อยู่ดีมีแฮง : ความมีอยู่ของ “ไก” ในความเปลี่ยนแปลงของน้ำโขง

อยู่ดีมีแฮง : ความมีอยู่ของ “ไก” ในความเปลี่ยนแปลงของน้ำโขง

เดชา  คำเบ้าเมือง  เขียน

มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ  ภาพ

สาหร่ายน้ำจืดสีเขียว มีลักษณะคล้ายเส้นผม มักเจริญเติบโตบริเวณน้ำไหล และมีความใส ในระดับน้ำที่ไม่ลึกมากนัก ซึ่งคนที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงก็จะพบเห็นได้ในช่วงหน้าแล้ง เดือนมกราคม-เมษายน ภาษาถิ่นทางภาคเหนือเรียกว่า “ไก” ซึ่งชาวบ้านจะมีการลงไปงมบริเวณหาดทรายและแก่งหิน เพื่อนำมาประกอบอาหาร อาทิ แกง หมก ยำ หรือนำมาปรุงรสใส่งา ตากแห้ง แล้วเอาไปอบหรือทอดเป็นสาหร่ายแผ่นเหมือนสาหร่ายทะเล นอกจากนี้ก็สามารถขายสร้างรายได้ คือไกสดราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม และหากเป็นสาหร่ายแผ่นราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 2,000 บาทเลยทีเดียว

ภาพโดย : ปรีชา ศรีสุวรรณ

ส่วนถิ่นภาคอีสานเรียกว่า “เทา” แต่ไม่นิยมนำมารับประทาน อาจจะมีบ้างที่นำไปทำปุ๋ยหมักและเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากเส้นเทามีลักษณะค่อนข้างหยาบกระด้างกว่าทางภาคเหนือ อีกทั้งมีความกังวลเรื่องความสะอาดและการปนเปื้อนในแม่น้ำโขง ส่วนมากจะรับประทานเทาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ หรือตามท้องนา ที่มั่นใจได้ว่าไม่ปนเปื้อนของสารเคมี รวมถึงเพาะเลี้ยงเอง แล้วนำมาทำเมนูอาหารขึ้นชื่อคือ “ลาบเทา”

ในเรื่องของไก ดร.ทัตพร คุณประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้อธิบายให้ข้อมูลเชิงวิชาการกับอยู่ดีมีแฮงว่า ตัวของไกเองเป็นสาหร่ายที่ขึ้นในระบบนิเวศที่ยังมีสภาพที่ค่อนข้างดี ในเรื่องของคุณภาพน้ำ นอกจากนี้มันยังเป็นอาหารให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะจำพวกปลา สัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งถ้ามีพวกไก พวกนี้ก็สามารถจะบ่งชี้ได้ว่ามันมีพื้นที่สำหรับการให้บริการกับผู้ให้บริโภคลำดับถัดๆ ไป ตามห่วงโซ่อาหาร

ดร.ทัตพร คุณประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

“อย่างเช่นในภาคเหนือแถวจังหวัดน่าน ก็จะเป็นในส่วนของไลโซโคเนียมค่อนข้างเยอะ เพราะน้ำจะใส ตื้น ไหลไม่แรงมาก แล้วก็ค่อนข้างจะมีสารอาหารที่ไม่มากนัก ต่างกับแม่น้ำโขงที่จะเป็นพวกไคโรฟอร่า กับไมโครสปอร่า รวมถึงไลโซโคเนียมด้วยบางส่วน เพราะว่าพวกนี้จะทนต่อความแรงของน้ำได้ แล้วก็ลักษณะของน้ำที่ค่อนข้างขุ่น ดังนั้นมันก็จะเป็นอีกตัวหนึ่งที่แตกต่างออกไป”

อย่างไรก็ดี ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ไกหรือเทา ลอยเกลื่อนขึ้นเป็นแพกระจายตัวไปตามลำน้ำโขง ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการหาปลา และการทำประมงพื้นบ้านของคนริมแม่น้ำโขง ซึ่งดร.ทัตพรอธิบายว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของการระบาดของไก อันหนึ่งก็คือ เรื่องของการที่สภาพนิเวศมันเปลี่ยน คือเรื่องของเรื่องคือไกเขาอยู่ในพื้นที่ของเขาอยู่แล้ว แต่เนื่องด้วยว่าสิ่งที่จำเป็นกับชีวิตเขามีไม่กี่อย่าง เช่นหนึ่งก็คือต้องมีแสง อันที่สองคือต้องมีสารอาหาร อันที่สามคือต้องมีระดับน้ำที่ไหล ไหลพอเหมาะไม่เร็วไม่ช้าเกินไป และอันที่สี่ก็คือจะต้องมีพื้นผิวที่เหมาะสม ก็คือต้องมีหิน หรือต้องมีสิ่งที่ให้เขายึดเกาะแข็งๆ ได้

“เราจะเห็นว่าในบางครั้งที่สาหร่ายเขาเจริญเติบโตแล้วปุ๊บ มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ เรื่องของความขุ่นที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ลักษณะของแม่น้ำโขงค่อนข้างที่จะมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอันนี้ผมว่ามันเป็นปัจจัยหลักที่น่าจะส่งผลให้เกิดเรื่องของการระบาดตรงนี้ ลักษณะของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มันน่าจะส่งผลกระทบถึงการเจริญของสาหร่ายที่มันอาจจะไม่เหมือนเดิม”

ด้านชัยวัฒน์  พาระคุณ หรือน้าบัน ประมงพื้นบ้าน ชาวตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย  และอีกบทบาทหนึ่งก็คือนักวิจัยชุมชน ที่ติดตามผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงและชุมชนของเขา โดยเฉพาะช่วงหลังจากการก่อสร้างและเปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรี เมื่อปลายปี 2562 เป็นต้นมา

โดยน้าบัน ได้เล่าให้เราฟังว่า ไกเริ่มหนาตาขึ้นเมื่อต้นเดือนมกราคม ซึ่งช่วงนั้นน้ำโขงจะลดลงเยอะ แล้วปัญหาเกิดขึ้นตามมามากมาย ที่สำคัญคือชาวบ้านไม่สามารถทำการประมง ใส่ตาข่าย หรืออุปกรณ์หาปลาทุกชนิดได้เลย ต้องเก็บขึ้นมาหมด ส่งผลต่อการขาดรายได้ในครัวเรือน เพราะว่าไกมันเกาะ แล้วทำให้เครื่องมือหาปลาเสียหาย อีกทั้งปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไกขึ้นเป็นแผ่นเรียบยาวไปตามแม่น้ำโขงกินอาณาบริเวณกว้างไกล ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นในร่องน้ำลึก และน้ำที่ไหลเชี่ยวมาก่อน

ชัยวัฒน์  พาระคุณ หรือน้าบัน ประมงพื้นบ้าน ชาวตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย 

“ผมตระหนักอีกอย่างหนึ่งคือ ปัญหาของไกเกาะตามต้นไคร้น้ำ นี่คือปัญหาหลักที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะส่งผลกระทบคือ ต้นไคร้น้ำซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ในแม่น้ำโขง อายุจะสั้นลงเรื่อยๆ โอกาสที่จะแตกเป็นกิ่งใหม่ไม่มีแล้ว ตรงนี้คือปัญหาหนึ่งที่ผมเจอ และอีกอย่างก็คงจะเป็นปลาขนาดเล็กที่อยู่ตามแอ่ง ถ้าไกมันหนามากๆ แสงแดดและออกซิเจนลงไปไม่ถึงปลาก็จะตายแน่นอน” นักวิจัยชุมชน ได้ให้ข้อมูลและกังวลใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

ในส่วนของอนาคตคงต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งดร.ทัตพร ได้มองแนวทางการจัดการเป็นภาพกว้างๆ ใน 2 ระดับ พร้อมกับการตั้งคำถาม คือ การจัดการในเชิงพื้นที่ของตนเอง และการจัดการระดับใหญ่ที่เป็นภาพรวมในเรื่องของคุณภาพน้ำ เมื่อสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นมันก็อาจจะเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา แล้วเราจะรับมือกันอย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ ที่ไม่เคยเกิดการระบาดและเจริญเติบโตของไกอย่างนี้มาก่อน เราจะทำอย่างไร

“เราก็อาจจะมาดูในเรื่องของการจัดการในเชิงพื้นที่เรา แล้วอาจจะดูในเรื่องของการจัดการภาพรวม ว่าเราจะจัดการในเรื่องของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำว่ามันส่งผลต่อไกอย่างไรบ้าง รวมถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งจะต้องร่วมมือกันจัดการครับ”  ข้อเสนอทิ้งท้ายของอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ