ข้อควรรู้เพื่อระวังและป้องกันสัตว์มีพิษในช่วงน้ำท่วม

ข้อควรรู้เพื่อระวังและป้องกันสัตว์มีพิษในช่วงน้ำท่วม

หลังจากฝนถล่มทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงค่ำของวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา จนทำให้ถนนหลายสายอยู่ในสภาพคลอง การจราจรในยามค่ำคืนของคนทำงานกลางมหานครใหญ่กลายเป็นอัมพาตไปค่อนคืนจนดึกดื่น ซึ่งชาวสื่อสังคมออนไลน์สามารถรับรู้ข้อมูลและราวกับว่าเผชิญสถานการณ์นั้น ผ่าน News feed หน้าจอมือถือนาทีต่อนาที ซึ่งอาจรู้สึกได้ว่ากำลังลุยน้ำเปียกฝนเคียงบ่าเคียงไหล่ชาวเมืองศิวิไลซ์ไม่ต่างกัน  และหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคยังมีฝนอย่างต่อเนื่องตามประกาศเตือนพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา  

ในด้านหนึ่งนอกจากฝนที่ถล่มในเขตเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพฯและปริมณฑล ในพื้นที่อีสานเหนือ อีสานใต้ ประชากรในลุ่มน้ำ โขง ชี มูล และลำน้ำสาขาในพื้นที่ภาคอีสานก็กำลังเผชิญสถานการณ์น้ำหลากท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำ

ในสถานการณ์เช่นนี้ นอกจากความเสียหายของทรัพย์สินข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ยังมี “โรคภัย” และ “สัตว์มีพิษ” ที่อาจหนีน้ำท่วมเข้ามาหลบซ่อนหาที่ปลอดภัยในบ้านเรือนประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องหมั่นสังเกตและเตรียมรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม หนึ่งในสมาชิกทีมตอบโต้ภัยพิบัติจังหวัดร้อยเอ็ด

อ๊อด กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม หนึ่งในสมาชิกทีมตอบโต้ภัยพิบัติจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งทำงานอาสากู้ชีพกู้ภัยมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด เล่าว่า นอกจากทีมงานอาสาสมัครจะรับแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือจากประชาชน ได้แก่ อุบัติเหตุทางบก ทางน้ำ น้ำท่วม ไฟไหม้ หรืออุบัติภัยต่าง ๆ ยังมีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำเมื่อได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ “งู” ที่อาจพบได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

“สัตว์ที่มากับน้ำโดยส่วนใหญ่ มักจะพบว่าเป็นสัตว์มีพิษ  ไม่ว่าจะเป็นตะขาบ แมงป่อง แม้กระทั่งงู ที่เราไม่สามารถห้ามเขาเข้ามาได้ เพราะบางทีเขามากับกระแสน้ำ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะมาในช่วงกลางวันหรือช่วงกลางคืน แต่สิ่งที่เราสามารถป้องกันได้ ก็คืออย่าให้มีพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่แออัดของสิ่งของ หรือเราเอาของไปยัดไว้แล้วมันเกิดความรก เราอย่าให้มันรกเพราะถ้ามันรก งูมันเข้ามามันจะเข้าไปอาศัยอยู่ตรงนั้น ดังนั้นพื้นที่ที่เราอพยพขึ้นมาในที่สูงควรจะเป็นพื้นที่โปร่ง”

วิธีสังเกตและรับมือเมื่อเจอสัตว์มีพิษอันตราย

กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม เล่าต่อถึงการระมัดระวังและรับมือเมื่อเจอสัตว์มีพิษที่มากับน้ำท่วม “คงจะเป็นเรื่องของการหมั่นสังเกตดูเป็นระยะ ๆ ว่ามีสัตว์อะไรไหม ถ้าเราเลี้ยงสุนัข เลี้ยงแมว เขาจะมีการแสดงผิดแปลกออกไป ต้องให้ความสำคัญ สังเกตว่าเขาเห่าอะไร ถ้าดูแล้วเป็นสัตว์มีพิษจริง ๆ แล้วเราไม่สามารถจัดการได้ เช่น งูซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนไม่สามารถจัดการได้เองอยู่แล้ว ซึ่งเราไม่แนะนำให้จับ ถ้าเจอจะต้องแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งทุก อบต.เขาจะมีงานป้องกันภัย แต่ถ้าหลีกหลี่ยงไม่ได้ไม่มีเบอร์โทรติดต่อหน่วยงาน ให้โทรเบอร์ 191 หรือ โทรเบอร์ 199  ซึ่ง 2 เบอร์นี้สามารถประสานกับทางหน่วยกู้ภัยในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าไปทำการช่วยเหลือได้”

ข้อมูลจากวารสารกรมการแพทย์โดย โกวิท คัมภีรภาพ  และปรเมศร์ คุณากรวงศ์ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เรื่องงูพิษในประเทศไทย ระบุถึงประเภทของงูพิษในไทยที่แบ่งตามลักษณะของพิษงู ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ พิษต่อระบบประสาท พิษต่อระบบโลหิต และพิษต่อระบบกล้ามเนื้อ พร้อมให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นจึงมีสัตว์มีพิษอาศัยอยู่ชุกชุมสำหรับสัตว์มีพิษที่มีพิษรุนแรงและเป็นที่รู้จักดีของคนทั่วไปคือ “งู” ซึ่งในประเทศไทยมีงูอาศัยอยู่ชุกชุมมากกว่า180 ชนิด ทั้งที่มีพิษรุนแรงพิษอ่อน และที่ไม่มีพิษเลย ภาวะถูกงูพิษกัดจัดเป็นภาวะเป็นพิษจากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยมีอัตราเสียชีวิตถ้ารักษาไม่ทัน คนถูกงูกัดเป็นภาวะเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่มักทำให้แพทย์หรือพยาบาลไม่สามารถให้การวินิจฉัยและดูแลรักษาได้อย่างมั่นใจ ซึ่งบทความนี้จะชี้ให้เห็นว่าแพทย์สามารถใช้ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยร่วมกับข้อมูลพื้นฐานทางระบาดวิทยาในการวินิจฉัยแยกชนิดของงูพิษและดูแลรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัดได้อย่างถูกต้อง

ตรงกับข้อมูลของ กิติศักดิ์ ปิยะมโนธรรม ทีมตอบโต้ภัยพิบัติจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งย้ำถึงความสำคัญ เรื่องการมีความรู้เบื้องต้นถึงลักษณะของงูมีพิษและสัตว์อันตรายที่จะช่วยให้ป้องกันความสูญเสียและเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น

“งูพิษอันตรายและมีความสำคัญทางการแพทย์ของไทยมี  7 ชนิดด้วยกัน งูชนิดที่หนึ่ง คืองูจงอาง งูพิษมีความยาวและใหญ่ในประเทศไทย งูชนิดที่สองคือ กะปะ งูชนิดที่สามคืองูแมวเซา งูชนิดที่สี่ คือ งูสามเหลี่ยม งูชนิดที่ห้า คืองูทับสมิงคลา งูชนิดที่หก คืองูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง และงูชนิดที่เจ็ด คืองูลาบสาบคอแดง”

โดยวารสารกรมการแพทย์ เรื่องงูพิษในประเทศไทย ได้อธิบายและให้ข้อมูลไว้ ดังนี้

1.งูจงอาง เป็นงูพิษที่มีลักษณะหัวกลมมน เกล็ดบริเวณส่วนหัวใหญ่ มีเขี้ยว 2 เขี้ยวที่ขากรรไกรด้านบน หน้าตาดุดัน จมูกทู่ มองเผิน ๆ คล้ายกับงูสิงดง ที่บริเวณขอบตาบนมีเกล็ดยื่นงองุ้มออกมา

2.งูกะปะ ลักษณะคอเล็ก ลำตัวอ้วน หางเรียวสั้น มีลายเป็นรูปเหมือนหลังคาบ้านอยู่ด้านข้างตลอดลำตัว มีสีเทาอมชมพูลายสีน้ำตาลเข้ม เกล็ดมีขนาดใหญ่ จะงอยปากงอนขึ้นข้างบน

3.งูแมวเซา ลักษณะเป็นงูบก หัวสามเหลี่ยม ลำตัวอ้วนสั้น หางสั้น สีน้ำตาลอ่อนอมเทา มีเกล็ดสีชมพูแซมบริเวณสีข้าง มีลายลักษณะทรงกลมสีน้ำตาลเข้มตลอดทั้งตัว

4.งูสามเหลี่ยม ลักษณะเป็นงูที่มีแนวกระดูกสันหลังยกเป็นสันสูง ทำให้ลำตัวคล้ายสามเหลี่ยม สีลำตัวเป็นปล้องดำสลับเหลือง ปลายหางกุดทู่ทุกตัว       

5.งูทับสมิงคลา ลักษณะเป็นงูที่มีรูปร่างคล้ายงูสามเหลี่ยมแต่ตัวเล็กกว่า สีลำตัวเป็นปล้องดำสลับขาว หางยาวเรียว

6.งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง ขนาดตัวปานกลาง ด้านบนของหัวและบนหลังสีเขียวและด้านท้องสีเหลือง แต่บางตัวมีใต้คางและคอเป็นสีขาวขุ่น ตาสีเหลือง (บางตัวอาจเป็นสีแดง) รูปร่างหัวเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง คอคอด ตัวสั้นป้อม หางสั้น สามารถม้วนจับกิ่งไม้ได้

7.งูลาบสาบคอแดง งูขนาดเล็ก หัวกว้างกว่าลำคอ ตาใหญ่ เกล็ดบนหัวเป็นแผ่นกว้าง เกล็ดบนหลังและทางด้านบนของหางมีสัน เกล็ดที่อยู่ทางส่วนล่างของลำตัวเรียบ เกล็ดท้องขยายกว้าง

“ระวังและป้องกัน” นับเป็นการเตรียมรับมือที่ประชาชนดูเหมือนว่าจะสามารถทำได้มากที่สุดในช่วงนี้ ทั้งเรื่องของสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งหลายพื้นที่ยังต้องติดตามระดับน้ำ การพยากรณ์อากาศและปริมาณน้ำฝนสะสม รวมถึงการสังเกต ตรวจตรา สิ่งผิดปกติภายในบ้าน เพื่อไม่ให้มี “สัตว์อันตรายและมีพิษ” มาพิงพักอาศัยในบ้านเรือนช่วงนี้ซึ่งเกี่ยวพันกับการจัดการที่พักอาศัยไม่ให้มีพื้นที่ รก มืด อับชื้น ซอกแคบ ซึ่งจะเป็นที่อยู่ของสัตว์มีพิษโดยเฉพาะเวลากลางคืนที่ทำให้อาจจะมองไม่เห็น โดยวิธีป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษเข้าบ้านในช่วงเวลาน้ำท่วมทำได้ในเบื้องต้น คือ การทำความสะอาดบ้านสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษที่มาซ่อนตัวตามมุมบ้าน

แต่หากต้องเผชิญพบเจอกับสัตว์อันตรายและอสรพิษ การประเมินสถานการณ์ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรกโดยสามารถประสานขอความช่วยเหลือ เบอร์สายด่วนในกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ แจ้งเหตุด่วน-เหตุร้ายทุกชนิด โทร. 191, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669, หน่วยแพทย์กู้ชีพ วชิรพยาบาล โทร. 1554 และดับเพลิง สัตว์เข้าบ้าน โทร. 199 โดยทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีการให้ข้อมูลยืนยันผู้ร้องขอความช่วยเหลือ พิกัดเกิดเหตุ และข้อมูลเบอร์โทรติดต่อกลับที่ชัดเจนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัย

ภาพ : ทีมตอบโต้ภัยพิบัติจังหวัดร้อยเอ็ด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ