อยู่ดีมีแฮง : แหนแดงไมโครฟิลล่า พืชน้ำมหัศจรรย์ลดต้นทุนการเกษตร ต่อยอดเกษตรอินทรีย์

อยู่ดีมีแฮง : แหนแดงไมโครฟิลล่า พืชน้ำมหัศจรรย์ลดต้นทุนการเกษตร ต่อยอดเกษตรอินทรีย์

เกษตรกรหลายท่านอาจเคยประสบกับปัญหา เรื่องต้นทุนที่ใช้ในการทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปุ๋ยที่มีราคาแพง อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ต้องใช้เงินสำหรับซื้อ ทำให้เรื่องการทำเกษตรเป็นเรื่องที่ต้องมีเงินจึงสามารถทำได้ แต่ท่านรู้ไหมว่า มีพืชที่สามารถช่วยลดต้นทุน และง่ายต่อการขยายพันธุ์  นั่นก็คือ แหนแดงไมโครฟิลล่า ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาพันธุ์และขยายพันธุ์แหนแดงชนิดนี้ เพื่อนำมาพัฒนาการในการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์

วันนี้อยู่ดีมีแฮงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้กันค่ะ เราออกเดินทางมาที่บ้านอีเลี่ยน  ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมืองอุดรธานี อุดรธานี มาพบกับพี่เบญ เบญจพิศ คอนสเตเบิ้ล  เกษตรกรผู้เลี้ยงแหนแดง ซึ่งก่อนจะมีการเริ่มทำพี่เบญเคยประกอบอาชีพ เป็นแม่ค้าตลาดนัดมาก่อน พอได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็เลยหยุดขาย เพราะมีผลกระทบหลายอย่าง เช่น มีการสั่งปิดตลาด ทำให้ไม่มีรายได้ จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน

เริ่มต้นจากความสนใจในการลดต้นทุน

หลังตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเธอจึงมองหาอาชีพที่พอจะช่วยหาเลี้ยงครอบครัวได้ เริ่มด้วยทำเกษตรผสมผสาน ปลูกอ้อยคั้นน้ำ เลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ด และไก่ ซึ่งก็พบว่า ในแต่ละเดือนต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้ออาหารสัตว์ จึงคิดว่าทำอย่างไรถึงจะลดต้นทุนลงได้

“ตอนแรกคิดแค่ว่าอยากลดต้นทุนในฟาร์มตัวเองก่อน แบบว่าเราสามารถเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เพื่อเอามาเลี้ยงตัวเองด้วย ผลตอบแทนคือเขาจะมาเลี้ยงเรา ถ้าเราเลี้ยงเขาดีแล้ว ก็เลยคิดว่า จะหาอะไรไปเลี้ยงเขาดี ก็เลยนึกถึง แหนแดง พันธุ์วิชาการเกษตร เขาสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยง เพราะมีโปรตีนสูง ก็เลยสนใจก็เลยศึกษาค่ะ เลี้ยงไปเลี้ยงมา คิดว่ามันดีจริง ๆ ก็เลยอยากแบ่งปันให้เพื่อนที่ทำเกษตรด้วยกัน”

หลังจากได้พืชที่ช่วยลดต้นทุนแล้ว พืชชนิดนี้ยังสามารถเริ่มสร้างรายได้ให้เธออีกด้วย ราคาแหนแดงขายทางออนไลน์อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท แต่หากเข้ามาซื้อหน้าฟาร์มราคากิโลกรัมละ 70 บาท ปรากฏว่ามีลูกค้าสนใจและสั่งจองจำนวนมาก ทั้งมารับเองที่สวน และบรรจุขายส่งทางออนไลน์

ปัจจุบันพี่เบญ เพาะเลี้ยงแหนแดงรวมเนื้อที่กว่า 2 ไร่ ซึ่งเธอบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ขายดี เพราะคนหันมาทำเกษตรมากขึ้น และอนาคตหากตลาดมีมากจากการขายแหนแดงสด ก็ยังสามารถแปรรูปเป็นแหนแดงแห้ง ขายเป็นปุ๋ยต่อไปได้

“รายได้ตอนนี้ ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 บาท ถ้าวันไหนไม่ได้ ก็ประมาณ 500-600 บาทค่ะ ตอนนี้ก็มีเครือข่ายผู้เลี้ยงปู แล้วก็เลี้ยงหอย ที่เขาแนะนำมาให้มาซื้อที่นี่ อยู่ในอุดรคือมาซื้อกับเบญ”

เคล็ดไม่ลับสำหรับการเลี้ยงแหนแดง

แหนแดงเป็นพืชที่สามารเพาะเลี้ยงได้ในภาชนะขนาดเล็ก เช่น กะละมัง กล่องโฟม ไปจนถึงการเพาะเลี้ยงในบ่อดิน หรือทุ่งนา ซึ่งขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เลี้ยง มีปัจจัยควบคุมการเจริญเติบโตอยู่ 3 อย่าง คือ น้ำ อาหาร และแสงแดด

อันดับแรกเตรียมพื้นที่บ่อในการเลี้ยงแหนแดง  ใส่น้ำลงไปในบ่อ ซึ่งน้ำก็ใช้ได้ทุกประเภท น้ำประปา น้ำบาดาล น้ำธรรมชาติ น้ำฝน แต่ถ้าเป็นน้ำประปาจะต้องพักน้ำไว้ประมาณ 3 วัน เพราะมีคลอรีนสูง หลักจากนั้นใส่ปุ๋ยคอกลงไปแช่น้ำทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้ปุ๋ยคลายความร้อน และมีประสิทธิภาพ กระตุ้นการเจริญเติบโตได้ดี  ก่อนที่จะปล่อยแหนแดง

อันดับสามปล่อยแหนแดงลงในอุปกรณ์ เน้นปล่อย 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ เพราะจะทำให้การขยายตัวดีขึ้น เคล็ดลับสำคัญคือแหนแดงเป็นพืชที่ไม่ชอบแดด และไม่ชอบร่มมากจนเกินไป หรือให้ได้แสงแดดอย่างเพียงพอ ราวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งประมาณ 12-14 วัน ก็สามารถเติบโตเต็มที่ และนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้

พืชมหัศจรรย์ต่อยอดสู่การทำเกษตรอินทรีย์

แหนแดง มีความมหัศจรรย์ คือ มันเป็นพืชที่สามารถใช้ร่วมในการปลูกข้าว ใช้ร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ ใช้ร่วมกับการต่อยอดไปสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์ ในการลดการใช้สารเคมีได้  ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า แหนแดง มีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ แต่ที่เหมาะสำหรับประเทศไทย มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ อะซอลล่า พินนาต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมในประเทศไทย กับสายพันธุ์ อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตร นำเข้ามาเพื่อคัดพันธุ์ และปัจจุบันได้พัฒนาจนสามารถส่งต่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ จนเป็นที่รู้จักในชื่อ แหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตร

“เดิมกรมวิชาการเกษตรเราเอง เริ่มมีงานวิจัยในเรื่องของแหนแดง มาตั้งแต่ ปี 2520 เป็นต้นมา เป็นการพัฒนาจากพันธุ์พื้นเมืองขึ้นมา ซึ่งพันธุ์พื้นเมืองมันจะมีขนาดใบที่เล็ก แล้วก็ความทนทาน หรือแม้แต่การขยายพันธุ์ไม่เพียงพอ ซึ่งพันธุ์ไมโครฟิลล่า (microphylla) เป็นพันธุ์ที่เราวิจัย ถือว่า ให้การขยายพันธุ์ที่ดีกว่าพันธุ์พื้นเมือง สูงมากกว่า 10 เท่า เสร็จแล้วเขาสามารถให้โปรตีนได้ที่สูงมาก มากกว่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้ไนโตรเจนได้มากกว่า 4-5 เปอร์เซ็นต์ มันเลยเป็นการต่อยอดขึ้นมา งานวิจัยจากอาจารย์หลายๆ ท่าน ที่ท่านทำการวิจัยมาให้กรมวิชาการเกษตรเราเพื่อใช้ประโยชน์ต่อ”  อภิชาต พลปัถพี เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี กล่าว

หลายคนคงเคยเห็นพืชขนาดเล็กชนิดนี้ที่เมื่อก่อน เราเห็นได้ทั่วไปตามห้วยหนอง คลอง บึงต่างๆ ที่เรามองข้ามความพิเศษของมันไป แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นพืชที่มีประโยชน์ สามารถลดต้นทุน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างงาม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ