หากพูดถึงพื้นที่สร้างสรรค์หรือ Creative space เราคงนึกถึงพื้นที่ว่างใจกลางเมือง ณ จุดใดจุดหนึ่ง หรือตามศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่จะมีเด็ก เยาวชน ชราชน รวมถึงประชาชนที่ออกมาทำกิจกรรม ชิค ชิค คูล คูล ตามแต่จะนึกได้ตามสมัยนิยม แต่ถ้าบอกว่าที่ชายป่าบ้านหนองยางก็มีพื้นที่ ชิค ชิค คูล คูล แบบนั้นเหมือนกันนะ บางคนคงนั่งเอามือกอดอกมองบนแล้วนึกภาพว่ามันจะเป็นยังไงหนอ
พื้นที่ที่ว่านั้นอยู่ห่างตัวเมืองอุบลฯขึ้นไปทางเหนือราว 30 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของบ้านหนองยาง ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีบ้านไม่กี่หลังตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน ประชากรก็มีไม่กี่คน ยิ่งถ้าไปในช่วงทำไร่ไถนาตอนกลางวันนี่อาจจะหลอน ๆ หน่อย เพราะมันจะเงียบมาก ที่นี่จึงไม่มีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน เด็ก ๆ ต้องไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านยางกะเดา โรงเรียนของอีกหมู่บ้านที่อยู่ติดกันแต่ก็เป็นแค่ระดับประถมศึกษา หากจะเรียนสูงกว่านั้นต้องไปเรียนที่อีกตำบล หรือไปเรียนสายอาชีพที่อำเภอตระการพืชผล หรือไม่ก็เข้าไปเรียนในตัวเมืองอุบลฯเสียเลย นั่นดูเหมือนว่าพวกเขามีการศึกษาทางเลือกหลายระดับ คือเลือกจะไปใกล้หรือไกลแค่นั้น ที่นี่จึงดูไม่มีอะไร ความบันเทิงเดียวของเด็กเล็กก็คือเกมจากมือถือ ส่วนเด็กโตก็มีความเสี่ยงที่จะเดินไปสู่เส้นทางเภสัชกร ในธุรกิจเกี่ยวกับยา นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คน 2 คนคิดหาวิธีดึงเด็ก ๆ ออกจากจุดเสี่ยงนั้น
คะทาวุธ แวงชัยภูมิ หรือครูจุ้ย และ วลัยพร วังคะฮาด หรือครูอร สองสามีภรรยานักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานอยู่ในเมืองหลวงมากว่าสิบปี ครูจุ้ยชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ เห็นหนังสือเป็นไม่ได้ต้องซื้อติดไม้ติดมือมาอ่านตลอด แล้วมันก็กลายเป็นของสะสมที่มีจำนวนมหาศาล จนเมื่อปี 2559 ทั้งคู่ตัดสินใจลาขาดจากเมืองหลวงกะว่าจะออกมาใช้ชีวิตแบบสงบเงียบตามชนบท พวกเขาปักหมุดไว้ที่บ้านหนองยางแห่งนี้ ตามการชักชวนของรุ่นพี่ที่สนิทสนมกัน แต่ 2 ปีแรกยังมาไม่ถึง เพราะแวะทำงานที่จังหวัดสุรินทร์ก่อน เมื่อได้โอกาสพวกเขาจึงหอบเอาหนังสือ 1 รถหกล้อกับแมวจากสุรินทร์อีก 7 ตัวย้ายกลับมาอยู่อุบลฯตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก
หนังสือก็เยอะ แมวก็แยะ ไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งคู่เลยมีแนวคิดว่าจะใช้หนังสือนี่แหละเป็นตัวดึงดูดให้เด็ก ๆ ออกห่างจากสิ่งไม่ดีทั้งปวง จึงสละบ้านของตัวเองทำเป็นห้องสมุดเล็ก ๆ แล้วตั้งชื่อว่า “ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์” ชื่อนี้ถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่แมวบางตัวที่หางกุด โดยภาษาอีสานคำว่ากิ้น แปลว่า กุดหรือสั้น นั่นเอง โดยความตั้งใจของทั้งคู่คืออยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสร้างสรรค์คู่ขนานไปกับห้องเรียนปกติของโรงเรียน โดยจะชวนพวกเด็ก ๆ มาเล่นกันในวันหยุด แต่ช่วงแรกพวกเขาก็ต้องใช้ความพยายามพอสมควรในการสร้างความไว้ใจกับเด็กและผู้ปกครอง
“กิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นสันทนาการที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา ทักษะชีวิตบางอย่าง การเห็นคุณค่าและศักยภาพของตนเอง โดยใช้เครื่องมือทั้งศิลปะ เพลง บางทีก็พาไปเก็บเห็ด แต่จริง ๆ แล้ว เขาพาเราไปเก็บเห็ดมากกว่า เพราะเด็กจะมีทักษะเรื่องนี้ที่ได้รับการส่งต่อมาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือบางครั้งใช้กิจกรรมทำสื่อ ทำหนังสั้นก็มี และยังมีการสอนภาษาอังกฤษโดยครูอรที่มีทักษะด้านนี้ด้วย”
ครูจุ้ยอธิบาย
หนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตของห้องสมุดแมวหางกิ้นส์คือการเข้าป่า เพราะใกล้ ๆ กับห้องสมุดจะมีป่าหัวไร่ปลายนาผืนใหญ่ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์อยู่ ในช่วงหน้าฝนมักจะมีเห็ดขึ้นหลายชนิด ครูจุ้ยจะชอบชวนเด็ก ๆ เข้าไปเก็บเห็ดในป่า ซึ่งการเก็บเห็ดของพวกเขาไม่ได้มุ่งเอาดอกเห็ดเพียงอย่างเดียว แต่ในระหว่างกิจกรรมครูจุ้ยมักสอดแทรกความรู้ต่าง ๆ เข้าไปด้วยทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือแม้กระทั่งเรื่องการใช้ชีวิต ซึ่งหลัง ๆ ครูจุ้ยไม่ได้เป็นคนชวน แต่กลายเป็นเด็ก ๆ ต่างหากที่คะยั้นคะยอให้พาเข้าป่า วันนี้ก็เช่นกัน
เสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กเล็กปนเด็กโตทำลายความเงียบภายในป่าเห็ดอันแสนสงบ ครูจุ้ยต้องคอยเตือนว่าอย่าเพิ่งย่ำเท้าไปทั่วเพราะเห็ดอาจอยู่ใต้ใบไม้ บางคนได้เห็ดมาโชว์แต่เป็นเห็ดที่กินไม่ได้ ส่วนเห็ดที่กินได้ต้องได้รับการการันตีโดยเด็กโตผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดก่อน ครูจุ้ยบอกว่าตัวเขาเองก็ไม่ได้รู้จักเห็ดทุกชนิดกลายเป็นตัวเองมากกว่าที่ได้เรียนรู้เรื่องเห็ดจากเด็ก ๆ เพราะพวกเขาได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากผู้ปกครอง ครูจุ้ยทำได้เพียงสอดแทรกความรู้อื่น ๆ เช่น ระบบนิเวศของป่าที่ก่อให้เกิดเห็ด หรือการรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้สมบูรณ์ หากพบเห็นเศษขยะในป่าก็ต้องเก็บออกมาด้วยเพื่อให้มีเห็ดกินไปตลอด เป็นต้น
ครูจุ้ยบอกว่าเด็กในวัยนี้สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาคือการ “เล่น” แต่การเล่นฉบับแมวหางกิ้นส์ต้องมีการออกแบบให้มีทั้งความสนุกและได้สาระด้วย อย่างเช่น เกมหาสิ่งแปลกปลอม กติกาคือให้แบ่งกลุ่มช่วยกันหาสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติตามแนวเส้นเชือกที่กำหนด เมื่อเห็นแล้วจดไว้กลุ่มไหนพบมากที่สุดมีรางวัลให้ เกมนี้เด็ก ๆ ก็ชอบเพราะรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ค้นหาของสิบอย่างที่ครูจุ้ยเอาไปซ่อนไว้ และเมื่อมีการแข่งขันโดยมีของรางวัลเป็นตัวกระตุ้นยิ่งทำให้เพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจขึ้นไปอีก ซึ่งหลังกิจกรรมทุกครั้งทุกคนจะมานั่งล้อมวงแล้วสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมทั้งหมด ถือเป็นการทบทวนเนื้อหาและได้วิเคราะห์ถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้วยตัวของพวกเขาเอง
ช่วงแรกการดำเนินกิจกรรมของห้องสมุดแมวหางกิ้นส์เกิดขึ้นตามการรีเควสของเด็ก ๆ มีเวลาก็จัดไป และบ่อยครั้งที่ห้องสมุดถูกปิดเงียบไปหลายวันอันเนื่องมาจากครูจุ้ยและครูอรต้องออกไปทำมาหากิน พวกเขาบอกว่ามีอาชีพเป็นกระบวนกร จากการตีความแล้วน่าจะหมายถึงรับจ้างเป็นวิทยากรกระบวนการในการอบรมด้านการศึกษาทางเลือกหรืออื่น ๆ ที่ใกล้เคียงนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การดำเนินชีวิตจำเป็นต้องกินต้องใช้ แต่พวกเขาพบว่าเมื่อออกไปทำมาหากินบ่อย จะทำให้เกิดช่องว่างกับกลุ่มเด็กในพื้นที่มากขึ้น หากเป็นเด็กโตที่ใกล้เรียนจบแล้ว บางคนก็หลุดไปเลยทำให้ช่วงหลังกลับมาคิดว่าจะต้องทำงานในพื้นที่ตัวเองให้มากขึ้น หนึ่งในวิธีการก็คือการเชื่อมโยงกิจกรรมที่ทำนี้เข้ากับโรงเรียนซึ่งจะเป็นการทำงานแบบคู่ขนานกันไป โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จนหลายโรงเรียนต้องปิดยาว นั่นคือครั้งแรกที่ครูจุ้ยนำไอเดียห้องเรียนคู่ขนานนี้ไปพูดคุยกับโรงเรียนบ้านยางกระเดาที่ถือว่าเป็นสถานศึกษาในพื้นที่ แน่นอนว่ากิจกรรมสร้างสรรค์แบบนี้ไม่ถูกปฏิเสธจากโรงเรียนแน่ ซึ่งในเบื้องต้น(ในขณะนั้น)โรงเรียนให้ห้องสมุดช่วยจัดกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษในช่วงวันหยุด นั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาทำอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหา ส่วนในอนาคตจะมีความร่วมมือกันอย่างไรอีกก็ต้องดูไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันห้องสมุดแมวหางกิ้นส์ได้ย้ายออกจากบ้านหลังเดิมเพื่อมาอยู่อาคารหลังใหม่แล้ว แต่ไม่ต้องตกใจเพราะมันอยู่ติดกัน อาคารเล็ก ๆ ขนาด 56 ตารางเมตรนี้ครูจุ้ยขายหนังสือที่สะสมมาบางส่วนเพื่อระดมทุน รวมกับการช่วยเหลือกันของญาติสนิทมิตรสหายทั้งหลายช่วยกันสร้างขึ้นมา แม้จะเป็นอาคารหลังเล็ก ๆ ที่สร้างอย่างง่าย ๆ แต่ก็เพียงพอสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาชิกแก๊งแมวหางกิ้นส์ และคำว่าพื้นที่สร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมืองใหญ่หรือสถานที่อันทันสมัยอีกต่อไป เพราะความสร้างสรรค์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่แต่มันอยู่ที่วิธีคิดและวิธีการมากกว่า