23 ส.ค. 2565 – ตัวแทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายเหมืองแร่จากทั้งประเทศ กว่า 17 เครือข่าย ร่วมประชุมหารือถึงสถานการณ์เหมืองแร่ และแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาการจัดการทรัพยากรแร่ทั่วประเทศไทย ก่อนจัดการแถลงข่าวถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการแร่ในช่วง 8 ปี ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เมื่อวันที่ 20-21 ส.ค. 2565
แววรินทร์ บัวเงิน ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เป็นการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งขุดเหมืองขึ้นมาเพื่อตอบสนองนโยบายในตอนนี้ ทั้งที่ควรเป็นการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการใช้อย่างยั่งยืน ต้องคำนึงถึงอนาคตการใช้ทรัพยากรในระยะยาว และการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวนี้ควรทำจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่บนลงล่าง ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าเราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่กำหนดมาจากรัฐว่าภายใต้ 20 ปีนี้ จะทำเหมืองอะไรบ้าง จะทำเหมืองที่ไหนบ้าง จะเอาอะไรไปขายบ้าง
“ยุทธศาสตร์แร่ 20 ปี มาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การวางยุทธศาสตร์ชาติคือการเดินทางร่วมกัน การวางยุทธศาสตร์แร่ก็คือการเดินทางร่วมกันเหมือนกัน แต่ว่าเราไม่ได้ร่วมกำหนดการเดินทางกับคุณ คุณยัดเยียดการเดินทางนั้นให้เรา เราคิดว่าการกำหนดยุทธศาสตร์นี้มันนำพาไปสู่การเกิดกฎหมายและการบังคับใช้กับพวกเรา ซึ่งมันมีปัญหามาก ๆ ในกระบวนการจัดการ คิดว่าประเทศไทยต้องหันกลับมามอง และกลับมาคิด วิเคราะห์ แยกแยะร่วมกัน” แววรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ แวรินทร์ มาจากพื้นที่ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งกรณีการสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ พื้นที่กว่า 1,500 ไร่ โดยมีการรวมกลุ่มของชาวบ้านจากหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 11 ใน ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง เป็นกลุ่มรักษ์บ้านแหง เพื่อร่วมกันต่อสู้คัดค้านโครงการฯ มาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2553 เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลกระทบรุนแรงต่อสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม วิถีการทำมาหากิน และอาจผลกระทบทางสุขภาพเช่นเดียวกับที่ชาวแม่เมาะ อ.ลำปาง ต้องประสบจากการทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์
ด้านสุเมธ เหรียญพงศ์งาม กลุ่มฅนรักษ์กรอกสมบูรณ์ จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงปัญหาของ พ.ร.บ.แร่ ว่า มีปัญหาในหลายมิติ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่การเริ่มต้นกระบวนการคิดออกแบบร่างกฎหมาย ไปจนถึงการอนุญาตให้มี หรือไม่มีเหมืองแร่ในแต่ละพื้นที่ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาต่าง ๆ อีกทั้งในกระบวนการทำประชามติตามกฎหมายก็มีปัญหา กลายเป็นความขัดแย้งของชุมชน เพราะจำกัดตามเขตการปกครอง การรับฟังไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบจึงการเป็นการจำกัดสิทธิของคนในพื้นที่
การดำเนินโครงการทำเหมืองต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งเหมืองแต่ละประเภทแต่ละขนาดมีกระทบไม่เท่ากัน ทั้งในเรื่องกลิ่น เสียง มลพิษ และผลกระทบต่อแหล่งน้ำต่าง ๆ แต่ในส่วนของ พ.ร.บ.แร่ มาตรา 17 วรรคสี่ ที่มีการระบุพื้นที่ ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ไว้ แต่คำจำกัดความยังคลุมเครือ เช่น แหล่งน้ำซับซึมใต้ดิน ที่เกี่ยวข้องวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่ถูกหน่วยราชการตีความว่าเป็นบ่อน้ำเล็ก ๆ
ยกตัวอย่าง กรณีเหมืองแร่ทรายแก้ว อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งเป็นมรดกโลก แต่คำจำกัดความตามมาตรา 17 วรรคสี่ ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงพื้นที่ที่เป็นเหมืองแร่ด้วย ทำให้อุทยานแห่งชาติกับพื้นที่เหมืองอยู่ใกล้กัน และไม่ก้าวก่ายกัน กลายเป็นคำถามว่าน้ำที่ลงมาด้านล่างให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพจะได้รับผลกระทบหรือไม่ นี่เป็นปัญหาของการกำหนดคำจำกัดความและการนำไปใช้
“พ.ร.บ.แร่นี้ควรแก้ไขทั้งฉบับให้สอดคลองกัน แต่การแก้ทั้งฉบับต้องมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ” ตัวแทนประชาชนภาคตะวันออกกล่าว
ส่วนมณีนุช อุทัยเรือง สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู กล่าวถึงปัญหาเรื่องเขตเหมืองแร่เพื่อการทำเหมืองว่า ขาดการสำรวจพื้นที่จริงทำให้มองไม่เห็นทรัพยากรในด้านต่าง ๆ และระบบนิเวศ รวมทั้งชุมชนถูกมองข้ามไป และที่สำคัญที่สุดสิ่งที่ขาดไปคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
มณีนุช กล่าวว่า เขตเหมืองแร่เพื่อการทำเหมืองไม่ควรมาจากการชี้แผนที่ ควรมีการลงพื้นที่ไปสำรวจจริง และไม่ควรยึดจากเอกสารเดิมที่เคยทำไว้นานมาแล้ว ยกตัวอย่างพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู มีประกาศแหล่งหินมาแล้ว 2 ที่ ตั้งแต่ปี 2540 และปัจจุบันยังเป็นเขตเหมืองแร่เพื่อการทำเหมือง ทั้งที่เวลาผ่านมานาน และในพื้นที่ก็มีข้อพิพาท เพราะชาวบ้านไม่ต้องการเหมือง แต่แม้จะมีการร้องเรียนก็ไม่มีการลงไปสำรวจพื้นที่จริง อีกทั้งใบขอต่ออายุประทานบัตรเหมืองยังมีผลสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ ไม่มีการทบทวน
“ในพื้นที่ตรงนี้ ชาวบ้านที่เกิดและเติบโตในพื้นที่จริง ๆ เขารู้ดีว่าพื้นที่มีศักยภาพที่จะเป็นอย่างอื่นได้มากกว่าการทำเหมือง ซึ่งก็คือแหล่งท่องเที่ยว พื้นที่ตรงนั้นเป็นแหล่งโบราณสถานโบราณวัตถุ มีภาพเขียนสีอายุ 3,000 ปี เป็นแหล่งน้ำซับซึม ที่เห็นได้เด่นชัดคือภูผาน้ำรอด และยังเป็นป่าที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน” มณีนุช กล่าว
“การกำหนดแหล่งแร่ในปัจจุบัน ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลย อยู่ ๆ คุณก็ประกาศโครมขึ้นมาว่าเอาตรงนี้ให้เป็นแหล่งแร่ วัด ปักหมุด ปักเขต ขอสัมปทาน ซึ่งเรามองว่าในพื้นที่นอกจากมองด้านเศรษฐกิจเรื่องแร่แล้ว ควรมองทรัพยากรมนุษย์ด้วย” พิศิษฏ์ เป็ดทอง ชาวบ้านผู้คัดค้านการอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โดโลไมท์ และเป็นประธานศูนย์เรียนรู้กาแฟขี้ชะมด จ.กระบี่
ทั้งนี้ ในตอนท้าย เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ยืนยันคัดค้านการมีเหมืองแร่ในพื้นที่ พร้อมระบุจะมีปฏิบัติการทั้งในระดับพื้นที่ ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อให้ชะลอแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ที่จะประกาศใช้ในต้นปีหน้า เพื่อให้เกิดการทบทวนให้แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และต้องสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ให้มากที่สุด และต้องแก้ไข พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 อีกทั้ง ต้องยกเลิกแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี ไปจนถึงยุทธศาสตร์ชาติด้วย
ที่มาภาพ: จามร ศรเพชรนรินทร์