มองสภาวะ “ครอบครัวชั่วคราว” ในสังคมไทย กับ ‘บุญยืน สุขใหม่’

มองสภาวะ “ครอบครัวชั่วคราว” ในสังคมไทย กับ ‘บุญยืน สุขใหม่’

นับตั้งแต่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ ผู้คนจำนวนมากย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในเมือง ภาพครอบครัวขยายที่มีสมาชิกอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาได้แปรเปลี่ยนเป็นภาพครอบครัวในชุมชนที่เหลือเพียงผู้สูงอายุและเด็ก สำหรับคนที่จากบ้านไปไกลนั้น ช่วงวันหยุดยาวอย่างสงกรานต์ถือเป็นโอกาสทองของคนไกลบ้านที่จะกลับภูมิลำเนาเพื่อใช้เวลากับครอบครัว ภาพความสุขที่เกิดขึ้น ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ สะท้อนรูปแบบความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของครอบครัวสมัยใหม่

นี่คือสิ่งที่ภาพยนตร์สารคดี เรื่อง “ครอบครัวชั่วคราว” บอกเล่า

คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือว่า ภายใต้การนิยามครอบครัวแบบใหม่ ในยุคเสรีนิยมใหม่ เราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร?

‘ชลณัฏฐ์ โกยกุล’ คุยเรื่องนี้กับ ‘บุญยืน สุขใหม่’ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน เจ้าของรางวัลสมชาย นีละไพรจิตร ปี 2557 ในรายการ ก(ล)างเมืองสนทนา วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2557 ทางไทยพีบีเอส

 

 

+ ดูภาพยนตร์สารคดี เรื่อง “ครอบครัวชั่วคราว” แล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ เมื่อกลับมามองเปรียบเทียบกับชีวิตเรา

สภาพครอบครัวในยุคปัจจุบันมันค่อนข้างที่จะแตกต่างจากในอดีตเยอะนะครับ ซึ่งในจุดที่แตกต่างก็คือว่า ในอดีต สมัยที่ผมเป็นเด็ก ก็มีโอกาสที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องหรือว่าพ่อแม่ ตั้งแต่เด็กจนเรียนจบหนังสือ แล้วก็มาทำงานที่โรงงาน แต่ในปัจจุบันมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะว่าคนหนุ่มสาวในรุ่นผมเนี่ยพอมามีครอบครัวแล้ว หลังจากที่มีครอบครัวปุ๊บไม่สามารถที่จะเลี้ยงลูกตัวเองได้ เพราะต้องทำงาน ก็เลยต้องส่งลูกกลับไปให้พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายที่ต่างจังหวัดเลี้ยง

มันก็เหมือนกับที่ผมเคยได้พูดให้กับเพื่อนแรงงานฟังอยู่เสมอว่า “ไอ้พวกเราเนี่ยคือเป็นฝ่ายผลิต อยู่โรงงานก็เป็นฝ่ายผลิต แล้วก็พอหลังจากมีครอบครัวก็เป็นฝ่ายผลิต ผลิตลูกแล้วก็ส่งลูกไปให้กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดเลี้ยง”

คือพูดให้เหมือนตลกนะครับ แต่ความเป็นจริงแล้วมันป็นเรื่องที่สะเทือนใจพอสมควรเหมือนกัน ผมยังโชคดีที่ได้เลี้ยงลูกเองตั้งแต่เล็กจนโต แต่ว่ามีครอบครัวจำนวนมากที่ไม่ได้มีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง พ่อแม่บางคนต้องเสียใจเพราะว่าลูกตัวเองไปเรียกปู่ย่าหรือเรียกตายายว่า พ่อแม่ ไม่เรียกตัวเองว่าพ่อแม่ อันนี้คือสิ่งที่เห็นเยอะมาก

+ ถ้าเปรียบเทียบกับตัวเองล่ะคะพี่บุญยืน ชีวิตในหนังเป็นเรื่องราวของแรงงานนอกระบบ แต่พี่บุญยืนเป็นแรงงานในระบบโรงงาน เงื่อนไขชีวิตทั้งของครอบครัวต่างๆ แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร

มันมีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่าง ส่วนที่เหมือนก็คือว่า เราต่างก็มาอยู่ในต่างจังหวัดเหมือนกัน มาทำงานในที่ไกลบ้านเหมือนกัน และส่วนใหญ่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ให้พ่อแม่เลี้ยง

แต่ส่วนที่แตกต่างก็คือเรื่องของเวลาในการทำงาน ส่วนหนึ่งก็คือสามีภรรยาไม่ได้ทำงานด้วยกัน อันนี้คือสิ่งที่แตกต่าง ในหนังก็จะเห็นว่าสามีภรรยามาทำงานด้วยกัน ตรงนี้ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวก็จะเข้มแข็งขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่ถ้าเกิดทำงานในโรงงาน ความอ่อนไหวมันก็จะสูง มันถูกจำกัดด้วยเรื่องของเวลา เพราะว่าโรงงานแต่ละโรงงานก็จะมีการทำงานทั้งกะเช้า กะกลางคืน ถ้าเกิดสามีภรรยาอยู่คนละโรงงานก็จะมีปัญหา หรือว่าถ้าเกิดอยู่โรงงานเดียวกันก็จริง แต่อยู่คนละกะ ก็มีปัญหา มันทำให้สถาบันครอบครับค่อนข้างอ่อนไหวพอสมควร ก็เลยเป็นปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง

+ พี่บุญยืนก็เป็นแรงงานจากต่างจังหวัด มาจากโคราช ใช่ไหมคะ ตอนที่เข้าเมืองไปทำงานในระยองครั้งแรก ตอนนั้นเห็นอะไรบ้างคะ 

ในอดีต เราสามารถที่จะเลือกงานได้ แต่ทุกวันนี้งานเป็นผู้เลือกเรานะครับ เพราะว่าเมื่อก่อน พูดง่ายๆ ว่า โรงงานไม่เยอะเหมือนทุกวันนี้ แต่ว่าจำนวนคนค่อนข้างน้อย

ส่วนของเรื่องการสิทธิทางด้านแรงงานที่ไม่ค่อยมีใครเข้ามาดูแล โดยเฉพาะในส่วนของต่างจังหวัดค่อน ข้างที่จะมีปัญหาเหมือนกัน อย่างผมเองมาอยู่ที่ระยองตั้งแต่ปี 36 ปี 35 และก็ตั้งสหภาพแรงงานแรกในจังหวัดระยอง ก็จะมีปัญหาเรื่องอิทธิพลพื้นที่ ก็ถูกคุกคาม

+ สภาพของชีวิตของแรงงาน ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้างคะ

เมื่อเทียบกับทุกวันนี้ สภาพความเป็นอยู่มันเกือบจะไม่แตกต่าง สิ่งที่แตกต่างคือเรื่องของค่าครองชีพเท่านั้นเอง คือเมื่อก่อนก็มีห้องแถวเหมือนกัน แรงงานที่จากมาจากต่างจังหวัดก็เช่าห้องแถวอยู่ เมื่อก่อนผมก็เช่าห้องแถวอยู่เหมือนกัน ปัจจุบันก็ไม่ได้เปลี่ยนไป เพียงแต่ในส่วนตัวของผมเองก็คือ โอเค ผมทำงานมานาน แล้วก็สามารถที่จะมีกำลังซื้อบ้านของตัวเองได้ แต่ว่าแรงงานรุ่นใหม่ที่เข้ามาก็ยังต้องอยู่ห้องแถวเหมือนเดิม ก็คือไม่ได้แตกต่างจากในอดีตเลย

+ แล้วสภาพครอบครัวในตอนนั้นกับภาพทั่วไปที่เราเห็น เป็นอย่างไรบ้าง

ส่วนใหญ่ พูดง่ายๆ ว่า พอมีครอบครัวปุ๊บ หลังจากนั้นก็มีลูก จนถึงทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่าเขาได้ส่งลูกไปให้กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดเลี้ยง ก็คือไม่สามารถที่จะเลี้ยงด้วยตัวเองได้ ครอบครัวของผมโชคดีหน่อยก็ตรงที่ว่าเราเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ก็คือไม่ให้ภรรยาทำงาน ก็คือให้เลี้ยงลูกเอง เราก็มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะหารายได้มาเพื่อที่จะดูแลลูกให้ได้

+ ตอนนั้นชีวิตมันน่าจะหนักน้อยลงไหมค่ะ ถ้าเกิดว่าเราส่งลูกไปอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านที่โคราช ทำไมพี่บุญยืนถึงตัดสินใจจะเลี้ยงลูกเองตอนนั้น

มันพูดลำบากนะ แต่ละคนมันคิดไม่เหมือนกัน วิธีคิดไม่เหมือนกัน อย่างผมก็ถูกปลูกผังมาอย่างหนึ่ง มาจากครอบครัวใหญ่ที่ถูกเลี้ยงดูมาจากพ่อแม่อยู่กันพร้อมหน้า พอเรามีลูก เราก็อยากที่จะเลี้ยงลูกเอง อีกส่วนหนึ่งก็คือ เราไม่อยากจะไปเพิ่มภาระให้กับทางบ้านด้วย เพราะว่าพ่อแม่ก็อายุเยอะแล้ว ซึ่งถ้าเกิดเราไปเพิ่มภาระตรงนั้นให้กับพ่อแม่ มันก็จะลำบากมากขึ้น

+ เปรียบเทียบตอนนั้น ตอนก่อนที่จะมีลูกและตอนที่มีลูกแล้ว ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ก็เปลี่ยนไปเยอะนะครับ ก่อนที่จะมีลูก มันก็ใช้ชีวิตสะดวกสบาย ไม่ต้องระมัดระวังอะไรมาก ไม่ต้องไปกังวลอะไรมาก แต่พอหลังจากที่เรามีลูกแล้วเนี่ย คือพูดง่ายๆ ว่าค่าใช้จ่ายมันสูงขึ้น และส่วนหนึ่งก็คือเราทำงานคนเดียว ทำงานคนเดียวมันก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้น อันนี้คือเป็นเรื่องที่หนักพอสมควรเหมือนกัน

+ แล้วไปยังไงมายังไง พี่บุญยืนถึงเริ่มต้นสหภาพแรงงานขึ้นมาตอนที่ทำงานที่ระยองคะ

เรื่องของการเอาเปรียบทางด้านแรงงานมันมีปัญหามาตลอด เราก็คิดว่า เอ๊ะ ทำยังไงคนงานถึงจะสามารถที่จะต่อรอง หรือว่าสามารถที่จะรักษาสิทธิตัวเองได้ และปกติส่วนหนึ่งก็คือผมจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ปกติก็อ่านหนังสืออยู่แล้ว ก็เลยจะมีความรู้บ้างนิดนึงในเรื่องเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน ก็เลยหันมาชวนเพื่อนมาตั้งสหภาพแรงงานเพื่อที่จะรักษาสิทธิของตัวเองด้วย คือในเบื้องต้น เป้าหมายก็มองเพื่อตัวเองนั้นแหล่ะ สุดท้ายมาทำแล้ว ผลประโยชน์มันก็เกิดกับคนอื่นด้วย

ในอดีต การมาทำงานสหภาพแรงงานเป็นอะไรที่ยากพอสมควร ซึ่งเมื่อก่อนภาครัฐเองก็ไม่ได้ยอมรับในเรื่องของสหภาพแรงงาน ภาคประชาชนเองก็ไม่ยอมรับมา ถึงปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอยู่

+ อยากจะย้อนกลับไปคุยเรื่องครอบครัว พี่บุญยืนเลี้ยงลูกเอง แต่คนรอบข้างอาจจะส่งลูกกลับไปอยู่กับพ่อกับแม่ พ่ออยู่ทาง ลูกอยู่ทาง แบบนี้มันจะสามารถรักษาความสัมพันธ์ของครอบครัวได้อย่างไร ต้องปรับตัวกันอย่างไร

ส่วนใหญ่ที่เห็น ช่วงเทศกาลก็จะกลับไปหาลูก แล้วก็ส่งเงินกลับทุกเดือน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนี้ แต่ความสัมพันธ์ทางครอบครัว ระหว่างความเป็นลูกกับพ่อเนี่ย มันอธิบายลำบากตรงที่ว่า เราก็ไม่รู้ว่ามันจะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร เพราะว่าสภาพมันถูกบังคับให้ต้องทำอย่างนั้น มันก็เลยทำให้กลายเป็นว่า “ชนบทกลายเป็นสถานพักฟื้นคนชราแล้วก็สถานรับเลี้ยงเด็ก” ไปในอีกบริบทหนึ่ง เพราะว่าถ้าเกิดใครกลับบ้านไปต่างจังหวัดเนี่ยก็จะเห็นภาพสองภาพนี้ เพราะว่าคนหนุ่มสาวมาทำงานที่ในเมือง แล้วก็ในต่างจังหวัดก็จะเห็นมีแต่เด็ก แล้วก็คนแก่ที่เลี้ยงหลานอยู่ที่บ้าน

+ กับครอบครัวที่มีลักษณะแบบนี้ คือไม่ได้อยู่ด้วยกัน พ่อแม่อยู่ทาง ลูกอยู่ทางหนึ่ง มันจะมีปัญหาอะไรตามมาได้บ้างคะ

ปัญหาที่เราเจอเยอะที่สุดก็คือ ปัญหาความอบอุ่น ความอบอุ่นของเด็ก เด็กมักจะเติบโตมามีปัญหา ปัญหาในมุมที่ผมพูดถึงก็คือ พูดง่ายๆ ว่าเด็กถูกเลี้ยงดูอย่างตามใจ พอถูกเลี้ยงดูอย่างตามใจบุ๊ปเนี่ย ปัญหาของสังคมก็จะตามมา ก็จะเห็นได้ว่าพ่อแม่ก็จะต้องหาเงินเพื่อที่จะส่งกลับบ้าน แต่ว่าลูกเองก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของตรงนี้ ก็ทำให้เป็นปัญหาของสังคม

+ พี่บุญยืนพูดถึงปัจจัยเรื่องเงิน ในหนังสารคดี ก็มีตอนที่ตัวละครซึ่งมีลูกเนี่ย บอกว่าลูกๆ ของเขาฝันอยากเป็นพยาบาล เขาก็ฝันที่อยากจะให้ฝันของลูกเป็นจริง แต่ว่าในปฏิบัติมันดูยากเย็นมากเลย คุณบุญยืนคิดว่าครอบครัวที่มีลักษณะแบบนี้สามารถที่จะจัดการเรื่องการเงินได้ไหม

คือมันเป็นไปได้ยากนะครับ ถามว่าเป็นไปได้ไหม มันก็ต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกหลายคน ถ้าเกิดมีลูกคนหรือสองคน และก็สามารถที่จะทำให้ความฝันมันไปถึงฝั่งได้

ถ้าอย่างกรณีในหนัง ต้องบอกตามตรง การที่จะเดินสู่ฝันนั้นยากมาก เพราะอะไร? คือความมั่นคงในอาชีพมันไม่มี ถ้าเป็นแรงงานในโรงงาน อย่างน้อยเรารู้ว่าเราทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าถ้าเป็นแรงงานนอกระบบเนี่ย ความมั่นคงในอาชีพเนี่ยมันไม่มี มันคล้ายๆ ลักษณะงานโครงการ ถ้าโปรเจคนี้หมด โปรเจคต่อไปมันจะมีอีกหรือเปล่า หรือบางคน บางครอบครัว ช่วงฤดูที่ทำเกษตรเขาก็ต้องกลับไปทำเกษตร แล้วพอหลังจากหน้าเกษตรก็จะมาทำงานรับเหมาก่อสร้างบ้าง และมาทำงานโรงงานบ้าง อันนี้ก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องของด้านการเงิน พอมีปัญหาเรื่องการเงินตามขึ้นมา โอกาสที่ลูกจะได้เรียนสูงๆ มันก็น้อยลง เพราะว่าการเรียนทุกวันนี้ต้องยอมรับความจริงว่า มันต้องใช้เงินสูงมาก

+ แล้วถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของนโยบายรัฐหรือว่าการเปลี่ยนแปลงจากผู้ประกอบการเอง พี่บุญยืนคิดว่าแรงงานน่าจะมีข้อเรียกร้องอะไรบ้างในความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อให้ชีวิตของแรงงานดีขึ้น

มันก็ต้องคุยกัน พูดในเรื่องของความเป็นจริง อย่างในเรื่องของนโยบายของรัฐเนี่ย ในเรื่องของรัฐสวัสดิการ เราต้องหันมาคุยเรื่องของรัฐสวัสดิการให้มากขึ้น จริงๆ แล้วบ้านเรามันมีหลายเรื่อง อย่างนโยบายเรียนฟรี แต่ในความเป็นจริงมันไม่ฟรี พอไปเรียนจริงๆ มันก็ต้องเสียค่าโน้นค่านี้อีกเยอะ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรียนฟรี มันต้องทำตรงนี้ให้เป็นจริงให้ได้ ณ วันนี้เอง จนถึงม.6 บอกว่าเรียนฟรี แต่ในความเป็นจริงมันไม่ฟรี ถ้าเกิดมันสามารถทำได้จนถึงมหาวิยาลัย ก็จะเป็นการแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ หรือว่าแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้เยอะ

อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของนายจ้าง ในเรื่องของการจัดเก็บภาษี มันจะต้องจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เพราะว่าปัจจุบัน เราจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นภาษีทางอ้อม ก็เลยทำให้ไม่มีเงินที่จะมาจัดสวัสดิการให้กับคนงานได้

สิ่งที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ เรื่องของการเจ็บป่วย คนงานส่วนใหญ่จะไม่มีเงินสำรอง เพราะว่าส่วนใหญ่ก็จะทำงานเดือนต่อเดือน มีรายได้เดือนต่อเดือน ทุกวันนี้โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องแยกกันอยู่ต่างจังหวัดกับที่อยู่ในเมืองเนี่ย ไอ้ต่างจังหวัดพอมาอยู่ในสังคมอุตสาหกรรม มันก็ต้องเช่าบ้านอยู่ เสียค่าเช่าบ้าน เสียค่าใช้จ่าย พนักงานส่วนใหญ่ก็จะเงินเดือนประมาณหมื่นนึง ค่าเช่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ตกประมาณ 3 พันแล้ว และค่ากินค่าอยู่คนหนึ่งก็ตกประมาณ 3 พันต่อเดือน อันนี้กินอย่างประหยัดเลยนะ อยู่อย่างประหยัด ของใช้ส่วนตัวอะไรบ้างก็อยู่ประมาณ 3 พัน เหลืออยู่พันนึง

เหลืออยู่พันหนึ่ง ก็คือพูดง่ายๆ ว่าสมมุติว่าส่งกลับบ้านก็แล้วกัน เดือนละพัน จริงๆ แล้วในสภาพความเป็นจริง เงินเดือนมันไม่เหลือเลย มันก็เลยกลายเป็นว่าต้องใช้ชีวิตแบบต้องทำโอ ทำงานล่วงเวลา ทำโอที ฉะนั้นมันก็เลยทำให้วันๆ หนึ่ง ทุกคนจะมีเวลาอยู่ในโรงงานไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง และก็เสียเวลาไปกับการเดินทาง เดินทางไปก็ประมาณ 2 ชั่วโมง เดินทางกลับก็ประมาณ 2 ชั่วโมง

+ อยากให้เล่าวงจรชีวิตในวันหนึ่งของคนที่ทำงานในระบบแรงงานแบบนี้ มันเป็นอย่างไรบ้าง ตื่นเช้ามาถึงเข้านอน

วงจรของพนักงาน ก็คือปกติทำงานโรงงานส่วนใหญ่ก็จะเป็น 2 กะ ถ้าในอุตหกรรมยานยนต์นะครับ เริ่มงานที่ 8 โมงก็จริง แต่ว่าระยะเวลาในการเดินทางเนี่ยมันไกลและก็ใช้เวลาเยอะ บางคนต้องขึ้นรถตั้งแต่ตี 5 กว่าจะถึงโรงงาน เพื่อที่จะทำงานตอน 8 โมงเช้า และก็ทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็น ปกติงานส่วนใหญ่ ถ้าเลิก 5 โมงเย็นเนี่ย มันก็ได้แค่เงินเดือน ฉะนั้นสภาพก็เลยบังคับว่าต้องทำโอทีนะ คุณถึงจะมีเงินเพิ่มขึ้นมาอีกนิดนึง

ก็ทำงานโอทีจนถึง 2 ทุ่ม เลิกงาน 2 ทุ่ม กว่าจะเดินทางกลับถึงบ้านก็ประมาณ 3-4 ทุ่ม กว่าจะอาบน้ำ กว่าจะได้นอน 4-5 ทุ่ม ซึ่งมีเวลาพักผ่อนก็ไม่กี่ชั่วโมง ตี 5 ก็ต้องเริ่มต้นอีกแล้ว เริ่มต้นวันใหม่ แต่ถ้ากะกลางคืนเนี่ย ถ้าเข้างาน 2 ทุ่มก็ประมาณ 6 โมงเย็นก็ต้องเตรียมตัวออกไปแล้ว กว่าจะกลับมาถึงห้องกว่าจะได้นอนก็ 9 โมง 10 โมงเช้า

ครอบครัวที่อยู่โรงงานเดียวกันก็โชคดีไป แต่ถ้าเกิดอยู่คนละโรงงาน ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวก็ค่อนข้างจะอ่อนไหวนิดนึง โดยเฉพาะสามีกับภรรยาทำงานอยู่คนละกะด้วย สามีอยู่กะเช้า ภรรยาอยู่กะกลางคืน ซึ่งก็จะมีการหมุนเวียนกันตลอด สัปดาห์หนึ่งก็จะเจอกันแค่ช่วงวันหยุด ซึ่งอาทิตย์นึงก็จะมีวันหยุดอยู่วันเดียว มันก็เลยทำให้ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวเนี่ยอ่อนไหวพอสมควร

 

+ จากปัญหา จากอุปสรรคที่บอกมา คนที่ทำงานภายใต้ระบบการจ้างงานปัจจุบัน เขาสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีได้ไหมคะ มันฟังดูมืดมนมากเลย มันมีทางออกไหม

จริงๆ แล้วก็หวังนะ เราก็หวังอยากจะเห็นรัฐสวัสดิการ อยากจะเห็นคุณภาพชีวิตของคนงานดีขึ้น ทุกวันนี้ผมก็พยายามที่จะสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้าง สร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐ โดยที่มาให้คำปรึกษากับคนงานในเรื่องของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ให้เขาเข้าใจในเรื่องสิทธิการรวมกลุ่ม แล้วก็เพื่อที่จะมีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ให้มีสวัสดิการ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ว่าในทางปฏิบัติเอง การต่อสู้เรื่องพวกนี้มันค่อนข้างมีปัญหาเหมือนกัน เพราะว่าทั้งในส่วนของนายจ้างเอง ส่วนใหญ่เขาก็ไม่อยากจะให้มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว

+ ทำไมเขาไม่อยากให้มีสหภาพแรงงานคะ

เพราะว่าถ้ามีสหภาพแรงงาน มันก็มีการเรียกร้อง มีการยื่นข้อเรียกร้องทุกปีว่า คือ เราจะต้องมีค่าเช่าบ้าน เราจะต้องมีค่าครองชีพ เราจะต้องมีสวัสดิการ ไม่ใช่มีเฉพาะเงินเดือนนะ ถ้าเฉพาะเงินเดือน ก็อย่างที่ทุกคนทราบ ค่าแรงวันละ 300 มันอยู่ไม่ได้บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีสวัสดิการตัวอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วในความเป็นจริง อำนาจในการจ่าย ผมคิดว่านายจ้างสามารถที่จะจ่ายได้ เพราะว่าผลประกอบการของแต่ละที่มันมีกำไร อย่างในส่วนของผมเองก่อนที่จะมีการเรียกร้องแต่ละที่ เราก็จะมีการตรวจสอบงบดุลของบริษัท เราก็จะรู้

+ สามารถตรวจสอบได้ด้วยหรือคะ

ใช่ครับ ทุกคนสามารถตรวจสอบทุกบริษัทได้อยู่แล้ว ไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด แล้วก็ขอคัดสำเนามา มาดูแล้วก็จะรู้ว่าผลประกอบการมีกำไรกี่พันล้าน เราก็เห็นตัวเลขอยู่ แต่ทำยังไงเราจะไปขอแบ่งกำไรเขามาให้ได้เท่านั้นเอง มันก็ต้องสร้างอำนาจในการต่อรอง

+ คือผลประกอบการเขาเยอะมาก แต่เขาเจียดมาให้เรานิดเดียว

 (หัวเราะ) เศษเงิน

+ คือโรงงานทั้งโรงงานมันขับเคลื่อนไปได้ด้วยแรงงานทุกคน สมมติว่าโรงงานมีคนซักพันคน คือถือว่าเรามีอำนาจ น่าจะมีอำนาจต่อรองนะ เพราะถ้าเกิดว่าเราหยุด เราสไตรท์ เราไม่ทำ เราเรียกร้องสิ่งที่ยุติธรรมสำหรับเรา มันก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง มีเสียงที่เป็นพลังมากเลย แต่ทำไมที่ผ่านมา มันถึงไม่ได้เกิดขึ้นแบบนี้

ปัญหาการรวมกลุ่มของคนงาน มันก็ต้องบอกตามตรงว่า ที่ผ่านมา คนงานไม่เข้าใจสิทธิของตัวเอง คือสิทธิในการรวมกลุ่มของคนงานน่ะมันมี รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดเจน กฎหมายแรงงานก็มีรองรับ แต่ปัญหาของคนงานก็คือ เกิดความหวาดกลัว อย่างที่ผ่านมา แม้กระทั่งการที่จะไปยื่นจดทะเบียนสหภาพแรงงาน มันก็ลำบาก คนงานก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจขั้นตอนว่าจะต้องทำยังไงบ้าง อันนี้คือพูดง่ายๆ ว่าไม่เข้าใจสิทธิของตัวเอง

ยังไม่พูดในเรื่องที่ว่า หลังจากที่ตั้งสหภาพมาแล้ว ถูกเลิกจ้าง เพราะว่าพอนายจ้างเขาไม่ชอบให้มีสหภาพ ไม่อยากให้มีสหภาพแรงงาน ตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาปุ๊บ อันดับแรก ด่านแรกที่ต้องเผชิญก็คือ ถูกเลิกจ้าง ในชุดแกนนำชุดแรก ฉะนั้นมันก็ต้องต่อสู้เพื่อที่จะกลับเข้ามาทำงาน แต่ว่าเพื่อนร่วมงานที่มองเข้ามาน่ะ เขาก็มองในอีกมุมนึงว่า เอ้ย ถ้าเกิดมาตั้งสหภาพหรือว่าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ก็จะถูกเลิกจ้าง ก็จะถูกกลั่นแกล้ง ก็เลยไม่มีใครกล้าเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือว่าเข้ามาเป็นสมาชิกก็มาเป็นสมาชิกน้อยมาก

ซึ่งในส่วนของสหภาพแรงงานที่ผมทำงานอยู่ในปัจจุบันเองก็เหมือนกัน ในช่วงต้นมีสมาชิกน้อยมาก กว่าจะขยายการจัดตั้ง ว่าจะทำให้คนงานเข้าใจเรื่องของสิทธิเนี่ย มันก็ จนถึงทุกวันนี้มีสมาชิกจำนวน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เนี่ย มันใช้เวลาค่อยข้างนาน การทำความเข้าใจจะสร้างอำนาจในการต่อรองได้

+ ที่ผ่านมามันมีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง หลังจากที่ได้ร่วมกันเคลื่อนไหว มันมีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เรารู้สึกว่ามันได้ชื่นใจ หายเหนื่อย พอจะมีไหมคะ

คือความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นเยอะนะครับ หลังจากที่มีสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ อย่างสถานประกอบการที่ผมทำงานอยู่เองก็จะมีสวัสดิการ แต่ที่โรงงานอื่นเขาจะใช้ประกันสังคม แต่โรงงานที่ผมทำอยู่ เรามีการยื่นข้อเรียกร้องกันทุกปี แล้วมีการเจรจาต่อรองกันทุกปี ของเราเนี่ย ค่ารักษาพยาบาลเราเบิกได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็คือไม่ต้องไปใช้ประกันสังคม เข้าโรงพยาบาลไหนก็ได้ ลูกเมียเราก็สามารถที่จะเบิกได้ในกรณีเจ็บป่วย แล้วก็ในเรื่อของค่าแรง มันมีฐานเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานทั้งโรงงานอยู่ที่ประมาณหมื่นเจ็ดพันกว่าบาท ซึ่งมันก็เกิดจากการต่อรองทุกปี ทุกปี ทุกปี คือไม่ต้องรอนโยบาย 300 (หัวเราะ) มันก็ดีกว่า แล้วก็เราก็มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราก็จะมีเงินบำเหน็ดกรณีที่เกษียณอายุงาน มันก็มาจากการเรียกร้อง

+ แรงงานในระบบโรงงานดูน่าจะมีทางเลือกมากกว่าแรงงานนอกระบบ แล้วสำหรับแรงงานนอกระบบ เขาจะสามารถลืมตาอ้าปาก หรือว่าสามารถที่จะทำแบบเดียวกัน ตั้งขึ้นมาเป็นกลุ่มในการดูแลกันอย่างนี้ได้บ้างไหมคะ

เขาก็สามารถที่จะรวมกันได้นะครับ แต่เพียงแต่ปัญหาก็คือเรื่องของการรวมตัว เพราะว่างานของเขาไม่มีความต่อเนื่อง อันนี้คือปัญหาใหญ่เลย จริงๆ มันต้องมีนโยบายรัฐที่เข้ามาดูแลแรงงานนอกระบบให้ดี เพราะว่าตอนนี้มันเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งรัฐเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือมันต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้าง เพราะว่าจะมองในเรื่องของปัญหา แก้ไปเฉพาะเรื่องไป ปัญหามันไม่จบ

+ ถ้าให้พี่บุญยืนมองอนาคต รูปแบบครอบครัวในอนาคตของแรงงานพวกเรา ที่จะเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม หน้าตาจะเป็นยังไงคะ อีกซัก 10 ปี

ในอนาคตผมก็มองว่า ความเป็นครอบครัวเดี่ยวมันก็จะสูงขึ้น ความเป็นปัจเจกมันก็จะสูงขึ้น ความเป็นปัจเจกในความหมายของผมก็คือว่า พูดง่ายๆ ทุกวันนี้เนี่ยสังคมมันต่างคนต่างอยู่ เหมือนกับชุมชนที่พวกเราอยู่ ที่โรงงาน ที่ใกล้ๆ โรงงาน ก็คืออย่างที่บอก ทุกคนตื่นเช้า เช้ามาต้องรีบไปแล้ว ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี 5 ก็คือบ้านติดกันยังไม่รู้จักกันเลย ไม่เคยได้ทักกันเลย ความเป็นปัจเจกมันก็ต้องสูงขึ้น แล้วก็ความห่างเหินกับครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะห่างกันออกไป

ในอดีต ในรุ่นผม จะรู้จักกันหมด ปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอา ที่อยู่ไหน จังหวัดไหน เรารู้จักหมด แต่พอรุ่นลูกๆ เรา ความสัมพันธ์เหล่านี้มันจะหายไปเลย ยกตัวอย่าง ถ้าหมดรุ่นผมปุ๊บ รุ่นลูกผมก็จะไม่รู้แล้วว่าญาติอยู่ที่ไหนบ้าง คือเขารู้แต่ว่าปู่กับย่าอยู่ที่โคราช แล้วก็ได้เจอกันปีละครั้ง แต่ว่าพี่ของแม่ผม พี่ของพ่อ คุณป้า คุณอา ลูกผมเขาก็จะไม่รู้จัก

+ ในหนัง ตัวละครคุณพ่อได้คำถามว่า แล้วอย่างนี้จะได้กลับบ้านไปอยู่กับลูกเมื่อไหร่ คุณพ่อก็ตอบว่า น่าจะได้กลับไปตอนที่ลูกเรียบจบแล้ว แต่คิดว่าเมื่อกลับไปตอนที่ลูกเรียนจบแล้วนั้น ลูกก็ต้องออกมาทำงานอีก มันจะเป็นวงจรอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือคะพี่บุญยืน

ในอนาคตผมคิดว่ามันก็คงจะเป็นอย่างนั้น อย่างที่ในหนังบอกว่า ต้องกลับไปเลี้ยงลูกให้กับลูก (หัวเราะ) ซึ่งถ้าเกิดเราไม่คิดที่จะแก้ปัญหาในวันนี้นะครับ

หมายถึงว่า ในสังคมที่เป็นสังคมรัฐสวัสดิการ หรือว่าประเทศในโซนยุโรป หรือญี่ปุ่นเองก็ดี เขาจัดการเรื่องของโครงสร้างรายได้ ปัญหาของบ้านเราก็คือมีปัญหาเรื่องโครงสร้างรายได้กับค่าครองชีพที่ไม่สมดุลกัน ฉะนั้นมันต้องแก้ไขตรงนี้ให้ได้ เพราะว่าในยุโรปก็ดี หรือว่าในญี่ปุ่นเองก็ดีที่มาลงทุนในบ้านเรา ก็คือเขาทำงานคนเดียว อย่างสามีทำงานคนเดียว ในเวลา 8 ชั่วโมงเนี่ย เขาสามารถเลี้ยงคนได้ สามารถเลี้ยงภรรยาได้ สามารถที่จะเลี้ยงลูกได้ 2 คน อันนั้นคือโครงสร้างค่าแรงของเขาที่สามารถอยู่ได้ แต่บ้านเราเนี่ย ลำพังตัวเองก็จะเลี้ยงไม่รอด (หัวเราะ)

+ พี่บุญยืนพูดถึงเรื่องของคนแก่ที่อยู่ดูแลลูกที่บ้าน ตอนนี้เราเหมือนก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนแก่มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุแบบแก่และจน เราควรจะมีนโยบายที่มารองรับเรื่องของผู้สูงอายุตรงนี้อย่างไรบ้างคะ

นโยบายที่น่าที่จะมีในอนาคต ผมมองว่า มันมีจุดเริ่มต้นแล้วล่ะ ในส่วนของเงินชราภาพของประกันสังคม เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ประกันสังคมจ่ายเงินชราภาพ แต่ว่ามันน้อยมาก ถ้าคิดเป็นเงิน ก็จะอยู่ประมาณ 3 พันกว่าบาท, 3 พันต้นๆ ซึ่งในความเป็นจริง สภาพความเป็นจริงมันอยู่ไม่ได้

ฉะนั้น ทำยังไงจะปรับในเรื่องเงินชราภาพของประกันสังคมให้สูงขึ้น ซึ่งในส่วนของบ้านเรา โครงสร้างภาษีมันต้องเปลี่ยนรูปแบบ การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เก็บภาษีมรดก ก็ต้องมีการพูดถึง ต้องหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูดถึง

ประกันสังคมก็ต้องขยายเพดาน ทุกวันนี้ประกันสังคมก็ไปลิมิทไว้ แมกซิมั่มไว้ที่หมื่นห้า ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ต้องขยายเพื่อที่จะกระจาย กระจายในความหมายของผมก็คือ คนที่รายได้สูง ก็เสียภาษีสูง แล้วก็กระจายมาให้กับคนที่รายได้น้อย คือสังคมมันต้องดูแลกันด้วย ทุกคนก็ต้องช่วยกันที่จะเสียภาษี แล้วในส่วนของรัฐเองก็ต้องจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีอัตราก้าวหน้า มันต้องมาพูดถึงเรื่องพวกนี้

+ ดูเหมือนว่าการแก้ปัญหาจะต้องไปปรับตรงในเชิงนโยบาย น่าจะเป็นสิ่งที่คนตัวเล็กๆ ที่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ไหม

คือมันมีความพยายามหลายครั้ง มีการพูดถึงประเด็นนี้หลายครั้ง ในเรื่องของผลักดันกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย รัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบเหมือนดูดีว่า เข้าหมื่นชื่อแก้ไขกฎหมายได้ แต่ในความเป็นจริงถ้าคนงานเข้าหมื่นชื่อไปแก้ไขกฎหมาย ก็ร่วงทุกที ไปตก ก็คือพอเสนอเข้าไปที่กรรมาธิการ ในรัฐสภา ในวาระแรก ส.ส.ก็ไม่รับรองแล้ว พอไม่รับรองก็ตก ก็พับไป แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คือ ประเด็นของการเข้าหมื่นชื่อของคนงานเนี่ยมันก็ยากมาก เพราะว่าคนงานในโรงงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ไปใช้สิทธิ

อุปสรรคอีกอันนึงก็คือ คนงานส่วนใหญ่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เวลามาจะแก้ไขกฎหมายเนี่ย พอไปตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว สิทธิของคนงานตรงนี้ก็เสียไปอีก เพราะว่าคนงานส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด คือพูดง่ายๆ สมมติว่าผมทำงานอยู่ที่ระยอง โอกาสที่คนที่อยู่อุบลฯ หรือว่าคนที่อยู่หนองคาย เขาจะกลับไปเลือกตั้งมันก็ยากมาก พอเขามาเข้าชื่อเพื่อที่จะเสนอแก้ไขกฎหมาย ก็ตรวจสอบคุณสมบัติไม่ผ่าน ฉะนั้นการที่จะแก้ไขกฎหมายโดยการยื่นหนึ่งหมื่นชื่อเนี่ย เราก็จะต้องหาลายชื่อซักประมาณใกล้ๆ 2 หมื่นครับ เพื่อที่จะป้องกันให้มันครบหมื่นชื่อ ป้องกันคนที่ขาดคุณสมบัติ

+ ช่วงนี้ เดือนนี้เป็นเดือนเมษา เป็นเดือนแห่งการกลับบ้าน ทำไมการกลับบ้านในวันสงกรานต์จึงมีความหมายกับแรงงานมากขนาดนี้คะ

จริงๆ แล้ว นัยยะของมันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็คือว่า มันมีความสมดุลในหลายๆ เรื่อง โรงเรียนปิดเทอม แล้วก็หมดฤดูเก็บเกี่ยวจากภาคเกษตร พอหมดฤดูเก็บเกี่ยวมันก็จะมีประเพณีพื้นบ้าน มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ซึ่งประเพณีสงกรานต์ก็มีมาแต่อดีตอยู่แล้ว แต่ว่าที่มันเหมาะสม เพราะว่า หนึ่ง มันปิดเทอมด้วย สอง คือฤดูที่เกษตร ก็คือหมดแล้ว ว่างเว้น ก็เลยทำให้ครอบครัวสามารถที่จะมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันได้ ซึ่งถ้ามาในช่วงอื่น มาในช่วงที่เรียนหนังสืออยู่ เปิดเทอมอยู่ มันก็จะไม่พร้อมหน้าพร้อมตา

มันเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด ทำให้ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา พ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอา เจอกัน ครบกันหมด คือมันหยุดช่วงพร้อมกันหมด ก็เลยทำให้ดู มันสำคัญ ทุกคนก็จะมาเจอกันในช่วงนี้ เพราะถ้าเกิดไม่มาช่วงนี้ มันหาจังหวะที่เหมาะสมกว่านี้ไม่ได้

มันก็ทำให้รู้สึกว่า มาพร้อมหน้าพร้อมตา พ่อแม่ก็ดีใจ แล้วเราก็ได้พบกับครอบครัว นึกย้อนถึงอดีตมันก็ดูอบอุ่น ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะเป็นช่วงสั้นๆ แต่ว่ามันก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีเวลาได้มาอยู่รวมกัน

+ พี่บุญยืนบอกว่าการกลับบ้านแต่ละครั้งมันมีค่า มันสำคัญมากๆ แล้วการกลับไป มันต้องแบกความคาดหวัง เราต้องเตรียมตัวยังไงบ้างคะ

การกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์แต่ละครั้ง มันก็เป็นความคาดหวังจากทางครอบครัว ปัญหามันก็มีนะครับ ในส่วนของการเดินทาง เป็นอุปสรรคที่สำคัญเลย จะเห็นว่าเทศกาลเนี่ยรถติดเยอะมาก แล้วก็ความคาดหวังอีกอันนึงก็คือ พูดง่ายๆ ว่าหน้าตาทางสังคม เรามาทำงานอยู่อย่างนี้ คนส่วนใหญ่ไม่รู้หรอก ว่าเรามีตังค์หรือไม่มีตังค์ แต่ว่าเขาคิดว่าเรามีตังค์ แต่ว่าในความเป็นจริงเราอาจจะมีหรือไม่มีก็ไม่รู้ แต่ว่าพอไปถึงบ้านเนี่ย มันเป็นประเพณีแล้ว ก็คือว่าเราก็ต้องมีเงินให้กับพ่อแม่ ให้กับญาติผู้ใหญ่ หรือในส่วนของคนที่มีลูกอยู่ที่บ้าน ก็ต้องพาลูกไปเที่ยว พาลูกไปซื้อของที่อยากจะได้ เพราะว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ได้อยู่กับครอบครัวอยู่แล้ว ก็อาศัยช่วงนี้ที่ต้องพาลูกไปเที่ยว ซึ่งจริงๆ แล้วบางคนอาจจะไม่มีเงินด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องทนแบกรับ ต้องหามาให้ได้ ต้องแบกรับตรงนี้ไป

+ แล้วสงกรานต์นี้พี่บุญยืนกับลูกๆ จะได้กลับไปโคราชไหมคะ

ครับ ก็ได้มีการวางแผนไว้แล้ว แล้วลูกชายเขาตื่นเต้น เขาบอกว่าเขาจะขอกลับก่อน เพราะว่าตอนนี้เขาปิดเทอมแล้ว

+ ขอให้มีความสุขในช่วงสงกรานต์พร้อมหน้าพร้อมตานะคะ.

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ