสุขภาพดี เรียกว่า  RUN FOR YANGNA 2020 และในปีนั้น ก็มีพายุเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ปรากฏต้นยางนา หักโค่น 2 ต้น

ในวันที่ 5 ธันวาคมเปิดศูนย์เรียนรู้ยางนา ณ สวนสาธารณะบ้านเด่น แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเสวนาในวันนี้ คือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 1 ตุลาคม 2564 มีฝนตกหนักลมแรง มีต้นยางนาล้มจำนวน 10 ต้น ต้นสน 1 ต้น ต้นสะเดา 1 ต้น เหตุการณ์ในวันนั้น สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและเสาไฟฟ้าเป็นอย่างมาก

ต้นยางทั้งหมด ณ ตอนนี้มีจำนวน 924 ต้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกดูแลโดนเทศบาลนครเชียงใหม่ 96 ต้น และอีกกลุ่มอยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 828 ต้น 

ในปี 2564 เกิดเหตุการณ์กิ่งต้นยางนาที่ตกลงมาใส่รถกะบะอยู่ตรงใกล้ ๆ กับแยกหนองหอย และเหตุการณ์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่เกิดพายุขึ้นที่อ.สารภี มีต้นยางนาล้ม จำนวน 10 ต้น ต้นสนและต้นสะเดาอย่างละ 1 ต้น นี่คือภาพที่เกิดขึ้นในวันนั้นรวม 12 ต้น

ที่เล่ามาคือมีทั้งในมุมของการเกิดขึ้นของต้นยางนาในความมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน และภาพที่เกิดขึ้นในภาพของความเสียหาย ภาพที่เกิดขึ้นจากต้นยางนา

“ทำอย่างไรเราถึงจะจัดการการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และต้นไม้ใหญ่ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย”

คำถามแรกแรก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไรบ้าง เราก็จะเห็นภาพที่จะหาทางจัดการร่วมกัน  และมีแนวทางแก้ไขในระยะเร่งด่วนและในอนาคต อย่างไร

คำถามที่สอง  อยากจะทราบถึงความช่วยเหลือที่ภาครัฐได้ยื่นมือเข้าไปช่วยในส่วนของภาคประชาชนที่ประสบภัย

คำถามข้อสุดท้าย  การแก้ไขวิกฤติอย่างเป็นรูปธรรม ว่าจะทำอย่างไร ทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะสั้นและระยะยาว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ