ฟังเสียงประเทศไทย : ชาวนาอีสานรุ่นใหม่ในวันกลับบ้าน ณ ยโสธร

ฟังเสียงประเทศไทย : ชาวนาอีสานรุ่นใหม่ในวันกลับบ้าน ณ ยโสธร

เรียบเรียง : นาตยา สิมภา

บรื้นนนนน…  พวกเราออกเดินทางกันอีกแล้ว  ครั้งนี้ฟังเสียงประเทศไทยออกเดินทางไปที่ “เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ” เพื่อล้อมวงสนทนาอีกครั้งถึงอนาคตคนคืนถิ่นในบทบาทชาวนาอีสานรุ่นใหม่ในวันกลับบ้าน ณ ยโสธร

ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางไปทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่

การเดินทางในพื้นที่ภาคอีสาน รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal เดินทางมาถึงพิกัดที่ 6 แล้ว ณ สำนักงานกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง อ.กุดชุม จ.ยโสธร เพื่อร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ชาวนา ข้าว และคนอีสานรุ่นใหม่ในวันกลับบ้าน ผ่านการจัดวงคุย “โสเหล่” ภายใต้แนวคิด  Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา

ฟังเสียงประเทศไทยเราต้องขอย้ำว่าการเดินทางทุกครั้ง หัวใจของการมาเจอคือได้มาฟัง แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคตไม่เพียงปัจจัยการผลิต ดิน น้ำ เงินทุน และทักษะความรู้การสนับสนุนในระดับนโยบายและความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้ง จากภาครัฐหรือภาคเอกชนจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสที่เหมาะสมสำหรับคนคืนถิ่นในบ้านของพวกเขา เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการมีข้อมูลสถานการณ์คนคืนถิ่น วิถีเกษตรของคนรุ่นใหม่ และศักยภาพด้านการเกษตรของยโสธรมาแบ่งปันกัน

สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 1 ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า

มีการจ้างงานจำนวน 38.7 ล้านคน โดยภาคเกษตรกรรม 11.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 11.1 ล้าน

และนอกภาคเกษตรมีจำนวน 27.3 ล้านคน

ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุมีประชากรคืนถิ่นจำนวน  1.7 ล้านคน

สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 3.7 เท่า โดยส่วนใหญ่ย้ายออกจากกรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต

ไปสู่หลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค  และในจำนวนนี้มีประมาณ 6 แสนคนที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี

โดยกลุ่มอาชีพที่สำคัญ ของประชากรคืนถิ่น คือ

(1) กลุ่มแรงงานที่เชียวชาญด้านเทคโนโลยี หันมาค้าขายบนช่องทางออนไลน์ การสร้างตัวตนในรูปแบบYoutuber” และคนที่มีทักษะ Digital Marketing

(2) กลุ่มแรงงานวัยกลางคนที่พอมีทุนทรัพย์ หันมาเป็นผู้ประกอบการ นิยมเปิดร้านอาหาร หรือ Café ขนาดเล็กเน้นสร้างจุดขายที่โดดเด่นในเมืองรอง

(3) กลุ่มแรงงานที่กลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากมีที่ดินหรือเคยทำการเกษตรมาก่อน ซึ่งมีบางส่วนนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

อ้างอิง : คอลัมน์ : แจงสี่เบี้ย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรม รวม 149.25 ล้านไร่ โดยอยู่ในภาคอีสาน กว่า 63 ล้านไร่

ภาคเหนือ 32.51 ล้านไร่

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 63.86 ล้านไร่

– ภาคกลาง 31.14 ล้านไร่

– ภาคใต้ 21.74 ล้านไร่

ข้อมูลปริมาณเนื้อที่ปลูกข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2563/64 รวมทั้งประเทศ 62,437,542 ไร่

ซึ่งอยู่ในภาคอีสานสูงสุด กว่า 38 ล้านไร่ และอยู่ในยโสธร กว่า 1 ล้าน 3 แสน 5 หมื่น ไร่

-ภาคเหนือ 14,702,834 ไร่

-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 38,593,847 ไร่

-ภาคกลาง 8,332,804 ไร่

-ภาคใต้ 808,057 ไร่

-ยโสธร 1,352,845 ไร่

นโยบายเทคโนโลยีการเกษตร 4.0

ภายในปี 2593 โลกจะต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้น 70% เพื่อเลี้ยงประชากร 10,000 ล้านคน แต่จีดีพีจากภาคเกษตรทั่วโลกกลับหดตัวลงเหลือแค่ 3% เทียบกับ 9% เมื่อสิบปีก่อน ประชากรในเมืองจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2.4พันล้านคน ภายในปี 2593 ความต้องการเนื้อสัตว์จะเพิ่มจาก 36.4 กก.ต่อคน เป็น 45.3 กก.ต่อคนในปี 2573

เทคโนโลยีการเกษตร 4.0 คือ ระบบช่วยเกษตรกรตัดสินใจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่

1.เทคโนโลยีเก็บข้อมูลทั้งในฟาร์มและนอกฟาร์ม

2.เทคโนโลยีสื่อสารและบริหารข้อมูล

3.เทคโนโลยีประมวลผลด้านสถิติ และซอฟต์แวร์ช่วยการตัดสินใจ

ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีการเกษตร 4.0 ในญี่ปุ่น

1.เกษตรกรส่วนใหญ่สูงอายุ เฉลี่ย 66 ปี ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าการใช้ ICT จะช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานและการถ่ายทอดความรู้จากเกษตรกรรุ่นเก่าสู่เกษตรกรรุ่นใหม่

2.ผู้ประกอบการการเกษตรส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อย 80% เกษตรกรมีพื้นที่เล็กกว่า 13 ไร่

แต่มีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์เกษตรอย่างกว้างขวาง

3.ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งในนปี 2573 รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนระบบช่วยเก็บเกี่ยว และระบบเกษตรแม่นยำอย่างจริงจังทำให้ในญี่ปุ่นระหว่างปี 2558-2562 เติบโต 63% มีมูลค่า 15.87 ล้านเยน หรือ 4.7 ล้านบาท

โดยในปี 2562 เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำและระบบช่วยเหลือการเก็บเกี่ยวมีสัดส่วนของตลาดที่ใหญ่ที่สุด

การใช้เทคโนโลยีการเกษตรในไทย

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ให้บริการรถดำนาที่โฆษณาผ่าน facebook ถึง 118 ราย จำนวนมากอยู่ในอีสาน ในปี 2561 ธกส.รายงานว่ามีผู้ขอสินเชื่อเพื่อจัดซื้อโดรนเกษตรจำนวน 60 ลำ และคาดว่ามีการขอสินเชื่ออีก 100 ลำในปี 2562 ปัจจุบันมีผู้ให้บริการโดรนพ่นยาที่โฆษณาผ่าน facebook มากถึง 24 ราย

(Young Smart Farmers – YSF)

มีอายุระหว่าง 17-45 ปี และเริ่มต้นทำการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรริเริ่มโครงการในปี 2557 ซึ่งมีผู้เข้าโครงการ 2,119 ราย และในปี 2560 มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 9,242 ราย ในจำนวนนี้สามารถเริ่มโครงการได้ 3,850 ราย เริ่มเป็นผู้ประกอบการ 900 รายและสามารถส่งออกได้ 100 ราย ในปีงบประมาณ 2562 ทั้ง 7

กรมในกระทรวงเกษตรฯจะมีงบประมาณ 120,543 ล้านบาท สำหรับอบรม YSF และมีเกษตรกรเป้าหมายทั้งหมด 70,900 คน

แผนปฏิบัติราชการประจำปี 2565 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วิสัยทัศน์ “เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมและมีรายได้ที่มั่นคง” ซึ่งมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย

1. เกษตรกรเป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

2. องค์กรเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเป็น Smart Group ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25

3. ครัวเรือนเกษตรกรได้รับการพัฒนาและน้อมนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

4. จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่มีการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้

5. ครัวเรือนเกษตรกรมีความมั่นคงทางอาหารไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

3 อันดับแผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า ปีงบประมาณ 2565

งบประมาณ 553.0439 ล้านบ้าน รวม 18 โครงการ

โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 2,045 แปลง งบประมาณ 166.5102

โครงการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร 6.2 ล้านครัวเรือน งบประมาณ 89.2860

โครงการผลติและขยายพืชพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร 1,200,000 ต้น/ชุด งบประมาณ51.1907

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2565

• 1) ความแปรปรวนของสภาพ อากาศ และภัยธรรมชาติ

• 2) สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ การค้าของโลกฟื้นตัวช้า

• 3) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลในการแข่งขันทางการค้าของสินค้าเกษตร

• 4) ราคานํ้ามันดิบที่มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น

ยโสธรเมืองเกษตรอินทรีย์

จังหวัดยโสธร ห่างจากกรุงเทพมหานคร 531 กิโลเมตร

• มีพื้นที่เกษตรกรรม รวม 2,060,386 ไร่ Text ที่นา 1,465,754 ไร่ / พืชไร่ 306,682 ไร่/ไม้ยืนต้น 276,652 ไร่ /ไม้ผล 6,974 ไร่ /พืชสวน 1,207ไร่/ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ 2,551 ไร่ /พืชน้ำ 28 ไร่ สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 511 ไร่และเกษตรผสมผสาน/ไร่นาสวนผสม 27 ไร่

• มีแหล่งน้ำสายสำคัญ ได้แก่ ห้วยลิงโจน ห้วยสะแบก ลำโพง ลำเซบาย ลำน้ำมูล

แม่น้ำชี ลำน้ำยัง ลำทวน และแหล่งน้ำขนาดเล็กอยู่ทั่วไป

• ในปี 2563 จังหวัดยโสธรมีสหกรณ์จํานวน 79 แห่ง สมาชิก 76,558 คน

• แบ่งเป็นสหกรณ์ภาคเกษตร 61 แห่ง สมาชิก 62,692 คน

• สหกรณ์นอกภาคเกษตร 18 แห่ง สมาชิก 13,866 คน

• นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเกษตรกรประเภทต่าง ๆ จํานวน 79 แห่ง โดยมีสมาชิก 10,626คน

• แผนพัฒนาจังหวัดยโสธร (พ.ศ. 2566 – 2570) ระบุเป้าหมายการพัฒนา ยโสธรเมืองเกษตรอินทรีย์ เมืองแห่งวิถีอีสาน

ปรากฏการณ์คืนถิ่นของแรงงาน ทำให้เครือข่ายเกษตรกร ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก๋า ได้รวมกลุ่ม สร้างทางเลือก หวังให้เกิดทางรอดในบ้านของพวกเขามากยิ่งขึ้น และฟังเสียงประเทศไทยชวนล้อมวง “โสเหล่” และ “ฟัง” อย่างใส่ใจ ถึงอนาคตชาวนาอีสานรุ่นใหม่ในวันกลับบ้าน จากสำนักงานกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง อ.กุดชุม จ.ยโสธร และจากข้อมูล ความรู้สึก ความผูกพันความฝันต่อวิถีเกษตรในพื้นที่ จ.ยโสธร  ซึ่งในอนาคตอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายลักษณะ ทางรายการจึงได้ประมวลฉากทัศน์หรือภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นมาเพียง 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาได้โสเหล่ เว้าจาถึง “อนาคตชาวนาอีสานรุ่นใหม่ในวันกลับบ้าน ณ ยโสธร”

ฉากทัศน์ A   ชาวนาผู้ประกอบการ

•  ชาวนารุ่นใหม่ในอีสานปรับตัวยกระดับเป็นผู้ประกอบการ ผลิต แปรรูป และจำหน่าย จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค เน้นผลผลิตอินทรีย์เจาะกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเฉพาะ คำนึงถึงการตลาดเป็นส่วนสำคัญ แต่ต้องหาแพลตฟอร์มที่เหมาะสม เกษตรกรรายย่อยมีโอกาสทางการตลาดมากขึ้นต้องมีการสนับสนุนความรู้การตลาด ผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีการผลิต โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงเนื่องจากสัดส่วนผู้ครองตลาดสินค้าเกษตรรายใหญ่มีจำนวนมาก

ฉากทัศน์ ชาวนาแปลงใหญ่รวมกลุ่มผลิต

•      พัฒนาศักยภาพการผลิตตั้งแต่ต้นทาง แสวงหาทางออกเพื่อลดลดต้นปัจจัยการผลิตที่ดิน แรงงาน และเงินทุน โดยเน้นการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการรวมกลุ่มผลิตสินค้าทางการเกษตรคราวละมาก ๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ และส่งขายผลผลิตซึ่งเป็นไปตามตามกลไกตลาด แต่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการกระจายความรู้ และการหนุนเสริมที่เป็นรูปธรรม และความต่อเนื่องในการจัดการภาพรวมและความต่อเนื่องของการทำงาน

ฉากทัศน์ชาวนาวิศวกร DIY การทำนา

•      ลงแรงตามกำลัง จากปัจจัยการผลิตที่ดินทำกินของครอบครัว เน้นทำเกษตรแบบประณีตในระดับชุมชน ซึ่งอาจใช้เงินทุนในการผลิตสูง การเรียนรู้ทักษะการทำเกษตรที่สอดคล้องกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความชำนาญการ ต้องใช้เวลาจากประสบการณ์การลงมือทำ ซึ่งนำเทคโนโลยีขนาดเล็กเข้ามาทดแทนการใช้แรงงาน เพราะภูมิปัญญาวิถีเกษตรดั้งเดิมถูกปรับเปลี่ยน วัยทำงานเป็นแรงงานนอกภาคการเกษตรมากขึ้น

นอกจากข้อมูลพื้นฐาน สถานการณ์ และศักยภาพของลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาขาของนครพนม ที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A ชาวนาผู้ประกอบการ

กฤษณา วิลาวัลย์ ผู้จัดการฝ่ายโปรดักชั่น สหกรณ์กรีนเนทและมูลนิธิสายใยแผ่นดิน

“สำหรับการเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการ จริง ๆ แล้วบทบาทของสหกรณ์กรีนเนทที่เราทำก็คืออย่างนั้น เพราะว่าสมาชิกส่วนใหญ่ที่อยู่ในสหกรณ์ก็คือเกษตรกร บทบาทของเราคือเป็นตัวแทนของเกษตรกรในการทำหน้าที่ทางการตลาด รวบรวมผลผลิต เราจัดการการผลิตตั้งแต่ห่วงโซ่ก็คือตั้งแต่ระบบฟาร์มไปจนถึงผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ลูกค้าต่างประเทศ ฉะนั้นในแต่ละข้อต่อของการทำงานไม่ว่าจะตั้งแต่เกษตรกรที่ระบบฟาร์ม การสนับสนุน การหนุนเสริมหรือการดูผลผลิตที่เกษตรกรมีว่ามีอะไรบ้างที่จะเป็นการตลาดได้ ก็จะมาถึงจุดของการรวบรวมเก็บผลผลิตทั้งหมดขึ้นมา เพื่อที่จะแปรรูป ในช่วงของการแปรรูปก็คือการดูแลเรื่องคุณภาพ พอดูเรื่องการแปรรูป ดูแลคุณภาพเสร็จก็จะมาที่การบรรจุ การแพ็คกิ้งเพื่อให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ดูความต้องการของลูกค้าว่าต้องการอะไรบ้าง เราก็จะจัดสรรให้ตามความต้องการของลูกค้า สุดท้ายคือการส่งออกไปถึงลูกค้าปลายทาง

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าส่งออกไปถึงลูกค้าปลายทางเสร็จแล้วคือจบแต่ไม่ใช่ มันยังต้องการการ Feedback จากลูกค้ากลับบมา ฉะนั้นเวลาลูกค้าตอบกลับกับเรามาว่ามีปัญหาอย่างนี้ เชิงคุณภาพการแก้ไขถ้าโดยของที่เราใช้อยู่โดยองค์กรเราเราก็จะกลับไปแก้ไขในแต่ละห่วงโซ่จนกระทั่งถึงเกษตรกร

ฉะนั้นในมุมของการที่จะเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการสำคัญที่สุดในลักษณะของปัจจุบันจะเป็นลักษณะของผู้ประกอบการในรายเดียว เพราะว่าคุณจะเข้ามาเพื่อที่จะมาหาผลผลิตแล้วออกไปจำหน่ายหรือว่าเป็นลูกของเกษตรกรเข้ามาแล้วทำเรื่องของออนไลน์และขาย แต่ข้อต่อที่มันจะหายไปก็คือว่าการควบคุมคุณภาพหรือการจัดการผลผลิตที่จะส่งให้กับลูกค้า ความต่อเนื่องแล้วก็ปริมาณผลผลิตจะเพียงพอหรือเปล่า และที่สำคัญคือเงินทุนในการที่จะรวบรวมผลิตผลิตและมาจัดการผลิผลิตทั้งหมดเพื่อที่จะตอบให้กับลูกค้า

ถ้านับของกรีนเนทเราเป็นรูปแบบของการค้าที่ถ้านับไปแล้วก็ล้าสมัย เพราะว่าเราทำแบบนี้มา 30 ปี กับยุคปัจจุบันนี้รูปแบบที่มันเร็วขึ้น เพราะว่าคนรุ่นใหม่ก็จะทำอะไรได้ดีกว่าเราเยอะ เพราะว่าคนรุ่นใหม่รู้เรื่องเทคโนโลยี การขายบนออนไลน์ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าความที่มันต้องแข่งกันเยอะ ๆ ในหลาย ๆ คนที่มีผลผลิตที่ใกล้เคียงกัน สุดท้ายคือการห้ำหั่นกันที่ราคา มันไม่เกิดการรวมตัวหรือการทำ Connection แต่สมมติว่าคุณสามารถรวม Connect เหมือนกับไอเดียของร้านแกอย่างนี้ คุณมีหนึ่งร้านกาแฟที่คุณทำเรื่องอาหารหรืออะไรก็ตามแต่ แล้วคุณแท็กกลับมาหาคนที่เป็นเกษตรกรแล้วอาจจะมีความชำนาญในเรื่องของการทำฟาร์มหรือรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร ตรงนั้นจะเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นคือเป็นเครือข่าย แต่ถ้าเกษตรกรถ้าทำคนเดียวหรือผู้ประกอบการรายเดี่ยวถ้าจะทำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อันนี้ต้องบอกว่าคุณจะต้องหนักมาก ๆ แล้วก็สู้กับอะไรเยอะมาก มันจะมีความต้องการแต่ละห่วงโซ่ที่ไม่เท่ากันและการจัดการจะมีความยุ่งยากของมันอยู่มันยังต้องอาศัยความเป็นเครือข่ายการรวมตัวที่จะช่วยเหลือและเกื้อกูลกันออกไป ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เกษตรกรคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นใหม่ที่คิดจะกลับมาทำเรื่องพวกนี้อาจจะต้องคิดให้มากขึ้น องค์ประกอบสำคัญก็คือเงินทุนที่จะมาใช้ในการจัดการในเรื่องของการทำธุรกิจเพราะทุกอย่างที่กลับมาทุกอย่างคือเป็นเงินทุนหมดเลยที่เราจะต้องใช้”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B  ชาวนาแปลงใหญ่รวมกลุ่มผลิต

วิริยะ แก้วคง ปฏิรูปที่ดินจังหวัดยโสธร

“การที่จะเกิดแปลงใหญ่ สำหรับเกษตรกรที่กรณีเราจะพูดว่าเป็นแรงงานคืนถิ่นได้ไหม ไม่ได้เนาะ เป็นแค่ว่าผู้ที่ประสงค์จะมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือด้วยเหตุภาวะเศรษฐกิจอะไรก็ช่าง ทุกคนเมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว การสำคัญเกี่ยวกับแปลงใหญ่ในภาคราชการ โดยนโยบายของท่านรัฐมนตรีนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยาวมาถึงในระบบราชการแต่ละหน่วยไม่ว่าทางเป็นเกษตรสำนักงานเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด โดยกรมส่งเสริมการเกษตรโดย ส.ป.ก. โดยเกษตรและสหกรณ์ทุกอย่างจะลงมาเป็นลักษณะแบบบูรณาการ หน่วยงานก็จะมีข้อจำกัด

ผมขอพูดก่อน ข้อดีที่จะต้องให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาแปลงใหญ่ในภาคราชการ การพัฒนาแปลงใหญ่มันหนีไม่พ้นอยู่ 4 ประเด็น ถ้าคุณมาร่วมเนี่ย อันดับแรก คือ การรวมกลุ่มเมื่อรวมกลุ่มแล้วต้องรวมให้ได้ถ้ารวมไม่ได้รวมตัว มันจะเดินไม่ได้เพราะการฉีดวงบริเวณของแปลงใหญ่เพื่อจะพัฒนาในสินค้าแต่ละอย่างเนี่ยมันจะต้องให้วิเคราะห์ได้ถึงว่าปริมาณ ปริมาณสินค้าจะได้เท่าไหร่เพื่อจะไปตอบโจทย์ในการการตลาดและคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ทั้งการลดต้นทุนการผลิตก็จะอยู่ในวงนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยของสำนักงานเกษตรอำเภอที่ช่วยสนับสนุนหลาย ๆ อย่าง แล้วขณะเดียวกันการพัฒนาคุณภาพผลผลิตก็มีมาอีกโดยกรมการข้าว เราก็ต้องแตะไปทุกหน่วยโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นก็มาพัฒนา เห็น ๆ เลยคือเรื่องเมล็ดพันธุ์ การพัฒนาเรื่องคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นล้วน ๆ อย่างแม่หญิงปลูกข้าวก็ดังทั่วประเทศแล้วตอนนี้ ต่อมาก็เรื่องระบบการตลาดซึ่งระบบการตลาดโดยลำพังตัวเกษตรกรเองจะให้ไปติดต่อเองค่อนข้างที่จะลำบาก เพราะฉะนั้นก็ต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือพาณิชย์เข้ามาเช่นการจัดทำมาบันทึกข้อตกลงอย่างเกษตรอินทรีย์ยโสธรก็มีการจัดทำข้อตกลงโดยจังหวัดยโสธรผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญว่าภาคราชการต้องเข้าไปช่วยเรื่องการตลาด

ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มการตลาดที่จะมาไม่ใช่มีเฉพาะเรื่อง MOU อย่างเดียว สิ่งที่ทางพี่อุบล ให้แนวคิดว่าอายุต่ำกว่า 20 ปี การตลาดออนไลน์มันช่วยได้มาก ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปพึ่งพาฝั่งเดียว ข้อดีถ้าเรามาพัฒนาร่วมในระบบตลาดไม่ว่าออฟไลน์หรือออนไลน์แล้วก็ MOU ในส่วนที่ภาคราชการช่วยก็จะทำให้เกิดประโยชน์นะครับ แต่อย่าลืมสิ่งที่ผมเน้นย้ำคือการรวมกลุ่มต้องแน่น ส่วนเทคโนโลยีที่เข้ามาก็ต้องช่วยเสริมซึ่งการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้ามา อย่าง Young smart farmer ที่จะช่วยพัฒนาในเขตพื้นที่ของเราในชุมชนของเรา ทีนี้ประเด็นที่เป็นข้อข้อกังวลไม่ใช่ข้อมูล เป็นข้อที่เราต้องปรับปรุงพัฒนา ระบบวิธีงบประมาณมันไม่ค่อยต่อเนื่อง การที่ราชการจะเอาเงินเป็นก้อนมาทิ้งไปเลยมันเป็นไปไม่ได้เพราะวิธีงบประมาณที่จะลงมันก็ค่อนข้างที่ถูกคาดถูกบล็อกด้วยการเบิกจ่าย ถูกบล็อกด้วยการปฏิบัติทางวิธีราชการเพราะฉะนั้นตัวนี้จะเป็นปัจจัยทำให้งบประมาณที่มาถึงพื้นที่ได้ไม่เต็มสัดส่วน แล้วการทำงานตรงมันก็ต้องตอบโจทย์เรื่องต้นทุนโดยกลุ่มจะต้องพัฒนากันเอง แล้วก็เรื่องการพัฒนาองค์ความรู้เครือข่าย พูดตรง ๆ ราชการเราไม่ได้อยู่กับชาวบ้านตลอด สิ่งสำคัญตัวนี้เป็นปัจจัยไม่ได้อยู่ตลอด แต่ชาวบ้านจะต้องมีเครือข่าย มีผู้อาวุโสพูดง่าย ๆ มีผู้อาวุโสเกษตรกรรุ่นเก่าแบบพี่อุบล แบบพอลานครับเป็นหัวหลักให้ว่าจะเดินยังไง แล้วก็สืบทอดกันไปเรื่อย ๆ เป็นทายาทรุ่นต่อรุ่นไปครับผม”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ C  ชาวนาวิศวกร DIY การทำนา

ทองหล่อ ขวัญทอง หัวหน้าโครงการวิจัยการสร้างเครือข่ายช่างชาวนา

“ต้องยอมรับว่ายุคปัจจุบันถึงแม้ว่าเป็นการทำเกษตรแบบวิถีที่เปลี่ยนไปทั้งสภาพภูมิอากาศ สภาพสิ่งแวดล้อมและสภาพทางเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปหมด ปัจจัยสำคัญก็คือ คนที่จะมาต่อช่วงในการที่จะรับช่วงต่อจากรุ่นต่อรุ่นตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษที่เราเคยสืบทอดกันมาในการที่จะมาทำหน้าที่ที่จะสืบทอดในการทำเกษตร ต้องยอมรับว่าข้อมูลที่ทางรายการนำเสนอเป็นข้อมูลตัวเลขจริง แต่จริง ๆ ในพื้นที่น่าจะมีมากกว่านั้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิถีที่เปลี่ยนไปจากพิษของโควิด-19 ทำให้วงจรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มันไปต่อไม่ได้ผลกระทบท้ายที่สุดตกที่ชนบทบ้านนอก มีผลให้เกิดความหลากหลายทางอาชีพส่วนหนึ่งก็เกิดอาชีพเกษตรกร

ที่นี่ในส่วนของเกษตรกร DIY เกษตรกรวิศวกรมันจะต้องประยุกต์ตัวเองในการที่ริเริ่มคิดออกแบบในการผลิตในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด ทั้ง พื้นที่มีจำนวนน้อยลง ทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งรูปแบบของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และรูปแบบการส่งเสริมเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้เป็นเรื่องสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรคนรุ่นใหม่มีความสุข รู้สึกมีความมั่นคงตอบโจทย์ตัวเอง อันนี้ถึงแม้เขาจะเรียกตัวเองว่าเขาสามารถสืบทอดสิ่งที่พ่อแม่ทำได้โดยไม่ได้ใช้ควายไถนาหรือถอนกล้าเอง อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้สืบทอดแต่สืบทอดคนละรูปแบบ ยุคสมัยเปลี่ยนไป วิธีการก็เปลี่ยนไป จริง ๆ หลาย ๆ ส่วนที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างเครือข่ายช่างชาวนา เราก็พยายามที่จะคิดค้นนวัตกรรมขนาดเบาที่จะมาทดแทนปัจจัยการผลิตที่เป็นผลผลิตจากโรงงานใหญ่ ๆ ราคาแพง ถ้าเราไม่สามารถไปจัดการตรงนั้นได้เท่าที่ควร แต่ก็มีหลายรูปแบบ อย่างเช่น เด็กสมัยนี้ที่เขาจบก็มีพื้นฐานอย่างน้อย ๆ เขาก็จบ ปวส. ปวช. พื้นฐานการช่างเขามีในการที่จะมาประยุกต์ใช้และหนุนเสริม ในการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ สามารถที่จะเรียนรู้การซ่อมบำรุงการปรับปรุงให้เครื่องมือใช้งานได้คุ้มค่าและยืนยาว ปัจจัยต่าง ๆ มันเอื้อกับคนรุ่นใหม่ตลอดจนเทคโนโลยีที่คนรุ่นใหม่ มีแหล่งข้อมูลที่จะสืบค้นที่จะศึกษาเรียนรู้และมีครูที่จะให้คำปรึกษาทุกอย่าง ฉะนั้นเกษตรกร DIY เกษตรกรวิศวกรเป็นคนที่คิดประยุกต์ ไม่ใช่วิศวกรจะไปออกแบบก่อสร้าง แต่เป็นวิศกรที่จะประยุกต์ตัวเอง ปรับแนวคิดตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยให้สามารถเอาอาชีพเกษตรกรรมให้ตัวเองอยู่รอด มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ตัวเองมีความสุขอันนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้”

ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงด้วยข้อมูลที่รอบด้าน

นี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมาย อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ฉากทัศน์มีเป้าหมายเดียวกันคือ การนำไปสู่ความยั่งยืน นำไปสู่การทำอาชีพเกษตรกรที่ว่าด้วยเรื่องการสร้างฐานคุณภาพชีวิตที่ดี

ไม่เพียงปัจจัยการผลิต ดิน น้ำ เงินทุน และทักษะความรู้ การสนับสนุนในระดับนโยบายและความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งจากภาครัฐหรือภาคเอกชน จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสที่เหมาะสมสำหรับคนคืนถิ่นในบ้านของพวกเขา

เสียงจากคนทางบ้านและคนที่สนใจติดตามประเด็นชาวนาอีสาน ก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบอนาคต วิถีเกษตรกร การทำนา และโอกาสที่เหมาะสมสำหรับคนคืนถิ่นในบ้านของพวกเขา คุณผู้ชมสามารถติดตาม รายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจอยู่ดีมีแฮง

ร่วมโหวตฉากทัศน์ อนาคตชาวนาอีสานรุ่นใหม่ในวันกลับบ้าน ณ ยโสธร ที่อาจจะเกิดขึ้น

ทุกการเดินทางและการฟังกันและกัน เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ