อยู่ดีมีแฮง : สูงวัยจักสาน บ้านหนองหลวงใหม่

อยู่ดีมีแฮง : สูงวัยจักสาน บ้านหนองหลวงใหม่

เสียงสนทนาเป็นภาษาอีสานดังเจื้อแจ้ว แว่วมาจากบ้านไม้หลังหนึ่ง ของชุมชนบ้านหนองหลวงใหม่ ตำบลหนองหลวง อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย ขณะผู้เขียนเดินทางไปถึงก็พบว่าเป็นเสียงของแม่ๆ กลุ่มจักสาน ที่กำลังนั่งสานภาชนะบรรจุข้าวเหนียว พร้อมกับพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน หากมองเผินๆ เราคงจะคิดว่าการสานกระติบข้าวของคนในชุมชนอีสานเป็นสิ่งที่เห็นจนชินตา แต่ผู้เขียนอยากจะบอกเล่าให้ฟังว่า สำหรับที่นี่ งานจักสานคือวิถีชีวิต รายได้ ความสุข และการสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงวัย เป็นพื้นที่สำหรับการมาพบเจอกัน

แม่บุหลัน  ยุคะรัง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสูงวัยจักสาน เล่าให้ฟังว่า กลุ่มจักสานทำงานด้วยกัน ต่อเนื่องกันเรื่อยมา เพราะมีการสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่ม จนกระทั่งปี พ.ศ.2538 ได้ไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน  ทำระบบขึ้นมาเพื่อการรวมกลุ่มและสร้างรายได้

“เราจะมีการเก็บเงินเข้ากลุ่มคนละ 100 บาท 50 บาท แล้วแต่ใครจะฝากออม เราออมไว้ ถ้าเราขายกระติบข้าวได้ก็เอาไปเข้ากลุ่ม พอเข้ากลุ่มแล้วก็เลยมีกำลังใจ สิ้นปีมาเราก็ปันผลกัน ประมาณนี้ค่ะ”

หลายพื้นที่สานกระติบข้าวด้วยไม้ไผ่ แต่ชุมชนแห่งนี้สานกระติบข้าว และภาชนะต่างๆ จากต้นคล้า ซึ่งชุมชนได้มีการนำมาปลูกเอาไว้ เพื่อง่ายต่อการใช้งาน และในการทำงานจักสานก็จะมีการแบ่งหน้าที่ของแต่ละคน เช่น แม่สมศรี  อนุพันธ์ อายุ 67 ปี ทำแผนกรีดเส้นคล้า, แม่บุญนำ  เสาวิชิต อายุ 64 ปี อยู่แผนกขูดริ้วคล้า, แม่สงวน  พลพันธ์ อายุ 63 ปี แผนกดึงเส้นคล้า และแม่บัวทอง  ชราจันทร์ ทำแผนกสานขึ้นรูปภาชนะ

แม่บุหลัน  ยุคะรัง

          แม่บุหลัน  เล่าถึงวิธีการสานกระติบข้าวจากต้นคล้าให้ฟังคร่าวๆ ว่า ต้นคล้าจะมีลักษณะเป็นลำต้นกลมๆ อยู่เป็นกอ เวลาจะใช้งานจะตัดออกมาเป็นลำ พอตัดมาแล้วก็จะนำมาขูด ขูดแล้วเอาไปรีดเส้น รีดเส้นแล้วเอาไปตากแดดให้แห้ง พอแห้งเราก็เอามาสาน การสานกระติบข้าวก็จะเริ่มสานตัว แล้วก็มาสานฝาซึ่งทำลักษณะคล้ายกัน  สานเสร็จนำมาใส่ท้ายมัน หรือเรียกว่า “ตู๋” หลังจากนั้นนำมาเย็บ เมื่อก่อนชาวบ้านจะใช้เชือกไนลอนเย็บ แต่ปัจจุบันพัฒนาใช้หวายแทน เย็บแล้วก็มาใส่ฐานหรือตีน ซึ่งทำจากก้านตาล เพื่อความคงทนแข็งแรง  

ผลิตภัณฑ์รูปร่างสวยงามที่เกิดจากฝีมือของกลุ่มแม่บ้านสูงวัยวางเรียงรายให้ทีมผู้เขียนได้เยี่ยมชม ซึ่งตอนนี้แม่บุหลันได้ทำหน้าที่ในการพาชม และอธิบายถึงผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด “นอกจากกระติบข้าวแล้วก็ยังมีกระจาดนะคะ เพราะว่าคล้าสามารถทำได้ทุกอย่าง กระจาดนี้สำหรับใส่ของไปวัด และก็ใส่ผลไม้ได้ค่ะ ราคาก็ไม่แพงประมาณ 200 บาท ต่อมาคือกระเป๋า กระเป๋าใบนี้มีความสวยงามแน่นหนา เพราะว่าทำแบบสองชั้นเลยค่ะ แข็งแรง เพราะเราใช้คล้าและหวายทำขึ้นมา หิ้วใส่ของทนทานเพราะว่ามันแน่น”

กระติบข้าวที่ทุกท่านได้มีโอกาสใช้สอย หรืองานฝีมือหลากหลายชนิดที่เราพบเห็นตามจุดขายของต่างๆ มันเปี่ยมล้นไปด้วยศักยภาพของผู้สูงวัย และความสุขของผู้รังสรรค์  หากท่านใช้สินค้าอยากให้มองถึงผู้คนเหล่านี้ด้วย

“มาทำอย่างนี้ก็รู้สึกดีใจและภูมิใจในการงานของเรา เพราะว่าเราก็มีรายได้เสริมขึ้นมา กระติบข้าวคล้าเราก็ทำไปเรื่อย ๆ มารวมกันทำด้วยกันก็รู้สึกว่าดีใจ มีเพื่อนมาทำด้วยกันอย่างนี้มันก็ดีใจ ก็ได้คลายเหงาบ้าง ให้กำลังใจกันบ้างอย่างนี้แหละค่ะ”

แม่บุญนำ  เสาวิชิต สมาชิกกลุ่มสูงวัยจักสานบ้านหนองหลวงใหม่กล่าว

“เราเคยทำมาแล้ว เราก็เลยหยุดไม่ได้ พอจะหยุดทำก็มีคนมาถามว่า ยายทำกระติบข้าวไหม ที่หมู่บ้านมีใครทำไหม เขาถาม พวกแม่ก็เลยคิดว่า มีคนใช้กระติบของเราอยู่  ถ้าเราสานต่อไป ก็จะดีกว่าอยู่เฉยๆ เราสานอยู่แบบนี้เราก็มีความสุขของเรา เพราะว่าเป็นฝีมือของเรา”

แม่บุหลัน  ยุคะรัง กล่าวทิ้งท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ