มองสถานการณ์แรงงาน กับการเยือนไทยของซูจี

มองสถานการณ์แรงงาน กับการเยือนไทยของซูจี

20162206232230.jpg

ภาพอองซาน ซู จี จาก https://news.thaipbs.or.th/media/G0DL5oPyrtt5HBAi4RKCDOtGaGjOrZbE4ChNMIcrE9QebeociWkI9A.jpg

พรุ่งนี้ (23 มิถุนายน 2559) ถึงวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559 นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐเมียนมามีกำหนดการณ์จะมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อพบปะชุมชนและแรงงานชาวเมียนมาจังหวัดสมุทรสงคราม เยี่ยมศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัย จังหวัดราชบุรี และหารือข้อราชการและความตกลงร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัย การเร่งสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย และการคุ้มครองแรงงานเมียนมาในไทย

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้มีแนวโน้มที่จะขาดแคลนแรงงานแรงงาน รวมถึงการที่มีการเรามีนโยบายที่จะสนับสนุนให้แรงงานไทยเป็นแรงงานที่ใช้ทักษะสูง ทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งได้เข้ามาทดแทนในตลาดแรงงานส่วนหนึ่งที่คนไทยไม่นิยมทำ กลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และทำให้ GDP ของประเทศเติบโต

นายแก้ว แก่เสือ เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิ MAP Foundation หนึ่งในแรงงานชาติพันธุ์ไทใหญ่ซึ่งเข้ามาทำงานในภาคเหนือกว่า 40 ปีแล้ว ได้กล่าวว่า สิ่งที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องเผชิญ คือ การได้ค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานไทยประมาณ 30 % ไม่รวมค่าครองชีพอื่นๆที่จะต้องจ่าย เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร เป็นต้น  การเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมายในปัจจุบันมีต้นทุนที่สูง มีค่าใช้จ่ายประมาณ 13,000 บาท ในกรณีที่ติดต่อผ่านตัวแทน สำหรับการต่ออายุการทำงาน ตรวจสุขภาพ ส่วนการติดต่อเองโดยเจ้านายจ้างจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000 บาท แต่มีขั้นตอนยุ่งยากต้องเสียเวลาในการจัดเรียงเอกสารนาน และไม่สามารถประกันได้ว่าจะได้รับสิทธิ์ในการทำงานต่อ

นายแก้ว แก่เสือ กล่าวอีกว่าแรงงานข้ามชาติ และแรงงานชาติพันธุ์ต้องเผชิญกับการจำกัดสิทธิในหลายด้าน เช่น การเดินทางที่จำเป็นต้องแจ้งทุกครั้งที่มีการออกนอกพื้นที่ การไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ หรือหากวันหมดอายุของพาสปอร์ตกับบัตรทำงานไม่ตรงกัน มีการตรวจพบจะถูกจับส่งกลับประเทศ ไปจนถึงการไม่มีวันหยุด และสิทธิในการักษาพยาบาลซึ่งแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายสามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพเพื่อรับบริการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของไทยได้ แต่พวกเขากลับไม่รู้เรื่องเหล่านี้ และจากขั้นตอนยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่สูงทำให้แรงงานบางส่วนเลือกที่จะไม่ไปขึ้นทะเบียนจึงไม่มีสิทธิใดๆเลย

หลังจากการเลือกตั้งในเมียนมาและนางอองซานซูจีได้รับชัยชนะ ก้าวมาเป็นผู้นำประเทศดูเหมือนว่าจะมีความหวังสถานการณ์การสู้รบของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แรงงานชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในปัจจุบันส่วนหนึ่งมีความหวังที่จะได้เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศตัวเอง ส่วนนี้จะส่งผลกระทบกัยแรงงานในภาคกลาง เช่น แรงงานภาคประมง เป็นต้น

ขณะที่แรงงานข้ามชาติในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ไทใหญ่ จะยังไม่กลับพื้นที่ของของตนเอง เพราะยังมีการสู้รบในพื้นที่ของกลุ่มว้า กลุ่มไทใหญ่ และกองกำลังทหารเมียนมา เพื่อแย่งชิงพื้น หากกลับไปจะกระทบต่อสวัสดิภาพในชีวิต ทรัพย์สินและมีโอกาสถูกเบียดขับจากพื้นที่สูง ส่วนที่กลับไปจะมีเฉพาะส่วนที่จะกลับไปเป็นผู้รับเหมา ค้าขายอุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์การเกษตร หรือมองเห็นช่องทางที่จะทำธุรกิจได้

นายธงชัย  ชคัตประสิทธิ นักข่าวพลเมืองแม่สอด กล่าวว่าแรงงานชาวเมียนมาส่วนหนึ่งเริ่มย้ายกลับไปทำงานในประเทศตนเอง เพราะสถานการณ์ในประทศเมียนมาสงบขึ้น และการออกพ.ร.บ. ประมง 2558 ส่งผลให้การทำประมงบางประเภทถูกยกเลิกใบอนุญาตไป และนโยบายการปิดศูนย์ผู้พักพิงชั่วคราวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงจะทำให้แรงงานข้ามชาติเมียนมาที่มาจากเขตตะนาวศรี เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เมียวดี เป็นต้น ทยอยกลับสู่ประเทศของตนเอง  อย่างในพื้นที่อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก ร้านเครื่องดื่มเริ่มส่งสินค้าไม่ทัน มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในเมืองเมียวดี ผู้ประกอบการธุรกิจท้องถิ่นรับรู้ว่าฝั่งไทยเริ่มซบเซา กลุ่มทุนบางส่วนจึงหันไปทุนธุรกิจเริ่มไปลงทุนในฝั่งเมียนมา โรงงานบางอย่างย้ายฐานไปอยู่ที่เมียนมาเพื่อใช้ GSP(สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป)ของพม่าในการส่งออก

หากมองเรื่องแรงงานข้ามชาติแล้วก็ต้องยอมรับว่าพวกเขาคือส่วนหนึ่งที่เข้ามาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจบ้านเรา แต่แรงงานเหล่านี้ยังคงเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิในหลายๆด้าน การมาเยือนของนางอองซานซูจี เป็นอีกความหวัดหนึ่งของแรงงานกลุ่มนี้ที่จะได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยอาจจะต้องกลับมาทบทวนมากขึ้นว่าเราได้ดำเนินนโยบายหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งเขตเศษฐกิจพิเศษ เพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานมาทดแทนแรงงานในประเทศ แต่เรากลับมีสร้างเงื่อนไขที่ยุ่งยาก ซับซ้อนในการทำให้แรงงานเหล่านี้ถูกต้องตามกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาส่งผลให้พื้นที่บางส่วนกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพ และเป็นกลายอีกหนึ่งประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากข้อได้เปรียบของ GSP จะทำแรงงานไหลกลับสู่ประเทศของตนเอง จนบ้านเราขาดแคลนแรงงานบางประเภท  อีกทั้งอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในบ้านเรา โดยเฉพาะภาคเหนือก็เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืน เช่น โรงงานอิเล็กทรอนิคส์ มีการย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศอยู่บ่อยๆ เราจะรับมืออย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงนี้

 

20162206165627.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ