มองให้ไกลกว่าอุโมงค์ต้นไม้ จาก เขาหัวโล้น

มองให้ไกลกว่าอุโมงค์ต้นไม้ จาก เขาหัวโล้น

 

20151103175714.png

กระแสเรื่องการคัดค้านการตัดอุโมงค์ต้นไม้เพื่อขยายถนนเส้น อ.เมืองน่าน – อ.ท่าวังผา กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในหมู่นักอนุรักษ์หรือไม่ใช่นักอนุรักษ์ก็ตามที ด้วยเสน่ห์ของถนนสายนี้ที่สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นสักอายุหลายสิบปี ขนาดไม่น้อยกว่าหนึ่งคนโอบ ปกคลุมตลอดทั้งเส้นทางเกือบ 10 กิโลเมตร เป็นที่จดจำได้ของนักท่องเที่ยวหลายๆคนที่มาเยือนเมืองน่าน

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยพาเพื่อนต่างถิ่นมาเที่ยวและผ่านถนนสายนี้ ถึงกับออกปากชมว่าถนนสายนี้สวย ยิ่งตอนที่เป็นช่วงต้นไม้ผลิใบสร้างความหลากหลายทางสีสันให้กับสองข้างทางเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังให้ร่มเงาป้องกันแสงแดดในยามที่อาทิตย์เปล่งแสงร้อนแรง ไม่แปลกใจนักที่ผู้คนจะให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงของถนนสายนี้แม้ไม่ใช่นักอนุรักษ์ก็ตามที 

20151103175608.png

ถึงกระนั้นผู้เขียนเฝ้ามองกระแสที่เกิดขึ้นในโลกโซเซียลอย่าง facebook ตามดูว่ามีเพื่อนคนไหนที่ตามประเด็นนี้บ้าง พบว่าบางคนเข้าร่วมกิจกรรมกอดต้นไม้ ไปเพนท์รูปหัวใจบนต้นไม้ที่กำลังจะถูกตัด แต่ส่วนใหญ่ออกมาเคลื่อนไหวในทางโซเซียล อัพรูปพร้อมแฮทแท็คตามกิจกรรมของกลุ่มองค์กรที่กำลังรณรงค์อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่าย ทำได้รวดเร็ว ทรงพลัง และดับไปเร็วเช่นกัน พูดแบบนี้อาจคล้ายกับการดูหมิ่นดูแคลน แต่อยากชวนคิดต่อไปยังประเด็นเดียวกันนี้และเกิดขึ้นที่ จ.น่าน อีกเช่นกัน

ถ้าลองมองออกไปให้ไกลกว่าอุโมงค์ต้นไม้ แหวกต้นไม้ใหญ่ที่กำลังบดบังอะไรบางอย่างอยู่ จะได้เห็นเนินเขาทั้งเล็กและใหญ่สลับกันที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นพืชเจ้าถิ่นเดิม บ้างก็เริ่มเปลี่ยนเป็นต้นยางพาราที่ขนาดลำต้นเล็กไม่ถึงเวลากรีดเอาน้ำยาง พืชเศรษฐกิจทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นที่นิยมในพื้นที่ โดยถูกมองว่าเป็น พืชมหัศจรรย์ ที่จะสร้างรายได้ได้ดีกว่าพืชเดิมๆ ที่เคยปลูกมา เช่น ลำไย มะม่วง เป็นต้น 

จากข้อมูลปี 2555 จังหวัดน่านมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด กว่า 6 แสนไร่ จากทั่วประเทศ 7 ล้าน 3 แสนกว่าไร่ เป็นอันดับ 5 ของประเทศ มากที่สุดในภาคเหนือ พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเวียงสา เคยมีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดเมื่อปี 2552/2553 อยู่ที่ 8 แสนกว่าไร่ จึงไม่แปลกใจที่เมื่อมาเมืองน่านในช่วงเดือนมีนา-เมษา เป็นช่วงที่หมดเวลาเพาะปลูกข้าวโพด จะได้พบเห็นความสามารถ ความพยายามของมนุษย์ที่จัดการภูเขาทั้งลูกให้เหลือเพียงผืนแผ่นดินสีน้ำตาลส้ม ว่างเปล่า ไร้สิ่งแปลกปลอมเพื่อรอการเพาะปลูกรอบต่อไป

ในแต่ละปีมีการใช้พื้นที่อย่างเข้มข้นทั้งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืชและยาฆ่าหญ้าต่างๆ เหล่านี้ล้วนตกค้างอยู่ในดินและซึมลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ยังไม่นับปัญหาหมอกควันจากการเผาเพื่อจัดการวัชพืช แมลง และง่ายต่อการจัดการในการปรับสภาพพื้นที่ อีกทั้งยังเชื่อว่าเผาให้แร่ธาตุลงไปในดิน เพื่อเตรียมพื้นที่รอการเพาะปลูก

ปัญหาเขาหัวโล้นเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมานาน ในยุคหนึ่งถูกทำให้เชื่อว่า ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย บ้างก็ถูกกล่าวหาว่าเห็นแก่ตัว ไม่อนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งๆ ที่มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เขาต้องหันมาเพาะปลูกพืชเหล่านี้ ทั้งจากราคาพืชผลที่สูง ความต้องการผลผลิตที่สูง การดูแลไม่ยาก อีกทั้งนโยบายของภาครัฐที่ตอบสนองกับบริษัททุนรายใหญ่ การปล่อยเงินกู้ของธนาคารที่มาพร้อมกับโปรโมชั่นล่อใจ เงินกู้ของนายทุนนอกระบบที่ผูกขาดประเภทสินค้าเกษตร รวมถึงเรื่องของความมั่นคงทั้งด้านพื้นที่เกษตรกรรมและเศรษฐกิจ ที่เอาไว้ต่อรองกับภาครัฐเมื่อมีการขยายการเพาะปลูกรุกล้ำเข้าไปยังเขตอุทยานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่พบในบางพื้นที่ หรือราคาสินค้าการเกษตรที่เคยปลูกเดิมที่ภาครัฐไม่ให้ความสำคัญไม่เข้ามาแทรกแซง จนไม่คุ้มค่าต่อการเพาะปลูกจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นพืชชนิดใหม่ที่รัฐสนับสนุน 

20151103175829.jpg

ปัญหาเขาหัวโล้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวไม่รู้จะเริ่มแกะเริ่มเกาจากตรงไหนดี แต่คนในพื้นที่ราบเองยังคงมองคนบนดอยด้วยภาพที่ต้องอยู่อย่างประหยัด พอเพียง ไม่ควรฟุ้งเฟ้อ ผู้เขียนยังเคยได้ยินคนในเมืองพูดในลักษณะที่ว่า

“ทำไมชาวเขาต้องมีรถ มีมือถือสมาร์ทโพน ทุนนิยมทำให้เขาเปลี่ยนไป ไปทำลายวิถีชีวิตเขา”

รู้สึกตกใจที่ได้ยินแบบนี้ กรอบแนวคิดทางสังคมทำให้คนเชื่อ ติดภาพลักษณ์อะไรบางอย่าง ทั้งที่วัฒนธรรม วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรหยุดนิ่งหรือคงที่ คนในเมืองมีได้ ทำไมคนบนดอยถึงจะมีไม่ได้ ทุกวันนี้หลายสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงแต่กรอบคิดเรายังคงเดิม สังคมเราชอบมองอะไรแยกส่วน ไม่คิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือคล้ายกัน ขาดการมองเป็นองค์รวม

เหมือนกับอุโมงค์ต้นไม้ และ ทุ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เรื่องหนึ่งกำลังคัดค้านไม่ให้ตัด แต่อีกเรื่องนั้นเข้ามารุกรานตัดต้นไม้จนเขาหัวโล้นไปแล้วหลายแสนไร่ ทั้งสองเรื่องล้วนเป็นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราไม่อยากเห็นต้นไม้สองข้างทางถูกโค่นตัดลงเพื่อขยายถนน เช่นเดียวกันเราก็คงไม่อยากเห็นภาพภูเขาหัวโล้นที่ถูกบดบังด้วยอุโมงค์ต้นไม้ อยู่ที่ว่าสายตาเรามองไปไกลแค่ไหน เปิดใจรับรู้เรื่องราวต่างๆล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกัน

ลองตั้งใจมองสองข้างทางให้ดีๆ

 

ขอบคุณภาพจาก เพจ nan2day.com

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ