โตขึ้นอยากเป็นอะไร ? หลายคนอาจมีประสบการณ์ให้ตอบคำถามนี้ หรือแม้แต่ตอนที่โตขึ้นก็อาจจะเจอคำถามว่า ความฝันวัยเด็กของเราคืออะไร ?
เมื่อทุกคนต่างมีความฝันและอยากให้ฝันนั้นเป็นจริง เช่นเดียวกับ KOLLAGE เทศกาลวัยรุ่นโคราช กิจกรรมครั้งที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของคนที่มีฝัน ชวนกันมาออกแบบฝันในเมืองของพวกเขา วันที่ 26-27 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ Art Gallery & Exhibition Korat เป็นแนวคิดของคนมีฝันที่อยากจะมีส่วนร่วมในการออกแบบบ้าน ออกแบบเมืองที่พวกเขาอยู่ ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่ยังมีความฝันต่อการพัฒนาเมืองโคราช ให้ได้ออกมาโชว์ความมันส์และยืนยันว่าโคราชต้องเป็นเมืองที่ฝันได้
ภายในงานมีพื้นที่แสดงความสามารถ แสดงความคิดเห็นและแบ่งปันความฝันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น LIVE MUSIC x GALLERY x COSPLAY x DANCE x SHORT FILM x TALK x COMMUNITY x EDUCATION และอื่น ๆ อีกมากมายที่พวกเขามาร่วมกันส่งเสียงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มองเห็นความฝันคนรุ่นใหม่ เพื่อนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายในการออกแบบเมืองให้สอดคล้องกัน
“เมืองที่(ไม่)อนุญาตให้ฝัน” ซึ่งหนึ่งในสมาชิกทีมจัดงาน คุณศราวุฒิ เรือนคง เล่าว่า แนวคิดนี้มาจากที่กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในโคราช ช่วยกันสะท้อนปัญหาอุปสรรคของความฝัน ที่อยากจะเติบโต อยู่รอดได้ในบ้านเกิด แต่ยังขาดการสนับสนุนและการออกแบบเมืองที่ยังไม่เอื้ออำนวย จึงได้ใช้แนวคิดนี้แสดงออกผ่านพื้นที่กลางแบบนี้ ที่ชวนให้พวกเขาออกมาคิด มาคุย และออกแบบเมืองที่ตอบโจทย์ความฝันของคนหลากหลายกลุ่ม ผ่านงานศิลปะและดนตรีของคนรุ่นใหม่
“จริง ๆ แล้วความหมายของ KOLLAGE (โคลาช) มันเป็นการเล่นคำของคำว่า “โคราช” ที่แปลว่า นครราชสีมา แล้วก็ collab มาจาก collaboration การมีส่วนร่วม แล้วอีกอย่างก็คือ Collage ที่เป็นงานศิลปะการตัดแปะ ซึ่งรวม ๆ มันก็คืออาร์ตคือศิลปะครับ มันก็คือ 3 อย่าง คนโคราช การร่วมมือแล้วก็งานศิลปะมารวมกัน จริง ๆ แล้วการเกิดของ Kollage เกิดจากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่เรายังมีความฝันต่อการพัฒนาเมืองโคราชด้วยกัน เราเริ่มจากโคราช Youth forum ที่ชวนเพื่อน ๆ มานั่งคุยแลกเปลี่ยนปัญหาวัยรุ่นโคราช ซึ่งเราก็มองว่าโคราชมีกลุ่มเยาวชนหลายกลุ่มมาก แต่ไม่เคยมีพื้นที่ให้เรามาเจอกัน เราเดินชนกันส่วนกันทุกวันแต่ไม่เคยมาเจอกันเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนกันเลยว่าคุณคือใครคุณทำอะไร อย่างเช่น กลุ่มบีบอย กลุ่มโคฟเวอร์แดนซ์ กลุ่มคอสเพลย์หรือแม้แต่กลุ่มคนที่ทำงานวิชาการ เด็กเรียน ก็ไม่เคยมีพื้นที่ให้เขาได้มาเจอกัน”
“เมืองที่(ไม่)อนุญาตให้ฝัน” จะกลายเป็น “เมืองที่ฝันได้”
“เราเชื่อว่าถ้ามีพื้นที่กลางให้เจอกันมันจะเกิดการพัฒนาเมืองที่มันสร้างสรรค์ แล้วลองมองว่าเราสามารถขยับเมืองเป็น Inclusive city การพัฒนาเมืองของทุกคนได้ จากจุดเล็ก ๆ ก็คือการทำงานกับคนรุ่นใหม่กับวัยรุ่นกับเยาวชนนี่แหละ จริง ๆ เราเริ่มจากการจัด Forum กันที่นี่ครั้งแรก เราแชร์ปัญหาวัยรุ่นกันแล้วก็ผ่านการแลกเปลี่ยนกันจนได้คอนเซ็ปต์ว่า จริง ๆ เมืองของเรามันเป็นเมืองที่ไม่อนุญาตให้เราได้ฝัน โคราชเป็นเมืองที่ไม่สามารถฝันได้ เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราจะร่วมกลุ่มกันเราควรจะมี Agenda บางอย่างร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกันเราก็เลยคิดว่าเราจะต้องออกแบบเมืองให้เป็นเมืองที่ฝันได้ ก็เลยจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อหาเพื่อนที่จะร่วมฝัน ร่วมสร้างเมือง ร่วมออกแบบเมืองโคราชให้เป็นเมืองที่ฝันได้จริง ๆ”
KOLLAGE แพลตฟอร์มกลาง พื้นที่เรียนรู้และหนุนเสริมเพื่อน ๆ เครือข่าย
“คือ Kollage มันมองว่าตัวมันเองเป็นพื้นที่กลาง พื้นที่ของการแลกเปลี่ยน มองตัวเองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่จะหนุนเสริมเพื่อน ๆ เครือข่ายวัยรุ่นโคราชที่อาจจะมีองค์กรทางการของตัวเองหรือไม่มีหรือร่วมกันแบบหลวมก็ตาม แต่ถ้าอยากจะทานฟอร์มตัวเองอยากจะเกิดพื้นที่เรียนรู้เนี่ย Kollage จะเป็นคนที่จะหาพื้นที่หาทุนงบประมาณหาเครื่องมือในการสนับสนุน กลุ่มเพื่อน ๆ เนี่ยครับ แล้วก็มีเป้าหมายที่จะดึง Policy เคลื่อนกันในเชิงนโยบายของเมืองด้วย มีส่วนร่วมกับการเมืองโครงสร้างของในจังหวัดแล้วก็คิดว่า Kollage เร็ว ๆ คือการทำพื้นที่กลาง แบบเหมือนว่าสองวันนี้รู้จักกันแล้ว ได้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน แล้วจะเจอกันที่มันมากกว่าอีเว้นท์จะทำยังไง เรามองพื้นที่กลางแบบคาเฟ่ สามารถที่จะมีคาเฟ่ของตัวเองเหมือนเป็นคล้าย ๆ เซ็นเตอร์หน้าที่ของมันก็คือเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนมาเจอกัน จริง ๆ เรามีโปรเจคเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนด้วย มันควรจะมีการทำธุรกิจเพื่อที่จะเอาทุนมาทำกิจกรรมด้วย นั่นหมายความว่าถ้าคาเฟ่ก็อาจจะเป็นรูปแบบของสมาชิกไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ แต่ Kollage มีสมาชิกร่วมถือหุ้นเท่ากันแล้วก็พื้นที่คาเฟ่ตรงนั้นจะต้องเป็นคาเฟ่ที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ อย่างเช่นเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ เป็นพื้นที่ซ้อมเต้น เป็นพื้นที่ดูหนัง ก็คือแบบเป็นฟาซิลิตี้ไนน์คาเฟ่ต้องตอบโจทย์วัยรุ่นโคราช ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่แค่ตัวคาเฟ่ แต่หมายถึงว่าอีเว้นท์กิจกรรมที่จะทำต่อไปมันก็จะเป็น movment ที่ทำร่วมกันอย่างตอนนี้ เช่นกลุ่มฉายหนังเขาก็จะมีเทศกาลฉายหนังของเขา Kollage ก็อาจจะเข้าไปซัพพอร์ตในจุดที่สามารถซัพพอร์ตได้ อย่างผมก็ทำของ Korat Use Forum ก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแลกเปลี่ยน การสรุปประเด็นเก็บเนื้อหาสร้างนโยบาย เรารู้สึกว่าองค์กรของเราก็จะคอแลปผ่านเพื่อนดูหนังโดยชวนเค้าคุย ขยี้ประเด็นโครงสร้างปัญหาต่าง ๆ เพื่อที่จะเห็นจังหวะร่วมกันชัดมากขึ้น ถ้าเราจะร่วมกันผลักนโยบายของจังหวัด เราจะทำยังไงเราจะออกแบบยังไง Kollage มันค่อนข้างมองไกล”
“การขยับเมืองมันไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมืองมันคือคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนกลางคน วัยรุ่นหรือผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ มันคือทุกคนในเมืองเรา แน่นอนว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแน่ ๆ“
“เรารู้สึกว่าการขยับเมืองมันไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมืองมันคือคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนกลางคน วัยรุ่นหรือผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ มันคือทุกคนในเมืองเรา แน่นอนว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแน่ ๆ เรารู้สึกว่ามันจะเป็นจังหวะเมื่อเรารวมกลุ่มกันแล้วรู้จักกันแล้วมันจะเป็นจังหวะที่เราจะขยับหาผู้ใหญ่ ขยับหากลุ่มการเมืองในจังหวัด กลุ่มพลังต่าง ๆ หรือเอกชนเช่นหอการค้า เรารู้สึกว่าเราสามารถที่จะเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างเมือง เราไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ชอบเราไหมในมุมอาจจะมองว่าเราเป็นเด็กก้าวร้าวก็ได้ เราเป็นเด็กที่มีปม เราพูดถึงความฝัน เราพูดถึงเมืองที่ไม่อนุญาตให้ฝัน มันอาจจะดูรุนแรงสำหรับผู้ใหญ่แต่เจตนาของเราคือเราต้องการให้ประเด็นของเราชัดว่าเราอยากออกแบบโคราชให้เป็นเมืองที่ฝันได้
ดังนั้น เรามีเป้าหมายชัดเจนเลยที่จะชวนคนทุกกลุ่มมาสร้างเมือง มาออกแบบเมืองโคราชคือเราเชื่อว่าการพัฒนาเมืองไม่ใช่เป็นหน้าที่ของ สส.ของนักการเมืองท้องถิ่นแต่มันคือหน้าที่ของ Citizen ของประชาชนทุกคนที่จะร่วมออกแบบเมืองของเขาซึ่งมันแค่เริ่มต้นจากกลุ่มพวกเรา กลุ่มเด็กเราอาจจะเป็นกลุ่มที่คุยภาษาเดียวกันเข้าใจกันง่ายมันเกิด movement ได้ง่ายเราสนุก เรามีความฝันที่คล้ายกันเลยเกิดพื้นที่ที่มันง่ายมาก
เชื่อไหมครับว่า Kollage เราเริ่มจากการคุยกันจริง ๆ โดยไม่ได้มีเงินทุนตั้งต้น แม้แต่งานนี้เราก็ไม่ได้คุยเรื่องเงินเลยมีเงินน้อยมากในการจัดงานแต่ทุกคนแบบหอบความฝันมาทุกคนมี Passion อยากให้เกิดพื้นที่ อันที่จริงหน่วยงานรัฐก็มีงานประจำสำหรับงานเยาวชนของเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานจังหวัดไหนคือทุกคนมีแผนการปฏิบัติงานตามปีงบประมาณของตัวเอง แต่ในช่วงที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าโควิด-19 เปลี่ยนการเรียนรู้ของเด็กการดิสรัปชั่นของดิจิตอล ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปรวดเร็วมาก ดังนั้นองค์กรของรัฐจะต้องขยับแบบรวดเร็วเช่นกัน ความต้องการของเยาวชนอาจจะไม่ใช่ Facility ด้านกีฬาที่เราเคยเข้าใจ สนับสนุนเยาวชนก็อุปกรณ์กีฬาหรือสร้างพื้นที่เกี่ยวกับกีฬา อย่าง Kollage มีคอสเพลย์เยอะอาจจะสนใจเรื่องการเเต่งกายการแต่งหน้ากันเวิร์คชอปอื่น ๆ ครับ หรือ บีบอย โคฟเวอร์แดนซ์ อาจจะชอบแบบซ้อมเต้นทุกวัน ถามว่าโคราชมีฟาซิลิตี้สำหรับการซ้อมเต้นของน้อง ๆ หลังเลิกเรียนไหม แล้วพื้นที่นั้นต้องปลอดภัยด้วยมันต้องสว่างอะไรแบบนี้ครับ มันต้องเข้าถึงง่ายและมีห้องน้ำ มีห้องเปลี่ยนชุด มีอะไรที่มันตอบโจทย์เด็กในยุคนี้
เรารู้สึกว่าหน่วยงานรัฐก็จะต้องทำการบ้านเรื่องนี้ครับว่าเมืองมันขยับไปในทิศทางไหนมากขึ้น ซึ่งมันเป็นรูปแบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกแล้วนะ เราก็รู้สึกว่าผู้ใหญ่เองก็ต้องขยับเรื่องนี้ลงมาเรียนรู้กับเด็ก ๆ เปิดพื้นที่ให้เขาเข้าไปร่วมออกแบบด้วยใบขยี้ด้วยกัน ผมก็มีภาพฝันว่า อยากให้มันเป็นการทำงาน movement ทางสังคมที่มันสร้างสรรค์มีส่วนร่วมกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชนหรือกลุ่มพลังต่าง ๆ หรือประชาคมโคราชครับ ให้มันมีพื้นที่ที่ได้มาขยี้ปัญหาของเมืองและออกแบบไปด้วยกันครับ”
KOLLAGE เทศกาลวัยรุ่นโคราช กับ “เมืองที่(ไม่)อนุญาตให้ฝัน”
เส้นทาง “ความฝัน” สู่ “ความจริง” จำเป็นต้องเริ่มลงมือทำ โดยเฉพาะเมื่อฝันนั้นเป็น “ความฝันร่วม” อย่างวัยรุ่นโคราชที่ คุณศราวุฒิ เรือนคง บอกเล่าผ่านปากคำ ที่ย้ำถึงการมีส่วนร่วมออกแบบ และพัฒนาเมืองของตัวเองของวัยรุ่นโคราชที่อยากให้เกิดพื้นที่กลาง พื้นที่ปลอดภัยทางความคิด พื้นที่ร่วมกันออกแบบเมืองของพวกเขา ซึ่งหลังจากนี้จะมีการรวบรวมแนวคิดและข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนในระดับนโยบายของพื้นที่ให้ทุกคนที่มีความฝันได้แสดงออกในแบบของชาวโคราชและกลายเป็น “เมืองที่อนุญาตให้ฝัน”