น้อยคนจะทราบว่าภายใต้ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของม่อนแจ่ม เบื้องหลังคือการต่อสู้ยืนยันกรรมสิทธิ์การใช้ที่ดินของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน ตลอดจนถึงความพยายามในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยวิสาหกิจชุมชนโดยการสร้างกฎกติกาเพื่อขับเคลื่อนให้ม่อนแจ่มเป็นพื้นที่แห่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
จากจุดเริ่มต้นด้านศักยภาพการท่องเที่ยวของม่อนแจ่มนั้นเริ่มต้นจากการส่งเสริมของโครงการหลวงตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 จนกระทั่งเกิดเป็นการจัดทำการท่องเที่ยวชุมชน ที่พักแบบโฮมสเตย์ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และตั้งม่อนแจ่มอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2552 รวมทั้งยังมีหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เข้าไปส่งเสริม ทำให้ม่อนแจ่มเริ่มมีชื่อเสียงและขยายตัวจนได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในปี พ.ศ.2557
แต่เมื่อย้อนกลับไปยังที่มาที่ไปของชุมชนดั้งเดิม ชาติพันธุ์ม้งกลุ่มแรกลงหลักปักฐานตั้งรกรากที่หมู่บ้านหนองหอยเก่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วนับว่าชุมชนม่อนแจ่มนั้นอยู่ในพื้นที่นี้ก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2507
จนกระทั่ง ช่วงสายของวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565 กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ม่อนแจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 500 คน รวมตัวปิดทางเข้าออกพื้นที่ม่อนแจ่ม หลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้กว่า 100 นาย นำกำลังเตรียมเข้ารื้อถอนบ้านเรือนและโฮมสเตย์ของชาวม้งในพื้นที่ ตามคำสั่งของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่มายืนยันว่าตนเองเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งรกรากในพื้นที่ม่อนแจ่มมานานกว่าร้อยปี
กองบรรณาธิการชวนทำความเข้าใจความเป็นไป และฟังเสียงคนม่อนแจ่มผ่านมุมมองของผู้ประกอบการชาติพันธุ์ม้งหลายช่วงวัย
อ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ ม่อนแจ่มโมเดล : เรื่องเล่า ความรู้ ประสบการณ์ท่องเที่ยวชุมชนของม้งต่างรุ่น
นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์จากของการปรับตัวของคนอยู่กับป่า ดอยอินทนนท์ บ้านกลาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ปรับจากการทำเกษตรแบบเดิมมาสู่วิถีใหม่ที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ใช้พื้นที่เท่าที่มี ไม่มีการขยายเพิ่ม โดยปรับเป็นที่พัก และสวนผลไม้เพื่อการท่องเที่ยว คนอยู่ได้ ธรรมชาติอยู่ได้ ภายใต้การจัดการของชุมชน