มองมุมเศรษฐกิจ “ประเทศไทย… คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

มองมุมเศรษฐกิจ “ประเทศไทย… คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

30 มี.ค. 2558 ThaiPublica จัดเสวนา ThaiPublica Forum 2015 ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “ประเทศไทย…คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?” ผ่านมุมมองการวิเคราะห์จากนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมือง ต่ออาการป่วยทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเสนอแนวทางในการแก้ไข โต๊ะข่าวพลเมืองประมวลมานำเสนอ

20153003195621.jpg

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด

++อาการป่วย(ทางเศรษฐกิจ)ของไทย

ไล่ย้อนกลับไป คำว่า “คนป่วย” เริ่มมาจากยุโรปก่อน ที่พระเจ้านิโคลัสของรัสเซียเรียกอาณาจักรออตโตมันว่าเป็นคนป่วยของยุโรป ต่อมาเมื่อยุโรปเศรษฐกิจดีขึ้น มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงเดียวกับจีนกลับติดลบ กลายเป็นคนป่วยของเอเชีย หลังจากนั้นในปี 1990 ฟิลิปปินส์ก็กลายเป็นคนป่วยของอาเซียนแทน จนกระทั่งในการประชุม World Economic Forum ครั้งที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอาคิโน ของฟิลิปปินส์ประกาศว่า ฟิลิปปินส์ไม่ใช่คนป่วยอีกต่อไป เพราะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น

มีชิ้นงานข่าวหลายชิ้นของสำนักข่าวบลูมเบริก์ที่เรียกประเทศไทยเป็น “คนป่วยของเอเชีย” ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ฟิลิปปินส์ออกมาประกาศว่าเขาเป็นคนเข้มแข็งของเอเชีย แล้วใครที่เป็นคนป่วยของเอเชีย? ตำแหน่งจึงมาตกอยู่ที่ไทย…

ต้นปี 90  เมืองไทยมี GDP ที่โตมากจนเกือบจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย Growth โตกว่า 8 – 13% จากการลงทุนและการบริโภค หลังจากนั้นค่าเงินของไทยอ่อนค่าลง เราเปลี่ยนโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจมาเป็น การส่งออก ช่วงนั้น Growth คงที่ที่ 5% จนมาเจอปัญหาเศรษฐกิจเมื่อปี 48 และหลังจากนั้นเป็นต้นมาเราไม่เคยเจอปีทองอีกเลย ขณะนี้เมื่อมองภาพรวมของหลายๆ ประเทศในเอเชีย Growth โตถึง 5% ในขณะที่ไทยโตที่ 3% เรากำลังเข้าสู่ภาวะโตช้าๆ หรือเรากำลังป่วยหรือเปล่า?

อย่างไรก็ตามการป่วยอาจไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากยอมรับความจริงและหาสาเหตุได้ เราก็มีโอกาสอยู่

ส่วนโรคที่ประเทศไทยกำลังเป็น คือ
1. โรคแก่ก่อนรวย – แรงงานวัยทำงานมีปริมาณลดลง จากที่ประชากรไทยมีอายุเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น ประชากรวัยทำงานลดลง ดังนั้นจำนวนแรงงานที่ใส่เข้าไปในภาคการผลิตจึงลดลง อีกทั้งยังมีคุณภาพและประสิทธิภาพลดลงด้วย สถานการณ์เช่นนี้มีผลต่อการลงทุนของนักลงทุนซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ของไทยที่ต้องเจอในอนาคต 

2. โรคหย่อนสมรรถภาพ – ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง ความสามารถของแต่ละคนลดลง สังเกตุได้จากรายได้แต่ละคนเริ่มโตช้าลง

โรคเหล่านี้ส่งผลให้เราผลิตรายได้ช้ากว่าประเทศอื่น

++ข้อเสนอการแก้ไข

1. ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ โดยปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจ และการศึกษา

2. การแก้ปัญหาเรื่องคน ทำได้โดย ให้คนแก่ทำงานนานขึ้นโดยขยายเวลาเกษียณอายุ เพิ่มคุณภาพแรงงาน หรือนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ

3. ส่งเสริมให้เอกชนมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ลดการผูกขาดโดยรัฐ

4. ลดความไม่แน่นอนของนโยบาย

5. ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาให้มากขึ้น

20153003195651.jpg

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ประธานกรรมการบริหาร สถานบันอนาคตไทยศึกษา

++อาการป่วย(ทางเศรษฐกิจ)ของไทย

ประเทศไทยป่วยหรือไม่? ป่วย…จริงๆ ป่วยสะสมมานานแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วเศรษฐกิจเราโตแค่กว่า 30% ในขณะที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เศรษฐกิจโตมากกว่า ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีก 20 ปี ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกของไทยก็แผ่วลง สัดส่วนของความสามารถในการดึงดูดการลงทุนก็แผ่วลง 

อาการป่วยของไทยมีหลายด้าน ไม่เฉพาะแค่เศรษฐกิจ แต่รวมไปถึงด้านสังคม เช่น จำนวนผู้ป่วย HIV ปัญหาเยาวชน คุณแม่วัยใส ฯลฯ และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานต่ำและพึงพาทรัพยากรพลังงานจากต่างชาติ ไม่มีความมั่นคงทางพลังงาน ปัญหาที่ไทยเป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะหมอให้ยาผิดมาตลอด ทุกยุคทุกสมัย 10 กว่าปีที่ผ่านมามีนโยบายของรัฐบาลที่จะรักษาอาการป่วยของประเทศอย่างตรงจุดน้อยมาก แทบทุกรัฐบาลเป็นนโยบายประชานิยม

++ข้อเสนอการแก้ไข

1. ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมแบบชั่วคราว โดยต้องกำหนดช่วงเวลาในการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
2. เพิ่มความเชื่อมั่น ถ้ารัฐบาลประกาศแผนหรือนโยบายที่ชัดเจน และเดินตามแผนนั้น ก็จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

20153003195716.jpg

กรณ์ จาติกวนิช
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

++อาการป่วย(ทางเศรษฐกิจ)ของไทย

ปัจจุบันอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจมากสุด 3% ต่อปี ทำให้เกิดคำถามว่า ด้วยทรัพยากรที่มีทั้งหมดของประเทศ เราควรจะเติบโตได้มากกว่านี้ไหม? ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตคือ 1.คุณภาพการศึกษา, ประสิทธิภาพคน  2.ที่ดิน ซึ่งถ้าวัดจากผลผลิตทางการเกษตรต่อพื้นที่ต่อไร่เทียบกับประเทศอื่น เราผลิตได้ต่ำกว่า และ 3.การเข้าถึงทุน คือ การพัฒนาตลาดเงิน ตลาดทุน

เรื่องนโยบายทุกรัฐบาลที่ล้วนเข้าเกณฑ์ประชานิยมซึ่งไม่ได้แก้ไขปัญหาอาการป่วยของเศรษฐกิจไทยอย่างตรงจุด ส่วนหนึ่งของปัญหามาจาก “โจทย์ที่สังคมกำหนด” ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือสื่อมวลชน คนที่มีอำนาจก็ต้องแก้ไขหรือตอบโจทย์ที่เป็นข่าว ที่สังคมให้ความสำคัญ ดังนั้นโจทย์เรื่องการพัฒนาจริงๆ จึงถูกละเลย ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนอายุเฉลี่ยของเกษตรกรอยู่ที่ 31 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 51 ปี ต่อไปจะอยู่ในวัยเกษียณ อนาคตของการทำการเกษตรต่อไปจะเป็นอย่างไร?

ทั้งนี้ ประเด็นที่ท้าทายในการแก้ไขอาการป่วยของไทย คือ 1.การศึกษา 2.การปฏิรูป และ 3.การตอบโจทย์สังคมสูงอายุ

++ข้อเสนอการแก้ไข

1. เปิดให้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง (ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันของภาคเอกชน เช่น การทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายส่วนมาจากต่างประเทศ)
2. ทำอย่างไรให้รัฐ ระบบการเมืองมาเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด

กฏหมายจำกัดการถือหุ้นของต่างชาติที่ใช้มายาวนาน ถึงเวลาต้องโล๊ะแล้วหรือยัง  เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง เพราะคำถามคือกฎหมายนี้ที่ผ่านมานั้นปกป้องผบประโยชน์ของผู้ประกอบการไม่กี่คน หรือผลประโยชน์ของประชาชน?

20153003195915.jpg

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

++อาการป่วย(ทางเศรษฐกิจ)ของไทย

สาเหตุระยะสั้น

1. คู่ค้าของไทยอ่อนแอ เช่น จีน ญี่ปุ่น

2.ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผิด (เรากระตุ้นให้คนกู้เงินมากไป)

สาเหตุระยะยาว
1. การอิ่มตัวด้านการใช้ทรัพยากร

2. เราไม่สามารถยกระดับเทคโนโลยีการผลิต
3. เราเป็นสังคมชราภาพ คนทำงานน้อยลง ผลของสังคมชราภาพจะหั่น GDP ของเราไป1 – 1.5% 

++ข้อเสนอการแก้ไข

แก้ไขปัญหาระยะสั้น – รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
1. นโยบายการเงิน – ลดดอกเบี้ยลง ซึ่งทำไปแล้ว
2. นโยบายการคลัง – กระตุ้นความเชื่อมั่น กระตุ้นการบริโภค

ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจแตกต่างกัน ถ้ารัฐบาลทำนโยบายให้โปร่งใส มีแผนการทำงานและสื่อสารสาธารณะ การกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะมีประสิทธิภาพได้

แก้ไขปัญหาระยะยาว
1. เราควรแยกสถาบันเศรษฐกิจออกจากระบบการเมือง ปฏิรูปสถาบันเศรษฐกิจ
2. ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งเสริมการแข่งขันในระบบตลาด ลดการแทรกแซงตลาด สนับสนุนคนที่ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันในรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นธรรม เพราะจะทำให้เทคโนโลยีพัฒนาได้ไกล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ