เวทีรับฟังความเห็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยใช้ชื่อว่า “เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทาง พลังงานที่ยั่งยืน” มีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับเหตุการณ์ในพื้นที่นามูล-ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ผลกระทบ 5 กิโลเมตร ของโครงการเจาะหลุมสำรวจ/ประเมินปิโตรเลียมหลุมดงมูล-บี (ดงมูล-5) ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L27/43 ภายใต้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเลขที่ 9/2546/66 พื้นที่ 983.06 ตารางกิโลเมตร ใน จ.กาฬสินธุ์ ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อคัดค้านโครงการ
หนังคนละม้วน ละครคนละเรื่อง แต่ต่อเนื่องกัน เปลี่ยนวิกฤติของเหตุการณ์ เป็นโอกาสที่ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยง เมื่อการเคลื่อนไหวของบ้านพื้นที่เล็กๆ ได้กลายมาเป็นคำถามของสัมปทานปิโตรเลียมรอบก่อนหน้า แล้วการสัมปทานรอบใหม่นี้จะมีทำให้เราตั้งคำถามได้ไหมว่า จะมีชาวบ้านในอีกกี่พื้นที่ได้รับผลกระทบ
ต่อไปนี้ คือตัวอย่างมุมมองเชื่อมโยงกรณีนามูล-ดูนสาด กับการรับฟังความเห็นเปิดสัมปทานรอบ 21 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 จากนักวิชาการต่างความคิดและคนทำงานด้านพลังงาน
00000
“ผมอยากให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญในการพูดถึงปัญหาการสัมปทานปิโตรเลียม ที่นี่จะเป็นตัวอย่างที่ดี และชาวบ้านจะสู้ไม่ถอยอย่างแน่นอน”
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบรอบพื้นที่นามูล-ดูนสาด และพื้นที่อีสาน กับการขุดเจาะปิโตรเลียมเชื่อมโยงกันอย่างไร
จากการที่ลงไปทำวิจัยที่ จ.กาฬสินธุ์ การขุดเจาะก๊าซพบปัญหาใหญ่เกี่ยวกับสุขภาพของชาวบ้านซึ่งอยู่ห่างจากแท่นขุดเจาะประมาณ 300-500 เมตร พบชาวบ้านประมาณ 200 ราย ในหมู่บ้านคำไผ่และหมู่บ้านโนนสง่าที่ป่วยด้วยก๊าซพิษไฮโดรเจนซัลไฟด์ มันเกิดขึ้นเมื่อขุดเจาะบ่อลงไปประมาณ 3,400 เมตร พบก๊าซรั่วออกมา ซึ่งก๊าซพิษนี้มีอันตรายมาก หากตกค้างในร่างกายเพียง 800 ppm ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที ปรากฏว่ามีชาวบ้านที่ป่วยหนัก 6 รายที่ต้องเข้าโรงพยาบาล และอีก 200 รายที่เหลือเกิดอาการวิงเวียนศีรษะและทางเดินหายใจ
ในส่วนของ จ.อุดรธานี การขุดเจาะมีชาวบ้านเจ็บป่วย และบริษัทที่ขุดเจาะมีการชดเชยค่ารักษาพยาบาลให้กับชาวบ้านรายละ 3,000 บาท ซึ่งก็ไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูสุขภาพของชาวบ้านได้ ตอนนี้แม้จะผ่านไปแล้ว 1 ปี แต่ปัญหาซึ่งมันเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเรื่องของปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ลงไปทำวิจัยพบว่า ยางพาราและมันสำปะหลังมีผลผลิตลดลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และแหล่งน้ำผิวดินของชาวบ้าน แม่น้ำลำธารรวมทั้งน้ำบ่อของชาวบ้านไม่สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้
ส่วนของดงมูลที่พูดถึงกำลังขุดเจาะเป็นหลุม DM-B ที่มีปัญหาชาวบ้านนามูล-ดูนสาดกำลังประท้วงกันอยู่ ตรงพื้นที่ DM-B ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ที่บ้านคำไผ่ จ.กาฬสินธุ์ อันนี้เป็นแปลงสัมปทาน 1 อยู่ อ.เมือง บริษัทอพิโก้ถือหุ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบ้านโนนสง่า จ.อุดรธานี เป็นแปลงสัมปทานของอพิโก้ และที่นามูล-ดูนสาดเป็นแปลงสัมปทานดงมูน (DM-B) เป็นฐานแปลงที่พูดถึงอยู่
สถานการณ์ที่นามูล-ดูนสาดตอนนี้ ส่งผลอย่างไรกับพื้นที่อื่นๆ บ้าง
สิ่งที่เกิดขึ้นที่นามูลในขณะนี้แล้วชาวบ้านต่อต้าน เพราะชาวบ้านมีบทเรียนจากที่อื่นมาก่อน คือที่บ้านคำไผ่และที่โนนสง่า ถ้าหากมีการขุดเจาะจะทำให้มีปัญหาที่ชุมชนนามูล-ดูนสาดที่อยู่ในระยะใกล้สุด 2 กิโลเมตร จะได้รับผลกระทบทั้งเรื่องปัญหาสุขภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อม ใกล้หลุมขุดเจาะ 300 เมตร มีวัดและสำนักปฏิบัติธรรม ดังนั้นความเดือดร้อนจะค่อนข้างรุนแรงพอๆ กับคำไผ่
ในอีสานปัญหาสัมปทานการขุดเจาะก๊าซที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดคือ มีก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า และการขุดเจาะแปลงสัมปทานบนบก แปลงสัมปทานเหล่านั้นมันก็คือพื้นที่ทางเกษตรกรรมของชุมชนและชาวบ้าน
มีข้อเสนออะไรกับชาวบ้านบ้างหรือไม่ อย่างไร
มีสองส่วน ส่วนแรกคือพูดถึงปัญหาผลกระทบที่เกิดในพื้นที่อื่นๆ เพราะชาวบ้านก็ได้ไปดูงาน แต่บางคนก็ไม่ได้ไปดูงาน เพราะการขุดเจาะสัมปทานที่เป็นผลกระทบต่อชุมชนเป็นเรื่องของชุมชนเองที่ต้องรับรู้ ส่วนที่สองคือ กระบวนการซึ่งเป็นสิทธิของชุมชน คือการเข้าไปมีส่วนร่วมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม การทำสัมปทานขุดเจาะทุกหลุมจะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA แต่ที่ผ่านมา ชุมชนไม่เคยได้รับรู้ว่ารายงาน EIA เป็นอย่างไร ไม่เคยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันทำให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชนขึ้นมา
กรณีนามูล-ดูนสาด สะท้อนอะไรต่อคนในสังคมบ้าง
กรณีนามูล-ดูนสาดมันสะท้อนให้เห็นว่า สิทธิของชุมชนมันถูกละเมิดภายใต้ระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียม ในกรณีของชุมชนคงสู้ไม่ถอย แต่การต่อสู้ก็จะต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ ในสังคม ผมอยากให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญในการพูดถึงปัญหาการสัมปทานปิโตรเลียม ที่นี่จะเป็นตัวอย่างที่ดี และชาวบ้านจะสู้ไม่ถอยอย่างแน่นอน ในส่วนของประเด็นทำอย่างไรที่สังคมหรือนักรณรงค์ในส่วนกลาง องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะต้องให้ความสำคัญกับเสียงของชาวบ้านมากกว่านี้
คิดอย่างไรกับการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบัน
ปัจจุบันข้อถกเถียงสัมปทานจะเน้นไปที่ จะใช้ระบบสัมปทานหรือจะใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต ฝ่ายที่คัดค้านจะไม่เห็นด้วยกับระบบสัมปทาน และมีการเสนอให้มีการจัดสรรใหม่โดยให้แบ่งปันผลผลิตออกมา แต่ผมมองว่าปัญหาสัมปทานปิโตรเลียม ผมมองในมุมของสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม สัมปทานเกิดขึ้นจากรัฐส่วนกลางรวบอำนาจและให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชน เมื่อมีการขุดเจาะก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนซึ่งอยู่ในแปลงสัมปทาน เพราะแปลงสัมปทานอยู่ในพื้นที่หลายร้อยหลายพันตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มันคือ ชุมชน เมือง พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์ ย่อมเกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างแน่นอน
ในส่วนแปลงสัมปทานในทะเล ทำให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางทะเล พื้นที่ทะเลที่มีการขุดเจาะมันคือพื้นที่ทำการประมงของชาวบ้าน เช่น จังหวัดชุมพร ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ได้มีการพูดถึงในข้อถกเถียงขณะนี้
00000
“ถ้าในอนาคตสามารถที่จะค้นพบปิโตรเลียมได้เพิ่มมากขึ้นจะยิ่งช่วยได้ เพราะตอนนี้ปริมาณปิโตรเลียมที่สำรองมันเริ่มลดลงไปมาก นี่คือประเด็นที่ถกเถียงว่า สมควรจะเดินหน้าต่อหรือไม่ แต่เชื่อว่าโดยหลักแล้วทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันส่งเสริมให้มีการค้นหาสำรวจทรัพยากรปิโตรเลียมต่อไป”
ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ข้อมูลที่คนในสังคมควรรับรู้เกี่ยวกับสัมปทานรอบที่ 21 คืออะไร
ประเด็นที่สังคมควรรู้หลักๆ คือ คำว่าสัมปทานคืออะไร การให้สัมปทานของรัฐในกรณีของปิโตรเลียมวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และประเทศจะได้อะไร ก็เหมือนกับสัมปทานเหมืองแร่ การใช้คลื่นความถี่วิทยุ หรือสัมปทานรังนก หลักการคือ เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ ที่เป็นบริษัทเอกชนทั้งในและนอกประเทศเข้ามาประมูลแข่งกันเพื่อที่จะเสนอผลประโยชน์ให้กับรัฐ เพื่อแลกกับสิทธิในการสำรวจปิโตรเลียม และเมื่อพบแล้วก็มีสิทธิที่จะผลิตและขายเพื่อทำกำไรได้ ซึงประโยชน์ของรัฐจะเป็นภาพรวมเรื่องภาษีเป็นสำคัญ โดยมีอัตรากำหนดตามกฎหมายอย่างตายตัว และให้ผลประโยชน์กับรัฐในกรณีที่สามารถผลิตได้เยอะ หรือมีมูลค่าการผลิตที่สูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ประเทศเองก็มีโอกาสได้ใช้ปิโตรเลียมเหล่านั้นด้วย อย่างเช่น กรณีของก๊าซธรรมชาติ ที่ผ่านมาทางรัฐให้สัมปทานโดยตลอด ผู้ที่เจอเป็นผู้ผลิตและจ่ายค่าภาษีต่างๆ ให้กับรัฐและก็ส่งกลุ่มผลิต ในกรณีก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่ผลิตใช้ในประเทศเป็นการใช้ผลิตไฟฟ้า
จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเดินหน้าต่อ และหากเดินหน้าต่อจะสามารถสร้างจุดสมดุลระหว่างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกับมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ด้านสังคมสิ่งแวดล้อมคือหลักใหญ่ที่ประชาชนเป็นห่วง เวลาไปสำรวจ ขุดเจาะหรือแม้กระทั่งผลิต มันจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอาจทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ในกรณีที่แปลงในทะเลคงไม่มีปัญหาเพราะไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ แต่ว่าเขาต้องระมัดระวังเรื่องไม่ให้ทะเลเราสกปรกก็จะมีการควบคุมดูแลตรงจุดนี้ แต่ในกรณีบนบกก็จะมีข้อจำกัดเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อน
ในบางกรณีหรือบางขั้นตอนจะต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนการดำเนินการ เช่น การขุดเจาะสำรวจ เพราะบางทีอาจมีเสียงระเบิด มีการสั่นสะเทือน ทำให้ทรัพย์สินของชาวบ้านเสียหายได้ และเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะเข้าไปดูว่าสามารถที่จะทำตรงไหนได้บ้างและช่วงเวลาไหน เพราะฉะนั้นผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งที่ผ่านมามีกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เข้มงวด แต่มีบางกรณีที่ชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ เป็นเรื่องของรัฐที่จะต้องเข้าไปแก้ไข
มาตรการที่จะสร้างหลักประกันในการสร้างจุดสมดุลทั้งสองสิ่งคืออะไร
จุดสมดุลมี 3 ฝ่ายด้วยกัน คือ 1.บริษัทที่ได้สัมปทานลงทุนสำรวจและผลิต นอกจากใช้งบประมาณจำนวนมากก็จะมีความเสี่ยงเพราะบางทีเจาะไปไม่เจอ หรือเจอก็หลุมเล็ก หรือไม่เจออะไรเลยก็ไม่คุ้ม บริษัทหลายรายที่มาสำรวจแล้วไม่ได้อะไรเลยกลับไปมือเปล่า 2.ประชาชนได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้ลงทุน และ 3.ภาครัฐทำหน้าที่แทนประชาชน คอยดูแลผลประโยชน์
จุดสมดุลอยู่ที่ภาครัฐและประชาชนสามารถจะได้ส่วนแบ่งจากการดำเนินงานของบริษัทลงทุนได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม ในส่วนของบริษัทเอกชนที่มาลงทุนเขาจะได้อัตราส่วนที่จะตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงของเงินที่เขาลงทุนไป ในขณะเดียวกันประชาชนเองในหลายกรณีก็ได้รับประโยชน์จากปิโตเลียมที่ผลิตขึ้นมา และจะต้องได้รับการคุ้มครองในเรื่องของผลกระทบความเป็นอยู่ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ นี่คือจุดสมดุล 3 จุดที่เหมาะสม ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศ
ปิโตรเลียมที่มีอยู่สามารถนำขึ้นมาใช้เป็นพลังงาน แต่ในขณะเดียวกันส่วนแบ่งของรัฐที่จะเข้าไปในรูปของภาษี รัฐก็สามารถใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และสังคมต่อไป ประชาชนเองก็จะได้พลังงานที่มีราคาไม่แพงนัก ในขณะเดียวกันก็ได้รับการคุ้มครองในเรื่องของผลกระทบ ถ้าเราสามารถสร้างจุดสมดุลเหล่านี้ได้ การพัฒนาหรือการสำรวจขุดเจาะพัฒนาปิโตรเลียมเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศ
ทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทยมาถูกทางแล้วหรือยัง
อย่าลืมว่าเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เจอวิกฤตการณ์เศรษฐกิจราคาน้ำมันแพงขึ้น 4 เท่าตัว ในช่วงนั้นประเทศไทยเดือดร้อนมาก เพราะว่าราคาน้ำมันแพงขึ้น และเราต้องนำเข้าน้ำมัน ประเทศขาดดุลทางการค้า ดุลงบประมาณ ภาวะเงินเฟ้อก็ขึ้นสูง และนั่นเป็นจุดเริ่มแรกที่มีการเปิดให้ประมูลสัมปทานปิโตรเลียมและเป็นช่วงแรกๆ ที่เราเจอก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมากพอสมควร และพัฒนาใช้มาทดแทนเชื้อเพลิงที่เคยผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่ก่อนใช้น้ำมันเตาเป็นวัตถุดิบ แต่พอมันมีราคาสูงขึ้น เราก็หาแหล่งพลังงานใหม่คือก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวไทยซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก
ตอนนั้นราคาไฟฟ้าของเราอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงมากจนเกินไป ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีการควบคุมราคาไฟฟ้าไม่ให้สูงมากเกินไป นอกจากพลังงานที่เรามีพอสมควร ยังคงต้องนำเข้าบางส่วน แต่อย่างน้อยเราก็พลังงานบางอย่างผลิตในประเทศใช้เองได้ ราคาอยู่ในเกณฑ์พอที่จะรับได้
เท่าที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่าการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศช่วยให้ประเทศและเศรษฐกิจสามารถที่จะพัฒนาเติบโตไปได้ดีพอสมควร ไม่ต้องเป็นหนี้สินประเทศอื่นมากมาย ภาวะเงินเฟ้อก็ไม่ถึงขั้นสูงเกินไป งบประมาณของประเทศพอไปได้ ถึงแม้จะมีหลายปีที่ขาดดุลก็ตาม แต่ก็ยังพอรับได้ เพราะฉะนั้นมันช่วยได้ในระดับหนึ่ง ถ้าในอนาคตสามารถที่จะค้นพบปิโตรเลียมได้เพิ่มมากขึ้นจะยิ่งช่วยได้ เพราะตอนนี้ปริมาณปิโตรเลียมที่สำรองมันเริ่มลดลงไปมาก นี่คือประเด็นที่ถกเถียงว่า สมควรจะเดินหน้าต่อหรือไม่ แต่เชื่อว่าโดยหลักแล้วทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันส่งเสริมให้มีการค้นหาสำรวจทรัพยากรปิโตรเลียมต่อไป
00000
ที่มา: http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=1142
“คิดว่าในขณะนี้ทุกอย่างมันถูกผลักดันด้วยเรื่องของธุรกิจกำไร มากกว่าเรื่องของความมั่นคงที่อ้างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากเห็นก็คือ การให้ข้อมูลที่รอบด้านและตรงไปตรงมามากกว่านี้”
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ
ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาลุ่มน้ำโขง
สถานการณ์ที่นามูล-ดูนสาด และเวทีรับฟังความเห็นสัมปทานรอบ 21 สะท้อนอะไรให้แก่สังคม
สิ่งที่เขาดีเบตมันไปอยู่ในจุดซึ่งทุกคนบอกว่าอยากจะให้มีการสำรวจ อยากให้มีการให้สัมปทาน แต่ในความเห็น ผมคิดว่าจริงๆ แล้วเราน่าจะมีการดูด้วยว่าวิธีการในการสำรวจโครงการเหล่านั้นมันจะมีผลกระทบหรือจะมีกระบวนการอย่างไร อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามเรามีการสำรวจทรัพยากร อย่างเช่น ปิโตรเลี่ยม จะมีผลกระทบตามมาและมีผู้ที่ต้องเสียสละ เพราะฉะนั้นคำถามว่ากระบวนการมีความรู้เบื้องต้น ที่มีการมีส่วนร่วมของผู้คน และมีมาตรฐานที่จะป้องกันผลกระทบต่างๆ ไม่ได้ถูกคุยกัน แต่กลับไปอ้างเรื่องความมั่นคงของพลังงาน
การพูดว่าต้องขุดเจาะปิโตรเลียมเพิ่มเพื่อนำไปสนับสนุนการผลิตพลังงานไฟฟ้า ตรงนี้มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
จริงๆ เรื่องของก๊าซแหล่งภูฮ่อม ที่อยู่ในภาคอีสานมันเกิดความผิดพลาดในอดีต เพราะว่าเราให้บริษัทสำรวจ แล้วถูกบอกว่ามีศักยภาพค่อนข้างสูง จึงมีการตั้งโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตสูง แต่ว่าภายหลังกลับพบว่าก๊าซที่ถูกสำรวจไว้เดิมนั้นไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการหาแหล่งพลังงานเพิ่ม แต่เวลาพูดถึงความต้องการพลังงานไฟฟ้าโดยรวมกับแผน PDP อันนั้นเป็นอีกประเด็น คือเป็นเรื่องของการที่ขณะนี้แผน PDP เป็นการมองเรื่องอนาคต ซึ่งพูดได้ว่ามีการคาดการณ์ความต้องการที่สูงเกินจริง เช่น ความต้องการที่เกิดขึ้นในระยะ 2-3 ปีนี้ มันตำกว่าที่คาดการณ์เยอะ ไม่ได้สูงอย่างนั้น
และในขณะนี้ ก๊าซที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ถึงครึ่งหนึ่งของก๊าซที่ถูกใช้ เพราะเรามีการใช้ก๊าซในภาคอื่นๆ ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ถูกนำเอามาปนกัน แล้วใช้คำพูดรวมๆ ซึ่งผมคิดว่าสังคมไม่ได้ถูกอธิบายข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส และทำให้สังคมนั้นมีความเข้าใจอย่างแท้จริง
ที่พยายามพูดให้เห็นคือ การวางแผนผิด การคาดการผิดวันคนละเรื่องกับความจริงแล้ว ความต้องการที่แท้จริง และการวางวางแผนที่มีประสิทธิภาพ การใช้อย่างมีประสิทธิภาพมันควรจะเป็นอย่างไร ตรงนี้ผมคิดว่าเรามีปัญหา ที่เราเป็นอยู่คือเราวางแผนผิด เราจัดการผิด กลับถูกโยนบาปให้ไปหาก๊าซเพิ่ม หาพลังงานเพิ่ม ก็ต้องรับภาระผลกระทบโดยอ้างว่ามันเป็นความมั่นคงของประเทศ ของพลังงาน
มีมุมมองและความคาดหวังอย่างไร ต่อเวทีรับฟังความเห็นสัมปทานรอบ 21
การได้มีโอกาสพูดคุยกันให้สังคมได้รับรู้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ประเด็นของการพูดคุยดูเหมือนว่าโจทย์ที่ตั้งขึ้นอาจไม่ถูก ประเด็นพลังงานที่มีผลกระทบต่อผู้คนในสังคมไทยขณะนี้ที่ใกล้ตัวกว่ามีอีกหลายประเด็น ไม่ว่าเรื่องน้ำมันในตลาดโลกราคาลดลงครึ่งหนึ่งมีผลอย่างไรต่อราคาน้ำมันหรือความจะเป็นอย่างไร ในสังคมไทยอันนี้เป็นสิ่งใกล้ตัวมากกว่า ผมคิดว่าในขณะนี้รัฐก็ไม่ได้ให้ความโปร่งใสในเรื่องนี้เท่าที่ควร การพูดถึงแผนระยะยาวแม้แต่เรื่องของไฟฟ้าก็เป็นประเด็นที่ใกล้ตัวกว่าการพูดเรื่องสัมปทานแล้วบอว่าประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของก๊าซ อันนี้ขอพูดตรงๆ ในฐานะที่ติดตามเรื่องเหล่านี้ คิดว่าในขณะนี้ทุกอย่างมันถูกผลักดันด้วยเรื่องของธุรกิจกำไร มากกว่าเรื่องของความมั่นคงที่อ้างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากเห็นก็คือ การให้ข้อมูลที่รอบด้านและตรงไปตรงมามากกว่านี้
00000
“ในพื้นที่สัมปทานทั้งหมดภาครัฐควรแจ้งให้ประชาชนทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เมื่อเลยสัมปทานไปแล้วชาวบ้านจะสามารถเข้ามาทำอะไรในพื้นที่นี้ได้บ้าง ขณะเดียวกันก็ควรจะรับฟังเสียงของประชาชนด้วยว่าต้องการในเรื่องต่างๆ เหล่านี้อย่างไร”
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และนักวิชาการด้านพลังงาน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับนามูล-ดูนสาด เชื่อมโยงกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่อื่นๆ อย่างไรบ้าง
รัฐบาลได้มอบพื้นที่นั้นให้เป็นสัมปทาน ไม่ว่าจะเป็นสัมปทานปิโตรเลียมหรือสัมปทานเหมืองแร่ โดยที่ภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เจ้าของสัมปทานเขาจะมาดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งก็มีการมาลงทุนไปแล้วส่วนหนึ่ง เลยกลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในบางกรณีการที่เขาจะลงทุนนั้นก็จะต้องมีการประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบของสิ่งแวดล้อม แต่ในบางกรณีก็ไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประชาชนก็ลำบาก ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของสัมปทาน พี่น้องประชาชนในพื้นที่ และรัฐบาล
เพราะฉะนั้นในพื้นที่สัมปทานทั้งหมดภาครัฐควรแจ้งให้ประชาชนทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เมื่อเลยสัมปทานไปแล้วชาวบ้านจะสามารถเข้ามาทำอะไรในพื้นที่นี้ได้บ้าง ขณะเดียวกันก็ควรจะรับฟังเสียงของประชาชนด้วยว่าต้องการในเรื่องต่างๆ เหล่านี้อย่างไร
คนในพื้นที่อื่นต้องตั้งคำถามอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ต้องตั้งคำถามว่า ในพื้นที่ของตัวเองจะได้รับผลกระทบในลักษณะแบบนี้ด้วยหรือไม่ แล้วภาครัฐจะดำเนินการอย่างไร ในขณะเดียวกันอาจจะต้องมีการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในกรณีที่มีการขุดเจาะสำรวจไปแล้ว
อยากให้ขยายความและอธิบายของคำถามที่ว่า “ใครกันแน่เป็นเจ้าของทรัพยากร”
ปัจจุบันทรัพยากรเป็นของรัฐแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะให้สัมปทานก็คือให้สิทธิในการใช้ทรัพยากรต่อไปโดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม หลายๆ ประเทศได้เปรียบ ภาครัฐมีหน้าที่จัดการ แต่จัดการแล้วต้องถามเจ้าของก่อนว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในแนวทางที่ภาครัฐได้เตรียมการจัดการไว้
หากที่นามูล-ดูนสาดขุดเจาะได้จริง พื้นที่อื่นจะต้องมีการตั้งรับหรือหารือกันอย่างไร
ในพื้นที่ที่เห็นด้วยกับการขุดเจาะก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่เห็นด้วยคงจะต้องมีการสำรวจตรวจสอบว่า ตนเองนั้นมีสิทธิอย่างไร จะใช้สิทธิของตนได้อย่างไรบ้าง ภายใต้เรื่องของการสัมปทานปิโตรเลียมและสัมปทานเหมืองแร่อื่นๆ ควรจะทำความเข้าใจในเรื่องของสิทธิของตนเองอย่างเร่งด่วน และลองดูว่าเราจะปกป้องรักษาสิทธิของเราไว้ในกระบวนการใด