อยู่ดีมีแฮง : วิถีคนปากแม่น้ำกับ 3 ทศวรรษเขื่อนปากมูล

อยู่ดีมีแฮง : วิถีคนปากแม่น้ำกับ 3 ทศวรรษเขื่อนปากมูล

กว่า 30 ปีที่เขื่อนปากมูลถูกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงการกระทบกระทั่งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐตลอดมา แม้จะมีเสียงคัดค้านก่นด่าสารพัดจากผู้เสียประโยชน์ ส่วนผู้ได้ประโยชน์ก็มักจะเงียบไว้  เขื่อนยังคงถูกใช้งานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งตลอดหลายสิบปีมานี้เรามีข้อมูลมากมายถึงผลกระทบทั้งในแง่ดี หรือ แง่ร้าย  ผลกระทบแบบทางตรงหรือทางอ้อมที่เกิดจากเขื่อน และน่าจะมากพอที่จะตัดสินใจอะไรบางอย่างได้  แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้ก็คือ  เขื่อนจะถูกใช้งานต่อไป

เราเคยได้ยินเสียงจากคนเหนือเขื่อนมามากพอสมควรแล้ว วันนี้อยู่อีมีแฮงเลยจะพาไปฟังเสียงจากชาวบ้านท้ายเขื่อนกันบ้างว่า ทุกวันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้างหลังเขื่อนเปิดมา 30 กว่าปี เราจึงเดินทางไปที่ปากแม่น้ำมูลบริเวณบ้านท่าแพ ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  ที่นี่คือชุมชนชาวประมง 1 ใน 3 หมู่บ้านที่อยู่ท้ายเขื่อน อยู่ห่างจากตัวเขื่อนปากมูลราว 6 กิโลเมตร ใกล้พอพอที่จะได้ยินเสียงหวอดังในวันที่เขื่อนจะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

บ้านท่าแพ หมู่บ้านประมงในอำเภอโขงเจียม

เรานัดเจอกับพ่อประทีป ทองแสน ชาวบ้านท่าแพคุ้มปากมูลที่มี 2 อายุในคนเดียว คือในบัตรอายุ 54 ปี แต่อายุจริงน่าจะ 60 ปีแล้ว ที่บอกว่าน่าจะเพราะกะ ๆ เอา เนื่องจากในสมัยโบราณเวลามีเด็กเกิดใหม่มักไปแจ้งเกิดช้า  ด้วยถนนหนทางที่ใช้สัญจรไม่เอื้ออำนวยนัก นาน ๆ ทีได้เข้าไปตัวอำเภอพวกเขาถึงจะมีโอกาสแจ้งเกิดให้ลูก ซึ่งพ่อของพ่อประทีปแจ้งคลาดเคลื่อนไปแค่ 6 ปีเอง ที่คือประโยคสนทนาแรกเมื่อถามถึงอายุของพ่อ ท่าทางจะพูดเก่งไม่เบา

 “ผมหาปลามาตั้งแต่อายุ 10 ปีเข้าโรงเรียนอยู่ ป.4 พ่อแม่ออกหาปลาเราก็ไปด้วย  แล้วก็จดจำวิธีการเอาเอง สมัยก่อนพายเรือไปไม่มีเรือเครื่อง (เรือหางยาว) ยุคนั้นปลาเยอะมากช่วงหน้าปลาเล็กก็มีปลาเล็กแห่กันขึ้นมา ช่วงหน้าปลาใหญ่ก็มีแต่ปลาใหญ่ขึ้นมาจนจับไม่ไหว ส่วนวิธีการหาก็ไม่ต่างจากปัจจุบันมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นตาข่ายหรือที่เรียกว่า “มอง”  ใช้เพียงแค่ 2-3 ปากก็พอแล้วเพราะปลาเยอะ ได้มาก็มีทั้งเอาไว้กินและขาย”

ประทีป  ทองแสน

จากการสำรวจเมื่อปี 2545 พบว่ามีพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลมากถึง 152 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขงมากถึง 134 ชนิด ที่เหลือ 18 ชนิดคือพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่ไม่มีการอพยพย้ายถิ่น จะเห็นได้ว่าปลาแม่น้ำมูลกับแม่น้ำโขงเป็นปลาชนิดเดียวกัน ซึ่งในอดีตชาวประมงสามารถจับปลาบึกในแม่น้ำมูลได้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันนี้พบปลาบึกในลำน้ำมูลน้อยมากจนเรียกได้ว่าไม่พบแล้วจะดีกว่า  และไม่ต้องสืบถึงสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร

“ผมคิดว่าปัจจุบันปริมาณปลาลดลงน่าจะเหลือแค่ 30% จากที่เคยมีอยู่  เพราะสมัยก่อนในช่วงฤดูกาลจับปลาแค่ 3 เดือนได้เงินเป็นแสนบาทสำหรับคนที่หาอย่างจริงจังและโชคดี แต่เมื่อปีที่แล้วช่วงหน้าปลาใหญ่ผมได้เงินไม่ถึง 5 พันบาท  มันเริ่มเป็นแบบนี้มาตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน เพราะเขื่อนเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำธรรมชาติ ถ้าเปิดเขื่อนน้ำก็แรงเกินไปหาปลาไม่ได้ ถ้าปิดเขื่อนน้ำก็ไม่ไหลก็หาปลาไม่ได้อีกเพราะเราใช้วิธีไหลมอง (ตาข่าย) ซึ่งในอดีตน้ำมันจะไหลเอื่อยๆทำให้หาปลาสะดวก ทุกวันนี้หาปลาขายได้วันละ 2-3 ร้อยบาทพอได้ซื้อข้าวกิน เพราะบ้านผมไม่มีนาซื้อข้าวกินอย่างเดียว”

เมื่อคืนพ่อประทีปวางลอบไว้ที่ริมตลิ่ง 8 หลัง เช้านี้เราจะไปยาม (ไปดู) ว่าจะได้ปลากี่ตัว พ่อประทีปบอกว่าหากเป็นเมื่อก่อนลอบจำนวนเท่านี้ต้องใช้วิธีหาบปลากลับบ้านแต่วันนี้ไม่แน่ใจ  พายเรือไม่กี่จ้วงก็ไปถึงลอบอันแรกแล้ว ผู้เขียนตื่นเต้นเมื่อเชือกถูกดึงกว้านเข้ามาเรื่อย ๆ หลังจากยกลอบพ้นน้ำเราก็พบแต่ความว่างเปล่า ไม่เป็นไรยังมีอีกตั้ง 7 อัน แต่ยกครั้งแล้วครั้งเล่าก็พบแต่ความว่างเปล่า สรุปจากลอบ 8 หลังเราได้ปลาเล็ก ๆ มา 3 ตัว ซึ่งเป็นไปตามคาดหลังจากที่พ่อประทีปชี้ให้ดูสาเหตุ วันนี้น้ำขึ้นเพราะเขื่อนปล่อยน้ำมาโดยไม่ได้แจ้งชาวบ้าน  ลอบอยู่ลึกเกินไปปลาเลยไม่เข้า  เป็นอีกเช้าที่ต้องบริหารปลา 3 ตัวนี้ให้กินอิ่มทั้งครอบครัว

“ ข้อดีของการปิดเขื่อนคือน้ำไหลไม่แรงทำให้ทั้งเดินทางสะดวก ไปง่ายมาง่าย หากินก็สะดวกไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากกระแสน้ำ และถ้าปิดเขื่อนแล้วปลาจะเยอะน่าจะเป็นเพราะปลาจากแม่น้ำโขงแล้วว่ายมาเจอประตูเขื่อนปิดอยู่แล้วไปต่อไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็มาออกันอยู่ที่ท้ายเขื่อนและส่วนหนึ่งก็ว่ายย้อนกลับเพื่อลงแม่น้ำโขงตามเดิมทำให้จับปลาได้ง่าย”

เมื่อจับปลาไม่ได้พ่อประทีปเลยพานั่งเรือโต๋เต๋ดูชาวบ้านกู้ตาข่ายที่ดักไว้ตั้งแต่เมื่อคืน บริเวณกลางลำมูลจุดก่อนน้ำรวมกันกับแม่น้ำโขง มีชาวบ้านกำลังกู้ตาข่ายอยู่ 3 คน พ่อประทีปพายเรือไปเทียบข้างเรือของพวกเขาเพื่อให้ดูใกล้ ๆ เป็นบุญตาถึงวิธีการ ตาข่ายถูกสาวขึ้นมากองบนเรือรอบแล้วรอบเล่า พวกเขาดึงมันขึ้นอย่างไร้อารมณ์เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะพบแต่ความว่างเปล่า 3 ปีมานี้สถานการณ์เช่นนี้จะเกิดเป็นประจำ พวกเขาไม่สามารถคาดเดากระแสน้ำได้ ความรู้จากภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษถ่ายทอดให้เรื่องการอ่านกระแสน้ำและคาดเดาการขึ้นลงของปลา ใช้ไม่ได้ในยุคนี้ พวกเขาต้องปรับตัวรอฟังเสียงหวอจากเขื่อนอย่างเดียว  แค่วันนี้พลาดไม่ได้ยินหรือเขาไม่ได้เปิดยังไม่แน่ใจ

เราเลยลองไปดูที่เขื่อนว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร บริเวณหลังประตูระบายน้ำตอนนี้คราคล่ำไปด้วยผู้คน ชาวบ้านต่างหอบแห เบ็ด และสวิงมารอจับปลาบริเวณทางน้ำไหล แม้อันตรายจะมีมากในบรเวณนี้แต่พวกเขายอมเสี่ยงเพราะหลังการปรับระดับน้ำ กระแสน้ำจะลงไปกระตุ้นปลาในแม่น้ำโขงให้ขึ้นมาตรงนี้ แต่อย่างที่พ่อประทีปบอก เมื่อมันมาถึงตรงนี้แล้วไปต่อไม่ได้ก็จะออกันอยู่ ทำให้ชาวบ้านจับได้ง่ายขึ้น บางคนสายชิวใช้เบ็ดตกปลาเหยื่อเหม็นเพื่อล่อปลาประเภทปลาเนื้ออ่อนที่ชอบกินซาก บางคนใช้แหผูกด้วยเชือกขนาดยาวที่จอมแล้วเหวี่ยงลงน้ำก็พอได้ตัว แต่เราเห็นบางคนใช้สวิงเล็ก ๆ ด้ามยาว ๆ ช้อนตักตามริมตลิ่ง หากโชคดีตักโดนฝูงปลายอนวันนั้นก็รวยเละ เพราะปลายอนเป็นปลาหายากมีราคาแพง และเราก็เห็นมีคนได้ด้วย สถานการณ์ในบริเวณนี้ช่างคึกคักแตกต่างจากบริเวณปากน้ำบ้านท่าแพ ซึ่งตรงนี้เราไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ห้ามหรือเปล่าแต่จากการสอบถามชาวบ้านบางคนบอกว่าถึงแม้จะห้ามพวกเขาก็ยอมเสี่ยงเพื่อปากท้อง

“แต่ละปีต้องลงทุนซื้อตาข่ายดักปลาหมื่นกว่าบาท เพราะแต่ละช่วงเวลาปลามีขนาดไม่เท่ากันเลยต้องซื้อตาข่ายไว้หลายขนาดตามปลา พันธุ์ปลาก็หายไปเยอะมาก เช่นปลากวาง (ปลาม้า) นี่หายไปเลย ปลาเม่น (ปลาแรด) ก็ไม่มีแล้ว และยังมีอีกหลายชนิดที่หายไป มันขึ้นไปวางไข่ไม่ได้ถึงแม้จะมีบันไดปลาโจนก็ตาม เห็นแต่ปลาซิวเท่านั้นที่กระโดดขึ้น ปลาใหญ่ขึ้นไม่ได้หมดสิทธิเลย เคยไปดูหลายครั้งแล้วปลาขึ้นไม่ได้แน่นอน นี่มันปลาโขงปลามูลไม่ใช่ปลาแซลม่อน”

ระหว่างนั่งคุยกัน พ่อสมเดช บุญทัน ก็ลากลอบที่ยังมัดเชือกไม่เสร็จมานั่งทำใกล้ ๆ เขาใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นซีกเหลาอย่างดีมาแนบข้างตัวลอบเพื่อเพิ่มความแข็งแรงซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ทำงานไปพ่อก็เล่าให้ฟังว่า

“คน 3 หมู่บ้านบริเวณนี้คือบ้านท่าแพ บ้านห้วยหมากและบ้านเวินบึก ไม่มีไร่ไม่มีนาเพราะทุกพื้นที่มีแต่หินกับหน้าผา  ชาวบ้านก็เลยต้องหาปลาไปแลกข้าวบ้าง หรือไม่ก็หาหน่อไม้หาของป่าไปแลก ช่วงหน้าแล้งของป่าหายากก็ตัดไม้ไผ่มาสานเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้ไปแลกข้าว แต่ทุกวันนี้ทำไม่ได้แล้วปลาก็หายาก เจ้าหน้าที่ก็ไล่จับ ตอนนี้มีแค่ลอบแบบนี้เท่านั้นที่ยังพออนุโลมได้ แต่มันก็ได้แค่ปลาตัวเล็ก ๆ ขายได้วันละ 80-100 บาทซึ่งไม่พอจุนเจือครอบครัว”

เช่นเดียวกับแม่กุล สมเทพ ที่มายืนดูพวกเราคุยกัน แกเล่าเสริมว่า

“หาปลามาตั้งแต่ 10 ขวบ ช่วงฤดูการจับปลามีรายได้ประมาณ 3-4 หมื่นบาทในช่วงระยะเพียง 3 เดือน แต่หลังจากสร้างเขื่อนปากมูลก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะช่วงที่เขาปล่อยน้ำที่ปกติเขาจะประกาศเตือนก่อนแต่บางทีชาวบ้านก็ไม่รู้ ทำให้พวกพืชผักที่ปลูกไว้เสียหาย หรือหนักกว่านั้นคือเรือที่ผูกไว้ขาดแล้วจมหายไป ปล่อยน้ำก็ผิด  ปิดน้ำก็ผิด  ปลาก็ไม่ค่อยมีให้จับแล้ว หรือพอจะมีปลาขึ้นมาให้จับ แต่พวกเรากลับถูกจับโดยกรมประมงซึ่งเมื่อก่อนเขาก็ให้หาได้แต่มีข้อตกลงให้เว้นวันพระอะไรทำนองนี้ แต่ปัจจุบันจับหมดค่าประกันตัวก็เป็นแสน”

“ถ้าหากเรามีเงินแสนจะไปหาให้ถูกจับทำไม ที่หาเพราะเราไม่มีกิน  ปีนี้ก็เลยตัดใจไม่ลงน้ำแต่ไปหาเห็ดหาหน่อไม้กินแทน  แต่ปรากฎว่าถูกอุทยานห้ามหาอีกเพราะหมู่บ้านอยู่ในเขตอุทยาน (อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ) หรือแม้แต่จะไปตัดไม้ไผ่มาทำเครื่องจักสานก็ยังไม่ได้ จะให้เราหากินยังไง เมื่อคืนนอนคุยกับพ่อบ้านว่าในเมื่อเขาห้ามเราทำมาหากินทุกทางแบบนี้เราจะทำยังไงกันดี มันครองชีพยากมากเลยทุกวันนี้”

แล้วเรายังได้คุยกับแม่พร  ดวงมาลา  ที่กำลังมัดลอบอยู่หน้าบ้าน

“สมัยก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ชาวบ้านก็ยังพอหากินได้ แต่ตอนนี้วางตาข่ายไม่ได้เลยจึงหันมาทำลอบดักปลาแทน แต่มันก็ไม่ค่อยได้ ได้แต่ปลาขาวตัวเล็ก ๆ วันละสิบกว่าตัวพอได้ปิ้งให้หลานกิน มีหลาน 4 คน พ่อพวกเขาถูกรถชนตายเลยได้เลี้ยงหลานกำพร้า ทีนี้ก็เลยไปตัดไม้จะเอามาสานกระติบข้าวไว้เอาไปแลกข้าวกินก็ถูกห้ามอีก วันก่อนเข้าไปตัดเอาไม้ไผ่เพิ่งได้ 1 ลำเจ้าหน้าที่ก็มาเตือนว่ามีกฎหมายออกมาใหม่แล้วว่าห้ามตัด ถ้าเห็นอีกจะจับนะ  วันนั้นก็เลยได้กลับมามือเปล่า  ตอนนี้ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไรแล้ว”

“ผมมีลูกชาย 2 คนตอนนี้ไปทำงานที่ภาคใต้หมดแล้ว พวกเขาเคยคิดจะมาเป็นชาวประมงเหมือนพ่อแต่ไปลองแล้วมันไม่ได้ปลาเลยถอดใจ ตอนนั้นออกไปหาปลากับผม ผมเป็นคนพายเรือให้เขาเป็นคนทอดแหแต่ไม่ได้สักตัว ถอดใจเลยกลับไปทำงานเหมือนเดิม ตอนนี้ก็เลยหาปลาน้อยลงแล้ว วิถีชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนต้องหันมาเลี้ยงเป็ดบ้างเลี้ยงไก่บ้าง และยังต้องเลี้ยงปลาด้วยเพราะหากไม่เลี้ยงก็ไม่ได้กิน ปลาหายากมากอีกหน่อยชาวประมงคงได้ซื้อปลานิลตลาดกินแล้ว เป็นห่วงลูกหลานที่ต่อไปจะไม่มีปลากินแล้ว อนาคตต้องกินปลาเลี้ยงเพียงอย่างเดียว”

ประทีป ทองแสน กล่าว

นี่เป็นเสียงสะท้อนจากชาวบ้านท้ายเขื่อน เสียงที่ทำให้รู้สึกจุกอยู่ในลำคอ ความทุกข์ของพวกเขาแทบไม่ต่างจากคนเหนือเขื่อนเลยหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ แม้ดูเหมือนจะดีในช่วงแรกก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วเขื่อนก็ยังสร้างผลกระทบไปจนสุดลำน้ำ ยังมีอีกหลายเสียงที่เรายังไม่ได้ยิน เสียงที่อาจจะมีทั้งชื่นชมและก่นด่าสิ่งก่อสร้างประเภทนี้ การรับฟังช่วยได้เพียงแค่การระบายทุกข์เท่านั้น แต่ทุกข์จริง ๆ ของพวกเขาจะถูกระบายออกไปได้อย่างไร น่าจะมีคนรู้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ