อยู่ดีมีแฮง : Velaverse เมืองออกแบบได้

อยู่ดีมีแฮง : Velaverse เมืองออกแบบได้

“ความเท่าเทียมที่มีในโลก metaverse ที่บางครั้งเราทำไม่ได้ในโลกจริงแต่บนโลกเสมือนทุกคนเริ่มต้นได้พร้อมกันแล้ว” 

หลังจากที่เฟซบุ๊กมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นำมาสู่ Meta และมีการพูดถึงเทคโนโลยี blockchain และ crypto currency ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นกระแสที่ทำให้โลกสั่นสะเทือนอีกครั้งหนึ่ง การสร้างโลกเสมือนโดยการใช้เทคโนโลยี VR ซึ่งไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่แต่เรากำลังพูดถึงสิ่งที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว ถูกนำมาปรับใช้ในโลกเสมือนที่เรียกว่า Metaverse ที่อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้

วันนี้อยู่ดีมีแฮงมีโอกาสเดินทางมายัง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อพบกับคุณกอล์ฟ มารุต ชุมขุนทด CEO Velaverse ผู้เริ่มต้นแนวคิดการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ในโลกเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยี ที่อิงกับเมืองอีสานบ้านเรา

Velaverse คืออะไร

มารุต ชุ่มขุนทด

“เวลาเวิร์ส คือแพลตฟอร์มที่ถูกสร้างขึ้น จากความร่วมมือนักออกแบบ และอาจารย์ ที่อยู่ในพื้นถิ่นบ้านของเรา ที่เก่งระดับโลกร่วมกันสร้างขึ้น ซึ่งมาจากเทคโนโลยี VR และเทคโนโลยี blockchain จนกลายเป็น Velaverse”

มารุต ชุมขุนทด อธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับ platform ใหม่ที่กำลังพัฒนาให้เกิดขึ้นในอีสาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายเกม มีการจำลองสถานที่เสมือนจริง และตัวละครที่เสมือนจริง ในโลกของเทคโนโลยีที่ถูกสร้างและออกแบบขึ้นมา

อาชีพในโลกอนาคตโอกาสใหม่ของเมือง?

“ถ้าให้มองในมุมมองของธุรกิจเรามองว่ามันมีโอกาสมหาศาล ที่จะสามารถเติบโตได้ แล้วในขณะที่คู่ขนานกันภาคประชาชน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทำอย่างไรไม่ใช่แค่เราสร้างธุรกิจในโลกเสมือนจริงได้ แต่เราสามารถสร้างงานไปด้วยได้หรือไม่ เราสร้างโอกาสให้กับน้องนักศึกษาให้เป็นกลุ่มแรกๆที่เข้ามาเริ่มต้นธุรกิจได้ ด้วยการดีไซน์ผลงาน 3D building” 

ชุมชนคนดิจิทัล แรงงานที่ขาดแคลนในยุคของเทคโนโลยีก็ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางโอกาสที่จะสามารถเกิดอาชีพใหม่ในอีสานได้เช่นเดียวกัน จะเกิดการแข่งขันการออกแบบดีไซน์ 3D building เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันกว่า 50 คน ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน

“น้อง ๆ ที่เข้ามาทดลองทำ แรกๆยังเป็นนักศึกษากันอยู่เลยแต่วันนี้พวกเขากลายเป็นผู้ประกอบการ กลายเป็นบริษัท startup ที่สามารถทำ 3D building หากเรามองแบบภาคประชาชนเราจะรู้สึกว่าเหมือนเราให้ 50 คนทำ แต่ในมุมของธุรกิจ Metaverse เรามีธุรกิจที่เกิดใหม่ทันที 50 บริษัทและสามารถผลิตชิ้นงานให้กับเมืองทั้งเมืองได้เลย” 

น่าจะเป็นความท้าทายใหม่ของคนรุ่นใหม่ในอีสาน ที่ช่องทางการทำมาหากินได้ถูกเปลี่ยนไป และมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างงานสร้างรายได้ ซึ่งยังเป็นกลุ่มแรงงานที่ยังขาดแคลนในปัจจุบัน

ผศ.ดร.รัตนโชติ เทียนมงคล

“อันที่จริงทรัพยากรในโลกจริงของเรามันก็ค่อยๆหมดไป มันคือพื้นที่ของโอกาสนิเวศธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นมันก็สามารถที่จะสร้างนักออกแบบเนื้อหา ของตัวเองขึ้นมาแปรรูปจากธุรกิจทางกายภาพให้เป็นสินทรัพย์ดิจิตอลกันมากขึ้น”

ผศ.ดร.รัตนโชติ เทียนมงคล ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อธิบายขยายความถึงความเป็นไปได้ในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้าไปสู่โลกเสมือนจริง โดยการแปลงสินค้าทางภูมิปัญญาให้กลายเป็นทรัพย์สินดิจิตอลเพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้ของชาวบ้าน ในอนาคต 

Velaverse เมืองออกแบบได้

ที่มาภาพ : Velaverse

“หากเราเริ่มต้นทำเมืองในแบบของเราขึ้นมาได้ เมื่อเรามีโอกาสเราก็อยากติดกระดุมเม็ดแรกให้มันถูกต้อง ทุกคนสามารถเข้าถึงและออกแบบในขอบเขตของเราได้ หลายครั้งที่เราเจอว่าเราไม่สามารถทำบางอย่างในโลกจริงได้ แต่เราสามารถออกแบบได้ในโลกเสมือนจริง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งคำตอบ”

การใช้แนวคิดแบบผู้นำ มารุต ชุมขุนทด กล่าวส่งท้ายบทสนทนาว่า “เป็นครั้งแรกที่เราใช้แนวคิดแบบนี้เราสามารถสร้างสรรค์ทุกอย่างได้แต่เราต้องยอมรับว่า การคิดแบบผู้นำแปลว่าเราเดินบนความไม่รู้อีกหลายเรื่อง วันนี้เป็นก้าวแรกของ Metaverse เมืองจะเปลี่ยนเป็นอย่างไรเราต้องติดตามดู”  

นี่เป็นหนึ่งความพยายามที่จะสร้างการออกแบบเมืองที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ได้ ในรูปแบบการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยอิงจากฐานวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ของเมือง เรื่องราวที่กำลังถูกหยิบยกออกมาเล่าเรื่องในรูปแบบใหม่ สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้นล้ำสมัย ซึ่งแทบจะไม่เชื่อว่ามันกำลังเกิดขึ้นในดินแดนอีสานบ้านของเรา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ